นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ศึกษาแนวคิดโรดแมปเศรษฐกิจใหม่ของประเทศสิงคโปร์ ที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายลีเซียนลุง กำลังจะจัดทำขึ้น โดยมีแนวคิดว่าประเทศสิงคโปร์ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี และทำอย่างไรให้สิงคโปร์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วสามารถก้าวหน้าต่อไปได้ ซึ่งต่างกันกับแนวคิดที่จะทำยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทยอย่างลิบลับ โดยพลเอกประยุทธน่าจะนำมาพิจารณาปรับยุทธศาสตร์ของไทยให้เข้ากับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวของประชากรสูงกว่าไทยกว่า 10 เท่า ทั้งๆที่เป็นประเทศที่แยกตัวออกมาจากประเทศมาเลเซียเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจสิงคโปร์อยู่ในสภาพย่ำแย่ แต่สามารถพัฒนาจนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยปัจจุบันเนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำมาหลายปีหลังการรัฐประหารทำให้ปัญหาหนี้เสียของระบบธนาคารและระบบการเงินเริ่มมากขึ้นเหมือนที่ตนได้เคยเตือนไว้แล้ว โดยการที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ออกตั๋วบีอี แต่ไม่สามารถชำระหนี้ตั๋วบีอีได้ ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของหนี้เสียที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นลุกลามเข้าสู่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาลุกลามทำลายความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเพิ่มขึ้นไปอีก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาและรักษาความเชื่อมั่นให้ได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาเศรษฐกิจอาจจะยิ่งลุกลามมากขึ้น โดยหากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่ำเพราะปัจจัยสภาวะการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ ปัญหาหนี้เสียจะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งทรุดลง และความเชื่อมั่นจะยิ่งลดลง ประชาชนจะยิ่งลำบากมากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย ที่อาคารจีพีเอฟ ถ.วิทยุ ระบุว่า เวลานี้สหรัฐกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลชุดเก่าไปเป็นฝ่ายบริหารชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนต้องการจะย้ำในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ชาติคือความต่อเนื่องของความร่วมมือที่มีอยู่จะยังคงดำเนินต่อไปตลอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยนโยบายของสหรัฐอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือผลประโยชน์ที่เป็นแกนกลางของสหรัฐและชาติพันธมิตรจะยังคงเหมือนเดินไม่เปลี่ยนแปลง อาทิ งานด้านการให้บริการขั้นพื้นฐานของสถานทูตที่จะยังคงดำเนินไปตามปกติ
นายเดวีส์ ยังเปิดเผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ยาวนานของสหรัฐ ยังคงเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้จากการที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค โดยนายเดวีส์ประเมินว่า สิ่งที่สามารถคาดหวังได้จากฝ่ายบริหารชุดใหม่ของสหรัฐคือความต่อเนื่องของความร่วมมือด้านการค้า และเศรษฐกิจ นอกจากนี้สหรัฐและไทยยังคงมีความร่วมมือในหลายๆ ด้านในปี 2560 นี้ อาทิ ด้านสาธารณสุข การวิจัย การทหารและความมั่นคง พลังงาน สิ่งแวดล้อม และด้านการบังคับใช้กฎหมาย ที่เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เพิ่งจะมีการเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กแห่งประเทศไทย (ซีเอซี) แห่งใหม่ที่พัทยา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) และหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ
นอกจากนี้ นายเดวีส์ยังระบุว่า หากได้มีโอกาสพบกับนายทรัมป์ ตนจะกล่าวถึงไทยว่าเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคุณลักษณะหลายอย่างเหมือนกับสหรัฐ โดยไทยเป็นประเทศที่ภูมิใจในความเป็นชาติของตน เป็นประเทศเอกราช และยังเป็นชาติพันธมิตรที่สหรัฐไว้ใจได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม นายเดวีส์กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เป็นประเด็นหนึ่งที่สหรัฐให้ความสำคัญ แน่นอนว่าสหรัฐมีความเชื่อในหลักการว่าประเทศที่จะสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมีประชาธิปไตยเข้มแข็ง และต้องการเห็นไทยมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ พร้อมทั้งเดินหน้าตามโร้ดแมปเพื่อกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยตามแผนที่วางไว้โดยเร็ว
เมื่อวันที่ 18 มกราคม สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรง (เอสเอฟโอ) ของอังกฤษ แถลงว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากประเทศอังกฤษ ยินยอมที่จะจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติคดีข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล
บีบีซีรายงานว่า คดีติดสินบนของโรลส์-รอยซ์ ถูกตรวจพบโดยเอสเอฟโอ ที่พบถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนและอินโดนีเซีย ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน กระทั่งตรวจสอบพบว่า โรลส์-รอยซ์ ได้มีการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ในการติดสินบนและคอร์รัปชั่นในหลายประเทศด้วยกัน
ด้านกระทรวงยุติธรรมยุติธรรมของสหรัฐ แถลงเมื่อวันที่ 17 มกราคมว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ ในช่วงปี 2543 -2556 ทั้งในคาซัคสถาน , บราซิล , อาเซอร์ไบจาน , แองโกลา , อิรัก และประเทศไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมูลค่ากว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ
รายงานระบุว่า ในส่วนของการติดสินบนในประเทศไทยนั้น ไม่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวและไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวออกมา แต่บีบีซีรายงานเอาไว้ว่า ในส่วนของกรณีติดสินบนที่เกิดขึ้นในไทยนั้น ทางโรลส์-รอยซ์ ตกลงจ่ายเงินจำนวน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ตัวแทนระดับภูมิภาค ซึ่งหมายถึงบริษัทท้องถิ่นที่ดูแลในเรื่องการขาย กระจายสินค้าและการบำรุงรักษาในหลายประเทศ ที่ทางโรลส์-รอยซ์เองไม่มีบุคลากรเพียงพอในการดูแล
บีบีซี อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่เอสเอฟโอผู้หนึ่งเปิดเผยว่า เงินสินบนบางส่วนได้จ่ายให้เป็นรายบุคคล มีทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลส์-รอยซ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยนต์ ที800 ของบริษัทแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทางโรลส์-รอยซ์ ยินดีที่จะจ่ายเงินรวมกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติคดีใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐอเมริกา และบราซิล โดยจะจ่ายเงินให้แก่เอสเอฟโอ เป็นเงิน 617 ล้านดอลลาร์ รวมกับดอกเบี้ยตลอดช่วงระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ ยังบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา โดยจะจ่ายเงินให้แก่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเป็นเงิน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบราซิล จะเป็นการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานคดีอาญาแห่งรัฐ เป็นเงินทั้งสิ้น 25.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยหลังการบรรลุข้อตกลงในการยอมความ นายวอร์เรน อีสต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้ออกแถลงการณ์ ขอโทษต่อการติดสินบน “อย่างไม่มีข้อสงสัย” ของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ารับไม่ได้ และว่า หลังเกิดเหตุขึ้น ทางบริษัทได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆของบริษัท และได้ยกเลิกการใช้ตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีแล้ว
เอเอฟพีรายงานว่า ผลของการตกลงกันได้ทำให้จะไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญาต่อโรลส์-รอยซ์ และทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
วอชิงตัน (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์)-สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตกว่า 50 คนประกาศจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันศุกร์ที่ 20 มกราคมนี้ ด้านทรัมป์เตรียมร่วมงานเลี้ยงและพิธีสาบานตนรับตำแหน่งที่จะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ในปลายสัปดาห์นี้
สื่อหลายสำนักรายงานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตกว่า 50 คนประกาศจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันศุกร์ที่ 20 มกราคมนี้ หลังจากเกิดวิวาทะระหว่างนายทรัมป์และนายจอห์น ลูอิส สส. จากรัฐจอร์เจีย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองผิวสีซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวาง โดยก่อนหน้านี้นายลูอิสกล่าวหาว่าชัยชนะของนายทรัมป์นั้นได้มาโดยไม่ชอบธรรมเพราะมีการแทรกแซงทางไซเบอร์จากรัสเซีย แต่นายทรัมป์ตอบโต้ว่า นายลูอิสนั้นเป็นพวกดีแต่พูดแต่ไม่ทำ และไม่มีผลงาน
บรรดาสส.พรรคเดโมแครตหลายคนแสดงความไม่พอใจต่อนายทรัมป์ทางทวิตเตอร์ เช่น นายคีธ เอลลิสัน สส.จากรัฐมินนิโซตา
ทวีตข้อความว่า ตนจะไม่ไปร่วมสนับสนุนคนที่พร่ำพูดแต่เรื่องการเมืองเพื่อความเกลียดชังแบ่งแยก ส่วนนายแอนโทนี จี บราวน์ สส. รัฐแมรีแลนด์ ก็ทวีตข้อความว่า จะไม่ไปร่วมพิธีสาบานตนของนายทรัมป์ เนื่องจากความเคารพต่อนายลูอิสซึ่งเป็นวีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองผิวสี นายบราวน์ยังระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐนั้นต้องมีความรับผิดชอบสูง โดยตัวเขามีความเคารพต่อตำแหน่งนี้ แต่ทนไม่ได้ต่อพฤติกรรมที่ขาดความเคารพของนายทรัมป์ดังกล่าว จำนวน สส.พรรคเดโมแครต ที่ประกาศไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของนายทรัมป์ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว และคาดว่าจะยังมีเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่มีผู้คว่ำบาตรพิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีกันเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อปี 2516 มีสมาชิกรัฐสภากว่า 80 คน ไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน มาแล้ว
ขณะที่รายละเอียดของพิธีการสาบาน ในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นนายทรัมป์จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานแสดงดนตรีที่อนุสรณ์สถานลินคอล์นช่วงครึ่งหลัง ใช้ชื่องานว่า Make America Great Again! Welcome Celebration จะมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ มีการแสดงดนตรีของนักร้องเพลงคันทรีชื่อดังอย่าง โทบี คีธ และ ลี กรีดวูด ปิดท้ายด้วยการแสดงดอกไม้ไฟ จากนั้นในเช้าวันศุกร์ที่ 20 มกราคมตามเวลาท้องถิ่น ทรัมป์และนางเมลาเนีย ว่า ที่สตรีหมายเลข 1 จะไปดื่มชามื้อเช้าที่ทำเนียบขาวกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา และนางมิเชล ภริยา ทั้งหมดจะขึ้นรถขบวนไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อเริ่มพิธีสาบานตนในเวลา 09.30 น. หน้าอาคารปีกซ้ายของรัฐสภา โดยมีสมาชิกรัฐสภา ผู้พิพากษาศาลฎีกา นักการทูต สาธารณชนเป็นประจักษ์พยาน รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีอย่าง จิมมี คาร์เตอร์ จอร์จ ดับเบิลยู.บุช บิลล์ คลินตันและนางฮิลลารี ภริยา การกล่าวสาบานตนจะเริ่มในเวลา 11.30 น. เป็นการสาบานตนของนายเพนซ์ ส่วนทรัมป์จะสาบานตนในเวลาเที่ยงและกล่าวสุนทรพจน์แรกของการรับตำแหน่ง ทางการคาดว่าจะมีชาวอเมริกันราว 800,000-900,000 คน เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ในวันดังกล่าว ซึ่งยังนับว่าไม่มากเมื่อเทียบกับพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีบารัค โอบามาเมื่อแปดปีก่อน ซึ่งมีผู้มาร่วมฉลองที่กรุงวอชิงตัน ถึง 1.8 ล้านคน