ข่าว
โดนค้าน ฟลอริดา ‘ไฟเขียว’ ปล่อยยุงดัดแปลงพันธุกรรม 750 ล้าน สู่ธรรมชาติ

จนท.ท้องถิ่นรัฐฟลอริดา อนุมัติโครงการนำร่อง ปล่อยยุงดัดแปลงพันธุกรรมมหาศาลถึง 750 ล้านตัว ที่ฟลอริดา คียส์ หวังช่วยในการควบคุมปริมาณยุงร้าย แม้จะถูกคัดค้านอย่างหนักจากชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์

เมื่อ 21 ส.ค.63 สำนักข่าว บีบีซี และ ซีเอ็นเอ็น รายงาน คณะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติปล่อยยุงที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรม จำนวนมหาศาลถึง 750 ล้านตัว บนเกาะฟลอริดา คียส์ ในรัฐฟลอริดา ในปี ค.ศ.2021 และ 2022 เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ปะปนอยู่กับยุงทั่วไป เพื่อหวังจะให้ยุงดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้ ช่วยลดปริมาณยุงร้าย ทั้งยุงลายที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสเดงกี ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก หรือไวรัสซิก้า (Zika virus) ที่ก่อให้เกิดโรคซิก้า

การอนุมัติของคณะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในรัฐฟลอริดา มีขึ้นหลังจากโครงการนี้ที่ถือเป็นโครงการนำร่อง ได้มีการถกเถียงและถูกคัดค้านโดยกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก ที่มีความเห็นว่าการปล่อยยุงดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้สู่ธรรมชาติ อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยมีกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งถึงกับประณามว่า โครงการนี้เหมือนกับการทดลอง ‘จูราสสิก พาร์ก’ ในที่สาธารณะ

ส่วนบรรดานักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมได้เตือนว่ายุงดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดยุงลูกผสม ‘ไฮบริด’ ที่สามารถต้านยาฆ่าแมลงได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัท Oxitec ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในด้านพันธุวิศวกรรม ชี้ว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม พร้อมกับระบุว่าโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเห็นชอบในระดับรัฐและรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาแล้ว

ที่มา : BBC, CNN

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ D614G ติดง่ายขึ้น 10 เท่า น่ากังวลแค่ไหน

21 ส.ค. 2563 07.00 น. ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ D614G ซึ่งเชื่อกันว่ามีอำนาจการติดต่อสู่คนอื่นมากกว่าสายพันธ์ุดั้งเดิมจากเมืองอู่ฮั่นของจีนหลายเท่า เริ่มมาปรากฏในหลายพื้นที่ของทวีปเอเชียแล้ว โดยล่าสุดเพิ่งมีรายงานค้นพบที่ประเทศมาเลเซีย กับฟิลิปปินส์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ส.ค.) ดร.นูร์ ไฮชาม อับดุลเลาะห์ ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพของมาเลเซีย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 สายพันธ์ุนี้มีโอกาสติดต่อสู่คนอื่นๆ มากกว่าปกติถึง 10 เท่า และสามารถแพร่กระจายโดยบุคคลที่เป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ได้ง่ายกว่า ไวรัสสายพันธ์ุนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แตกต่างจากสายพันธ์ุอื่นๆ อย่างไร และน่ากังวลมากแค่ไหน

D614G คืออะไร ?

D614G ถูกเรียกว่า ‘สายพันธุ์ G’ กลายพันธ์ุมาจากไวรัสโควิด-19 ดั้งเดิมที่เริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่นของจีนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา ไวรัสตัวนี้กลายพันธ์ุไปหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยโบโลญญา ของอิตาลี เพิ่งเผยผลวิจัยเมื่อเดือนก่อนว่า ไวรัสโควิด-19 อย่างน้อย 6 สายพันธ์ุที่กลายพันธ์ุจากไวรัสดั้งเดิม เป็นสาเหตุทำให้เชื้อระบาดไปทั่วโลก

ในปัจจุบันสายพันธุ์ D614G กลายเป็นสายพันธ์ุเด่นของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดทั่วโลกไปแล้ว เมื่อดูจากข้อมูล จีโนม หรือ ข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 จำนวนราว 50,000 จีโนมที่บันทึกเอาไว้ในฐานข้อมูล พบว่า มีจีโนมถึง 70% ที่มีการกลายพันธ์ุดังกล่าวปรากฏให้เห็น

โควิด-19 สายพันธุ์ G พบได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป แต่มันเริ่มมาปรากฏในทวีปเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว

D614G เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

ศาสตราจารย์ เกวิน สมิธ จากโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทย์ ‘ดุค-เอ็นยูเอส’ (Duke-NUS) ของสิงคโปร์ กล่าวว่า ไวรัสทุกชนิดแบ่งตัวเองออกมาระหว่างการติดเชื้อ และบางครั้งก็เกิดความผิดพลาดระหว่างแบ่งตัว และความผิดพลาดนั้นก็กลายเป็น การกลายพันธุ์

ในกรณีของ D614G การกลายพันธ์ุเกิดขึ้นเมื่อกรดอะมิโน ในตำแหน่ง 614 หรือบริเวณหนามของไวรัส เปลี่ยนจาก D (กรดแอสพาร์ติก) เป็น G (ไกลซีน) ส่งผลให้สายพันธุ์ D614 เดิมกลายเป็น D614G

สายพันธ์ุใหม่ระบาดง่ายขึ้น 10 เท่า

ผลการวิจัยหลายชิ้นจนถึงตอนนี้บ่งชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ D614G สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ดร.เบตตี คอร์เบอร์ นักชีววิทยาจากห้องทดลองแห่งชาติ ลอส อลามอส ในสหรัฐฯ กับทีมของเธอ ได้ทำการทดสอบตัวอย่างจากผู้ป่วยทั่วยุโรปและสหรัฐฯ ก่อนจะเผยแพร่ผลการวิจัยผ่านวารสาร ‘Cell’ ในเดือนกรกฎาคม

ดร.คอร์เบอร์ ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นเดือนมีนาคม D614G ยังเป็นสายพันธ์ุที่พบนอกยุโรปได้ยาก แต่พอถึงสิ้นเดือน พวกเธอกลับพบไวรัสสายพันธุ์นี้ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกบ่อยขึ้น พวกเธอพบด้วยว่า ผู้ติดเชื้อ D614G จะมีร่างแบ่งตัวของไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ D614 ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อสามารถระบาดได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นของทีมวิจัยจาก สถาบันวิจัย สคริปส์ (Scripps Research Institute) ในสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน พบว่า D614G สามารถติดต่อได้มากกว่าสายพันธ์ุดั้งเดิมถึง 10 เท่า เนื่องจากโปรตีนหนามของไวรัส ซึ่งทำหน้าที่เจาะเซลล์ของมนุษย์ มีการแตกหักน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ศ.สมิธ เตือนว่า ผลการศึกษาเหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นในห้องทดลอง ไม่จำต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ในสถานการณ์จริง นอกจากนี้นักวิจัยคนอื่นๆ ยังระบุด้วยว่า ผลการศึกษาเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่ใช้ข้อพิสูจน์ว่า D614G มีอำนาจติดต่อมากกว่าเชื้อสายพันธ์ุอื่นๆ

อันตราย...แต่ไม่มากกว่าเชื้อดั้งเดิม

ผลการศึกษาของ ดร.คอร์เบอร์ พบด้วยว่า สายพันธ์ุ D614G ไม่ได้ทำให้อาการป่วยหนักมากกว่าไวรัสสายพันธ์ุอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการเข้าโรงพยาบาลของคนไข้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นเช่น อายุ หรือ เพศ มากกว่า

นอกจากนี้ D614G ยังไม่ได้ทำให้การรักษายากขึ้นด้วย เพราะถ้าการรักษายากขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เพราะ D614G แพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว แต่ในปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิตของโควิด-19 ยังทรงตัวที่หรือลดลงที่ราว 1%

ขณะที่ ศ.สมิธ ระบุเช่นกันว่า ไม่มีหลักฐานชี้ว่า D614G จะอันตรายกว่าสายพันธ์ุอื่น และมันกลายเป็นสายพันธุ์เด่น เพราะมันเข้าไปในประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ไม่ดีเท่านั้น

ไม่น่ากระทบการพัฒนาวัคซีน

ก่อนหน้านี้มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่าจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนหลายๆ ชนิดเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุต่างๆ หรือไม่ แต่จนถึงตอนนี้ วัคซีนส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา มีผลกับพื้นที่อื่นบนโปรตีนหนามของไวรัส ดังนั้น การกลายพันธ์ุของ D614G จึงไม่กระทบต่อการพัฒนาวัคซีน

D614G มีการกลายพันธ์ุที่โปรตีนหนามก็จริง แต่เกิดขึ้นที่ ก้าน (stalk) ไม่ใช่ส่วนหัว หรือ ตัวรับ (RBD) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของระบบภูมิคุ้มกันที่วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างขึ้น การกลายพันธ์ุนี้จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

อย่างไรก็ดี แม้การวิจัยต่างๆ และความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจะชี้ว่า D614G ไม่ได้ร้ายแรงไปกว่าไวรัสสายพันธ์ุดั้งเดิม แต่ไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธ์ุใดก็ถือว่ามีความอันตรายสูง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7.8 แสนราย ในระยะเวลาเพียง 8 เดือน มนุษย์โลกยังต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง จนกว่าจะถึงวันที่มีวิธีจัดการ หรือป้องกันเชื้อร้ายตัวได้อย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียน: H2O

ที่มา: SCMP, IndiaTimes, Medium


ข่าวกรองเกาหลีใต้เผย คิม จอง-อึน แบ่งอำนาจบางส่วนให้น้องสาว

21 ส.ค. 2563 03.57 น. หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เผย คิม จอง-อึน มอบอำนาจเพิ่มเติมให้แก่ คิม โย-จอง ผู้เป็นน้องสาว และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เพื่อลดความเครียดจากการบริหารประเทศ

สำนักข่าว ยอนฮัป ของเกาหลีใต้ รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (NIS) ว่า คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกหลีเหนือ ส่งมอบอำนาจบริหารประเทศให้แก่ผู้ช่วยหลายคน รวมถึง คิม โย-จอง ผู้เป็นน้องสาว เพื่อลดความเครียดในการบริหารประเทศ

“ตอนนี้ คิม โย-จอง ซึ่งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการลำดับ 1 ของคณะกรรมการกลางพรรคแรงงาน เป็นผู้กุมบังเหียนเรื่องกิจการโดยรวมของประเทศ” สมาชิกสภาเกาหลีใต้กล่าวระหว่างการประชุมรัฐสภาแห่งชาติ โดยอ้างข้อมูลจาก NIS “ประธานคิม จอง-อึน ยังคงมีอำนาจเด็ดขาด แต่อำนาจบริหารบางส่วนถูกส่งมอบออกไปทีละเล็กทีละน้อย คิม โย-จอง เป็นผู้นำอันดับ 2 โดยพฤตินัย แต่ผู้นำเกาหลีเหนือยังไม่ได้เลือกตัวผู้สืบทอด”

ตามรายงานของ NIS คิม โย-จอง ไม่ใช่คนเดียวที่ได้รับอำนาจมากขึ้น โดยนายพัค พง-ชู รองประธานคณะกรรมการกิจการภายในรัฐ และนายคิม ต๊ก-ฮุน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้รับอำนาจดูแลในภาคเศรษฐกิจ ส่วนคิม โย-จอง ดูแลเรื่องนโยบายเกี่ยวกับเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และเรื่องทั่วไปอื่นๆ

ในด้านการทหาร นายชอย พู-อิล ผู้อำนวยการพรรคแรงงานฝ่ายกิจการกองทัพ และนาย รี พยอง-ชอล รองประธานคณะกรรมการกองทัพกลางของพรรคแรงงาน ก็ได้รับอำนาจเพิ่มจากนายคิมเช่นกัน

ทั้งนี้ NIS ระบุว่า การมอบอำนาจบางส่วนนี้ มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเครียดของคิม จอง-อึน ที่เกิดจากการบริหารประเทศ และเป็นการแบ่งความรับผิดชอบในกรณีที่นโยบายเกิดล้มเหลว

เกาหลีเหนือเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารมาอย่างยาวนาน และฝนที่ตกหนักเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เกิด น้ำท่วมหนักที่สวนและไร่ต่างๆ สร้างความเสียหายรุนแรงยิ่งว่าเมื่อครั้งเผชิญภัยพิบัติเมื่อปี 2559 เสียอีก นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่า ตอนนี้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยองบยอน ไม่ได้ถูกเปิดใช้งาน เกาหลีเหนือยังลดการฝึกซ้อมทางทหารของกองทัพในช่วงฤดูร้อนลง 25-65% ด้วย


หมอชี้ ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย ป่วยหนักเกินกว่าจะถูกส่งตัวไปรักษาในเยอรมนี

21 ส.ค. 2563 19.49 น. ทีมหมอรัสเซียลงความเห็น อเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย คู่ปรับปูตินป่วยหนักเกินกว่าจะถูกส่งตัวขึ้นเครื่องบินพยาบาลไปรักษาในเยอรมนี หลังล้มป่วยโคม่าขณะอยู่บนเครื่องบิน คาดโดนวางยาพิษ

เมื่อ 21 ส.ค.63 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น และบีบีซี เกาะติดอาการป่วยของ นายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านชาวรัสเซีย วัย 44 ปี ที่ล้มป่วยโคม่าอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะอยู่บนเครื่องบินโดยสาร เที่ยวบินเมืองออมสค์-มอสโก จนนักบินต้องลงจอดฉุกเฉินที่เมืองออมสก์ นำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน และบรรดาทีมงานของนายนาวาลนี คาดว่าเขาถูกวางยาพิษในชา ขณะสั่งมาดื่มในร้านกาแฟที่สนามบินเมืองออมสค์ว่า ทีมแพทย์รัสเซียได้ลงความเห็นถึงอาการป่วยของนายนาวาลนี ในขณะนี้ว่า อาการป่วยของเขาอยู่ในขั้นวิกฤติ เกินกว่าที่จะย้ายไปรักษาในเยอรมนีได้

ด้านทีมงานของนายนาวาลนี ชี้ว่า หาก นายนาวาลนี ซึ่งถือเป็น ‘คู่ปรับ’ ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จากการรณรงค์เปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในรัสเซียต่อไปแล้ว เขาจะต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน

โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี ‘Cinema for Peace Foundation’ ยังได้ส่งเครื่องบินพยาบาลเดินทางมารับนายนาวาลนีไปรักษาอาการป่วยในนครเบอร์ลิน และได้มาถึงเมืองออมสค์ เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 21 ส.ค.แล้ว แต่ทางโรงพยาบาลปฏิเสธที่จะส่งมอบผู้ป่วย นายนาวาลนี เพราะเห็นว่าอาการของผู้ป่วยในขณะนี้วิกฤติหนักและมีความเสี่ยงเกินไป หากต้องถูกนำขึ้นเครื่องบิน ท่ามกลางความพยายามของภรรยานายนาวาลนีและทีมงาน ที่ต้องการให้นำตัวนายนาวาลนีไปรักษาในเยอรมนี

ตามความเห็นของหัวหน้าแพทย์ที่โรงพยาบาลในเมืองออมสค์ เขตไซบีเรีย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ นายนาวาลนี กำลังรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู กล่าวว่า ขณะนี้อาการของนายนาวาลนีดีขึ้นเล็กน้อย แต่อาการยังไม่คงที่ ในขณะที่มีแพทย์รัสเซียคนหนึ่งกล่าวว่า จากการตรวจเบื้องต้น ไม่พบยาพิษในร่างกายของนายนาวาลนี

มูลนิธิ Angels Wings มอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยในสหรัฐฯ

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2020 นายมังกร ประทุมแก้ว กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และ นางภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซมอน ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิฯ ร่วมพิธีมอบทุนการศึกษาของมูลนิธิ Angels Wings แก่เยาวชนเชื้อสายไทยในสหรัฐฯ ประจำปี 2020