นักข่าวบีบีซีประจำพม่า ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์บุกลักพาตัวขึ้นรถตู้พร้อมกับนักข่าวท้องถิ่นอีกคน ที่กรุงเนปิดอว์ ด้านบีบีซีออกแถลงการณ์สุดห่วงชะตากรรม
เมื่อ 19 มีนาคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศและเว็บไซต์เดลี่เมล รายงานขณะนี้เกิดความหวั่นเกรงว่า นายออง ธูรา นักข่าวบีบีซีประจำเมียนมา ได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ลักพาตัวไป
บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (British Broadcast Corporation) หรือ บีบีซี ได้ออกแถลงการณ์ บีบีซี กำลังมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับชะตากรรมของนักข่าวบีบีซี และขอให้เขาปลอดภัย หลังจากนายออง ธูรา ได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ลักพาตัวในกรุงเนปิดอว์ เมื่อตอนประมาณเที่ยงของวันนี้ (19 มีนาคม 64) ตามเวลาท้องถิ่นพร้อมกันนั้นบีบีซียังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เมียนมาช่วยแจ้งตำแหน่งและยืนยันว่านายออง ธูรา ปลอดภัย
ด้านบีบีซีแจ้งว่า นายออง ธูรา ได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งเดินทางมาโดยรถตู้ควบคุมตัวไปพร้อมกับนักข่าวอีกคนหนึ่ง คือ Than Htike Aung ซี่งทำงานที่ทำงานที่สำนักข่าวในเมียนมา Mizzima ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่เพิ่งถูกรัฐบาลทหารเมียนมาถอนใบอนุญาตเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
นายอ่อง ตูยะ ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาเมียนมาถูกจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น และทางการกำลังเดินหน้าทำสงครามสยบสื่อมวลชนในประเทศ
ผู้สื่อข่าวบีบีซี ถูกกลุ่มชายนอกเครื่องแบบนำตัวขึ้นรถตู้ที่ไม่ติดเครื่องหมายว่าเป็นของหน่วยงานใด เมื่อเวลาประมาณเที่ยงวันที่ 19 มี.ค. ตามเวลาในเมียนมา ขณะรายงานข่าวด้านนอกศาลแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์
ขณะเกิดเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบได้ถามหานายอ่อง ตูยะ ก่อนที่จะจับตัวเขาขึ้นรถไปพร้อมกับนายซาน ไทก์ อ่อง ที่ทำงานให้กับสำนักข่าวท้องถิ่นที่ชื่อ มิซซิมา ซึ่งถูกรัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการไปเมื่อต้นเดือนนี้
บีบีซี แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะยังไม่สามารถติดต่อกับนายอ่อง ตูยะ ได้นับตั้งแต่นั้น พร้อมเรียกร้องให้ทางการช่วยตามหาว่าเขาถูกจับไปอยู่ที่ใด
“บีบีซี ยึดถือเรื่องความปลอดภัยของพนักงานทุกคนในเมียนมาอย่างจริงจังมาก และเรากำลังทำทุกอย่างเพื่อตามหาอ่อง ตูยะ” บีบีซีระบุในแถลงการณ์
“เราขอเรียกร้องให้ทางการช่วยตามหาเขาและยืนยันว่าเขาปลอดภัย อ่อง ตูยะ เป็นผู้สื่อข่าวของบีบีซีที่มี ประสบการณ์หลายปีในการรายงานข่าวต่างๆ ในกรุงเนปิดอว์”
สงครามปิดปากสื่อท้องถิ่น
นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. มีผู้สื่อข่าวประมาณ 40 คน ถูกจับกุมจากการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในจำนวนนี้ 16 คนยังถูกควบคุมตัว ขณะเดียวกันกองทัพเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศของสำนักข่าวอิสระในท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่ มิซซิมา, ดีวีบี, ขิตทิต มีเดีย, เมียนมา นาว และ 7เดย์ นิวส์
ผู้จัดการงานศพและสื่อท้องถิ่นระบุว่า ในวันนี้มีประชาชน 8 คนเสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงในเมืองอ่องป๊าน ทางภาคกลางของเมียนมา ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าให้สำนักข่าวรอยเตอร์ฟังว่า “เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเคลื่อนย้ายเครื่องกีดขวางออกไป แต่ชาวบ้านขัดขืน พวกเขาจึงยิงปืนใส่” ส่วนรายงานจากนครย่างกุ้ง ระบุว่าการจราจรบนนถนนหลายสายอยู่ในสภาพคับคั่งเพราะประชาชนจำนวนมากพยายามหนีความรุนแรงในเมืองนี้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ตำรวจได้บังคับประชาชนให้ย้ายสิ่งกีดขวางที่กลุ่มผู้ประท้วงสร้างไว้
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) ระบุว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพก่อรัฐประหารทำให้มีชาวเมียนมาเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 232 คน โดยหนึ่งในวันนองเลือดที่สุดคือวันที่ 14 มี.ค. ที่มีผู้เสียชีวิตวันเดียวถึง 38 คน
สำนักงานอาหารและยาของฟิลิปปินส์อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิดของสปุตนิก วี เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ขณะที่ยอดติดเชื้อรายใหม่พุ่ง 4 วัน เกือบ 2 หมื่นราย
เมื่อ 19 มีนาคม 2564 เว็บไซต์ Channel news Asia รายงาน สำนักงานอาหารและยาของฟิลิปปินส์ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด สปุตนิก วี (Sputnik V) ของรัสเซียแล้ว ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในฟิลิปปินส์ยังคงน่าวิตก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4 วัน เกือบ 20,000 ราย
วัคซีนสปุตนิก วี พัฒนาโดยสถาบันกามาลียาของรัสเซีย นับเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของฟิลิปปินส์
โรนัลโด เอนริเก โดมินโก หัวหน้าสำนักงานอาหารและยา ของฟิลิปปินส์ แถลงข่าวหลังจาก FDA ได้อนุมัติวัคซีนสปุตนิก วี ว่า จาก ข้อมูลชั่วคราวผลการทดสอบวัคซีนสปุตนิก วี หลังจากมีการฉีด 2 โดสในกลุ่มคนอายุ 18 ปี และอายุมากกว่านี้ขึ้นไป พบว่ามีประสิทธิภาพอยู่ที่ 91.6%
หัวหน้า FDA ของฟิลิปปินส์กล่าวด้วยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้สอบถามเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับการยื่นขออนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินมาแล้ว แต่ทั้งสองบริษัทยังไม่ได้ยื่นเอกสารขออนุมัติมายังสำนักงานอาหารและยาของฟิลิปปินส์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดเป็นอันดับสองของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ถึง 7,103 ราย และเสียชีวิตอีก 13 ศพ ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเป็น 648,000 ราย และเสียชีวิต 12,900 ศพ รองจากอินโดนีเซียที่มียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิดมากสุดในอาเซียนอยู่ที่ 1.4 ล้านราย และเสียชีวิต 39,142 ศพ
1 มีนาคม 1981 คือวันแรกที่ บ็อบบี แซนด์ส เริ่มต้นการอดอาหาร เขาอยู่ในฐานะ ‘อาชญากร’ ของอังกฤษ
66 วันผ่านไป คือวันสุดท้ายของ บ็อบบี แซนด์ส เขาจบชีวิตในฐานะ ‘วีรบุรุษ’ ของไอร์แลนด์
นี่คือเรื่องราวของ บ็อบบี แซนด์ส จากขบวนการ IRA และการอดอาหารประท้วงเพื่อยืนยันสิทธิว่า ‘นักโทษการเมือง’ ไม่ใช่ ‘อาชญากร’
จากความขัดแย้งทางศาสนาสู่ขบวนการ IRA
โรเบิร์ต เจอราร์ด 'บ็อบบี' แซนด์ส เกิดเมื่อปี 1954 ครอบครัวเป็นชาวคาทอลิกในราธคูล (Rathcoole) ชุมชนเคร่งครัดโปรแตสแตนต์ของเบลฟาสต์ ด้วยความแตกต่างทางความเชื่อของนิกาย ครอบครัวแซนด์สถูกขับไล่ กดดัน คุกคาม จนต้องย้ายที่อยู่หลายต่อหลายครั้ง
ครอบครัวแซนด์สย้ายมาอยู่ในย่านทวินบรูค (Twinbrook) บ็อบบี แซนด์ส เบนเข็มเข้าสู่ขบวนการสาธารณรัฐเมื่ออายุ 18 ปี ไม่นานจากนั้นก็ได้เป็นสมาชิกกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Provisional Irish Republic Army: PIRA) ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของไอร์แลนด์ฝ่ายหัวรุนแรง แยกตัวออกมาจาก IRA เดิมที่ยุติปฏิบัติการไปในปี 1969
หลังถูกจับครั้งแรกในปี 1972 จากข้อหาครอบครองอาวุธปืน 4 กระบอก และมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ IRA บ็อบบี แซนด์ส ต้องโทษจำคุก 3 ปี กับ ‘สถานะพิเศษ’ (Special Category Status: SCS) ซึ่งนักโทษการเมืองได้รับการปฏิบัติเหมือนเชลยสงคราม สวมชุดพลเรือน มีกิจกรรมสันทนาการ สามารถพบปะพูดคุยกับนักโทษสถานะเดียวกันได้อย่างอิสระ
เพราะมีสิทธิในการหาความรู้ แซนด์สเริ่มศึกษาภาษาไอริชท้องถิ่น อ่านหนังสือการเมืองฝ่ายซ้ายหลายเล่ม ทั้ง จอร์จ แจ็คสัน, ฟรานต์ซ ฟานอน และ เช เกวารา เช่นเดียวกับนักสังคมนิยมไอริช เจมส์ คอนนอลลี ซึ่งหล่อหลอมมาเป็นแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมของฝ่ายสาธารณรัฐ
สถานะพิเศษที่เปลี่ยนไป
ไม่นานหลังได้รับอิสรภาพ ปี 1977 แซนด์สถูกจับอีกครั้ง ไม่ไกลจากการก่อเหตุระเบิดร้านเฟอร์นิเจอร์โดยขบวนการ IRA ความผิดตามคดีคือครอบครองอาวุธปืน ไม่ใช่วางระเบิด แต่โทษจำคุกครั้งที่ 2 ระยะเวลาของมันยาวนานถึง 14 ปี
ความแตกต่างอีกประการคือ ปี 1976 รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนแปลงนโยบาย ยกเลิก ‘สถานะพิเศษ’ ให้กลายเป็นคดีอาชญากรรม ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมือง โดยพุ่งเป้าไปที่ขบวนการ IRA ทำให้ผู้ก่อเหตุไอริชกลายเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และมีสถานะเป็น ‘อาชญากร’ ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง สามารถทำการสอบสวนและควบคุมตัวได้โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา
บ็อบบี แซนด์ส ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำเมซ (Her Majesty's Prison Maze หรือ H-Blocks) กระทั่งเป็นผู้ทรงอิทธิพล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการ IRA ในเรือนจำ และเป็นแกนนำประท้วงให้ได้สถานะพิเศษที่ ‘นักโทษการเมือง’ ไม่ใช่ ‘อาชญากร’
การประท้วงเรื่องสถานะพิเศษเกิดขึ้น 2 ครั้งใหญ่ๆ ปี 1976 นักโทษนุ่งผ้าห่มแทนการสวมเครื่องแบบ และปี 1978 ปฏิเสธการอาบน้ำ ทำความสะอาด และใช้อุจจาระป้ายทั่วผนังห้องขัง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบ สนองใดๆ
การประท้วงถูกยกระดับขึ้นไปสู่การอดอาหาร ตุลาคม 1980 นักโทษ 7 คนเริ่มอดอาหารประท้วง และยื่นข้อเสนอเรียกร้องสิทธิของนักโทษ 5 ข้อ ได้แก่
1. สิทธิในการไม่ต้องสวมเครื่องแบบนักโทษ
2. สิทธิในการปฏิเสธการทำงานของนักโทษ
3. สิทธิในการมีปฏิสัมพันธ์ในหมู่นักโทษด้วยกัน จัดการศึกษา และกิจกรรมสันทนาการ
4. สิทธิในการเข้าเยี่ยม 1 ครั้ง รับจดหมาย 1 ฉบับ และรับพัสดุ 1 ชิ้น ต่อสัปดาห์
5. ให้อภัยโทษสำหรับการประท้วง
อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้สิ้นสุดลงหลังผ่านไป 53 วัน และเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลอังกฤษเพิกเฉย
การอดอาหารครั้งที่ 2
บ็อบบี แซนด์ส ไม่ได้เข้าร่วมการอดอาหารครั้งแรกโดยตรง แต่ยังเป็นแกนนำและโฆษกของกลุ่มนักโทษ IRA เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Sinn Fein ในนามปากกา ‘Marcella’ เริ่มแต่งกวีของตัวเอง เล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อสร้างความบันเทิงร่วมกับมิตรสหายด้วยภาษาท้องถิ่นไอริช (Gaelic) และสนใจศึกษาปักษีวิทยาจากการเฝ้ามองนกผ่านหน้าต่างเรือนจำ
การอดอาหารประท้วงรอบที่ 2 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1981 โดย บ็อบบี แซนด์ส เป็นแกนนำ ปฏิเสธอาหารทุกอย่าง ยกเว้นน้ำกับเกลือ ครั้งนี้มีนักโทษเข้าร่วมหลายคน ด้วยความหวังว่าจะดึงความสนใจ
จากสาธารณชนให้เห็นถึงปัญหาของนักโทษการเมืองในเรือนจำมากขึ้น
ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน แฟรงค์ แมไกวร์ สมาชิกสภาฯ อังกฤษจากเขตเลือกตั้งเฟอร์มานาห์และเซาธ์ไทโรน (Fermanagh and South Tyrone) หัวใจวายเสียชีวิตกะทันหัน จึงต้องมีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่เพื่อหาผู้แทนในตำแหน่งที่ว่างลง และ บ็อบบี แซนด์ส ซึ่งถูกส่งชื่อในนามตัวแทนกลุ่ม Anti-H Block ของนักโทษเรือนจำเมซก็เป็นผู้ชนะเหนือ แฮร์รี เวสต์ จาก Ulster Unionist Party โดยได้คะแนนโหวตจากเขตเลือกตั้งในไอร์แลนด์เหนือไปมากกว่า 30,000 เสียง เท่ากับว่า บ็อบบี แซนด์ส -ผู้ต้องขังในเรือนจำ- กำลังจะได้เข้าสู่สภาสามัญ (House of Commons) ของอังกฤษ
สมาชิกสภาฯ ผู้ใช้ชีวิตวันสุดท้ายในเรือนจำ
บ็อบบี แซนด์ส มีสถานะเป็นสมาชิกสภาฯ แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าสภาฯ และแทนที่ตำแหน่งทางการเมืองจากการเลือกตั้งจะเพิ่มแรงกดดันรัฐบาล แต่สถานการณ์กลับแย่ลง มาการ์เรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น แถลงชัดเจนว่าไม่ต้องการเจรจาใดๆ พร้อมดับความหวังของนักโทษ IRA ด้วยประโยคที่ว่า
“เราไม่ได้เตรียมการพิจารณาสถานะพิเศษสำหรับกลุ่มคนที่ต้องโทษจำคุกในข้อหาอาชญากรรม” และ “อาญชากรรมคืออาชญากรรม... คืออาชญากรรม มันไม่ใช่เรื่องการเมือง”
การอดอาหารประท้วงของ บ็อบบี แซนด์ส จึงดำเนินต่อไป พระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ส่งข้อความร้องขอให้ยุติการอดอาหาร แต่ก็ถูกปฏิเสธปฏิเสธ กระทั่ง 3 พฤษภาคม เขาอยู่ในสภาพโคม่าจนต้องถูกย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำ ครอบครัวได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม
วันที่ 5 พฤษภาคม บ็อบบี แซนด์ส เสียชีวิตด้วยวัย 27 ปี หลังอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 66 วัน
อาชญากรของอังกฤษ วีรบุรุษของไอร์แลนด์
หลังมรณกรรมของ บ็อบบี แซนด์ส ผู้คนนับแสนทั่วโลกออกมาเดินขบวนสนับสนุนข้อเสนอของนักโทษในเรือนจำ รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง สหภาพแรงงานไอร์แลนด์สไตรค์ เกิดจลาจลบนท้องถนนไอร์แลนด์เหนือ หนังสือพิมพ์หลายฉบับประณามความใจหินของแธตเชอร์ ที่ปล่อยให้สมาชิกสภาฯ ต้องจบชีวิตในเรือนจำ
ด้วยเสียงเรียกร้องจากครอบครัวนักโทษและกลุ่มคาทอลิก การอดอาหารประท้วงของกลุ่มนักโทษที่เหลือยุติลงในวันที่ 3 ตุลาคม 1981 ไม่นานจากนั้น รัฐบาล มาการ์เรต แธตเชอร์ ยินยอมทำตามข้อเรียกร้อง นักโทษสามารถสวมชุดพลเรือน มีสิทธิรับจดหมาย และสิทธิการเข้าเยี่ยม มีปฏิสัมพันธ์ทำกิจกรรมต่างๆ ในเรือนจำได้ตามสมควร และไม่ต้องรับโทษร้ายแรงหากปฏิเสธการทำงาน
งานศพของ บ็อบบี แซนด์ส 7 พฤษภาคม 1981 มีผู้คนเข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน แม้อังกฤษจะเรียกว่าอาชญากร แต่สำหรับชาวไอริช เขาได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ และยังมีการจัดงานรำลึกถึงในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี
อ้างอิง: history.com britannica.com
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เรียกร้องรัฐบาลทหารพม่าคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน ยุติการนองเลือด พร้อมกับขอให้อาเซียนจัดประชุมระดับสูงหารือวิกฤติในพม่า
เมื่อ 19 มีนาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย กล่าวเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา พร้อมกับขอให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 210 ศพ นับตั้งแต่กองทัพนำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือมีชื่อเรียกขานว่า โจโกวี ยังได้เรียกร้องให้บรรดาผู้นำชาติอาเซียน ควรจัดการประชุมระดับสูงเพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤติการนองเลือดในเมียนมา
'ผมจะเรียกร้องต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ในฐานะที่บรูไนดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปัจจุบัน โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจัดการประชุมระดับสูงถึงวิกฤติในเมียนมา' ประธานาธิบดีวิโดโดทางออนไลน์
ญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบาย ให้พลเมืองญี่ปุ่น พลเมืองถาวรญี่ปุ่น และวีซ่าทุกประเภท ทั้งวีซ่าธุรกิจและวีซ่าท่องเที่ยวชั่วคราวที่เดินทางเข้าประเทศ ต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่น เพื่อยืนยันตำแหน่งตัวบุคคล ซึ่งมีผลบังคับใช้สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น ผ่านสนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศที่สำคัญของประเทศ
นโยบายดังกล่าว ถูกประกาศใช้โดยกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการ นโยบายดังนี้มีผลต่อ ผู้เดินทางขาเข้าทุกประเภท ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 64 เป็นต้นไป ผู้เดินทางเข้าประเทศ จะต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่น 3 แอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน ก่อนออกจากสนามบิน และต้องได้รับการยืนยันว่ามีการติดตั้งแล้วจริง
โดยแอพพลิเคชั่นทั้ง 3 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ แอพฯติดตาม COCOA COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการ, แอพฯ Skype และ แอพฯ OSSMA ซึ่งเป็นแอพฯ ยืนยันตำแหน่ง เพื่อใช้ในการยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบการกักตัว 14 วัน ของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยหลังจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้น จึงสามารถเดินทางได้ตามปกติ เช่นเดียวกันกับประชากรทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้เดินทางเข้าประเทศ ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นได้ ผู้เดินทางขาเข้า จำเป็นต้องเช่าโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้ ณ สนามบิน แต่ต้องชำระค่าบริการเช่าด้วยตนเอง
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า แอพพลิเคชั่นได้รับการติดตั้งและเปิดใช้งานแล้ว ผู้เดินทางเข้าประเทศจะต้องลงนามในสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด หากไม่ดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลให้มีการเผยแพร่ชื่อของผู้ละเมิดต่อสาธารณะ ในกรณีของชาวต่างชาติ อาจมีการส่งกลับประเทศ รวมถึงเพิกถอนสถานะการพำนักของชาวต่างชาติ โดยไม่ยกเว้นให้แม่แต่ วีซ่าทำงานหรือวีซ่านักเรียนนักศึกษา ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และคาดว่าข้อกำหนดดังกล่าวจะขยายไปสู่ผู้เดินทางขาเข้าประเทศ ผ่านสนามบินอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้นี้
แหล่งข่าว: Ministry of Health, Labor and Welfare
การประชุมของเจ้าหน้าที่ทางการทูตระดับสูงครั้งแรกระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ที่อลาสก้าเปิดฉากอย่างดุเดือดในวันพฤหัสบดี เมื่อรัฐมนตรีของทั้งสองต่างตำหนินโยบายของอีกฝ่ายอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ ก่อนจะปิดห้องเจรจากันอย่างจริงจัง
การประชุมที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอลาสก้า ของสหรัฐฯ นาน 2 วัน มีขึ้นภายหลังรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีกลาโหมลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ เสร็จสิ้นภารกิจเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สองชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ เพื่อหาแนวร่วมทัดทานอิทธิพลของจีน โดยบลิงเคนพร้อมด้วยเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เดินทางต่อมาอลาสก้าเพื่อประชุมเจรจากับหยาง เจียฉือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเริ่มการประชุมว่า สหรัฐฯ จะอภิปรายกันถึงความกังวลอย่างยิ่งของสหรัฐฯ ต่อการกระทำของจีน รวมถึงที่มณฑลซินเจียง, ฮ่องกง, ไต้หวัน, การโจมตีทางไซเบอร์ต่อสหรัฐฯ, การบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อชาติพันธมิตรสหรัฐฯ
“การกระทำของจีนคุกคามต่อระเบียบที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาที่รักษาเสถียรภาพในโลก” บลิงเคน กล่าว
ด้านหยาง เจียฉือ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวตอบโต้ด้วยสุนทรพจน์ยาว 15 นาทีที่ดุเดือดพอกัน โดยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า ใช้แสนยานุภาพทางทหารและอำนาจครอบงำทางการเงินกดขี่ประเทศอื่นๆ ใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาขัดขวางการแลกเปลี่ยนทางการค้าปกติ และยุยงให้ประเทศอื่นๆ โจมตีจีน
ส่วนประเด็นสิทธิมนุษชนของสหรัฐฯ เองก็อยู่ในจุดตกต่ำที่สุด คนอเมริกันผิวดำโดนเข่นฆ่า เขายังงเรียกร้องสหรัฐฯ เลิกผลักดันประชาธิปไตยในแบบของสหรัฐฯ เข้าไปยังประเทศอื่นๆ เพราะประเทศส่วนมากในโลกนี้ไม่ได้ยอมรับค่านิยมของสหรัฐฯ ว่าเป็นค่านิยมของโลก และเตือนด้วยว่า จีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการแทรกแซงของสหรัฐฯ ในกิจการภายในของจีน
การตอบโต้ต่อหน้าสื่อมวลชนทั่วโลกกินเวลายาวนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่พวกเขาจะปิดห้องเจรจาโดยไม่ให้สื่อทำข่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รายหนึ่งบอกในภายหลังว่า การเจรจาเป็นไปอย่าง “มีสาระ, จริงจัง และตรงประเด็น” และเลยเวลา 2 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ การประชุมช่วงที่ 2 จัดในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี
และช่วงที่ 3 กำหนดไว้ช่วงเช้าวันศุกร์