22 กรกฎาคม 2565 นายวิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง หรือ ซีไอเอ ของสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯ ประมาณการว่า จนถึงขณะนี้ มีทหารรัสเซียเสียชีวิตจากสงครามในยูเครนประมาณ 15,000 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 45,000 คน ในขณะที่ยูเครนเองก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งการให้ใช้กำลังรุกรานยูเครนและขณะนี้เวลาก็ผ่านมาได้เกือบ 5 เดือนแล้ว กองทัพรัสเซียรุกคืบหน้าเข้าไปในแคว้นดอนบาสก์ ทางตะวันออกของยูเครนและสามารถยึดครองยูเครนคิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 5 ของยูเครนแล้ว
นายวิลเลียม เบิร์นส์ กล่าวในที่ประชุมด้านความมั่นคงที่จัดที่รัฐโคโลราโด เมื่อวานนี้ว่า การที่รัสเซียรุกคืบหน้าเช่นนี้ก็ต้องเผชิญกับการเสียหายราคาแพงตามมา เขากล่าวว่า จากการประมาณการของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ รัสเซียสูญเสียทหารไปประมาณ 15,000 ราย และบาดเจ็บอาจจะถึงสามเท่าของจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งถือเป็นความสูญเสียจำนวนมาก
ขณะที่ทางฝ่ายยูเครนก็สูญเสียเช่นกัน แต่จำนวนอาจจะน้อยกว่ารัสเซียแต่ก็เป็นจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัสเซียปกปิดจำนวนทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากถือเป็นความลับสุดยอด แม้แต่อยู่ในยามสงบและจะไม่แจ้งตัวเลขอย่างเป็นทางการบ่อยนักในระหว่างที่ทำสงคราม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม รัสเซียระบุว่า มีทหารเสียชีวิต 1,351 ราย ในขณะที่รัฐบาลยูเครนกล่าสในเดือนมิถุนายนว่า ทหารยูเครนเสียชีวิตประมาณวันละ 100-200 ราย
สหรัฐฯ พบผู้ป่วยโรคโปลิโอในนครนิวยอร์ก ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยโรคโปลิโอรายแรกในรอบเกือบ 10 ปี ของสหรัฐฯ
สำนักงานสาธารณสุขของรัฐนิวยอร์ก ยืนยัน พบชายหนุ่มในเขตร็อกแลนด์ เคาน์ตี้ ของรัฐนิวยอร์ก ป่วยเป็นโรคโปลิโอและมีอาการอ่อนแรง และอัมพาตตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยคาดว่าผู้ป่วยรายนี้ได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอที่อ่อนแอจากวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอที่ใช้ในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในบางครั้ง และเป็นวัคซีนที่สหรัฐฯ เลิกใช้มาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยโรคโปลิโอรายแรกของสหรัฐฯ หลังจากพบผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายตั้งแต่ปี 2556
ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่นแล้ว เพื่อจะเฝ้าระวังการติดเชื้อเพิ่ม และกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่เคยรับวัคซีน ให้รีบรับวัคซีนป้องกันโดยเร็ว
พญ.แพทริเซีย ชเนเบล รัพเพิร์ต หัวหน้าคณะกรรมาธิการสำนักงานสาธารณสุขเขตร็อกแลนด์ เคาน์ตี้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสำรวจครอบครัว และผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคโปลิโอรายนี้ เพื่อประเมินถึงความเสี่ยงของการระบาดในชุมชนต่อไป โดยยืนยันว่าคนที่รับวัคซีนโปลิโอครบ 3 โดสแล้ว มีความเสี่ยงต่ำมาก
ที่จะเป็นโรคนี้ ส่วนคนที่รับวัคซีน 2 โดส จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 90 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างเดินหน้าควบคุมโรคโปลิโอ โดยกระจายหยอดวัคซีนให้เด็ก
อายุต่ำกว่า 5 ขวบ จนแทบจะไม่พบผู้ป่วยแล้ว โดยเคสผู้ป่วยโปลิโอลดลงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2531 ที่พบการระบาดใน 125 ประเทศทั่วโลก และพบผู้ป่วยมากถึง 350,000 ราย
ขณะที่ในสหรัฐฯ จำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากมีการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาในช่วงต้นปี 2493 ถึงต้นปี 2503 โดยผู้ป่วยโรคโปลิโอส่วนใหญ่มักไม่มีอาการป่วย แต่อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย และคลื่นไส้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่ถูกไวรัสโปลิโอทำลายระบบประสาทและเป็นอัมพาตโดยพบเพียงในอัฟกานิสถานและปากีสถาน
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย
รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธีให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ในวันที่ 27 กันยายนนี้ คาดจะมีผู้นำจากชาติต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก
พิธีศพแบบรัฐพิธีครั้งนี้จะจัดขึ้นที่โตเกียวนิปปอน บูโดกัน สนามกีฬาในร่ม ที่มักถูกใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต และแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ โดยสถานที่นี้ยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดรัฐพิธีศพให้แก่นายชิเกรุ โยชิดะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยกอบกู้ญี่ปุ่นให้ฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2ในปี 2510 ด้วยโดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในพิธีดังกล่าวทั้งหมด
นายฮิโระคาสึ มัตซูโนะ โฆษกของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า นายอาเบะ นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น ความสำเร็จที่เขาเคยทำผลงานมา และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำต่างชาติ ทำให้รัฐบาลเห็นว่าการจัดรัฐพิธีศพให้อดีตผู้นำรายนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะเชิญผู้นำชาติต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศญี่ปุ่นให้มาร่วมงาน ซึ่งจะมีการชี้แจงรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ นายอาเบะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกคนร้ายลอบยิงในระหว่างการปราศรัยเพื่อช่วยหาเสียงให้กับสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตย ในเมืองนารา โดยผู้ก่อเหตุคือนาย เท็ตสึยะ ยามากามิ ถูกจับกุมดำเนินคดี และสารภาพว่าเขาต้องการสังหารอดีตผู้นำรายนี้เพราะเขาเชื่อว่า นายอาเบะมีความเกี่ยวข้องกับโบสถ์แห่งความสามัคคี ซึ่งแม่ของผู้ก่อเหตุเคยบริจาคเงินจำนวนมหาศาลให้ จนครอบครัวต้องประสบปัญหาการเงิน
การถึงแก่อสัญกรรมของนายอาเบะเกิดขึ้นเพียง 2 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาญี่ปุ่นในวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งผลปรากฏว่า พรรคแอลดีพีได้รับเสียงข้างมาก เนื่องจากประชาชนเทคะแนนให้กับพรรคแอลดีพีภายหลังจากที่นายอาเบะถูกลอบยิง โดยก่อนหน้านี้ ครอบครัวของนายอาเบะได้จัดพิธีศพเล็กๆ เป็นการส่วนตัวเฉพาะคนในครอบครัวไปแล้ว ขณะที่มีประชาชนหลายพันคนแห่แหนไปร่วมแสดงความเสียใจต่อการจากไปของอดีตผู้นำรายนี้ที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย
ดรูปาดี เมอร์มู นักการเมืองหญิงจากชนเผ่าสันธาล ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินเดีย ทำให้เธอกลายเป็นชนเผ่าคนแรกของอินเดียที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
ผลคะแนนจากรัฐสภาอินเดียที่ได้ทำการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อต้นสัปดาห์ ได้รับการเปิดเผยโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ระบุว่า ดรูปาดี เมอร์มู นักการเมืองหญิงจากชนเผ่าสันธาลซึ่งเป็นชนเผ่าชายขอบของประเทศ ได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาและจากสมาชิกสภานิติบัญญัติระดับภูมิภาคทั่วประเทศ
เมอร์มู วัย 64 ปี ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคภารติยะ ชนะตะ (บีเจพี) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ให้ร่วมชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนเธอจะคว้าชัยชนะได้ในท้ายที่สุด
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เขียนข้อความผ่านทางทวิตเตอร์เพื่อแสดงความยินดีกับเมอร์มู โดยกล่าวว่า “แบบอย่างความสำเร็จของเมอร์มู เป็นแรงผลักดันให้ชาวอินเดียทุกคน และเธอได้กลายเป็นความหวังสำหรับพลเมืองของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคนยากไร้ คนชายขอบ และผู้ถูกกดขี่”
เมอร์มูจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 15 ของอินเดีย และประธานาธิบดีหญิงคนที่ 2 ของประเทศ ต่อจากประติภา เทวีสิงห์ ปาฏีล ทั้งนี้ เมอร์มูเริ่มต้นอาชีพการเป็นครูในรัฐโอริสสา ก่อนจะเข้าสู่การเมืองโดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐโอริสสา และเคยเป็นผู้ว่าการรัฐฌาร์ขัณฑ์
ชัยชนะของเมอร์มู ถือเป็นการยืนยันความเข้มแข็งของพรรครัฐบาลอย่างบีเจพี และพันธมิตรทั้งในรัฐสภาและระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งประธานาธิบดีส่วนใหญ่จะมีบทบาทในทางพิธีการเท่านั้น ไม่ใช่ทางการบริหาร ดังนั้นการเป็นประธานาธิบดีของเมอร์มู จึงอาจจะไม่สร้างความแตกต่างในทางปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญต่อชนเผ่าคนกลุ่มน้อยซึ่งได้รับการผลักไสให้อยู่ชายขอบของสังคมอินเดียมานานแล้ว
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจได้โดยตรงหรือผ่านผู้ใต้บังคับบัญชาแค่บางอย่างเท่านั้น และในทางปฏิบัติ จะสามารถใช้อำนาจผ่านทางนายกรัฐมนตรีโดยความช่วยเหลือของคณะรัฐมนตรี
ที่มา: บีบีซี, เอพี
วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 : โอเลน่า เซเลนสกา สตรีหมายเลข 1 แห่งยูเครน เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และมีโอกาสได้กลับมาพบกับ จิล ไบเดน สตรีหมายเลข 1 สหรัฐ อีกครั้ง หลังจาก จิล เคยเดินทางไปประเทศยูเครนมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
โดยครั้งนั้นนับเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของโอเลน่า หลังจากรัสเซียนำกำลังทหารรุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และต้องหลบซ่อนตัวไปพร้อมกับลูกๆ อีก 2 คนเพื่อความปลอดภัยในฐานะเป้าหมายอันดับ 2 ของรัสเซีย รองจากตัวนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน
โอเลน่า ที่เติบโตมาด้วยชื่อ โอเลน่า คิยาชโก เกิดที่เมือง คริวิเรียห์ เมืองบ้านเกิดของเซเลนสกี เช่นกัน ทั้งคู่พบกันที่โรงเรียนมัธยมในคริวิเรียห์ และเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ สถาบันเศรษฐกิจควิวิเรียห์ พร้อมๆ กัน โดย โอเลน่า เรียนด้านสถาปัตยกรรม ขณะที่นายเซเลนสกี ศึกษาด้านกฎหมาย
โอเลน่า และ เซเลนสกี เริ่มคบหากันในปี 1995 ดูใจกัน 8 ปี และตัดสินใจแต่งงานกันในเดือนกันยายนปี 2003 ก่อนจะย้ายที่อยู่จากคริวิเรียห์ ไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศ
ทั้งคู่ก่อตั้งบริษัทรับผลิตรายการชื่อว่า “สตูดิโอควาร์ทัล 95” โดยโอเลน่า รับหน้าที่เป็นคนเขียนบท ขณะที่เซเลนสกี เป็นนักแสดงตลก มีผลงานทางจอทีวีโดยเฉพาะซีรี่ย์ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ
ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 โดยลูกสาวคนโตคือ “โอเล็กซานดรา” ชื่อเล่นว่า “ซาชา” เกิดในเดือนกรกฎาคมปี 2004 และลูกชายอย่าง “คิริโล” เกิดในเดือนมกราคมปี 2013
โอเลน่า เปิดเผยว่าตนไม่พอใจที่สามีตัดสินใจประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และต้องเห็นข่าวดังกล่าวด้วยตัวเองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แม้ทั้งคู่จะพูดคุยเรื่องนี้กันมานานแล้วก็ตาม
โอเลน่า ระบุว่า การเป็นสตรีหมายเลข 1 จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปทั้งหมด ตนไม่ใช่บุคคลสาธารณะและชอบที่จะเป็นคนเบื้องหลังมากกว่า แต่เมื่อต้องเผชิญความจริงก็ต้องพยายามปรับตัว
หลังจากรัสเซีย นำกำลังทหารรุกรานยูเครน โอเลน่า และลูกๆ ต้องหายหน้าไปจากสื่อสาธารณะในช่วงเดือนแรก เพื่อความปลอดภัย โดยสามารถสื่อสารกับ เซเลนสกี ที่ยังยืนหยัดในกรุงเคียฟอย่างกล้าหาญ ผ่านโทรศัพท์เท่านั้น
ก่อนที่โอเลน่า จะปรากฏตัวสู่สาธารณะอีกครั้งในวันที่ 8 พฤษภาคม ให้การต้อนรับ จิล ไบเดน สตรีหมายเลข 1 สหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนประเทศยูเครน
หลังจากนั้น โอเลน่า เปิดตัวสู่สาธารณะมากขึ้น ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับประเทศยูเครน และโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามมากขึ้น และล่าสุดก็ปรากฏตัวอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกา
“รานิล วิกรมสิงเห” อดีตนายกฯศรีลังกา เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งปธน.คนใหม่แล้ว คาดเตรียมตั้งคณะรัฐบาลสมานฉันท์กอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ
21 ก.ค. 65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายรานิล วิกรมสิงเห อดีตนายกรัฐมนตรีศรีลังกา 6 สมัย ในวัย 73 ปี ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของศรีลังกา หลังจากที่เขาได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของศรีลังกาทิ้งห่างผู้สมัครรายอื่นขาดลอยเมื่อวันพุธ เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ถูกประชาชนรวมตัวขับไล่จนต้องหนีออกนอกประเทศไปมัลดีฟส์และต่อไปยังสิงคโปร์พร้อมกับยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน
แหล่งข่าวเผยว่า นายวิกรมสิงเห จะเชิญพรรคการเมืองทุกฝ่ายเข้าร่วมคณะรัฐบาล ซึ่งมีตำแหน่งรัฐมนตรี 30 คน เพื่อนำพาศรีลังกาให้หลุดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ และคาดว่าเขาจะแต่งตั้งให้นายดิเนช กุนาวาร์เดนา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงบริหารรัฐกิจศรีลังกาและเพื่อนเก่าแก่ของนายวิกรมสิงเห รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีศรีลังกาคนใหม่
ก่อนหน้านี้ นายวิกรมสิงเหเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อช่วงค่ำวันพุธ หลังรัฐสภาศรีลังกาเลือกเขาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ว่า ผู้ที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลด้วยการบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีและทำเนียบนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำตามวิถีของระบอบประชาธิปไตยและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลศรีลังกาจะใช้กฎหมายจัดการกับผู้ที่กระทำการเช่นนั้น ทั้งยังระบุว่า เขาไม่ใช่มิตรของตระกูลราชปักษา แต่เป็นมิตรของประชาชน
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012