ข่าว
รัสเซียถล่มชุมชนยูเครน “ส่งโดรนโจมตี 150 ลำ-ปืนใหญ่ 70 นัด” ทั้งที่เสนอหยุดยิง...

รัสเซียถล่มชุมชนยูเครน – รอยเตอร์ รายงานวันที่ 9 พ.ค. ว่า นายอีวาน เฟโดรอฟ ผู้ว่าการแคว้นซาโปริฌเฌีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ ประเทศยูเครน ระบุผ่านแพลตฟอร์มเทเลแกรมว่า...

รัสเซียระดมโจมตีอย่างน้อย 220 ครั้ง เป็นโดรนโจมตี 150 ลำและปืนใหญ่ 70 นัด พุ่งเป้าไปยังชุมชน 8 แห่งใกล้แนวหน้าของสมรภูมิรบในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่าน...

การโจมตีเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค. เนื่องจากเป็นช่วงรำลึกเหตุการณ์วันแห่งชัยชนะในยุโรปต่อการจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขของกองทัพนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง

... รอยเตอร์ รายงานวันที่ 8 พ.ค. ว่า กองทัพอากาศยูเครนโพสต์ผ่านบัญชีบนแพลตฟอร์มเทเลแกรมว่า เครื่องบินของกองทัพรัสเซียยิงระเบิดนำวิถีใส่เมืองซูมือ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน เมื่อช่วงเช้าตรู่ตามเวลาท้องถิ่น

การโจมตีเกิดขึ้นราว 3 ชั่วโมงหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศหยุดยิง 3 วันอย่างเป็นทางการในช่วงรำลึกถึงวันแห่งชัยชนะในยุโรปซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการยอมรับอย่างเป็นทางการของฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สองต่อการจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขของกองทัพนาซีเยอรมนี ระหว่างวันที่ 8-...

เมื่อปลายเดือนเม.ย. ทางการยูเครนแสดงความไม่พอใจหลังจากประธานาธิบดีปูตินยื่นข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราวช่วงวันแห่งชัยชนะในยุโรป นายอันดรีย์ ซือบีฮา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครน แถลงไม่ยอมรับข้อเสนอ

โดยให้เหตุผลว่าถ้ารัสเซียต้องการสันติภาพที่แท้จริงก็ต้องหยุดยิงทันทีและควรเป็นการหยุดยิงระยะยาวตามข้อเสนอของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้ทั้งสองฝ่ายหยุดโจมตีเป็นเวลา 30 วัน

ก่อนหน้านี้รัสเซียเคยประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเป็นเวลา 30 ชั่วโมงในช่วงเทศกาลอีสเตอร์เมื่อกลางเดือนเม.ย. ซึ่งยูเครนพร้อมจะตอบรับข้อเสนอสงบศึก แต่รัสเซียกลับลำและเดินหน้าโจมตียูเครนหลายระลอก ส่วนรัสเซียก็กล่าวหาว่าว่ายูเครนไม่สามารถยับยั้งการโจมตีได้...

คอนเสิร์ตรุ่งฤดี

ผิงผิง รุจิลาภา พัฑฒนะ เจ้าของรายการ“เมืองนางฟ้าวาไรตี้” และ “แม่ติ๋งขนมครก” จัดมินิคอนเสิร์ตการกุศล ศิลปินแห่งชาติ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เมื่อค่ำคืนวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2025 ที่ Pacoima Senior Center เมือง Pacoima รัฐแคลิฟอร์เนียได้รับเกียรติจาก สมใจนึก เองตระกูล บิ๊กบอสทิพยประกันภัย และลูกชายคนดัง เป็ก สัณณ์ชัย เองตระกูล ขึ้นเวทีร่วมร้องเพลงด้วย มีแฟนคลับและผู้ให้การสนับสนุนมาร่วมสนุกเป็นกำลังใจให้กับศิลปินและผู้จัดอย่างมากมาย


เปิดเบื้องหลังการเลือกพระนาม สันตะปาปา "เลโอ ที่ 14" ชื่อโป๊ปองค์ใหม่นี้มีที่มาอย่างไร

พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต เพรวอสต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักร นิกายโรมันคาทอลิกในนาม “สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 เป็นสันตะปาปาอเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางความสนใจของชาวโลกต่อที่มาของชื่อ "เลโอ" ที่สืบทอดจากสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต

วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ฟรานซิส เพรวอสต์ วัย 69 ปี ได้รับการเลือกจากสภาพระคาร"ดินัลให้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และประกาศพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14" (Pope Leo XIV) ทรงกลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นพระสันตะปาปา และจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแก่ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกกว่า 1,400 ล้านคนทั่วโลก

พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 เกิดที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ของสหรัฐฯ เป็นนักบวชที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสายปฏิรูป ทุ่มเทงานช่วยเหลือชุมชนชายขอบในประเทศเปรูมาอย่างยาวนาน ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครสังฆราชประจำที่นั่น และได้รับสัญชาติเปรูเพิ่มเติมด้วย

ตลอดช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานในเปรู พระองค์ได้รับการจดจำว่าเป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่นกับคริสตจักร รวมถึงส่งเสริมบทบาทของกลุ่มผู้ถูกละเลยในสังคม

ส่วนการเปลี่ยนชื่อหลังได้รับเลือกเป็นสันตะปาปานั้นเป็นธรรมเนียมที่มีมานานหลายศตวรรษ โดยนับแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา สันตะปาปาหลายองค์เริ่มใช้ชื่อใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพันธกิจทางศาสนา และสะท้อนอุดมการณ์หรือบุคคลต้นแบบในประวัติศาสตร์ของศาสนจักร

พระนามของสันตะปาปาองค์ใหม่จึงมักเชื่อมโยงกับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อน ซึ่งแสดงถึงการเคารพนับถือ และความตั้งใจจะเดินตามรอยพระราชกรณียกิจของผู้เป็นแบบอย่าง เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ประกาศว่าชื่อของพระองค์มาจาก "นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี" ผู้มีชีวิตเรียบง่ายและทุ่มเทให้กับคนยากไร้

แม้ยังไม่มีการประกาศเหตุผลอย่างเป็นทางการจากพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ว่าเหตุใดจึงเลือกชื่อนี้ แต่ชื่อ "เลโอ" เคยถูกใช้โดยสันตะปาปาหลายองค์โดยเฉพาะ 2 องค์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์

สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 1 หรือ "นักบุญเลโอมหาราช" (St. Leo the Great) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 440–461 ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 45 ของคริสตจักร และเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เจรจาสันติภาพ

ส่วนสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1878–1903 เป็นผู้ริเริ่มนโยบายด้าน ความยุติธรรมทางสังคม และมีชื่อเสียงจากสมณสาส์น "Rerum Novarum" ซึ่งกล่าวถึงสิทธิแรงงาน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และบทบาทของศาสนจักรในสังคมยุคใหม่

ด้วยเหตุนี้ การเลือกใช้ชื่อ "เลโอที่ 14" อาจสะท้อนถึงความตั้งใจของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในการ สืบสานพันธกิจด้านสันติภาพและความยุติธรรมทางสังคม ที่พระสันตะปาปาเลโอในอดีตได้วางรากฐานไว้

ทั้งนี้ "เลโอ" นับเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกใช้บ่อยที่สุด โดยก่อนหน้านี้มีสันตะปาปาใช้ชื่อนี้แล้วถึง 13 องค์ ขณะที่ชื่อยอดนิยมอันดับ 1 คือ "จอห์น" ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 523 และถูกใช้ถึง 23 ครั้ง โดย สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 เป็นองค์ล่าสุดในปี ค.ศ. 1958 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาฟรานซิสในปี 2014.

วาติกันเตรียมจัดพิธีมิสซา สถาปนา “สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14” อย่างเป็นทางการ...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวาติกันซิตี นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่าสันตะสำนักในกรุงวาติกันซิตีออกแถลงการณ์ ว่าพิธีมิสซาในการสถาปนาตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเป็นทางการ ของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 พระชนมายุ 69 พรรษา จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ค. นี้ ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร หรือจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ ใจกลางนครรัฐวาติกัน...

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 จะประทานพระวโรกาสให้สื่อมวลชนจากทั่วโลก เข้าเฝ้าฯ เพื่อสัมภาษณ์พิเศษ ในวันจันทร์ที่ 12 พ.ค. และเอกอัครราชทูตจากทุกประเทศซึ่งประจำการอยู่ที่วาติกัน จะได้รับประทานพระวโรกาส ให้เข้าเฝ้าฯพระองค์ ในวันศุกร์ที่ 16 พ.ค.นี้...

นอกจากนี้ สันตะสำนักเผยแพร่คลิป ช่วงเวลาหลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนลับ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงรับการแสดงความยินดีจากคณะพระคาร์ดินัลในที่ประชุม...

ทั้งนี้ คณะพระคาร์ดินัลซึ่งประชุมลับตั้งแต่วันพุธที่ 7 พ.ค. มีมติเมื่อช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีที่ 8 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น หรือหลังการลงมติรอบที่ 4 เลือกพระคาร์ดินัล โรเบิร์ต พรีโวสต์ ชาวอเมริกัน ให้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ และพระองค์ทรงเลือกพระนาม “เลโอ” สื่อถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง และความเมตตา ตามความหมายของคำดังกล่าวในภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า “สิงโต”...

อนึ่ง พระนาม “เลโอ” เป็นหนึ่งในพระนามซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเลือกมากที่สุด สังเกตได้จากตัวเลขตามหลังพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ พระองค์ที่ 14 ส่วนพระนามซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงใช้มากที่สุด คือ “จอห์น” ซึ่งมีแล้ว 23 พระองค์.

เครดิตภาพ : AFP...


ทรัมป์แย้ม ภาษีนำเข้าจากจีนอาจลดจาก 145% ก่อนการเจรจากำลังจะเริ่มต้น

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่าภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ อาจลดลง ขณะที่เจ้าหน้าที่การค้าระดับสูงจาก 2 ประเทศเตรียมที่จะหารือกันที่สวิตเซอร์แลนด์ในสุดสัปดาห์นี้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่าภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ อาจลดลง ขณะที่เจ้าหน้าที่การค้าระดับสูงจาก 2 ประเทศเตรียมที่จะหารือกัน ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า "จะขึ้นราคาไม่ได้อีกแล้ว ตอนนี้อยู่ที่ 145% ดังนั้นเราจึงรู้ว่ามันกำลังลดลง" โดยอ้างถึงภาษีนำเข้าใหม่ที่สูงถึง 145% ที่เรียกเก็บจากจีนตั้งแต่เขากลับมายังทำเนียบขาว

ทรัมป์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวในงานแถลงการบรรลุข้อตกลงภาษีศุลกากรกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นข้อตกลงฉบับแรกนับตั้งแต่เขาประกาศเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกเมื่อเดือนเมษายน ขณะที่การพบกันที่สวิตเซอร์แลนด์ในสุดสัปดาห์นี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะคลี่คลายสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดการเงิน

จีนยังแสดงความมั่นใจเกี่ยวกับการเจรจาครั้งนี้ด้วย นางหัว ชุนอิ๋ง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนมี "ความมั่นใจเต็มที่" ในความสามารถในการจัดการปัญหาการค้ากับสหรัฐฯ

การประกาศการเจรจาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการผ่อนคลายความตึงเครียด แต่บรรดานักวิเคราะห์เตือนว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาที่ยาวนาน

ด้านนายสตีเฟน โอลสัน อดีตผู้เจรจาการค้าของสหรัฐฯ กล่าวว่า "ความขัดแย้งในระบบระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่ได้รับการแก้ไขในเร็วๆ นี้" เขาเสริมว่าการลดภาษีใดๆ อันเป็นผลจากการประชุมครั้งนี้น่าจะเป็น "เรื่องเล็กน้อย" การเจรจาเบื้องต้นจะนำโดยนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และนายเหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีและซาร์ด้านเศรษฐกิจของจีน

นายโอลสันกล่าวว่า "ผมคิดว่าทุกคนตระหนักดีว่าข้อตกลงขั้นสุดท้ายใดๆ ก็ตามจะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันของประธานาธิบดีทั้งสอง"

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าอีกรายกล่าวว่า แม้ว่าภาษีใหม่ที่ทรัมป์กำหนดจะถูกยกเลิก แต่ทั้งสองประเทศก็ยังคงมีปัญหาสำคัญที่ต้องเอาชนะ นายเอสวาร์ พราสาด อดีตหัวหน้าแผนกจีนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า "เป้าหมายที่สมจริงนั้นอาจเป็นการถอยกลับจากภาษีศุลกากรที่สูงลิ่ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงต้องคงกำแพงภาษีศุลกากรที่สูงและข้อจำกัดอื่นๆ ไว้"

เมื่อวันศุกร์ ตัวเลขอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนแสดงให้เห็นว่าการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ในขณะเดียวกัน การส่งออกทั้งหมดของจีนกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ที่ 8.1%

การเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นเพียงสองวันหลังจากที่สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกที่ทำข้อตกลงภาษีศุลกากรกับรัฐบาลทรัมป์ สหรัฐฯ ตกลงที่จะลดภาษีนำเข้ารถยนต์อังกฤษจำนวนหนึ่งและอนุญาตให้เหล็กและอลูมิเนียมบางส่วนเข้าประเทศได้โดยไม่เสียภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงฉบับใหม่ ข้อตกลงดังกล่าวยังช่วยบรรเทาภาระให้กับอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ของสหราชอาณาจักรจากภาษีศุลกากรใหม่บางส่วนที่ทรัมป์ประกาศตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมอีกด้วย

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังพยายามทำข้อตกลงที่คล้ายกันนี้ก่อนที่ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า หลังจากทรัมป์ประกาศสิ่งที่เขาเรียกว่า "ภาษีศุลกากรตอบโต้" กับหลายสิบประเทศในเดือนเมษายน แต่ได้หยุดการเรียกเก็บภาษีเหล่านี้ในเวลาไม่นานหลังจากนั้นเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นมีเวลาในการเจรจากับฝ่ายบริหารของเขา.

ที่มา BBC

บิล เกตส์ เตรียมบริจาคเงิน 2 แสนล้านเหรียญ ฉะ อีลอน มัสก์ “ฆ่าเด็กยากจน” ตัดงบช่วยเหลือ...

รอยเตอร์รายงานว่า บิล เกตส์ ได้ออกมาประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า จะบริจาคเงิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านมูลนิธิการกุศลของเขา ภายในปี 2045 และโจมตีอีลอน มัสก์ ว่า “ฆ่าเด็กที่ยากจนที่สุดในโลก” ผ่านการตัดงบประมาณความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐ อย่างหนัก

มหาเศรษฐีวัย 69 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ กล่าวว่า เขากำลังเร่งดำเนินการตามแผนในการขายทรัพย์สินเกือบทั้งหมดของเขา และจะปิดมูลนิธิในวันที่ 31 ธันวาคม 2045 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมหลายปี

เกตส์กล่าวว่า เขาเชื่อว่าเงินดังกล่าวจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายหลายประการของเขา เช่น การกำจัดโรคต่างๆ เช่น โปลิโอ มาลาเรีย และการยุติการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ในสตรี เด็ก และการลดความยากจนทั่วโลก

การประกาศของเขา สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลต่างๆ รวมถึงรัฐบาลทรัมป์ ที่จะลดงบประมาณความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ใช้ในการป้องกันโรคร้ายแรง และความอดอยาก...

การตัดงบประมาณของสหรัฐอยู่ภายใต้การดูแลของมัสก์ โดยแผนประสิทธิภาพของรัฐบาล หรือ DOGE ของเขา ทั้งนี้ โครงการของ USAID ประมาณ 80% จะถูกตัดทิ้ง โดยหน่วยงานนี้ใช้เงินไปทั่วโลก 44,000 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2023

“ภาพของคนที่รวยที่สุดในโลก ฆ่าเด็กที่ยากจนที่สุดในโลก ไม่สวยงามเลย” เกตส์กล่าวกับ Financial Times

ในบทสัมภาษณ์กับ Financial Times บิล เกตส์ ยังกล่าวถึงประเด็นยกเลิกเงินช่วยเหลือที่มอบให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดกาซา ประเทศโมซัมบิก ซึ่งทรัมป์กล่าวอ้างผิดพลาดว่า เป็นการระดมทุนเพื่อซื้อถุงยางอนามัย “ให้กับกลุ่มฮามาส” ในฉนวนกาซา ต่อมา มัสก์ได้ยอมรับว่า ข้อกล่าวอ้างนั้นผิด แต่ก็ตัดเงินต่อ

เกตส์จึงว่า “ผมอยากให้ (มัสก์) เข้าไปพบเด็กๆ ที่ติดเชื้อ HIV เพราะเขาตัดเงินส่วนนั้นไป”...

เกตส์ยังเตือนว่า ความคืบหน้าในการลดอัตราการเสียชีวิตในช่วง 4-6 ปี ข้างหน้าจะชะงักลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกตัดงบประมาณ

“จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก อาจจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน เพราะทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ” เกตส์เผย

งบประมาณประจำปีของมูลนิธิเกตส์ จะสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2026 และประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีหลังจากนั้น เนื่องจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เกตส์ได้เตือนทำเนียบขาวว่า มูลนิธิของเขาและองค์กรการกุศลอื่นๆ ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างที่รัฐบาลทิ้งไว้ได้

เกตส์ และมัสก์ เคยตกลงกันเรื่องบทบาทของคนรวยในการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่หลังจากนั้นก็ขัดแย้งกันหลายครั้ง เมื่อถูกถามว่า เขาได้ขอร้องให้มัสก์เปลี่ยนแนวทางเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ เกตส์บอกว่าตอนนี้ขึ้นอยู่กับรัฐสภาที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของการใช้จ่ายในการช่วยเหลือของสหรัฐ

มัสก์ได้โพสต์เอ็กซ์ว่า “เกตส์เป็นคนโกหกตัวเบิ้ม” ซึ่งมีการให้สัมภาษณ์เกตส์ที่เตือนเรื่องเงินช่วยเหลือสหรัฐ ขณะที่โฆษกมัสก์ไม่พร้อมให้ความเห็น

เกตส์กล่าวอีกว่า แม้มูลนิธิของเขาจะมีเงินมากมาย แต่ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล...

เกตส์ประกาศเรื่องนี้ในวันครบรอบ 25 ปีของมูลนิธิ เขาก่อตั้งองค์กรนี้ร่วมกับ เมลินดา เฟรนซ์ เกตส์ ภรรยาของเขาในปี 2543 และต่อมาก็มีมหาเศรษฐีนักลงทุนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าร่วม

ตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิเขาได้บริจาคเงินไปแล้ว 100,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยชีวิตผู้คนหลายล้านคน และสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น กลุ่มวัคซีน Gavi และกองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย

มูลนิธิจะปิดตัวลงหลังจากใช้เงินส่วนตัวของเกตส์ไปประมาณ 99% เขากล่าว โดยคาดว่า จะปิดตัวลงในช่วงหลายทศวรรษหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิต

เขาได้พูดคุยกับทรัมป์หลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และ 2 ครั้ง นับแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 20 มกราคม เกตส์บอกว่า “โลกมีคุณค่า นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ผมสอน” เกตส์กล่าว

เกตส์ยังได้บอกกับรายการ Newshour ของ BBC ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีคนร่ำรวยคนอื่นๆ ที่สามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้ดีกว่า...