ข่าว
'ยูนิโคล่'เอาจริง! เปิดศึกฟ้องแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นจีน'ชีอิน' ปมก็อปกระเป๋าสะพายรุ่นฮิต

17 มกราคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยูนิโคล่ (UNIQLO) แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่น เตรียมฟ้องแบรนด์ฟาสแฟชั่นออนไลน์สัญชาติจีนชื่อดัง ชีอิน (SHEIN) โดยระบุว่า 'ชีอิน'ได้ลอกแบบผลิตกระเป๋าคล้องไหล่ผู้หญิง อาจทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในแบรนด์ยูนิโคลลดลง โดยได้ดำเนินการร้องขอให้ศาลในกรุงโตเกียว สั่งให้แบรนด์ชีอินยุติการขายกระเป๋าสะพายไหล่ที่ลอกเลียนแบบทันที และชดใช้มูลค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นทันที

ยูนิโคล่ เปิดเผยอีกว่า กระเป๋าสำหรับสุภาพสตรีแบบคล้องไหล่ผู้หญิงขายใบละ 1,500 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 360 บาท พร้อมกันนี้ทางยูนิโคล่ได้ส่งอีเมล์ไปที่ลูกค้าพร้อมทั้งประกาศหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ว่าให้ระมัดระวังการซื้อสินค้าในออนไลน์

ไทยเฮ! พบแร่ศักยภาพ ลิเธียม-โซเดียม แร่หลักในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 100%

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งสำรวจจนพบแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม ล่าสุด ไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอร์รี่ EV ในภูมิภาค

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากปีก่อนหน้าที่เป็นข่าวใหญ่ว่าอินเดียค้นพบแร่ลิเธียม และกลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ EV นั้น ตอนนี้ไทยก็มีลุ้นเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเธียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

การค้นพบแร่ศักยภาพลิเธียม-โซเดียม นี้ถือเป็นทั้งข่าวดี และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเธียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเธียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปีพ.ศ. 2573

“จากการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การค้นพบแร่ 2 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV จะทำให้ไทยลดการนำเข้าและพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งด้วยนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการค้นพบนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งในแผนที่โลกในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอร์รี่ EV” นางรัดเกล้าฯ กล่าว


พบพลุระเบิดที่สุพรรณฯไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ใช้คนงานบรรจุดินปืนแทนเครื่องจักร

18 ม.ค.67 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุระเบิดที่สถานประกอบการผลิตพลุ ที่จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตรวจสอบทันที เบื้องต้นพบว่า สถานประกอบกิจการดังกล่าว ประกอบกิจการผลิตประทัดลูกบอลไล่นก ชนวนดำใช้กับพลุ มีคนงานประมาณ 30 ราย และไม่มีการใช้เครื่องจักรในการประกอบกิจการ ให้คนงานใช้มือในการบรรจุดินปืนและประกอบส่วนต่างๆ จึงไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงาน ที่ต้องมีคนงานเกิน 50 ราย และใช้เครื่องจักรประกอบกิจการ ทางผู้ประกอบกิจการรายนี้มีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง เป็นการออกให้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย และได้ตรวจสอบพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และ ไม่พบว่าสารโพแทสเซียมคลอเรต ที่ใช้ในการจัดทำดอกไม้เพลิงนี้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้สถานประกอบการลักษณะดังกล่าว ไม่ได้เป็นโรงงาน แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทั้งใน และรอบๆ สถานประกอบการ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จึงอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็น อาจต้องกำหนดให้การประกอบกิจการประเภทนี้ เข้าข่ายเป็นโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้เข้าไปมีส่วนกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการ กำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความรอบคอบรัดกุม เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะนี้อีก หลังจากที่ผ่านมาช่วงเดือนก.ค. 66 เคยเกิดเหตุการณ์โกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิดในพื้นที่ตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้พื้นที่ชุมชุมโดยรอบกว่า 500 เมตร เสียหายอย่างหนัก มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมากมาแล้วเช่นกัน

“หลังจากเกิดเหตุได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัด ให้เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และให้รายงานกลับมา เบื้องต้นแม้ว่า สถานประกอบกิจการดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง แต่ได้ให้หน่วยงานเข้าไปให้ความรู้และสนับสนุนการจัดความความปลอดภัยในโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง และตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะนำสถานประกอบการลักษณะดังกล่าวเข้าเป็นโรงงานหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนโดยรอบพื้นที่ และในตัวสถานประกอบการเองด้วย”น.ส. พิมพ์ภัทรากล่าว


จีนกังวล! ประชากรลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่2 หวั่นกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ

18 มกราคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยรายงานว่า จำนวนประชากรในจีนลดลง 2.08 ล้านคน หรือ 0.15% เป็น 1,409 ล้านคน ในปี 2566 โดยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีประชากรลดลง 850,000 คน และเป็นการลดลงครั้งแรกนับจากปี 2504 ช่วงภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในยุคเหมาเจ๋อตง

ขณะที่ในปี 2566 มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6.6% เป็น 11.1 ล้านคน โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงสุดนับจากปี 2517 ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2566 ลดลง 5.7% เป็น 9.02 ล้านคน และอัตราการเกิดทำสถิติต่ำที่สุดคือ 6.39 คนต่อประชากร 1,000 คน ลดลงจาก 6.77 คนในปี 2565 และเป็นอัตราการเกิดต่ำที่สุดนับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 นอกจากนี้จำนวนประชากรวัยแรงงานที่อายุ 16-59 ปี ลดลง 10.75 ล้านคนจากปี 2565 และจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 16.93 ล้านคนในปี 2565

ซึ่งข้อมูลประชากรที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยนั้นสร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอลง เนื่องจากมีจำนวนแรงงานและผู้บริโภคลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ และสวัสดิการหลังเกษียณจะสร้างภาระหนักยิ่งขึ้นแก่ทางการท้องถิ่นที่มีภาระหนี้สิน

ขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโต 5.2% ในปี 2566 ซึ่งฟื้นตัวมากขึ้นกว่าปี 2565 ที่ GDP เติบโต 3% แต่ยังคงเป็นตัวเลขการเติบโตต่ำที่สุดนับจากปี 2533 ยกเว้นช่วงการระบาดของโควิด-19 และในปี 2567 จะยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจจีนเนื่องจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์และความมั่นใจของผู้ผู้บริโภคที่ลดน้อยลง


'นักวิจัยจีน'พบไวรัสโคโรนาตัวใหม่'GX-P2V' ทดลองกับหนูเชื้อรุนแรงอัตราการตาย100%

18 มกราคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าทีมนักวิจัยชาวจีน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำในกรุงปักกิ่ง ได้ค้นพบไวรัสที่มีความสามารถในการกลายพันธุ์สูง มีชื่อรหัสว่า GX-P2V (จีเอ็กซ์ พี 2 วี)ซึ่งเป็นไวรัสคล้ายกับโคโรน่าไวรัส ซึ่งได้ทดลองกับ'หนู'จากการทดลองพบว่าไวรัสมีความรุนแรง รวดเร็วและน่าตกใจมาก สามารถทำให้สัตว์ทดลองตายภายใน 8 วัน มีอัตราการตาย 100 % และพบว่าเชื้อไวรัสนั้นสามารถทำลายสมองโดยตรง

ทีมนักวิจัยยังค้นพบอีกว่า มีปริมาณเชื้อจำนวนมากในสมองและดวงตาของหนูที่ถูกทดลอง แม้ว่าเชื้อ GX-P2V จะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับเชื้อโคโรน่าไวรัส แต่ก็มีความแตกต่างในด้านการแบ่งตัวและการแพร่กระจายในร่างกายการทดลองนี้มีความสำคัญเนื่องจากหนูมีการผลิตโปรตีนที่คล้ายมนุษย์ ทำให้ผลที่ได้จากการทดลองในหนูอาจสะท้อนถึงผลที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตามรายงานการทดลองนี้ยังไม่ได้เปิดเผยแก่สาธารณะ

ไวรัส GX-P2V ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2017 จากตัวนิ่มในมาเลเซีย เป็นที่ทราบกันดีว่าตัวนิ่มนั้นเป็นแหล่งรวมของเชื้อไวรัสโคโรนาหลายชนิด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นตัวกลางที่แพร่เชื้อไวรัสไปสู่ค้างคาวและต่อทอดไปถึงมนุษย์

ทีมนักวิจัยจีนได้ทำการเพาะเชื้อ GX-P2V และเก็บรักษาเป็นอย่างดีไว้ในห้องแล็บที่กรุงปักกิ่ง พบว่า เชื้อนี้มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นก่อนที่จะถูกนำมาทดลองในหนูแต่ไม่มีการระบุชัดเจนว่าการทดลองเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

ศาสตราจารย์ ฟรองซัวส์ บัลลูซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ แสดงความคิดเห็นผ่านทาง X (ทวิตเตอร์) ว่าเขาเห็นถึงความไม่เป็นประโยชน์ต่อการทดลองครั้งนี้และแสดงความคิดเห็นในเชิงกังวลว่าการทดลองนี้จะนำไปสู่ความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยการทดลองนี้"เป็นการศึกษาที่แย่มาก ไร้จุดหมายทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง"

ไอเอ็มเอฟชี้ AI ส่อกระทบตำแหน่งงานทั่วโลกเกือบ 40%

วอชิงตัน (ซีเอ็นเอ็น/ซินหัว)-กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟชี้เกือบร้อยละ 40 ของตำแหน่งงานทั่วโลก จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นแนวโน้มที่จะยิ่งส่งผลกระทบให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานทั่วโลกเกือบร้อยละ 40พร้อมเรียกร้องการรักษาสมดุลของนโยบายต่างๆ อย่างรอบคอบ โดยจอร์จีวาชี้ว่าโลกเข้าใกล้การปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่อาจเพิ่มผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด กระตุ้นการเติบโตทั่วโลกและเพิ่มรายได้ทั่วโลก รวมถึงอาจทดแทนตำแหน่งงานและทวีความไม่เท่าเทียม

จอร์จีวาระบุว่า ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารสนเทศมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่องานแบบรูทีน (routine) ในอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์แตกต่างคืออาจส่งผลกระทบต่องานที่ใช้ทักษะสูง บรรดาชาติเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจึงเผชิญความเสี่ยงจากปัญญาประดิษฐ์มากกว่า แต่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์มากกว่าเช่นกัน เมื่อเทียบกับชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ โดยปัญญาประดิษฐ์อาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานราวร้อยละ 60 ในชาติเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

จอร์จีวายังอ้างอิงผลวิเคราะห์ใหม่ของกองทุนฯ ซึ่งตรวจสอบแนวโน้มผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อตลาดแรงงานทั่วโลก ระบุว่าปัญญาประดิษฐ์อาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานในตลาดเกิดใหม่และประเทศรายได้ต่ำราวร้อยละ 40 และร้อยละ 26 โดยประเทศเหล่านี้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือแรงงานที่มีทักษะในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อาจค่อยๆ ทวีความไม่เท่าเทียมในประเทศเหล่านี้

กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า ปัญญาประดิษฐ์ยังอาจส่งผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมทางรายได้และความมั่งคั่งในประเทศต่างๆ โดยปัญญาประดิษฐ์อาจจะทวีความไม่เท่าเทียมโดยรวม ซึ่งเป็นแนวโน้มอันน่าวิตกกังวลที่เหล่าผู้กำหนดนโยบายต้องจัดการเชิงรุกเพื่อป้องกันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพิ่มความตึงเครียดในสังคม ประเทศต่างๆ จึงควรจัดตั้งโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมอย่างรอบด้าน และเสนอโครงการฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่แรงงานกลุ่มเปราะบาง ทำให้การเปลี่ยนผ่านของปัญญาประดิษฐ์มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น ปกป้องการดำรงชีวิตและยับยั้งความไม่เท่าเทียม

จอร์จีวาแนะนำว่า ชาติเศรษฐกิจพัฒนาแล้วควรให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับการพัฒนากรอบการทำงานกำกับควบคุมอันแข็งแกร่ง ส่วนตลาดเกิดใหม่และชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนาควรให้ความสำคัญกับการวางรากฐานอันมั่นคงผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและแรงงานที่มีความรู้ความสามารถทางดิจิทัล