เว็บไซต์แอลเออิสต์รายงานว่า โลกออนไลน์สหรัฐประณามชายอเมริกันที่ก่อเหตุเหยียดเชื้อชาติในร้านอาหารไทยที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
เหตุเกิดที่ร้านอาหารไทย แบมบู ไทย บิสโตร ที่บริเวณชายหาดเรดอนโด นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ทราบชื่อภายหลังว่านายเจสัน พอล นากลิช ไปรับประทานอาหารไทยที่ร้านแห่งนี้ เมื่อถึงเวลาคิดเงิน นายนากลิชจ่ายโดยใช้บัตรเครดิต และนายนากลิชไม่ได้ให้เงินค่าทิป แต่กลับใช้ปากกาเขียนในใบเสร็จว่า "ทิปสำหรับชาวสหรัฐเท่านั้น"
หลังจากนั้นไม่นาน ภาพของใบเสร็จรับเงินที่มีข้อความเหยียดเชื้อชาติของนายนากลิชถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยเสียงประณามจากชาวเน็ตจำนวนมาก หลายคนกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า "คนอย่างนายเจสัน นากลิช สร้างแต่ความเกลียดชัง ไม่ต่างจากพวกไอเอส ไม่มีอะไรจะพูดอีก" หรือ "น่ารังเกียจมาก ฉันไม่อยากเชื่อว่าคนยโสแบบนี้ยังมีอยู่ในโลกยุคนี้ ถ้าคุณต่อต้านคนเอเชียที่อยู่ที่นี่ ก็อย่ามากินอาหารของเราสิ"
"นายกฯ" ชี้ร่างกติกาประเทศต้องคำนึงสถานการณ์ ไม่นำชาติกลับไปสู่จุดเดิม เมื่อพร้อมเต็มที่ค่อยปรับเปลี่ยน กระตุก ขรก.เลิกเกียร์ว่าง ทำงานให้ปชช. ต้องไม่ทุจริต พร้อมเผยเตรียมลงพื้นที่ถี่ขึ้น สั่งการ สธ.เข้มงวดตรวจรักษาไข้เลือดออก
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.58 เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า เรื่องการเขียนกติกาบ้านเมืองทราบว่าทุกคนล้วนมีความตั้งใจดี ไม่ว่าจะเป็นกรธ.หรือ สปท. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการร่างและนำเสนอ ก็อยากให้ประชาชนลองรับฟังและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียต่างๆ และอยากเข้าใจว่าเวลานี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน การนำเสนอกฎเกณฑ์ต่างๆ พร้อมจะรับกฎเกณฑ์ของคนอื่นมาทั้งหมดแล้วหรือไม่ หากกฎเกณฑ์ที่ร่างนั้นทำให้ประเทศกลับมาเป็นแบบเดิม ก็จะทำให้ปัญหาไม่สิ้นสุด เราควรช่วยกันวิเคราะห์ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ต้องแก้อย่างไร เพื่อร่างกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และเมื่อพร้อมเต็มที่ จึงค่อยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเป็นไปในห้วงเวลานั้นๆ ซึ่งการทำงานทั้ง กรธ. สปท.และ สนช.ไม่ว่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน หรือการดำเนินการในแต่ละระยะ ที่นำไปสู่การพัฒนาและปฏิรูปประเทศ ต้องอยู่บนพื้นฐานการบริหารราชการแผ่นดินที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลได้วางรากฐานไปแล้ว คือการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการแก้ไขปัญหาการทุจริต
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการทำงานของข้าราชการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ นำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ไปสู่ประชาชน แม้นโยบายจะดีแค่ไหน หากข้าราชการไม่สามารถสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ ให้กับประชาชนได้ ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือ ทั้งจากชุมชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ การทำงานในแบบ "ประชารัฐ" ก็จะไม่เกิด ตนต้องการเห็นข้าราชการทุกคนทำงานเชิงรุก มีวิสัยทัศน์ มีความตั้งใจนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ยึดถือแบบอย่างการทำงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คำนึงถึงส่วนรวม รับผิดชอบต่อหน้าที่ ใช้จ่ายงบประมาณก็ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส หากพบเจอปัญหาติดขัดให้มาบอกตนและรัฐบาล เพราะประชาชนรอการช่วยเหลืออยู่ หากทุกคนใส่เกียร์ว่างไม่ตั้งใจทำหน้าที่ ไม่พัฒนาตนเอง ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและการพัฒนาประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ติดตามความคืบหน้ามาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับข้าราชการและประชาชนทุกกลุ่มโดยตรง ทั้งหมดให้กำลังใจ พร้อมก้าวข้ามความขัดแย้ง หันมาร่วมมือปฏิรูป ทำให้ได้เห็นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนผ่านโครงการที่รัฐเข้าไปอุดหนุนงบประมาณ ต่อจากนี้ไป ตนจะพยายามเดินทางลงพื้นที่ให้บ่อยขึ้น เพื่อพบปะเยี่ยมเยือนพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ รวมทั้งติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ที่ยึดหลักของความเป็นจริง ส่วนระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่ได้มีการปรับมานาน ทำให้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ รัฐบาลจะปรับอัตราภาษีให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และยังไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีแต่อย่างใด ซึ่งขอให้มั่นใจเงินภาษีที่เก็บได้จะนำไปพัฒนาประเทศด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
นายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ผ่านมานั้น ขอขอบคุณคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงภาคเอกชน นักวิชาการ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้เกิดการประมูลบริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการทุจริต เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐ และฝากให้ตระหนักว่าประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด อัตราค่าบริการต้องสมเหตุสมผล เป็นธรรม ไม่สร้างภาระให้ประชาชน
จากกรณีเมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พ.อ.นรินทรักษ์ เชษฐศิริ รอง ผบ.ส.1 นำกำลังเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่เลขที่ 45/410-411 ซอยบอนด์สตรีท ถนนติวานนท์ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หลังพบว่ามีการออกอากาศรายการทีวีรายการหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดสถานี ก่อนจะเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด 8 รายในจำนวนนี้มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร.ด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 20 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.ท.สิงห์ สิงห์เดช พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.2 บก.ป. เจ้าของคดีดังกล่าวเปิดเผยว่า ในส่วนของผู้ที่ถูกจับกุมนั้น ได้อนุญาตให้ประกันตัวไปคนละ 20,000 บาท แต่สำหรับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นั้น ยังไม่ได้รับการประสานจะเข้ามอบตัวหรือให้ข้อมูลแต่อย่างใด ทั้งนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา ก็จะออกหมายเรียกให้เข้าให้ปากคำ โดยหมายเรียกครั้งแรกคาดว่าน่าจะสามารถออกได้ภายในวันนี้(20 พ.ย.) ซึ่งมีระยะเวลา 7 วัน หากยังไม่มาพบตามหมายเรียก ก็จะออกหมายเรียกอีกเป็นครั้งที่ 2 และหากยังไม่มาอีก ก็จะออกหมายจับตามขั้นตอนของกฎหมาย
ด้านน.ส.พรทิพา สุพัฒนุกูล กล่าวว่า เมื่อวานนี้(19 พ.ย.) ทาง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ส่งทนายและให้เงินมาก้อนหนึ่ง เพื่อใช้ประกันตัวทีมงาน แต่ตนไม่รับ เนื่องจากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับสิ่งที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พูดในรายการเสียงเสรีแต่อย่างใด ทั้งนี้ไม่ได้พูดคุยส่วนตัวกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่า จะเข้าให้ข้อมูลหรือมอบตัวกับตำรวจเมื่อใดเช่นกัน
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะส่งทนายความส่วนตัวมาประสานกับกองปราบปราม เพื่อจะเข้ามาให้ปากคำในภายหลัง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีทนายความมาประสานกับทางพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันนี้ ทาง คสช. จะมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ กับผู้ต้องหาทั้งหมดที่กองปราบปรามในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรฯ และร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต"
17 พ.ย. 58 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และอดีตผู้บริหารบริษัท สุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์ จำเลยที่ 129 คดีรื้อบาร์เบียร์ ซ.สุขุมวิท 10 ได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาล หลังเดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน
นายชูวิทย์ แถลงต่อศาลว่า เป็นความเข้าใจผิดและความผิดพลาดของจำเลย ที่ไม่ได้ตรวจสอบคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ได้รับรองต่อศาลว่า หากจำเลยจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน ซึ่งเหตุที่จำเลยเดินทางไปต่างประเทศ ก็เพื่อไปเยี่ยมบุตร เมื่อจำเลยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เวลา 02.00 น. ก็มารายงานตัวทันที จำเลยไม่มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนคำสั่งศาล และขอศาลให้โอกาสจำเลยได้ประกันตัวอีกครั้ง
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า วันนี้ จำเลยและนายประกันได้มารายงานตัวต่อศาลทันทีที่เดินทางกลับ อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ผ่านมาเดินทางมาศาลตามนัด เชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนาผิดสัญญาประกัน ศาลจึงได้ว่ากล่าวตักเตือนและกำหนดเงื่อนไขในคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติมว่า ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และให้แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ
กำลังเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เข้าช่วยตัวประกันออกจากโรงแรมหรู กรุงบามาโก เมืองหลวงของมาลี แล้ว วิสามัญ 2 ศพ ผู้ก่อเหตุคาดอีก 4 ยังคงหลบซ่อนอยู่ชั้นบน ขณะที่กองกำลังยูเอ็น เคลียร์พื้นที่ ระบุเห็นร่างผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย….
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. มีรายงานความคืบหน้า กรณีเหตุกลุ่มมุสลิมติดอาวุธบุกจับตัวประกัน 170 คน ในโรงแรมเรดิสัน บลู ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว ในกรุงบามาโก เมืองหลวงประเทศมาลี ในแอฟริกาตะวันตก ที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงเช้า ประมาณ 07.00 น.วันที่ 20 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) เบื้องต้น มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 คน เป็นชาวมาลี 2 คน และฝรั่งเศส 1 คน
ขณะที่ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในมาลีรายงาน มีตัวประกันได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว 80 คน โดยทางการมาลีได้ส่งกำลังตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษ ร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )บุกเข้าช่วยตัวประกัน ซึ่งถูกจับอยู่บนชั้น 7 ของโรงแรม และในเวลาต่อมา ทางการฝรั่งเศส ได้ส่งกำลังตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษที่ผ่านการฝึก รับมือการก่อการร้าย มาสมทบเพิ่มอีก ประมาณ 40 นาย
สำหรับผู้ถูกจับเป็นตัวประกันในครั้งนี้ มีชาวฝรั่งเศส ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนแน่ชัด รวมถึงชาวอเมริกัน อย่างน้อย 6 คน ชาวอินเดีย 20 คน ชาวจีน 10 คน ชาวแอลจีเรีย 7 คน และพนักงานของสายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินของตุรกีอีก 6 คน รวมถึงพนักงานในโรงแรมอีกประมาณ 30 คน ส่วนลูกเรือสายการบินแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศส 12 คน สามารถหนีรอดออกมาได้แล้ว
ด้านหนึ่งในผู้ถูกปล่อยตัว ชาวกินี ระบุว่า ได้ยินผู้ก่อเหตุพูดภาษาอังกฤษในห้องพักด้านข้าง นอกจากนี้ พยานในที่เกิดเหตุระบุว่า มีผู้ก่อเหตุประมาณ 10 คน ได้ตะโกนเป็นภาษาอารบิกว่า "พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่" และ เลือกไม่ทำร้ายชาวมุสลิม ซึ่งพิสูจน์โดยการให้อ่าน ‘คัมภีร์อัลกุรอาน’ หากสามารถท่องได้ จะถูกปล่อยตัวออกมา
ล่าสุดเวลา 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สถานการณ์ที่ยาวนาน กว่า 7 ชม. ได้ยุติลงแล้ว หลังกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่าย ซึ่งตรึงกำลังล้อมรอบตัวโรงแรม บุกเข้าไปภายในเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน และได้สังหารผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2 ราย โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น อ้างคำกล่าวพันเอกซารีฟ ทราโอเร รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงของมาลี ซึ่งออกมายืนยัน ไม่มีตัวประกันหลงเหลืออยู่ในโรงแรมแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ยืนยันชัดเจนว่า การปะทะกับผู้ก่อเหตุจับตัวประกัน ซึ่งยังอยู่ในโรงแรมได้ยุติลงหรือไม่ ขณะที่นายทหารระดับสูงของกองทัพมาลี ระบุว่า พบศพผู้เสียชีวิต จำนวน 10 รายภายในพื้นที่ของโรงแรม และกลุ่มผู้ก่อเหตุยังคงอยู่ภายในตัวอาคาร
ด้านกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาได้เห็นศพอย่างน้อย 27 คน ภายในโรงแรม โดยผู้บาดเจ็บ ได้ทยอยนำออกมาเมื่อช่วงเย็น ทั้งพนักงานสายการบิน นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในท้องถิ่น ส่วนผู้ก่อเหตุที่เหลือยังหลบซ่อนอยู่ชั้นบนของโรงแรม คาดว่ามีประมาณ 4 คน
รายงานของบีบีซี สถาบันวิจัย "พิวรีเสิร์ชเซ็นเตอร์" เผยผลการศึกษาพบการเปลี่ยนแปลงของการอพยพของชาวเม็กซิกันที่สวนกระแสที่เคยเป็นมาในอดีตอันยาวนาน เมื่อส่วนใหญ่ต่างพากันทยอยย้ายกลับประเทศ ขณะที่ผู้อพยพหน้าใหม่มีจำนวนลดลง
ในช่วงปี 2009-2014 มีชาวเม็กซิกันพร้อมครอบครัวกว่าหนึ่งล้านคน รวมถึงเด็กที่เกิดในสหรัฐฯพากันเดินทางกลับเม็กซิโก หลังเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ขณะที่มีชาวเม็กซิกันราว 8.7 แสนคน เดินทางเข้าสหรัฐฯในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้มีจำนวนชาวเม็กซิกันที่เคลื่อนย้ายเข้าสหรัฐฯ ติดลบราว 1.4 แสนคน
รายงานกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างขาดความสมดุลคือหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลเช่นนี้ เนื่องจากในอุตสาหกรรมที่เป็นงานหลักของผู้อพยพเช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้างยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง นับแต่สหรัฐฯค่อยๆฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2009
แม้การเพิ่มความเข้มงวดบริเวณชายแดนจะยังเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงของการช่วงชิงคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายงานของสถาบันวิจัยแห่งนี้พบว่า ลำพังระบบควบคุมการผ่านแดนในปัจจุบันก็ทำให้ชาวเม็กซิกันที่ไม่มีเอกสารที่ถูกต้องสามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ยากอยู่แล้ว
นอกจากนี้ทางการสหรัฐฯก็พยายามเร่งการส่งตัวผู้อพยพที่เดินทางเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่รายงานระบุว่า ชาวเม็กซิกันส่วนใหญ่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศด้วยตนเอง เหตุผลโดยมากอ้างว่าเพื่อเดินทางกลับไปหาครอบครัว บางรายกล่าวว่าเป็นเพราะมีโอกาสในการหางานในประเทศบ้านเกิด
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012