ข่าว
อิทธิพลของโพลในสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากขณะนี้โลกเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างมากมาย ฉะนั้นสถิติที่เกี่ยวกับตัวเลขนับว่ามีมูลค่ามหาศาลที่ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในขบวนการแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อน

“สำนักหยั่งเสียง” หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “โพล”ส่วนใหญ่แล้วจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเป็นสัดส่วนตัวเลข และนำมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุป

และดูเหมือนว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกามีสำนักหยั่งเสียงทั้งหมดถึง 78 สำนักด้วยกัน และได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยแต่ละปีอุตสาหกรรมโพลสามารถทำรายได้มากถึง 21 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว !!!

อนึ่ง ประเภทของสำนักหยั่งเสียงในสหรัฐฯ จะมีทั้งของเอกชนและของสถาบันการศึกษาที่เน้นทางด้านวิชาการ โดยไม่ให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซง ยกตัวอย่างอาทิ โพลของมหาวิทยาลัย Quinnipiac ซึ่งเป็นโพลที่ได้รับความเชื่อถือที่อยู่ระดับเกรดเอ โดยเริ่มต้นสังกัดวิชาการตลาด

และเมื่อโพลของมหาวิทยาลัย Quinnipiac มีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ขยับขยายขึ้นเป็นอาคารสองชั้น และยังได้ว่าจ้างมืออาชีพเข้าไปช่วย เนื่องจากโพลของสถาบันแห่งนี้สร้างชื่อเสียงไปทั่วประเทศ จึงมีผลทำให้บรรดาสำนักข่าวชั้นนำต่างๆ อาทิเช่น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์, หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ,หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์, สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น และ สถานีโทรทัศน์ช่องฟอกซ์นิวส์ มักจะหยิบยกนำเอาโพลของมหาวิทยาลัยดังกล่าวไปอ้างอิง มีผลทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการโปรโมตไปในตัวจนมีชื่อเสียงสามารถเพิ่มจำนวนนักศึกษาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ส่วนใหญ่แล้วหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ แทบทุกฉบับต่างก็มีสำนักหยั่งเสียงเป็นของตนเองหรือไม่ก็เป็นพันธมิตรกับสำนักโพลของสถาบันการศึกษา อาทิ เช่น ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้จัดทำโพลร่วมกับ Siena College ณ นครนิวยอร์ก ส่วนโพลที่มีชื่อว่า FiveThirtyEight ก็เป็นโพลที่ “เนท ซิลเวอร์”Nate Silver นักสถิติชั้นเซียนระดับปรมาจารย์ที่ออกมาทำนายทายทักแบบแปลกแวกแนว โดยเขาได้นำเอาสถิติไปสร้างข้อมูล เพื่อใช้ทำนายการเมืองในทุกๆ ระดับ และที่ผ่านมาเขาสามารถสร้างความแม่นยำได้เป็นอย่างสูงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 2016 ที่ครั้งนั้นเป็นการแข่งขันระหว่าง “รัฐมนตรีต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน” กับ “โดนัลด์ ทรัมป์”ซึ่งในการแข่งขันครั้งนั้นปรากฏว่าบรรดาสำนักโพลต่างๆ ที่เคยได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในสหรัฐฯ ถูกหักปากกาเซียนขาดสะบั้นจนเป็นท่อนๆ เพราะทำนายแบบไม่ติดฝุ่นผิดพลาดอย่างมากมายมหาศาล โดยสำนักโพลส่วนใหญ่ออกมาคาดการณ์ว่า ฮิลลารี คลินตันจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะแบบลอยลำแน่นอน แต่กลับมิได้เป็นไปดั่งที่โพลชื่อดังต่างๆ ออกมาทำนายเอาไว้เลย !!!

และเมื่อบรรดาสำนักโพลต่างๆ ต้องหน้าแตกแผลเหวอะหวะแบบหมอไม่อยากรับเย็บแล้ว ในที่สุดโพลต่างๆ ก็ได้ปรับวิธีทำโพลกันเสียใหม่ เพื่อต้องการที่จะเรียกศรัทธาให้กลับคืนมา

และโพลที่ได้รับความชื่นชมมากที่สุดก็คือ IBD/TIPP ซึ่งเป็นโพลที่มีความแม่นยำมากที่สุด โดยสำนักโพลแห่งนี้ได้ออกมาทำนายผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีค.ศ. 2004, 2008, 2012, 2016 และเมื่อปีค.ศ. 2020 ได้อย่างแม่นยำที่สุด

นอกเหนือจากโพลของ IBD/TIPP จะได้รับความน่าเชื่อถือในการทำนายผลสำรวจทางด้านการเมืองแล้ว สำนักหยั่งเสียงแห่งนี้ยังได้สำรวจผลเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในแต่ละเดือน และสำนักหยั่งเสียงแห่งนี้ยังได้จัดทำดัชนีของผลการสำรวจภาวะการเป็นผู้นำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบบเป็นรายเดือนอีกด้วย !!!

คราวนี้ลองหันมาดูถึงประโยชน์ของบรรดาโพลเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีค.ศ. 2024 กันดูบ้าง โดยสำนักโพลส่วนใหญ่รายงานผลสำรวจล่าสุดในทำนองที่ว่า ขณะนี้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลายเป็นนักการเมืองตัวเก็งของค่ายพรรครีพับลิกัน ที่เขาอาจจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเข้าไปแข่งขันกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการแข่งขันสมัยหน้าก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตามสำนักโพล MarketWatch เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2023 นี้ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ร่วงหล่นลดลงมาต่ำสุดอยู่ที่ 36% และในช่วงเดียวกันนี้โพลของสถานีโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ที่ทำร่วมกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ก็ออกมารายงานครั้งล่าสุดในทำนองเดียวกันนี้ว่าคะแนนนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เหลืออยู่ที่ 36% เช่นกัน

ทั้งนี้การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อยู่ในช่วงวัย 80 ปี ก็ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันมองเขาในแง่ลบ โดย 68% มีความคิดเห็นว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แก่เกินไปในการนั่งครองตำ แหน่ประธานาธิบดีในวาระที่สองและในขณะเดียวกันอายุของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วัย 76 ปี ก็มิได้มีน้ำหนักมากเหนือกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน เท่าใดนัก เพราะคนอเมริกันกว่า 44% ก็คิดทำนองเดียวกันว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ก็แก่เกินกว่าที่จะเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สองด้วยเช่นกัน !!!

สำหรับผลการหยั่งเสียงของสำนัก FiveThirtyEight ของเนท ซิลเวอร์ ได้ออกมาเปิดเผยครั้งล่าสุดนี้ว่า คะแนนนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อยู่ที่ 42.6% และผลสำรวจของสำนัก Public Opinion Strategies เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2023 นี้ได้ออกมาเปิดเผยว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ณ เวลานี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะชนะ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยคะแนน 48% ต่อ 44%

อนึ่ง “ผู้ว่าฯ รอน เดอแซนติส” แห่งรัฐฟลอริดาวัย 44 ปี ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นนักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงของค่ายพรรครีพับลิกัน ที่ถึงแม้ว่าผู้ว่าฯท่านนี้ยังไม่ได้ออกมาประกาศตนลงเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเขากำลังเป็นที่นิยมของคนอเมริกันเป็นอย่างสูง โดยคนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการที่จะเลือกให้เขาเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันแทนที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยซ้ำไป

และจากการหยั่งเสียงของ โพล Yahoo News ของวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับ ผู้ว่าฯรอน เดอแซนติส แล้วปรากฏว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน นำ 45% ต่อ 42%

และหากจะย้อนกลับไปดูการคาดการณ์ล่วงหน้าของสำนักโพล FiveThirtyEight เมื่อครั้งที่มีการแข่งขันเลือกตั้งระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับโจ ไบเดน เมื่อปีค.ศ.2020 ที่ครั้งนั้นสำนักโพลแห่งนี้ได้นำผลสรุปของทุกๆ สำนักโพลมาบ่มเพาะแล้วคัดกรองออกมาได้ใจความว่า โอกาสที่โจ ไบเดน จะชนะประธานาธิบดีทรัมป์อย่างถล่มทลายอยู่ที่ 89% ต่อ 11% และประธานาธิบดีทรัมป์ก็ประสบกับความพ่ายแพ้ไปตามคาดหมาย แต่เขากลับปฏิเสธผลการเลือกตั้งไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ แถมยังพยายามใช้กลเม็ดต่างๆ นานาอย่างมากมาย เพื่อพลิกผลการเลือกตั้ง แต่ยิ่งทำก็ยิ่งล้มเหลวในทุกๆ กรณี อีกทั้งขณะนี้เขายังได้ออกมาประกาศหาเสียงกล่าวย้ำๆตลอดเวลาว่า เมื่อสองปีก่อนที่เขาพ่ายแพ้การเลืกตั้งเพราะถูกโกง !!!

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้ และทั้งนั้น หากท่านผู้อ่านท่านได้ต้องการจะทราบถึงแนวโน้มของผลการแข่งขันเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ล่วงหน้าแล้วละก็ ท่านสามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้ที่สำนักโพล FiveThirtyEight ซึ่งเป็นของนักสถิติชื่อดังของ “เนท ซิลเวอร์” ที่ทั้งหมดทั้งมวลของสำนักหยั่งเสียงแห่งนี้น่าจะเป็นโพลที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด

เครดิตข่าว:ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย

สหรัฐฯ เตือนโรค ‘เอ็มพอกซ์’ (ฝีดาษลิง) เสี่ยงระบาดรอบใหม่

ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ เตือนโรค mpox (เอ็มพอกซ์) หรือก่อนหน้านี้รู้จักในชื่อ โรคฝีดาษลิง อาจหวนกลับมาระบาดรอบใหม่ ขณะที่พบผู้ติดเชื้อรวม 3 หมื่นคนแล้ว

เมื่อ 19 พ.ค. 2566 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ออกคำเตือนความเสี่ยงโรคเอ็มพอกซ์ (mpox) หรือที่ก่อนหน้านี้เรียกว่าโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ที่อาจกลับมาระบาดช่วงฤดูร้อนนี้

ประกาศฉบับปรับปรุงจากศูนย์ CDC ของสหรัฐฯ ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์ในสหรัฐฯ ลดลงนับตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2565 ทว่าการระบาดยังคงไม่สิ้นสุด โดยฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 2566 อาจเกิดการระบาดอีกครั้งขณะประชาชนรวมตัวเพื่อฉลองเทศกาลและกิจกรรมอื่นๆ

การแจ้งเตือนแพทย์ทั่วสหรัฐฯ ครั้งนี้มีขึ้น หลังจากนครชิคาโกรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์แบบกลุ่มก้อน แบ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันผล 12 ราย และผู้ป่วยต้องสงสัย 1 ราย ระหว่างวันที่ 17 เม.ย. - 5 พ.ค. ที่ผ่านมา

ศูนย์ CDC ยังคงได้รับรายงานจำนวนผู้ป่วยที่สะท้อนการแพร่เชื้อในชุมชนของสหรัฐฯ และระหว่างประเทศ ซึ่งบ่งชี้ความจำเป็นของการฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยง โดยศูนย์ CDC ตรวจพบผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์ในสหรัฐฯ จำนวน 30,395 ราย เมื่อนับถึงวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา

(ที่มา : Xinhua)


ผู้นำจี 7 เตรียมเผยมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดใหม่

สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ จี 7 เตรียมประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดใหม่ในวันนี้

บรรดาผู้นำประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าของโลกเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซีย

ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจี 7 ขณะที่สื่อมวลชนตะวันตกหลายสำนักรายงานอ้างแหล่งข่าวที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจี 7 ที่เมืองฮิโรชิมาด้วยตัวเอง

ขณะที่สื่อมวลชนตะวันตกหลายสำนักรายงานอ้างแหล่งข่าวที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครนจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติหรือ G7 ที่เมืองฮิโรชิมาด้วยตัวเอง ในวันอาทิตย์นี้

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ และผู้นำคนอื่นๆ จากประเทศร่ำรวย G7 ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา ได้เดินทางไปยังอนุสรณ์สันติภาพที่เมืองฮิโรชิมา เพื่อร่วมไว้อาลัยแก่เหยื่อที่ถูกระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง

คาดว่าบรรดาผู้นำจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการหารือถึงกลยุทธ์เกี่ยว

กับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าหนึ่งปี ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลง รัฐบาลอังกฤษระบุในแถลงการณ์ว่า อังกฤษจะประกาศห้ามนำเข้าเพชรรัสเซียและนำเข้าโลหะจากรัสเซีย เช่น ทองแดง อะลูมิเนียม และนิกเกิล เพื่อสนับสนุนยูเครน

นอกจากนี้ อังกฤษยังตั้งเป้าโจมตีบุคคลและบริษัทอีก 86 ราย จากศูนย์อุตสาหกรรมทางทหารของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย นอกเหนือจากที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน โลหะ และการเดินเรือ

ด้านนายชาร์ลส ไมเคิล ประธานสภายุโรปกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ยุโรปจะจำกัดการขายเพชรรัสเซีย ส่วนรัฐบาลรัสเซียกล่าวว่า พร้อมที่จะใช้คลังแสงนิวเคลียร์เพื่อปกป้อง “บูรณภาพแห่งดินแดน” หากจำเป็น

ทั้งนี้ นายคิชิดะซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดฮิโรชิมา กล่าวว่าเขาเลือกฮิโรชิมาเป็นสถานที่สำหรับการประชุมสุดยอดเพื่อมุ่งความสนใจไปที่การควบคุมอาวุธ

เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในวันนี้ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโส

ของสหรัฐฯ กล่าวว่า องค์กรกว่า 70 แห่งในรัสเซีย และประเทศอื่นๆ จะถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีการลงโทษมากกว่า 300 รายการที่ใช้บังคับกับบุคคล องค์กร เรือและเครื่องบิน

เป้าหมายคือเพื่อปิดช่องโหว่ของการหลบเลี่ยงในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ยุโรปไปจนถึงเอเชียและตะวันออกกลาง กำหนดเป้าหมายสินค้าที่รัสเซียใช้ในการทำสงคราม ลดการพึ่งพาการส่งออกพลังงานของประเทศนั้น และลดการเข้าถึงระบบการเงินระหว่างประเทศของรัสเซีย


จีนเผยแนวทางพัฒนาเอเชียกลาง ต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก

ผู้นำจีนประกาศแผนยกระดับศักยภาพของเอเชียกลางครั้งใหญ่ ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรม “โดยไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก”

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซีอาน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ จีน-เอเชียกลาง ที่เมืองซีอาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันศุกร์ โดยมีผู้นำจากคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน เข้าร่วม

ทั้งนี้ สีกล่าวในตอนหนึ่งว่า จีนและประชาคมโลกมุ่งหวังการให้เอเชียกลางเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ รุ่งเรือง มีความสามัคคี และมีการเชื่อมต่อ ทั้งภายในกลุ่ม และระหว่างประชาคมโลก ขณะที่ในเวลาเดียวกัน จีนและเอเชียกลางต้องร่วมกันต่อต้าน “การแทรกแซงจากภายนอก” เพื่อป้องกันการปลุกระดม “การปฏิวัติสี” และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “ความอดทนเป็นศูนย์” ต่อการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และแนวคิดหัวรุนแรง

ขณะเดียวกัน ผู้นำจีนยืนยันการมอบความสนับสนุนที่จำเป็นทุกด้านแก่กลุ่มประเทศในเอเชียกลาง รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศ โดยจะเน้นไปที่การสร้างงาน การเพิ่มการก่อสร้างคลังสินค้าของจีนในเอเชียกลาง และการเปิดบริการเส้นทางรถไฟสายพิเศษเพื่อประชาสัมพันธ์วัฒนธรรม

อนึ่ง มูลค่าการค้าสองทางระหว่างจีนกับเอเชียกลางอยู่ที่ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 2.41 ล้านล้านบาท ) เมื่อปีที่แล้ว จากจำนวนดังกล่าวเป็นการค้าขายกับคาซัคสถานมากที่สุด 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.06 ล้านล้านบาท )

เครดิตภาพ : AFP


ทุบสถิติ ! “ยูเอ็น” คาดโลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาฯ ในอีก 5 ปี

19 พ.ค. 66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุว่า อุณหภูมิจะอยู่ในระดับเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 ในเร็วๆ นี้ อีกทั้งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ โลกจะมีปีซึ่งร้อนสุดเป็นประวัติการณ์อย่างน้อย 1 ปี

ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 กำหนดเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ตกลงร่วมกันว่า จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับเฉลี่ยระหว่างปี 2393-2443 และจำกัดไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส หากเป็นไปได้ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 1.15 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2393-2443

นายเพตเตอรี ทาลาส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวว่า แม้การคาดการณ์จะไม่ได้หมายความว่า โลกจะมีอุณหภูมิสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในข้อตกลงปารีสอย่างถาวร แต่มันกำลังส่งสัญญาณเตือนว่า อุณหภูมิโลกจะสูงเกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียส เป็นการชั่วคราว ด้วยความถี่ที่เพิ่มขึ้น

“พวกเราคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งมันจะรวมเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และทำให้อุณหภูมิโลกอยู่ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ทาลาส กล่าว “สิ่งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสุขภาพ, ความมั่นคงด้านอาหาร, การบริหารจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม”

นอกจากนี้ ดับเบิลยูเอ็มโอ ระบุเสริมว่า อุณหภูมิในปีนี้ มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของปี 2534-2563 ในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นรัฐอลาสก้าของสหรัฐ, เอเชียใต้ และพื้นที่บางส่วนของออสเตรเลีย ขณะที่บางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะเย็นกว่าค่าเฉลี่ย

เปิดร่าง MOU พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล 13 ข้อ ไม่มีแก้ ม.112

เปิดเผยร่างเนื้อหา MOU พรรคร่วมรัฐบาล 9 พรรคการเมือง มีทั้งหมด 13 ข้อ แก้รัฐธรรมนูญเรื่องแรก คืนความยุติธรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร แต่ไร้แก้ไข ม.112

วันที่ 19 พ.ค. 2566 รายการเปิดปากกับภาคภูมิ ออกอากาศทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 เปิดเผยร่างเนื้อหา MOU พรรคร่วมรัฐบาล 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคใหม่ พรรคพลังสังคมใหม่

1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ

2. คืนความยุติธรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร

3. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

4. ปฏิรูปกองทัพ

5. ยกเลิกผูกขาดอุตสาหกรรมสุรา

6. สมรสเท่าเทียม

7. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

8. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ

9. ออกกฎหมายนิรโทษกรรม (ยกเว้นคอร์รัปชัน-อันตรายถึงชีวิต)

10. แก้ปัญหาค่าครองชีพ (ไฟฟ้า)

11. จัดงบประมาณแบบใหม่ (ฐานศูนย์)

12. เพิ่มสวัสดิการเด็ก-ผู้สูงอายุ

13. สร้างรัฐโปร่งใส

หมอชลน่าน ย้ำใน MOU ไม่มีแก้ม.112 ปัดทักษิณไม่เกี่ยวข้องกับพรรค หมอชลน่าน ขึ้นรถแห่อีกครั้ง ตระเวนขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ชาวน่านมอบให้พรรคเพื่อไทย เผยดูแล้ว ไม่มีการแก้ม.112 ในร่าง MOU ที่พรรคก้าวไกลเสนอมา ปัดทักษิณไม่ได้เกี่ยวกับพรรค

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เวลา 15.00 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขต 2 จังหวัดน่าน ขึ้นรถแห่กล่าวขอบคุณ ทุกคะแนนเสียงที่ลงคะแนนให้ตนเอง และพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด โดยเริ่มจากอำเภอแม่จริม สันติสุข เวียงสา นาน้อย สิ้นสุดที่อำเภอนาหมื่น และพรุ่งนี้ 20 พฤษภาคม จะขึ้นรถแห่ขอบคุณที่อำเภอบ้านหลวง

นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่เดินสายขอบคุณประชาชนเจ้าของคะแนนเสียง ว่า “MOU ที่พรรคเพื่อไทยจะพอใจคืออะไร” สำหรับ MOU ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่พรรคแกนนำหลัก คือ พรรคก้าวไกล ส่งให้พรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปพิจารณา ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเองก็ได้รับร่าง MOU นี้มา ทางพรรคเองก็นำมาดูว่า อะไรที่รับได้หรือรับไม่ได้ แล้วค่อยมาพูดคุยกัน”

โดยทางพรรคเพื่อไทย ได้มอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานนโยบายพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมัยรัฐบาลทักษิณ ได้เป็นผู้ประสานงานและนำเข้าสู่การพิจารณาของพรรคเพื่อไทย ขั้นตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา เพราะฉะนั้นยังตอบไม่ได้ว่าอะไรเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

อย่างที่เราไม่เห็นด้วยและไม่น่าจะมีอยู่ใน MOU เลยก็คือ มีการเขียนว่าจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม อันนี้ทางพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่เห็นด้วย สำหรับสมมติฐานที่ว่าหากการเลือกตั้งนี้ ทางพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า พรรคมุ่งเป้าร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพราะฉะนั้นจากสมมติฐานที่ว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ผ่าน เราไม่มีการพูดและไม่มีการคิดกัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เราจะไม่มีการคิดในประเด็นนี้เลย ให้พรรคแกนนำหลักนั้นเป็นผู้พิจารณาว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะดำเนินการอย่างไร ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเราขออนุญาตไม่คิดในเรื่องนี้ เรามีหน้าที่เป็นพรรคร่วม

หน้าที่สำคัญที่สุดของเราในตอนนี้คือทำอย่างไรให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีได้เสียง 376 เสียง ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ได้ก่อน ส่วนของกรณีที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า จะถอนเพื่อไทยออกจะไม่จับมือก้าวไกล หากไม่เอาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นั้นทางพรรคเพื่อไทยไม่ขอรับและไม่ขอตอบ เพราะท่านทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพรรคเพื่อไทย การพิจารณาว่าจะร่วม ไม่ร่วม มันเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรค เราได้ช่วยกันพิจารณาอยู่ ประเด็นอะไรที่สำคัญที่เราสามารถร่วมมือกับพรรคก้าวไกลได้เราก็จะร่วมมือ

เบื้องต้นทางพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าสามารถร่วมมือกันได้ และข้อขัดแย้งไม่น่าจะมี ยกตัวอย่าง มาตรา 112 พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอมาใน MOU แสดงว่าพรรคก้าวไกลยินยอมจะไม่นำเสนอเรื่องนี้เข้ามาเป็นนโยบายของรัฐบาล หรือการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล