สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 13 เมษายน หน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาสรุปผลว่า การติดเชื้อไวรัสซิกาของหญิงตั้งครรภ์ส่งผลให้เด็กทารกในครรภ์ประสบภาวะศีรษะเล็กและภาวะผิดปกติทางสมองอื่นๆ อย่างรุนแรง
นายทอม ฟรีเดน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) กล่าวว่า ไวรัสซิกาส่งผลให้เกิดภาวะศีรษะเล็กอย่างชัดเจน
ซีดีซีเชื่อว่า ภาวะศีรษะเล็กในทารกสามารถนำไปสู่ผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กและถือเป็นภาวะร้ายแรงที่มีที่มาจากซิกา พร้อมกันนี้ จากการศึกษาทารกที่มีภาวะศีรษะเล็กในประเทศบราซิลชี้ให้เห็นถึงภาวะผิดปกติทางสมองอื่นๆ ด้วย
ปัจจุบัน บราซิลยืนยันพบผู้ป่วยภาวะศีรษะเล็กมากกว่า 1,100 ราย และมองว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับไวรัสซิกาในมารดาของตน โดยในขณะนี้ทางการอยู่ระหว่างตรวจสอบผู้ป่วยเพิ่มอีกมากกว่า 3,800 ราย
ถ้อยแถลงนี้มีขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาวิกฤติสำหรับรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามาที่พยายามโน้มน้าวรัฐสภาให้งบประมาณ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.68 หมื่นล้านบาท) ในการต่อสู้ไวรัสที่ติดต่อผ่านยุงลายนี้
เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมื่อวานนี้ (13 เมษายน) เวลาประมาณ 09.30 น. ตนได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คเรื่อง “ผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” สาระสำคัญคือตนเห็นว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ทุกฝ่ายรวมถึงพรรคการเมืองย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นทั้งในเชิงสนับสนุนหรือคัดค้าน ตนจึงไม่เห็นด้วยกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีและ ผบ.ทบ. ที่แสดงความไม่พอใจที่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคแถลงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นเวลา 14.30 น. ตนได้รับการติดต่อจากทหารว่าได้รับคำสั่งให้มาควบคุมตัวผมจากการโพสต์ข้อความดังกล่าว ตนนัดทหารให้มาที่บ้านในวันจันทร์ที่ 18 เมษายน เวลา 11.00 น. ซึ่งตนจะไปตามนัด
นายวัฒนา กล่าวว่าการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญทั้งในทางสนับสนุนหรือคัดค้าน ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ชนชาวไทยพึงกระทำได้ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว นายกรัฐมนตรีและ ผบ.ทบ. ได้แสดงความเห็นเชิงสนับสนุน ส่วนตนหรือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็ย่อมมีสิทธิที่จะมีความเห็นในทางตรงข้ามได้เช่นกัน อีกทั้งก่อนที่ผมจะโพสต์ข้อความแสดงจุดยืนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พรรคพท. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และผู้บริหารของพรรคการเมืองทั้งสองได้แสดงจุดยืนไม่รับรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้าแล้ว ตนเห็นว่าการแสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเสรีภาพทางความคิดที่พึงกระทำได้โดยชอบ ตนจึงไม่ได้กระทำความผิดและไม่ยินดีที่จะให้ คสช. นำตัวไปควบคุมโดยมีข้ออ้างว่าเป็นการ “ปรับทัศนคติ”
“กรณีของผมเกิดจากการโพสต์ข้อความว่าผมไม่รับรัฐธรรมนูญโดยกฎหมายการออกเสียงประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงไม่เป็นความผิดที่จะทำให้ คสช.มีอำนาจมานำตัวผมไปควบคุมได้ไม่เกิน 7 วัน ดังนั้น คสช. หรือเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผมทราบว่า การโพสต์ข้อความว่าผมไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นความผิดข้อใดตามคำสั่งดังกล่าว และหากเป็นความผิดเหตุใดพรรคการเมืองและคณะผู้บริหารของพรรคทั้งสองที่แสดงความเห็นเช่นเดียวกันไปก่อนหน้าผมจึงไม่ถูกดำเนินคดี ผมเห็นว่า คสช. กำลังใช้อำนาจตามอำเภอใจ เลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมไม่ยินดีที่จะให้ควบคุมตัวแต่ไม่มีกำลังไปต่อต้าน จึงต้องขอความกรุณาพี่น้องประชาชน สื่อมวลชน สถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของ คสช. ด้วย” นายวัฒนา ระบุ
เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขู่เรียกปรับทัศนคตินักการเมืองที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สถานการณ์ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.ไม่ได้สั่งห้ามหรือสั่งการอะไรเป็นพิเศษ และไม่ได้สั่งให้ลดโทนการให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหลังผู้มีอำนาจออกมาขู่แต่อย่างใด ตนเชื่อว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์เเถลงไป ถือเป็นจุดยืนของพรรคที่มีเจตนาดีมากกว่าประสงค์ร้ายต่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งบรรยากาศในการทำประชามติ ไม่ควรมีการข่มขู่ แต่ควรพร้อมเปิดรับความเห็นต่าง ผู้มีอำนาจควรเข้าใจให้ชัดเจนว่า การทำประชามติคือการหาเสียงข้างมากในเรื่องที่คนเห็นไม่ตรงกัน แต่หากใครที่ข่มขู่หรือก่อความวุ่นวาย ให้จัดการตามกฎหมายได้ ดังนั้นจึงขอให้ใจเย็นๆ ขอย้ำว่าพรรค ปชป.ไม่ได้ทำผิดใดๆ และจะไม่มีปรับท่าทีเพราะบริสุทธิ์ใจในการแสดงออก
เมื่อวันที่14 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หลังเข้าควบคุมอำนาจเกือบ 2 ปี ว่า จากการบริหารประเทศที่ผ่านมาของ คสช. คิดว่าประชาชนพึงพอใจเรื่องความสงบบ้านเมือง แต่การบ้านสำคัญที่ คสช. ต้องตระหนัก คือวิธีการพิเศษที่นำมาสู่ความสงบไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป ต้องคิดว่าถ้าไม่มีวิธีพิเศษแล้วจะทำอย่างไร โดยระยะเวลาอีก 1 ปีเศษที่เหลือ ตนอยากให้ คสช. เร่งสร้างความมั่นใจตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนด้วยการใช้กติกาปกติ รวมทั้งอยากให้เร่งปฏิรูปตำรวจและสื่อมวลชน นอกจากนี้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองปฏิรูปตัวเองได้ก่อนการเลือกตั้งก็จะดีที่สุด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอให้ คสช. ทบทวนคำสั่งที่มีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงคำสั่งที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับใช้โดยอยากให้ทบทวนเรื่องที่มีการยกเว้นไป อาทิ การยกเว้นกฎหมายสิ่งแวดล้อมผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคารหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่มีคำตอบระยะยาว เช่น โครงสร้างทางการศึกษา โครงสร้างในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพราะข้อยกเว้นจะเป็นปัญหาในอนาคต หากทบทวนคำสั่งที่ควรยกเลิกก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้ง จะทำให้แก้ไขได้ง่ายกว่าที่จะปล่อยไปแล้วไปแก้ไขในอนาคตซึ่งจะสร้างความยุ่งยากมากกว่า
เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่า เมื่อใกล้ถึงวันลงคะแนนประชามติวันที่ 7 สิงหาคม ทางออกคงเล็ดลอดออกมา ซึ่งการแก้ไขอาจจะแก้เพียง 1-2 มาตรา ให้รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เป็นสิ่งแรกโดยเร็วแบบตั้งตัวกันไม่ติด พอรู้ผลอย่างเป็นทางการ วันต่อมาก็ต้องเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทันที เมื่อ สนช.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเสร็จแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการทางออกตามร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าวทันที แต่ขณะนี้ยังไม่รู้จะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างไร ให้สาบานก็สาบานว่าไม่รู้จริงๆ แต่การที่ยังไม่บอกทางออกเนื่องจากมีเหตุผลแต่ต้นว่าไม่ต้องการให้คนมีความรู้สึกว่ามีอะไรให้เลือก เพราะจะทำให้เกิดอคติในการออกเสียงประชามติ ขนาดรับหรือไม่รับคนยังลังเล แต่ถ้ามีตัวเลือกมาให้จะยิ่งทำให้เกิดอคติในการลงประชามติ เขากลัวในการสร้างแรงกดดัน ยืนยันเราไม่ได้กลัวว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำ เพียงแต่กลัวอคติ กลัวแรงกดดัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มองว่าไม่ยุติธรรม เพราะประชาชนไม่มีทางเลือกอื่นว่าถ้าไม่รับจะเจออะไร นายวิษณุกล่าวว่า การลงประชามติที่ไหนก็ตามเขาทำแบบนี้ทั้งนั้น แต่เหตุผลที่เขาไม่บอกคือ ขณะนี้ยังไม่รู้ เพราะไม่อยากทำตัวว่ารู้กัน เนื่องจากเขาต้องการดูสถานการณ์ ปฏิกิริยาหลายๆ อย่าง และจะทำให้รู้ว่าของใหม่ควรมีหน้าตาอย่างไร รวมถึงเรื่องคำถามพ่วง ถ้าต้องเขียนรัฐธรรมนูญคงได้ใช้ประโยชน์ ได้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร
เมื่อถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คะแนนเสียงระหว่างรับหรือไม่รับก้ำกึ่งกันจะมีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มันจะมีผลในทางอ้อม ได้นำมาคิดว่าคะแนนมีความหมายอย่างไร กรณีรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วคำถามพ่วงไม่ผ่านก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามพ่วงกลับผ่าน ก็จะเอาตัวนี้ไปแก้ไม่ได้ แต่ทำให้เห็นว่าคนคิดอย่างไรกับหน้าตาร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ ซึ่งไม่ใช่ตอบโจทย์เพียงแค่นั้น ยังคิดต่อไปได้อีกเยอะ เพราะคำถามพ่วงคำถามเดียวสามารถเขียนต่อไปได้อีก 20 มาตรา มันแสดงให้เห็นว่าคนเขาคิดอย่างไร แต่ไม่ว่าอย่างไรหากยกร่างใหม่ก็ต้องลอกของที่เคยมีมาทั้งนั้น สุดท้ายก็ต้องเอารัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ หลับตานึกว่า 2 ใน 3 คงเหมือนของเดิมที่เคยมีมา
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยจะลงเอยเหมือนฉบับนายบวรศักดิ์ เพราะสองพรรคใหญ่ออกมาค้าน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ห่วง ไม่คิดอะไร ทราบอยู่ว่าสองพรรคใหญ่ออกมาค้าน เป็นสิทธิของเขา ต่อข้อถามว่า นายมีชัยแสดงท่าทีชัดเจนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะวางมือ หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ จะต้องมือนายวิษณุหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่พร้อม เมื่อถามย้ำว่า ครั้งหนึ่งนายมีชัยก็เคยพูดว่าไม่พร้อมเหมือนกันในช่วงแรก นายวิษณุกล่าวว่า “ก็นั่นสิ แล้วจะถามทำไม คำถามที่นำไปสู่คำตอบอันไร้สาระจะถามทำไม ผิดที่คุณถาม”
ข้อมูลจากเว็บไซต์พยากรณ์อากาศของอังกฤษ weatheronline.co.uk ระบุว่าดัชนีความเข้มข้นของรังสีอัลตราไวโอเล็ต (ยูวีอินเด็กซ์) ในประเทศไทยช่วงระหว่างวันที่ 14-21 เมษายน อยู่ที่ 12 โดยดัชนีนี้วัดค่าจากปริมาณของรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังที่คาดว่าจะส่องมายังพื้นผิวโลกในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่บนจุดสูงสุดของท้องฟ้า (ราวเที่ยงวัน)
ข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่า ความเข้มข้นสูงสุดของรังสียูวีเปลี่ยนแปลงไปได้ในแต่ละปี โดยความรุนแรงสูงสุดอยู่ในจุดครีษมายัน (ซัมเมอร์โซลสทีซ) ที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด (โซลสทีซ) คือจุดสูงสุดทางเหนือที่เกิดขึ้นในราววันที่ 21 มิถุนายน และมีความรุนแรงต่ำสุดในช่วงเหมายัน ที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุดคือ จุดสุดทางใต้ในราววันที่ 22 ธันวาคม โดยค่ายูวีอินเด็กซ์มีตั้งแต่ 0 ในตอนกลางคืนไปจนถึง 11 หรือ 12 และอาจสูงกว่านี้ได้ในเขตร้อน หรือภายใต้ภาวะที่ท้องฟ้าโปร่ง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์พยากรณ์อากาศของอังกฤษระบุด้วยว่า ความรุนแรงของรังสียูวีมีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสภาพผิวหนังแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งสภาพผิวเป็น 4 แบบ คือผิวขาว ผิวสีแทน ผิวสีน้ำตาล และผิวดำ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่าคนผิวสีน้ำตาลคือคนเอเชียและคนอเมริกากลางและละตินอเมริกาส่วนใหญ่ จะมีความเสี่ยงปานกลางต่อความเข้มข้นของรังสียูวีที่ระดับ 6-9 และเสี่ยงสูงต่อความเข้มข้นของรังสียูวีที่ระดับ 10 ขึ้นไป ซึ่งผิวหนังสามารถเกิดไหม้ได้หากสัมผัสกับรังสียูวีในแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาราว 30 – 60 นาที
คำแนะนำคือ พยายามอย่าให้โดนแสงอาทิตย์โดยตรงโดยให้ใส่เสื้อผ้าปกปิดผิวหนังหรือทาครีมกันแดดที่มีค่าประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด (เอสพีเอฟ) 15 ขึ้นไป
ทั้งนี้นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศที่มีค่ารังสียูวีอยู่ในระดับ 12 เช่นเดียวกันในช่วงนี้ยังประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ พม่าและติมอร์เลสเต
สำนักข่าวยอนฮับรายงานเมื่อวันที่ 14 เมษายนว่า เกาหลีเหนือติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง 1-2 ลูกบนฐานยิงเคลื่อนที่บริเวณฝั่งตะวันออกของประเทศ คาดการณ์ว่าอาจเตรียมยิงขึ้นในวันที่ 15 เมษายนอันถือเป็นวันครบรอบวันเกิดของนายคิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งและประธานาธิบดีตลอดกาลเกาหลีเหนือ
ยอนฮับกล่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวรัฐบาลเกาหลีใต้ว่า พบเครื่องยิงขีปนาวุธเคลื่อนที่พร้อมขีปนาวุธมูซือดาน 2 ลูก โดยขีปนาวุธมูซือดานถูกออกแบบให้มีพิสัยมากกว่า 3,000 กิโลเมตร แต่ไม่เคยถูกนำออกทดสอบยิงมาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญบางรายระบุว่า เกาหลีเหนืออาจเลือกทดสอบยิงขีปนาวุธมูซือดานในอนาคตอันใกล้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปที่ออกแบบให้สามารถยิงถึงแผ่นดินสหรัฐอเมริกาได้
อย่างไรก็ตาม นายมูน ซัง กยูน โฆษกกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะยืนยันรายงานของยอนฮับ แต่ระบุว่า กองทัพมีความเตรียมพร้อมสูงหากเกาหลีเหนือจะยิงขีปนาวุธ
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012