ข่าว
“ไบเดน” ไฟเขียว ให้ปรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ?

จอห์น เคร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษด้านภูมิอากาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนนครเทียนจิน (เทียนสิน) เมืองท่าสำคัญของจีนที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1-3 กันยายนที่ผ่านมา กำลังทำท่าจะมีมิติอย่างใหญ่โตมหึมา โดยมีโอกาสอย่างมากที่จะกลายเป็นช่วงขณะแห่งการพลิกผันเปลี่ยนแปลง ในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เป็นไปด้วยความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ไม่เหมือนกับการเยือนจีนเมื่อครั้งก่อนของ เคร์รี ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเดินทางไปยังนครเซี่ยงไฮ้ โดยในเที่ยวล่าสุดนี้ การสนทนาของเขากับฝ่ายจีนมีเนื้อหาที่กว้างขวางมากกว่าและลงลึกไปกว่าเรื่องประเด็นปัญหาต่างๆ ทางด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ได้พบหารือกับ เคร์รี “ผ่านทางวิดีโอลิงก์โดยเป็นไปตามการเชื้อเชิญ” และเขาใช้โอกาสนี้ในการรบเร้าวอชิงตัน ให้ “ดำเนินก้าวเดินต่างๆ อย่างแข็งขันเพื่อนำเอาสายสัมพันธ์ (ระหว่างสองประเทศ) กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอย”

หวัง กล่าวย้ำว่า การร่วมมือกันในประเด็นปัญหาด้านภูมิอากาศ คือสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งงสองฝ่าย ทว่าความร่วมมือนี้จะไม่สามารถยั่งยืนคงทนไปได้ ถ้าหากความสัมพันธ์ทวิภาคีไม่ได้ปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้นไปด้วย

หวัง กล่าวทบทวนความหลังว่า จีนกับสหรัฐฯ เคยมีประวัติศาสตร์แห่งการสนทนากันและความร่วมมือกันที่ผลิดอกออกผล ทั้งในประเด็นปัญหาระดับทวิภาคี และก็ในประเด็นปัญหาสำคัญๆ ระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคมาแล้ว รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งก่อให้เกิด “ผลประโยชน์ที่จับต้องได้” แก่ทั้งสองฝ่าย และความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาเหล่านี้คือพยานหลักฐานยืนยันถึงศักยภาพความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผลลัพธ์แบบชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย หากสองฝ่ายกลับมาเน้นที่การให้ความเคารพซึ่งกันและกันและการมีพื้นที่ซึ่งร่วมกันได้ ขณะเดียวกับที่เก็บเอาสิ่งที่แตกต่างกันเอาไว้ก่อน

หวัง บอกว่า เวลานี้สหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายริเริ่มตัดสินใจแล้ว เนื่องจากความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เลวร้ายลงอย่างฉับพลันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่สามารถบอกได้ว่า เนื่องมาจาก “การคาดคำนวณอย่างผิดพลาดในทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่” ของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อหันมามองจีนว่าเป็นภัยคุกคามและเป็นปรปักษ์ และก็จึงพยายามที่จะปิดล้อมและปราบปรามกำราบจีน เขารบเร้าคณะบริหารไบเดน ให้ดำเนิน “ฝีก้าวต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อปรับปรุงสายสัมพันธ์”

ทางด้าน เคร์รี ได้ตอบรับในทางบวกจนถึงขนาดระบุว่า ฝ่ายสหรัฐฯ มีความปรารถนาที่จะทำงานกับจีน เพื่อ “เพิ่มพูนการสนทนากัน, ร่วมกันปรับปรุงยกระดับความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ, สาธิตให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ” และทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในเรื่องการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของข้อตกลงกรุงปารีส (Paris Agreement)” โดยที่เรื่องนี้ “ยังจะเป็นการสร้างโอกาสสำหรับการแก้ไขคลี่คลายความยากลำบากต่างๆ ที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนกำลังเผชิญอยู่”

กล่าวโดยสรุปแล้ว การพลิกกลับเส้นทางโคจรที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนนั้นเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้อย่างมาก ทั้งนี้การริเริ่มของ เคร์รี ย่อมจะต้องได้รับการรู้เห็นและการรับรองอนุมัติจากไบเดนแล้ว เคร์รี นั้นเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยในปักกิ่ง และการดำเนินการทางการทูตระดับโลกแบบเก่าของเขานั้น ไม่ได้สร้างความรู้สึกขุ่นเคืองว่าถูกข่มขู่และถูกรังแก แก่จีน –ตลอดจนแก่รัสเซีย

การนำเอา เคร์รี “เข้าประจำการ” เช่นนี้ เป็นสัญญาณแสดงถึงการพลิกกลับตัวครั้งใหญ่ในแบบแผนการดำเนินการกับจีนของคณะบริหารไบเดน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังคงเดินไปตามทิศทางที่ ทรัมป์ ตั้งเอาไว้ โดยที่มีการปรับแก้อะไรแค่เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เวลาเดียวกัน ภาพใหญ่ที่ปรากฏออกมาก็คือ ไบเดนน่าจะกำลังลดระดับความตึงเครียดทั้งที่มีอยู่กับจีนและกับรัสเซียด้วย

น่าสังเกตเช่นเดียวกันว่า การเจรจาหารือระหว่างไบเดนกับประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครน เมื่อวันพุธ (1 ก.ย.) ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nbcnews.com/politics/white-house/biden-zelensky-meet-white-house-amid-ukraine-russia-conflict-n1278232) สรุปปิดฉากลงแบบไม่เอิกเกริกเกรียวกราวอะไร ซึ่งนี่ก็จะได้รับการจับตามองอย่างระมัดระวังในมอสโกเหมือนกัน

แน่นอนทีเดียว ยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะพูดว่ากำลังมีการขบคิดทบทวนกันใหม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ กันแล้ว ทว่า คำปราศรัยที่ผ่านการขบคิดไตร่ตรองและเร้าความรู้สึกอย่างล้ำลึกของไบเดนเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) เนื่องในวาระการสิ้นสุดของสงครามในอัฟกานิสถาน ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ให้กำลังใจอย่างมากมาย เกี่ยวกับความจำเป็นอย่างเหลือเกินที่จะต้องขบคิดทวบทวนกันใหม่

มั่นใจได้ว่า เรื่องการแข่งขันชิงดีกับจีน และเรื่องจำพวกยุทธศาสตร์ตอบโต้เพื่อเล่นงานรัสเซียนั้น ยังไม่น่าที่จะสูญสลายหายไปในชั่วเวลาข้ามคืนหรอก แต่มีความเป็นไปได้ว่าพวกแบบแผนวิธีการชนิดมุ่งประจันหน้าอาจจะถูกระงับเอาไว้

แต่สามารถพูดได้ว่า พวกสัญญาณที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาเกี่ยวกับแนวทางความคิดใหม่ๆ ต่อจีน เป็นสิ่งที่ไม่ควรดูเบาไม่ควรประเมินให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ฝ่ายจีนก็จะรู้สึกได้ถึงแนวทางความคิดใหม่ๆ ดังกล่าวนี้ ตัวอย่างเช่น การติดต่อสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศทั้งสองได้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างชนิดเป็นจริงเป็นจังแล้ว เริ่มตั้งแต่การไปเยือนจีนเมื่อเดือนกรกฎาคมของรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรับน เวนดี้ เชอร์แมน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://english.www.gov.cn/statecouncil/wangyi/202107/27/content_WS60ff59b2c6d0df57f98dda3f.html)

การเจรจากับ เคร์รี ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง หวัง ได้พูดจากับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของสหรัฐฯ โดยที่เขาพากเพียรที่จะส่งข้อความออกไปถึงฝ่ายสหรัฐฯว่า ภายในวงโคจรของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันซึ่งต่างฝ่ายต่างเคารพในความกังวลสนใจของกันและกันนั้น ความร่วมมือกันและการประสานงานกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้นมีความเป็นไปได้อย่างชนิดไร้ขีดจำกัดทีเดียว โดยไม่เพียงเฉพาะแค่ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีเท่านั้น หากแต่ในประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ในการสนทนากันทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน (ทั้งสองครั้งต่างเป็นการริเริ่มขึ้นมาของบลิงเคน) เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางฉากหลังของพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอัฟกานิสถาน หวัง อี้ ได้เน้นย้ำถึงขนาดขอบเขตของความร่วมมือกันเพื่อให้เป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นการรับใช้ผลประโยชน์ต่างๆ ของทั้งสองประเทศและของโลกโดยรวม

ในการสนทนากับบลิงเคนครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม หวัง พูดอย่างเจาะจงว่าฝ่ายจีนมีความกังวลอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่คณะบริหารไบเดนยังคงยึดถือให้เป็นไปตามความเคลื่อนไหวอย่างชวนให้โกรธเกรี้ยวของทรัมป์ ในเรื่องการลบชื่อ ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement) ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวอุยกูร์ ออกจากบัญชีรายชื่อองค์การผู้ก่อการร้ายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

รายงานข่าวของซินหัวทำให้กลายเป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชนว่า บลิงเคนได้ให้ความมั่นคงอย่างเจาะจงว่า “ความแตกต่างกันดังกล่าวระหว่างทั้งสองฝ่าย ... สามารถที่จะค่อยๆ แก้ไขกันได้ในวิถีทางอันสร้างสรรค์ในเวลาไม่กี่วันที่จะมาถึง”

ในการสนทนาครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 เมษายน หวัง ย้ำว่า จีน “คัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่” ในการที่สหรัฐฯ กำลังทำให้ประเด็นปัญหาการติดตามค้นหาต้นต่อที่มาของโรคโควิด-19 ให้กลายเป็นเรื่องการเมืองไป โดยที่มีการบีบคั้นกดดันองค์การอนามัยโลก และบ่อนทำลายความสมานฉันท์ของประชาคมระหว่างประเทศในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ ตลอดจนความร่วมมือทางในทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลกเพื่อติดตามค้นหาต้นตอที่มาดังกล่าว

การเดินทางเยือนจีนของ เคร์รี เกิดขึ้นในตอนปลายของการหารือแลกเปลี่ยน 2 นัดแรกเหล่านี้พอดี ข้อความที่ เคร์รี อาจจะถ่ายทอดต่อไปถึง หวัง จะมีอะไรบ้าง เวลานี้ยังคงทำได้เพียงแค่คาดเดากันไป แต่สิ่งที่กระจ่างชัดเจนก็คือว่า หลังจากอัฟกานิสถานแล้ว สหรัฐฯ กำลังจัดลำดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของตนกันใหม่

ไบเดนแสดงให้ทราบถึงเรื่องนี้อย่างหลักแหลมคมคาย, อย่างรู้สึกเจ็บปวด, และอย่างทรงพลัง เมื่อเขากล่าวในคำปราศรัยของเขาวันอังคาร (31 ส.ค.) ว่า “เราเป็นชาติที่อยู่ในสงครามนานเกินไปแล้ว ถ้าคุณมีอายุ 20 ปีในวันนี้ คุณก็ไม่เคยรู้จักอเมริกาที่อยู่ในสันติภาพเลย

“สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดก็คือ เรามองเห็นมันในตัวเลขสถิติที่ชวนให้รู้สึกช็อกและชวนให้ตื่นตะลึง ซึ่งควรที่จะส่งผลให้เกิดการฉุกใจคิดขึ้นมาสำหรับใครก็ตามที่คิดว่าสงครามนั้นสามารถที่จะดำเนินไปเรื่อยๆ ในระดับต่ำๆ , ในความเสี่ยงต่ำๆ , หรือ ในค่าใช้จ่ายต่ำๆ นั่นคือ มีทหารผ่านศึก 18 คนโดยเฉลี่ย ซึ่งเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในทุกๆ 1 วันในอเมริกา –ไม่ใช่ในสถานที่ไกลโพ้น แต่ที่นี่แหละในอเมริกานี่แหละ

“มันไม่มีหรอก ระดับต่ำๆ หรือ ความเสี่ยงต่ำๆ หรือค่าใช้จ่ายต่ำๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามครั้งไหน มัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติสงครามในอัฟกานิสถาน”

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

ทูตไทยเปิด ThailandinUK Marketplace ช่องทางธุรกิจออนไลน์ คนสมัครคึกคัก

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน จับมือทีมประเทศไทยและภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในสหราชอาณาจักร จัดตั้งเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์ม ThailandinUK Marketplace เชื่อมโยงช่องทางธุรกิจคนไทยในสหราชอาณาจักร คนสนใจแห่สมัครสมาชิกวันเดียว 1,600 ราย และขณะเพิ่มขึ้นกว่า 2,100 ราย เตรียมเปิดตัวเป็นทางการ วันที่ 13 ก.ย. นี้

เมื่อวันที่ 3 ก.ย .2564 นายพิษณุ สวุรรณะชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เปิดเผยว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ได้ร่วมกับทีมประเทศไทยประจำกรุงลอนดอน และหุ้นส่วนโครงการฯ จากภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในสหราชอาณาจักร อาทิ Thai Beverage, King Power, CPF, Landmark Lancaster Group, Patara, Monsoon Valley จัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์ม “ThailandinUK Marketplace” โดยเปิดตัวผ่านโลกออนไลน์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมากจากคนไทยในสหราชอาณาจักร และคนไทยในประเทศไทยที่สนใจโอกาสจะเชื่อมโยงช่องทางธุรกิจในสหราชอาณาจักร เพียงในวันแรกของการเปิดตัว มีผู้สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก สูงถึง 1,600 คน และมีร้านค้า/บริการบนแพลตฟอร์มคู่ขนาน นอกเฟซบุ๊กที่ผู้ซื้อสามารถเข้าไปค้นหา และรีวิวคุณภาพสินค้า/บริการได้อย่างง่ายและสะดวก เกือบ 100 ร้าน จนถึงวันที่ 3 ก.ย. มีผู้สมัครเป็นสมาชิกแล้วกว่า 2,100 คน

นายพิษณุ เปิดเผยอีกว่า ThailandinUK Marketplace ถือเป็นไทยทาวน์แรกบนโลกดิจิทัล (Digital Thai Town) ที่เป็นช่องทางการตลาดทางเลือกสำหรับการแลกเปลี่ยนอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทยๆ ตามสโลแกน “รวยเงิน รวยน้ำใจ ช้อปตลาดไทยในยูเค” และยังเป็นการแทรกการฝึกทักษะ e-commerce ให้ชุมชนไทยปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล ดังนั้นไทยทาวน์ “ThailandinUK Marketplace” จึงถือเป็นตลาดนัดจากใจสถานเอกอัครราชทูตฯ และหุ้นส่วนโครงการฯ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยียุคดิจิทัลมาสร้างความอุ่นใจในการแลกเปลี่ยนด้วยน้ำใจไมตรีแบบบไทยๆ และด้วยความปลอดภัย และเป็นพื้นที่เชื่อมโยงสายใยพี่น้องคนไทยในสหราชอาณาจักร คนไทยในประเทศไทยที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับสหราชอาณาจักร หรือมิตรรักประเทศไทยจากทุกชาติที่อยู่ในสหราชอาณาจักรที่ชอบและตามหาของไทยๆ โดยไม่มีการคิดใช้จ่ายแต่อย่างใด

สำหรับกลยุทธ์การสื่อสารของ ThailandinUK Marketplace มีจุดยืนที่แตกต่างจากกลุ่มเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้ง business model ที่เน้นเชื่อมโยงคนไทยข้ามโลกแบบไร้พรมแดน และการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ influencers (ซี-ฉัตรปวีณ์ พิธีกรชื่อดัง ฉายาเจ้าหญิงไอทีแห่งวงการเมืองไทย) และการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อดังอื่นๆ เช่น จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส เพื่อช่วยสร้างพลังและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้กับคนไทย รวมทั้งสอดแทรกเรื่อง “ไทยนิยม” ให้กับคนทุกกลุ่มวัย นับเป็น “Social Enterprise” จากภาครัฐที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

คนไทยทั้งในสหราชอาณาจักร และคนไทยในประเทศไทยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์ม ThailandinUK Marketplace ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ด้วย 2 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษจากหุ้นส่วนภาคเอกชนไทยภายใต้โครงการฯ อาทิ 1.บัตรชมการแข่งขันฟุตบอล Leicester City Vs Manchester United (13 ตุลาคม 2564) สนับสนุนโดย Beer Chang จำนวน 3 รางวัล (รางวัลละ 2 ที่นั่ง รวม 6 ที่นั่ง) 2.บัตร Staycation โรงแรม The Royal Lancaster Hotel, London จำนวน 1 รางวัล 3.เสื้อสโมสรฟุตบอล Leicester City สนับสนุนโดยกลุ่มบริษัท King Power จำนวน 20 รางวัล

นายพิษณุเปิดเผยว่า จะมีการเปิดตัว ThailandinUK Marketplace อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 ก.ย.2564 เวลา 10.30-12.30 น. ที่ห้องมิตรสมาคม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เชิญผู้เข้าร่วมงานได้แก่ ผู้ค้าในสหราชอาณาจักรที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว ทีมประเทศไทยในกรุงลอนดอน มิตรของประเทศไทยในสหราชอาณาจักร และธุรกิจหลักๆ ที่จะเข้าร่วมทางระบบออนไลน์จากประเทศไทย
พายุ “ไอดา” แผลงฤทธิ์หนัก ถล่ม “สหรัฐฯ” จมบาดาลคร่าชีวิตแล้ว 41ศพ

3 กันยายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน พายุไอดายังพัดถล่มภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ โดยทั่วไปในสัปดาห์นี้ โดยมีรายงานการเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน และต้นไม้หักโค่นในนหลายพื้นที่

ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 41 คน ในรัฐนิวยอร์ก รัฐนิวเจอร์ซี รัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐแมรีแลนด์ ทั้งนี้ การเกิดน้ำท่วมฉับพลันในระดับรุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในมหานครแห่งนี้ ส่งผลให้นายบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ใช้คำสั่งเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้น้ำยังท่วมขังสถานีรถไฟใต้ดินบางแห่ง กระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องประกาศระงับการให้บริการรถไฟฟใต้ดินทั้งหมด รัฐนิวยอร์กมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมและอุบัติเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเฮอริเคนไอดามากที่สุด

ขณะที่ในวันศุกร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีกำหนดเดินทางไปปลอบขวัญประชาชนในลุยเซียนา ที่ถูกไอดาถล่มเสียหายหนักตั้งแต่สุดสัปดาห์ และประชาชนกว่าล้านครัวเรือนยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ เขากล่าวเตือนด้วยว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเตือนให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ในอนาคต


เผยพบ “มิว” ระบาดแล้ว 43 ประเทศ โคลอมเบีย อ่วมหนักทำให้คนตายถึง 700 คนต่อวัน

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันที่ 3 กันยายน นี้ว่า นาง มาร์เซลา แมร์คาโด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโคลอมเบีย ให้สัมภาษณ์วิทยุท้องถิ่นเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ในเวลานี้ เชื้อกลายพันธุ์มิว กลายเป็นเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดเป็นหลักอยู่ในโคลอมเบีย ซึ่งเพิ่งจะซาลงหลังจากระบาดถึงจุดสูงสุดระลอกที่ 3 ไประหว่างเดือนเมษายน จนถึงเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา

นางแมร์คาโด กล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในโคลอมเบียถึงราว 700 คนต่อวัน โดยราว 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากการติดเชื้อมิว

“ตอนนี้มิว แพร่ระบาดออกไปใน 43 ประเทศแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า เชื้อกลายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้เร็วแค่ไหน” นางแมร์คาโดระบุ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เพิ่งประกาศยกระดับ มิว ให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (วีโอไอ) เพราะเสี่ยงต่อการเป็นเชื้อที่ต้านวัคซีน และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

ขณะนี้โคลอมเบียยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงถึงเฉลี่ยราว 2,000 คนต่อวัน และเสียชีวิตอีกราว 100 รายต่อวัน โดยที่ประชากรราว 1 ใน 3 ของประเทศเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว


นายกฯ ญี่ปุ่น เตรียมลาออก หลังคะแนนนิยมวูบ เช่นคุมโควิดไม่ดีพอ

นายโยะชิฮิเดะ สุงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศเมื่อวันศุกร์ (3 ก.ย.) ว่าตนจะไม่ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยเสรี (แอลดีพี) ที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ เท่ากับว่าต้องลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปด้วย หลังจากรับตำแหน่งดังกล่าวเพียง 1 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ นายสุงะ ยังกล่าวกับผู้สื่อข่าวอีกว่า ตนอาจยังทุ่มเทกำลังในการควบคุมโรคโควิด-19 ไม่มากพอ

“การแข่งขันและรับมือกับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ควรต้องทุ่มเทกำลังมหาศาลกว่านี้” นายสุงะ กล่าว

นายสุงะ วัย 72 ปี รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อจากนายชินโซ อาเบะ ที่ลาออกไปเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว โดยอ้างว่ามีปัญหาเกี่ยวสุขภาพ

ส่วนช่วงที่ผ่านมา นายสุงะเองก็เผชิญกับคะแนนนิยมที่ตกต่ำเหลือไม่ถึง 30% จากการระบาดของโรค โควิด-19 ระลอกที่รุนแรงที่สุดของญี่ปุ่น ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแต่ไปของญี่ปุ่นก็จะเกิดขึ้นในปลายเดือน พ.ย. นี้แล้ว

นายโทะชิฮิโระ นิไก เลขาธิการพรรคแอลดีพี กล่าวว่า นายสุงะกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ว่าตนอยากทุ่มเทกับการควบคุมโรคโควิด-19 และจะไม่ลงแข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้ตนแปลกใจและเสียใจมาก แต่ก็เคารพการตัดสินใจอย่างรอบคอบของนายสุงะเช่นกัน

งานวิจัยชี้ มลพิษในกรุงนิวเดลีเชื่อมโยงกับ “โรคอ้วน” และ “โรคหอบหืด” ในเด็ก

3 ก.ย. บีบีซี รายงานว่า การศึกษาใหม่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในอินเดียว่า หากมีระดับสูงจะทำให้เด็กเป็นโรคอ้วน และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้นด้วย โดยเด็กที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น 79%

มูลนิธิดูแลปอด (Lung Care Foundation) และมูลนิธิวิจัยและการศึกษาดูแลปอด (Pulmocare Research and Education) ดำเนินการศึกษาดังกล่าวเพื่อหาความเชื่อมโยง 3 สิ่ง ระหว่างเด็กน้ำหนักเกิน โรคหอบหืด และมลพิษ เป็นครั้งแรกในอินเดีย

มูลนิธิดูแลปอดดำเนินตรวจสุขภาพเด็ก 3,157 คน ใน 12 โรงเรียน ที่สุ่มเลือกจากกรุงนิวเดลี และ 2 เมืองทางใต้ของอินเดีย ได้แก่ เมืองโกฏฏายัม และเมืองไมซอร์ ที่มีอากาศค่อนข้างสะอาดกว่า พบว่า 39.8% ของเด็กจากกรุงนิวเดลีมีน้ำหนักเกิน เทียบกับในสองเมืองที่มีเพียง 16.4%

การศึกษาระบุว่า มีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่งกับฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษขนาดเล็กที่เป็นอันตรายในอากาศ และพบได้ในเมืองทั้งสาม โดยกรุงนิวเดลีเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลก และประสบคุณภาพอากาศอันตรายทุกปี

ดร.สันทีป ศัลวี ผู้อำนวยการ Pulmocare Research and Education ในเมืองปูเน ทางตะวันตกของอินเดีย กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวยืนยันว่า การสูดอากาศไม่สะอาดสามารถทำให้เด็กอ้วนได้ โดยมลพิษในอากาศมีสารเคมีบางชนิดในชื่อ “โอเบโซเจน” (obesogen) ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญของคนได้

“เมื่อคนสูดอากาศมีมลพิษเข้าไป โอเบโซเจนตัวนี้จะเข้าสู่ร่างกาย จากระบบต่อมไร้ท่อปั่นป่วนและนำไปสู่โรคอ้วน” ดร.ศัลวีกล่าวและว่า เด็กมีความเปราะบางเป็นพิเศษ เนื่องจากการปริมาณการสูงกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กมีความอ่อนไหวต่อการสูดดมสารก่อมะเร็งเหล่านี้

การศึกษายังพบว่า เด็กนักเรียนในกรุงนิวเดลีมีความชุกของโรคหอบหืดและอาการภูมิแพ้ เช่น คันตา มีน้ำมีนวล ไอ และมีผื่น สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เทียบกับเด็กในเมืองโกฏฏายัม และเมืองไมซอร์ โดยความมแตกต่างข้างต้นนี้ขัดกับความจริงที่ว่า 2 ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืดในวัยเด็ก (ประวัติครอบครัวที่เป็นโรคนี้และผู้สูบบุหรี่ในครอบครัว) จะมีมากขึ้นในเมืองโกฏฏายัม และเมืองไมซอร์

ด้านดร.อาร์วินด์ กุมาร ผู้ก่อตั้งทรัสตีแห่งมูลนิธิดูแลปอด เรียกการศึกษาดังกล่าวเป็น “การเบิกเนตร” ซึ่งแสดงความชุกของอาการทางเดินหายใจและอาการแพ้สูง โรคหอบหืดที่กำหนดตามวิธีสไปโรเมตรีย์ (spirometry) และโรคอ้วนของเด็ก ในกรุงนิวเดลี และว่ามลพิษทางอากาศคือ “ความน่าจะเป็นที่เชื่อมโยงกับทั้งสามสิ่งข้างต้น”

“ถึงเวลาแล้วที่ปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลีและเมืองอื่นจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาอนาคตของลูกหลานของเรา” ดร.กุมารกล่าว