ข่าว
สหรัฐฯไฟเขียวฉีดวัคซีนโควิดโดสกระตุ้น ให้อายุ 65 ปีขึ้นไป-กลุ่มเสี่ยงสูง

23 กันยายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นโดสกระตุ้น ในกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือผู้มีความเสี่ยงสูง

เจเน็ต วูดค็อก รักษาการกรรมาธิการของสำนักงานฯ ระบุว่า “สำนักงานฯ ตัดสินใจแก้ไขอำนาจใช้งานฉุกเฉิน (EUA) สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค เพื่อเปิดทางการฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นแก่ประชากรบางกลุ่ม อาทิ บุคลากรการแพทย์ ครู เจ้าหน้าที่ดูแลเด็ก พนักงานร้านขายของชำ ผู้คนในศูนย์พักพิงคนไร้บ้านหรือเรือนจำ หลังพิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ รวมถึงข้อมูลการหารือจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอิสระและผู้เชี่ยวชาญภายนอก”

“การระบาดใหญ่ครั้งนี้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่เสมอ มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนออกมาทุกวัน อย่างไรก็ดี เราจะประเมินวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแจ้งให้สาธารณชนทราบต่อไป หากเราเรียนรู้ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนและการฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นเพิ่มเติม” วูดค็อกกล่าว

นอกจากนั้นสำนักงานฯ เปิดเผยการอนุมัติฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นให้กลุ่มคนอายุ 18-64 ปีที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึง “กลุ่มคนมีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสฯ จากสถาบันหรือการทำงานบ่อยครั้ง” ซึ่งทำให้พวกเขามีโอกาสเผชิญภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากโรคโควิด-19 ในระดับสูง

ทั้งนี้ สำนักงานฯ เสริมว่ากลุ่มคนดังกล่าวจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสกระตุ้น หลังจากฉีดวัคซีนโดส 2 ครบ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย

ศาลปกครองสูงสุด สั่ง ‘กฟผ.’คืนเงินค้ำประกัน 45 ล้านบาทให้บริษัทไฟฟ้าชีวมวลจำกัด

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คืนหลักค้ำประกันการยื่นคำร้องและข้อเสนอขายไฟฟ้าตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 00019/108062/0017/2548 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 45,000,000 บาท ให้แก่บริษัท ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าให้กับกฟผ. โดยได้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันฯ จำนวนเงิน 45,000,000 บาท ให้ กฟผ. เพื่อเป็นหลักประกันการยื่นคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่ง กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งตกลงรับซื้อไฟฟ้าตามคำเสนอของบริษัทไฟฟ้าชีวมวลจำกัด และแจ้งว่าก่อนลงนามตามสัญญา บริษัทไฟฟ้าชีวมวลจำกัดจะต้องดำเนินการให้บริษัท เนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด โอนกรรมสิทธิ์สถานีไฟฟ้าศรีมหาโพธิและจดทะเบียนภาระจำยอมทางเข้าออกของสถานีไฟฟ้าดังกล่าวให้ กฟผ. ให้แล้วเสร็จก่อน โดยขณะนั้นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันแต่อย่างใด

ต่อมา กฟผ. ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก เฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พ.ศ. 2550 และได้อาศัยระเบียบดังกล่าวออกประกาศ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก เฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ลงวันที่ 18 เม.ย.50 บริษัทไฟฟ้าชีวมวล จำกัด จึงได้ยื่นคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าตามระเบียบดังกล่าวต่อ กฟผ. เนื่องจากระเบียบฯ และประกาศฯ ดังกล่าว มีความแตกต่างจากระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กฯ พ.ศ. 2548 และประกาศ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กฯ ลงวันที่ 1 เมษายน 2548 ซึ่ง กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งผลต่อบริษัทไฟฟ้าชีวมวล จำกัดว่า ไม่ขัดข้องที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทไฟฟ้าชีวมวลจำกัด ตามข้อเสนอดังกล่าว โดยบริษัทไฟฟ้าชีวมวล จำกัด จะต้องลงนามสัญญาตามระเบียบดังกล่าวภายใน 2 ปี นับจากวันที่ กฟผ. แจ้งผลการพิจารณารับซื้อ แต่เนื่องจากร่างสัญญากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อร่างสัญญาได้รับความเห็นชอบจาก สนพ. แล้ว กฟผ. จะได้ส่งร่างสัญญาให้บริษัทไฟฟ้าชีวมวลจำกัดดำเนินการต่อไป

กรณีจึงเห็นได้ว่า กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งตกลงรับซื้อไฟฟ้าตามคำเสนอของบริษัทไฟฟ้าชีวมวลจำกัดดังกล่าวแล้ว ตามหนังสือ ที่ กฟผ. 421200/25616 ลงวันที่ 29 มิ.ย. 49 จึงต้องถือว่า คำเสนอและคำสนองของบริษัทไฟฟ้าชีวมวล จำกัด และ กฟผ. ถูกต้องตรงกันและผูกพันทั้งสองฝ่ายให้ต้องลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 49 ดังนั้น กำหนดระยะเวลาที่บริษัทไฟฟ้าชีวมวลจำกัด และ กฟผ. ต้องลงนามในสัญญาซื้อขายภายใน 2 ปี คือ ภายในวันที่ 29 มิ.ย.51

แต่เมื่อในวันที่จะต้องมีการลงนามในสัญญา กฟผ. ยังดำเนินการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะต้องลงนามไม่แล้วเสร็จ โดยอ้างว่า ร่างสัญญายังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนพ. ทำให้ไม่มีสัญญาที่คู่สัญญาอาจลงนามระหว่างกันได้ในวันดังกล่าว การที่บริษัทไฟฟ้าชีวมวล จำกัดไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 29 มิ.ย.51 จึงมิได้เกิดจากความบกพร่องของบริษัทแต่อย่างใด ในทางกลับกันเมื่อ กฟผ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ออกระเบียบและประกาศซึ่งกำหนดให้จะต้องมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 2 ปี นับจากวันที่ กฟผ. ได้แจ้งผลการพิจารณา กฟผ. จึงต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามความในระเบียบและประกาศดังกล่าว โดยจะต้องดำเนินการจัดทำร่างสัญญาให้พร้อมลงนามก่อนกำหนดระยะเวลาที่จะต้องลงนาม และไม่อาจยกเอาเหตุที่จะต้องส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พิจารณาก่อนขึ้นอ้าง เพื่อให้เกิดผลเสียหรือความรับผิดของบุคคลอื่นได้ และต้องถือว่าคำร้องและข้อเสนอการขายไฟฟ้าดังกล่าวของบริษัทไฟฟ้าชีวมวล จำกัดเป็นอันยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น กฟผ. จึงไม่อาจใช้สิทธิริบหลักประกันการยื่นคำร้องข้อเสนอขายไฟฟ้าของบริษัทไฟฟ้าชีวมวล จำกัดได้


ไม่ลดยาแรง! ชงศบค.ขยายพ.ร.กฉุกเฉินอีก 2 เดือน คงเคอร์ฟิว-เลื่อนเปิดแซนด์บ็อกซ์ 5 จว.

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 มีรายงานว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้อำนวยการ ที่ประชุมเห็นชอบเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ให้ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน หรือจนกว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะมีผลบังคับใช้ รวมถึงเสนอเลื่อนการเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ) จากแผนเดิมวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ส่วนมาตรการงดออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ยังเป็นไปตามเวลาเดิมคือตั้งแต่ 21.00 น. ถึง 04.00 น. รวมถึงยังขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางข้ามจังหวัด นอกจากนี้จะเสนอให้ผ่อนคลายกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติม อาทิ เปิดพิพิธภัณฑ์ ติวเตอร์ สปา โรงหนัง ร้านอาหารที่เล่นดนตรี และสนามกีฬาในร่มที่ไม่มีผู้ชม โดยข้อเสนอดังกล่าวต้องให้ที่ประชุมใหญ่ ศบค.พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

รายงานข่าวจาก ศบค. ยังระบุว่า สำหรับกรณีร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อพ.ศ.2558 ทางรัฐบาลและศบค.ได้ประมาณการณ์ร่วมกันว่าน่าจะนำร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ โดยมีเหตุผลหลักๆ คือเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องมีเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมตัวและปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกับกฎหมายใหม่ฉบับนี้ รวมถึงเพื่อให้ประกาศร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวลงในราชกิจจานเบกษาอยู่ในช่วงที่เปิดประชุมรัฐสภาสมัยหน้า ซึ่งจะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ และเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลก็จะเสนอพ.ร.ก.นี้ขอความเห็นจากที่ประชุมสภาได้เลย ดังนั้น ระหว่างนี้ที่ยังไม่มีการประกาศใช้ร่างช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้

โดยมีเหตุผลหลัก ๆ คือเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆและผู่ที่เกี่ยวข้องมีเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมตัวและปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกับกฎหมายใหม่ฉบับนี้ รวมถึงเพื่อให้

ประกาศร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวลงในราชกิจจานเบกษาอยู่ในช่วงที่เปิดประชุมรัฐสภาสมัยหน้า ซึ่งจะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ และเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลก็จะเสนอพ.ร.ก.นี้ขอความเห็นจากที่ประชุมสภาได้เลย ดังนั้น ระหว่างนี้ที่ยังไม่มีการประกาศใช้ร่างพ.ร.ก.โรคติดต่อฯ จึงจะต้องต่อเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ไปพลางก่อน.


'จีน'วางแผนทดลองระยะที่ 3 วัคซีนต้านโควิดแบบพ่นจมูก

23 กันยายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ปักกิ่ง ว่านไท่ ไบโอโลจิคัล ฟาร์มาซี (Beijing Wantai Biological Pharmacy) บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนของจีน วางแผนเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่สามของวัคซีนแบบพ่นจมูก

โดยบริษัทตั้งเป้ารับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองระยะที่สามสำหรับวัยผู้ใหญ่ 40,000 คน ผู้เข้าร่วมจะได้รับวัคซีนโควิดแบบพ่นจมูกสองโดสที่บริษัทพัฒนาขึ้น หรือได้รับวัคซีนที่เป็นยาหลอก โดยเว้นระยะห่างระหว่างโดสแรกกับโดสสองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุว่าจะดำเนินการทดลองในกี่ประเทศ แต่ฟิลิปปินส์ได้อนุมัติการทดลองดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคโควิดแบบพ่นจมูกที่ปักกิ่ง ว่านไท่พัฒนาขึ้นถือเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือไปจากการฉีดวัคซีนโควิดที่แขน โดยที่วัคซีนดังกล่าวจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจโดยเลียนแบบการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ


'อินเดีย'จวก'สหราชอาณาจักร' ปมไม่ยอมรับวัคซีนโควิด-19'โควิชีลด์'

23 กันยายน 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน รัฐบาลอินเดียชี้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่ไม่ยอมรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โควิชีลด์ (Covishield) ของอินเดียเป็น “การเลือกปฏิบัติ” และเตือนว่าอาจดำเนินมาตรการตอบโต้หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข

หรรษ วรรธน ศฤงคลา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวว่าอินเดียส่งมอบวัคซีนโควิชีลด์ 5 ล้านโดส ให้สหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของรัฐบาลสหราชอาณาจักรก่อนหน้านี้ พร้อมชี้ว่าการตัดสินใจไม่ยอมรับวัคซีนข้างต้นเป็น “นโยบายเลือกปฏิบัติ”

“รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายนอกของอินเดียหารือประเด็นนี้อย่างจริงจังกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหราชอาณาจักร หากเขาไม่ได้รับความพึงพอใจ เราก็มีสิทธิกำหนดมาตรการตอบโต้รูปแบบเดียวกัน” ศฤงคลากล่าว

อินเดียไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มประเทศที่วัคซีนได้รับการยอมรับจากสหราชอาณาจักร โดยศฤงคลากล่าวว่าการดำเนินการครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อชาวอินเดียที่เดินทางเยือนสหราชอาณาจักร

นักเดินทางชาวอินเดียที่ฉีดวัคซีนโควิชีลด์ 2 โดส ซึ่งผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) จะถือว่ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนและต้องกักตัวนาน 10 วันเมื่อเดินทางถึงสหราชอาณาจักร อีกทั้งต้องเข้ารับการตรวจปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสหรือพีซีอาร์ (PCR) ด้วย

ทั้งนี้ วัคซีนโควิชีลด์พัฒนาโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทเภสัชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ โดยเป็นหนึ่งในวัคซีน 2 ตัวที่อินเดียใช้งานในโครงการฉีดวัคซีนของประเทศ

ทุบสถิติ! 'ลาว'ป่วยโควิด-19พุ่ง ‘ติดเชื้อในท้องถิ่น’เพิ่มสูงสุด 666 ราย

23 กันยายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กระทรวงสาธารณสุขลาวรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ติดเชื้อในท้องถิ่นเพิ่ม 666 ราย ซึ่งนับเป็นสถิติการตรวจพบผู้ป่วยรายวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รัดตะนะไช เพ็ดสุวัน อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกระทรวงฯ แถลงข่าวว่าลาวดำเนินการตรวจโรค 5,652 ครั้ง ในช่วง 24 ชั่วโมง และยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่ม 694 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อในท้องถิ่น 666 ราย และผู้ป่วยจากต่างประเทศ 28 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 20,646 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 16 ราย

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อในท้องถิ่น อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ 563 ราย แขวงจำปาสัก 46 ราย แขวงคำม่วน 25 ราย แขวงสะหวันนะเขต 10 ราย แขวงหลวงน้ำทา บอลิคำไซ และหลวงพระบางแห่งละ 5 ราย แขวงเวียงจันทน์ 4 ราย แขวงเชียงขวาง 2 ราย และแขวงสาละวัน 1 ราย

รัดตะนะไชเสริมว่าร้อยละ 90 ของการระบาดในนครหลวงเวียงจันทน์เชื่อมโยงกับกลุ่มคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า

ด้านกลุ่มผู้ป่วยจากต่างประเทศ 28 ราย อยู่ในแขวงสาละวัน 13 ราย นครหลวงเวียงจันทน์และแขวงสะหวันนะเขตแห่งละ 5 ราย แขวงจำปาสัก 4 ราย และแขวงคำม่วน 1 ราย

อนึ่ง ลาวมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายดีและออกจากโรงพยาบาลรวม 15,769 รายแล้ว