ข่าว
ทรัมป์เผยโฉม “บัตรทอง” ดึงดูดผู้อพยพร่ำรวย เปิดโอกาสได้สัญชาติสหรัฐ

ผู้นำสหรัฐอวดโฉม "โกลด์การ์ด" หรือบัตรทอง ราคาราว 171 ล้านบาท ให้แก่ผู้ซึ่งสามารถลงทุนได้ตามเงื่อนไขของรัฐบาลวอชิงตัน โดยสิ่งที่เจ้าของบัตรจะได้รับเป็นการตอบแทน รวมถึง สัญชาติสหรัฐ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เผยโฉม บัตรสีทอง ซึ่งทรัมป์เรียกว่า “เดอะ ทรัมป์ การ์ด” เนื่องจากมีใบหน้าของตัวเองบนบัตรด้วย พร้อมทั้งยืนยันว่า ประเดิมซื้อบัตรใบนี้เป็นคนแรก

ขณะที่กระบวนการรับพิจารณาวีซ่าที่เกี่ยวข้อง ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ “ภายในอีกไม่ถึงสองสัปดาห์ข้างหน้า”

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศแผนเสนอขายสิ่งที่เรียกว่า “บัตรทอง” หรือ “โกลด์การ์ด” ราคาสิทธิละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 171.10 ล้านบาท) ซึ่งรายละเอียดและเงื่อนไขในเบื้องต้นจะมีความคล้ายคลึงกับ “กรีนการ์ด” แต่ทรัมป์กล่าวว่า โกลด์การ์ด “จะมีสิทธิพิเศษมากกว่า”

ทรัมป์กล่าวว่า ต้องการให้โกลด์การ์ดเข้ามาแทนที่โครงการวีซ่านักลงทุน “อีบี-5” ที่จนถึงปัจจุบัน เป็นการมอบสถานะผู้อยู่อาศัยถาวรในสหรัฐ ให้แก่ผู้ที่เข้ามาลงทุนจำนวนมหาศาลในประเทศ “ตามเกณฑ์ที่กำหนด” เพื่อสร้างงานใหม่ หรือรักษาตำแหน่งงานเดิมให้กับแรงงานชาวอเมริกัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับอนุมัติ บัตรทอง หรือ โกลด์การ์ด ซึ่งตอนนี้มีอีกชื่อแล้วว่า เดอะ ทรัมป์ การ์ด จะเป็นการปูทางสู่การได้รับสัญชาติสหรัฐในอนาคต เบื้องต้นรัฐบาลวอชิงตันคาดการณ์ว่า จะสามารถดึงดูดผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้มากถึง 1 ล้านคน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครทุกคนอย่างละเอียด”.

เครดิตภาพ : AFP

ไทยกระอักหนัก ทรัมป์รีดภาษีโลก โขกพรวด 37% - 60 ประเทศโดนหมด

สุดโหด ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีกว่า 60 ประเทศทั่วโลกตอบโต้ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไทยร้องจ๊ากโดนโขกสูงลิ่วถึง 37% นายกฯตั้งทีมเจรจาสหรัฐฯรีดภาษี ออกแถลงการณ์ระบุเข้าใจเหตุผลที่มะกันเพิ่มภาษีและส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกราย แนะผู้ประกอบการส่งออกไทยมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ “ศิริกัญญา” ยื่นญัตติด่วนถกสหรัฐฯขึ้นภาษี ส.อ.ท.นัดถกรับมือมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่เร็วและแรงเกินเป้าหมาย แนะภาครัฐเตรียมรับมือสกัดสินค้าจีนไหลบ่ามาแย่งตลาดในอาเซียนและทะลักเข้าไทย หวั่นอุตสาหกรรมไทยอาจต้องปิดตัว แถมภาคท่องเที่ยวอาจมีผลกระทบ ผู้ส่งออกข้าวไทยยอมรับตลาดข้าวหอมมะลิโดนเต็มๆ กระทบหนักแน่เพราะราคาสูงกว่าเวียดนามคู่แข่ง

สะเทือนไปทั้งโลก หลังประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ออกมาตรการสุดโหดประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากทั่วโลก เพื่อตอบโต้ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศยืนพื้นที่ 10% แต่ประเทศที่ถูกนายทรัมป์มองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ จะมีอัตราภาษีที่แตกต่างออกไป สำหรับไทย ถูกกำหนดอัตราภาษีสูงถึง 37% ด้วยรัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินว่าอัตราภาษีที่ไทยเรียกเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ บวกกับการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าบางประการ เทียบเท่าได้กับไทยตั้งกำแพงภาษีกับสหรัฐสูงถึง 72% โดย “ทรัมป์” ได้เปิดแถลงข่าวเรื่องภาษี ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 2 เม.ย.

สำหรับการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ในอัตรายืนพื้น 10% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. ส่วนอัตราภาษีตอบโต้ประเทศ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. ทำเนียบขาวระบุด้วยว่า มาตรการภาษีตอบโต้ดังกล่าว จะไม่บังคับใช้กับสินค้าบางประเภท เช่น ทองแดง ยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้ ทอง พลังงาน และแร่ธาตุที่ไม่พบในสหรัฐฯ และเมื่อเดือน มี.ค. นาย ทรัมป์ยังประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์สูงสุด 25% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 เม.ย.

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ของจีนเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกมาตรการดังกล่าวทันที พร้อมให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของจีน เนื่องจากสหรัฐฯตัดสินใจผ่านการประเมินอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบการค้าระหว่างประเทศรวมถึงยังบ่อนทำลายสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เผยว่า พร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ หากการเจรจาเรื่องอัตรากำแพงภาษีล้มเหลว

สำหรับประเทศที่อยู่ในรายชื่อตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ มีมากกว่า 60 ประเทศ ไล่ตั้งแต่มาดากัสการ์ 47% ศรีลังกา 44% บังกลาเทศ เซอร์เบีย บอตสวานา 37% จีน 34% ไต้หวัน 32% อินเดีย 26% เกาหลีใต้ 25% ญี่ปุ่น 24% สหภาพยุโรป 20% สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน กัมพูชาถูกตั้งกำแพงภาษีในอัตราสูงถึง 49% ตามด้วย สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% ไทย 37% อินโดนีเซีย 32% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%

ส่วนความเคลื่อนไหวของไทย หลังถูกตั้งกำแพงภาษี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ถึงกรณีไทยถูกตั้งภาษี 37% สูงเป็นอันดับต้นๆของอาเซียนว่า เราต้องปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ และตั้งคณะทำงานเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ในส่วนการปรับโครงสร้างภาษี ไทยโดนเป็นอันดับต้นๆ 36% สูงพอสมควร จึงเตรียมทั้งแผนระยะสั้น ระยะยาว ในระยะสั้นต้องคุยเจรจาต่อรองช่วยผู้ประกอบการส่งออก ขณะนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์กำลังหาข้อสรุป มาตรการต่างๆ เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งมาตรการเบื้องต้นและสิ่งที่กำลังจะคุยต่อ จริงๆตัวเลขเฉลี่ยภาษีอยู่ที่ 9% แต่มีการจำกัดแต่ละประเภทสินค้าไม่ให้เกินเท่าใด เช่น ข้าวโพดไม่ให้เกินเท่าไร จึงนำตัวเลขนั้นมาเป็นค่าเฉลี่ย เป็นวิธีคำนวณที่ไม่เคยมี ต้องดูว่าบาลานซ์อะไรได้บ้าง ได้คุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เรื่องการตั้งทีมเจรจา ไม่ต้องห่วงเรื่องการเจรจา อยู่ในการดูแลของปลัดกระทรวงพาณิชย์และปลัดกระทรวงการคลัง ตัวแทนที่จะไปเจรจาต้องดูด้วยจะไปพูดคุยกับใคร เนื่องจากมีหลายขั้น แต่ในระดับทำงานจะให้ปลัดไปพูดคุย รวมถึงรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า ตัวเลขที่ออกมาได้ประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยมากน้อยแค่ไหน น.ส.แพทองธารตอบว่า มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการ คิดว่ายังเจรจาได้อยู่ ถ้ามีการต่อรองและปรับโครงสร้างภาษีให้สมเหตุสมผล ยิ่งสมัยนี้เป็นแบบ More for Less-less for More เป็นเรื่องการต่อรองกัน ส่วนเป้าหมายการต่อรองให้จะลดลงเท่าไร ขอให้รอรายละเอียดอีกครั้ง จะไม่ปล่อยให้ไปถึงจุดที่ทำให้ตัวเลขจีดีพีพลาดเป้า แผนที่วางไว้ค่อนข้างแน่นพอสมควร แต่เมื่อเป็นตัวเลขใหม่ขึ้นมาก็ต้องปรับ ที่ผ่านมาได้ขึงตัวเลขสินค้าทุกตัว มีหัวหน้าคณะคือ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ทำเรื่องการค้าขายกับสหรัฐฯ เร็วๆนี้จะมีมาตรการออกมา

ต่อมาเวลา 10.20 น. นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์แสดงท่าทีประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาว่า รัฐบาลไทยเข้าใจความจำเป็นของสหรัฐฯ การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกราย ดังนั้น ระยะยาว ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ลดการพึ่งพาตลาดเดียว รัฐบาลไทยวางมาตรการรองรับและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกไทย ที่มีตลาดสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก

ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมหารือรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน ติดตาม ประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดเตรียมข้อเสนอปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ให้สหรัฐฯมีแรงจูงใจเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย และไทยอาจใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาวกับบางอุตสาหกรรม

แถลงการณ์ตอนท้ายระบุว่า “ประเทศไทยมีเจตนารมณ์แน่วแน่สร้างเสถียรภาพและสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯในระยะยาว มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นหนึ่งในกลุ่มมิตรประเทศเพื่อการลงทุนที่ทั้ง 2 ประเทศสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเอื้อกันและกัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดโลก รัฐบาลไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ จะมองถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว ประเทศ ไทยยังยืนยันเจตนารมณ์เป็นพันธมิตร มุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ร่วมกันสร้างและพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้เติบโตอย่างมั่นคง ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ภาคการเกษตรของสองประเทศ ผ่านการหารืออย่างสร้างสรรค์โดยเร็ว”

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ประชาชน แถลงถึงนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐ อเมริกา ที่มีการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ว่า เป้าประสงค์ครั้งนี้ สหรัฐฯต้องการรายได้เข้ารัฐ ทดแทนภาษีเงินได้ที่จะประกาศลดและต้องการให้นักลงทุนย้ายฐานกลับสหรัฐฯ ส่วนผลกระทบต่อจีดีพีไทยปี 2568 ขึ้นอยู่กับผลการเจรจา ขอให้รัฐบาล เจรจาเร่งด่วนและรัดกุม หากไม่ทำอะไร หรือเจรจาไม่เป็นผล จะกระทบมูลค่าส่งออกมากกว่า 1% จีดีพีอาจหดตัวมากกว่า 1% จนต่ำกว่าเป้า 2% ได้ กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักคือ อุปกรณ์สื่อสาร ฮาร์ดดิสก์ ยางล้อ เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึง การลงทุนบริษัทต่างๆหยุดชะงัก จะยื่นญัตติด่วนหารือเรื่องนี้ต่อสภาฯ วันที่ 9 เม.ย. แต่ต้องสู้กับรัฐบาลที่พยายามนำกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มาพิจารณา แต่เรื่องกำแพงภาษีนี้เร่งด่วนกว่ามาก มีผลกระทบรุนแรงกว้างขวาง รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาประชาชน เช่น เอสเอ็มอีอาจเกิดความโกลาหล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 37% เพราะมองว่าไทยได้เปรียบดุลการค้า ภาคเกษตรเป็นส่วนที่มีการเก็บภาษีจากสหรัฐฯมากกว่าที่สหรัฐฯเก็บภาษีจากไทย 27% ส่วนหมวดสินค้าอื่นๆ ไทยเก็บสูงกว่าในค่าเฉลี่ย เมื่อตัวเลขที่สหรัฐฯประกาศออกมา มองว่าไทยได้เปรียบถึง 72% ตกใจว่าสหรัฐฯคิดอย่างไร สหรัฐฯอธิบายว่าไทยเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม หรือเอาเปรียบ ลักษณะกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เรื่องเนื้อสัตว์ สินค้าทางการเกษตร การละเมิดสิทธิทางปัญญา อาทิ สินค้า ก๊อบปี้และมาจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก

ประธานสภาอุตสาหกรรมฯกล่าวอีกว่า ที่สำคัญ สหรัฐฯมองการละเมิดสิทธิด้านของแรงงาน โดยไทยอาจใช้แรงงานที่ไม่ดีต่างๆ เป็นสิ่งที่สหรัฐฯอธิบาย ดังนั้น ในรายละเอียดจะต้องศึกษา ตัวเลขนี้สหรัฐฯก็เกรงใจแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นอัตราที่สูง แม้จะน้อยกว่าเวียดนามราว 10% ประเทศในภูมิภาคอาเซียนโดนเก็บภาษีกันถ้วนหน้า ทั้ง มาเลเซีย บรูไน กัมพูชา ที่มากกว่าไทย มีน้อยที่สุด 10% คือสิงคโปร์ ส.อ.ท. จะเรียกประชุมฉุกเฉินด่วนวันที่ 4 เม.ย. โดยเฉพาะ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งสินค้าไปสหรัฐฯ หารือถึงผลกระทบและแนวทางรับมือ วอร์รูมของภาครัฐต้องรีบเรียกประชุมด่วนกับภาคเอกชนเช่นกัน ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมตัวเลขและศึกษา จากคำพูดว่าวิธีการคำนวณของสหรัฐฯใช้พื้นฐานอะไร และอะไรคือปัญหาอุปสรรคที่แท้จริง มาตรการอย่างอื่น ที่เราเตรียมไว้ที่ประชุมก่อนหน้านั้น บ่งบอกให้เห็นถึงตัวเลขของเราผิดหมดและส่งผลกระทบอย่างไร

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน เมื่อคำนวณแบบคร่าวๆ พบว่าความเสียหายเดิมหากโดนขึ้นภาษี 10-15% จะฉุดรั้งอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในระดับ 0.2-0.6% แต่เมื่อไทยโดนจัดเก็บภาษี 37% แบบนี้ อาจจะฉุดการเติบโตของจีดีพีปีนี้เพิ่มเป็น 1% หากไทยยังไม่สามารถแก้ไขหรือเจรจาอะไรได้ จะทำให้ยอดการส่งออกของเรากระทบแรง ทำให้จีดีพีปีนี้ของไทย ต้องปรับลดลงไปกว่าเดิมหรืออาจต่ำกว่า 2% ได้ถือเป็นปัญหาใหญ่คงไม่ใช่เฉพาะการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ นอกจากนี้ การเติบโตของตลาดการค้าของโลกอาจชะลอตัวตามไปด้วย กระทบต่อสินค้าที่ไทยจะส่งไปทั่วโลก ที่สำคัญสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่ราคาถูกโดยเฉพาะจีน ที่โดนภาษีนำเข้าถึง 54% เวียดนาม 46% จะเข้ามาในตลาดเอเชียและเข้ามาในไทยด้วย แต่สิ่งนี้เร็วเกินไป คาดการณ์ว่าถ้าระยะยาวไทยจะเผชิญปัญหาดังกล่าวอย่างแน่นอน

“สิ่งที่ไทยต้องเตรียมรับมือ คือสินค้าจากหลายประเทศที่จะทะลักเข้ามาจำหน่ายในไทย หากรัฐไม่หามาตรการป้องกันหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศจะต้องปิดตัวลงไม่ต่ำกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมภายในสิ้นปีนี้ สุดท้ายจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังภาคท่องเที่ยวด้วยเพราะหากสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายประเทศอาจจะชะลอการเดินทางลงเช่นกัน” นายเกรียงไกรกล่าว

ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ไทยสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก กระทบการส่งออกข้าวของไทยไปสหรัฐฯแน่นอน เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักส่งออกข้าวหอมมะลิ ราคาจะสูงขึ้นเป็นตันละ 1,400 เหรียญ สูงกว่าข้าวหอมเวียดนามที่เฉลี่ยตันละ 600-700 เหรียญ แม้เวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าไทยอยู่ที่ 46% ปี 67 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปสหรัฐฯกว่า 850,000 ตัน ส่วนเวียดนามส่งออก 40,000 ตัน หวั่นว่าผู้บริโภคอาจลดการซื้อข้าวหอมมะลิไทยไปซื้อข้าวหอม เวียดนาม อยากให้หน่วยงานภาครัฐเร่งหาทางช่วยเหลือหรือเจรจากับสหรัฐฯ ด่วน เพื่อลดผลกระทบให้กับภาคเอกชน หากดูปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐฯ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังมีกระแสข่าวที่จะเก็บภาษีตอบโต้ในหลายประเทศ ทำให้ผู้ค้าข้าวในตลาดสหรัฐฯเร่งนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยไปแล้วกว่า 100,000 ตัน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากแผ่นดินไหวและมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ว่า ทั้ง 2 กรณีจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทย ปีนี้ลดลง 2.02% ส่งผลให้จีดีพีไทยทั้งปีนี้อาจขยายตัวเหลือ 1%จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3% มาตรการภาษีตอบโต้จะสร้างผลกระทบมากถึง 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.93% นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย เช่นเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ สินค้าเบ็ดเตล็ด อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เป็นต้น เนื่องจากจีนจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่และไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย

สำหรับการปรับภาษีของไทยจากเดิมที่เป็นตัวเลข 36% ปรับเป็น 37% นั้น นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า สำหรับของประเทศไทย เนื่องจากประธานาธิบดีถือเอกสารตอนแถลงข่าวอยู่ที่ 36% แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหาร ตัวเลขอยู่ที่ 37% จึงต้องมีการปรับให้เป็น 37% ตามเอกสารทางการ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่ซุปเปอร์ช็อก เพราะที่ผ่านมาคาดการณ์กันว่าสหรัฐฯจะขึ้นภาษีไทยไม่น่าเกิน 10-15%จึงยิ่งส่งผลให้เกิดอานุภาพผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างรุนแรง เดิมคาดว่าถ้าขึ้นภาษี 10% จะกระทบต่อการส่งออกไทยประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ 3 เท่าจากเดิมที่คาดการณ์ จึงคาดว่า จะกระทบมูลค่าการส่งออกไทย 700,000-1 ล้านล้านบาท มูลค่าที่หายไปนี้ ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากนายทรัมป์ขึ้นภาษีเท่านั้น แต่ยังเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงด้วย นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตาคือ สินค้าจากจีนจะยิ่งทะลักเข้าไทยมากกว่าเดิมอีก จากเดิมไทยขาดดุลการค้าจีนประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท คาดว่าต่อไปจะยิ่งขาดดุลการค้าเป็น 1.6-1.7 ล้านล้านบาท เอสเอ็มอีน่าเป็นห่วงมากที่สุด


หุ้นสหรัฐฯ ดิ่งหนัก รุนแรงสุดตั้งแต่โควิด ผลพวงภาษีทรัมป์

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทสั่นสะเทือน และตลาดการเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 จากความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายจากมาตรการภาษีชุดใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทสั่นสะเทือน และตลาดการเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 จากความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายจากมาตรการภาษีชุดใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 4.8% มูลค่าลดลงประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจพังทลายในปี 2020 ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 1,679 จุด หรือ 4% และดัชนี Nasdaq Composite ร่วงลง 6%

ราคาทุกอย่างตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบไปจนถึงหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ไปจนถึงมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ต่างก็ร่วงลง แม้แต่ทองคำซึ่งพุ่งแตะระดับสูงสุดเมื่อไม่นานนี้ เนื่องจากนักลงทุนกำลังมองหาสิ่งที่ปลอดภัยกว่าในการถือครอง ก็ร่วงลงเช่นกัน บริษัทขนาดเล็กของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบหนักสุดบางส่วน และดัชนี Russell 2000 ของหุ้นขนาดเล็ก ร่วงลง 6.6% ทำให้ราคาตกต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 20%

Nike, Apple และ Target เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยหุ้นทั้งหมดร่วงลงมากกว่า 9%ในการซื้อขายช่วงเช้าวันศุกร์ ดัชนีนิกเกอิ 225 ของญี่ปุ่น ร่วงลง 2.7% และ ASX 200 ของออสเตรเลีย ร่วงลง 1.6% ดัชนี Kospi ในเกาหลีใต้ทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย ส่วนตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงปิดทำการเนื่องในเทศกาลเชงเม้ง ก่อนหน้านี้ ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษ ร่วงลง 1.5% และตลาดหุ้นยุโรปอื่นๆ ก็ร่วงลงเช่นกัน

บรรดานักลงทุนต่างพากันเทขายหุ้นหนีจากสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อแสวงหาความปลอดภัยจากทองคำและพันธบัตรรัฐบาล หลังจากทรัมป์ประกาศกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ในอัตรา 10% และเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าเดิมมากกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายสิบประเทศและดินแดนทั่วโลก จนส่งผลกระทบต่อระเบียบการค้าโลก ตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจากเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจภายใต้รัฐบาลทรัมป์ในช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่ง ได้ส่งผลให้หุ้นสหรัฐฯ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ด้านทรัมป์ กล่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ว่า "ผมคิดว่ามันกำลังไปได้สวย มันเป็นปฏิบัติการที่เหมือนกับการผ่าตัดคนไข้ และมันเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมบอกไปแล้วว่ามันจะเป็นแบบนี้จริงๆ" เขาเสริมว่า "ตลาดจะเฟื่องฟู หุ้นจะเฟื่องฟู ประเทศจะเฟื่องฟู".

ที่มา AP BBC


ด่วน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชาด รับรองมติถอดถอน ยุน ซอกยอล ให้เลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน

"ยุน ซอกยอล" หลุดเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับรองการถอดถอน หลังใช้อำนาจเกินขอบเขตประกาศกฎอัยการศึกเมื่อเดือนธันวาคม เตรียมเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน

วันที่ 4 เมษายน 2568 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีคำวินิจฉัยรับรองมติถอดถอน อดีตประธานาธิบดียุน ซอกยอล ส่งผลให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการโดยทันที สืบเนื่องจากกรณีนายยุนประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกมองว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมาย

นายมุน ฮยองแบ รักษาการประธานศาล อ่านคำตัดสินที่ถ่ายทอดสดทั่วประเทศ โดยระบุว่าการกระทำของยุน ซอกยอลเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ และตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้จะต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ภายใน 60 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ การถอดถอนประธานาธิบดียุน มีจุดเริ่มต้นเมื่อสมัชชาแห่งชาติที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายค้านมีมติถอดถอนยุนเมื่อกลางเดือนธันวาคม โดยกล่าวหาว่าเขาประกาศกฎอัยการศึกโดยมิชอบ มีการส่งทหารเข้าสภาเพื่อขัดขวางการลงมติยกเลิกคำสั่งและสั่งจับกุมนักการเมืองที่คัดค้าน

อย่างไรก็ตาม อดีตประธานาธิบดียุนยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมยืนยันว่าเขาทำไปเพื่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งคำวินิจฉัยครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเกาหลีใต้ ที่ส่งผลสะเทือนต่อทิศทางการเมืองในระยะยาว.

ในหลวง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฯอินเดีย เฝ้าฯ ในโอกาสเยือนไทยเป็นทางการ

4 เมษายน 2568 - เวลา 17.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนเรนทร โมที (Mr.Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

ในโอกาสนี้ นายสิทธารถ บาบู (Mr.Sidharth Babu) นักการทูตปฏิบัติการ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษาฮินดี-อังกฤษ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย

ประเทศไทยและสาธารณรัฐอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีในระดับพระราชวงศ์และระดับรัฐบาล ทั้งยังมีความผูกพันด้านวัฒนธรรมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6-11 โดยมีการสถาปนาความสัมพันธ์ในระดับอัครราชทูตต่อกัน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 และได้มีความสัมพันธ์ในระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2494 โดยมีการฉลองครบ 75 ปี ของการสถาปนาทางการทูตไปเมื่อปี 2565

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7-21 เมษายน 2535 และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 – 27 ธันวาคม 2541 กับทรงทำการบินเครื่องบินพระที่นั่งเทียวบินพิเศษมหากุศล เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 โดยทรงทำหน้าที่นักบิน นำพุทธศาสนิกชนไปกราบสักการะสังเวชนียสถาน ณ ตำบลพุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ เมื่อปี 2567 รัฐบาลไทยและรัฐบาลอินเดีย ได้มีความเห็นชอบอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ระว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับสถานพยาบาลกุสินาราคลินิก เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีอินเดียครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 โดยในครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ได้เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ และการท่องเที่ยว ตลอดจนการเชื่อมโยงทางคมนาคม รวมทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคง อีกด้วย