ข่าว
อิมราน ข่าน อดีตนายกฯปากีสถาน ถูกลอบยิง ผู้สนับสนุนชี้รัฐบาลอยู่เบื้องหลัง

วันที่ 4 พ.ย. เอเอฟพี และ เอพี รายงานว่า อิมราน ข่าน วัย 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน อยู่ระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หลังถูกลอบยิงเข้าที่ขาขวา 2 นัด ซึ่งเป็นความพยายามลอบสังหารเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 พ.ย. โดยแพทย์ระบุว่าอาการของนายข่านคงที่และพ้นขีดอันตรายแล้ว

รายงานระบุว่า นายข่านอยู่ในเขตวาซิราบัด ขณะนำผู้ประท้วงหลายพันคนเดินทางจากเมืองละฮอร์ แคว้นปัญจาบ ไปกรุงอิสลามาบัด เพื่อกดดันให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ จัดการเลือกตั้งเร็วขึ้น ระหว่างนั้น มือปืน 1 คนสาดกระสุนจากอาวุธปืนพกใส่รถบรรทุกนำการประท้วงท่ามกลางผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 9 ราย

ส่วนผู้ก่อเหตุคือนายไฟซาล บัตต์ ซึ่งถูกตำรวจจับกุมทันที และสารภาพเป็นผู้ยิงนายข่าน แต่ไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง และในอินเตอร์เน็ตมีวิดีโอที่ผู้ก่อเหตุให้การสารภาพแรงจูงใจว่า นายข่านสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน ทั้งไม่พอใจที่การเดินขบวนของนายข่านส่งเสียงดังระหว่างพิธีละหมาด ขณะที่มุขมนตรีประจำแคว้นปัญจาบระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้เผยแพร่วิดีโอจะต้องถูกลงโทษทางวินัย

วันต่อมา ผู้สนับสนุนนายข่านออกมารวมตัวกันที่จุดเกิดเหตุ และสมาชิกพรรคเตห์รีค-อี-อินซาฟ

(ทีพีไอ) ของนายข่าน หลายคนอ้างว่าความพยายามลอบสังหารในครั้งนี้ รัฐบาลปากีสถานอยู่เบื้องหลัง แต่รัฐบาลออกมาปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่พรรคพีทีไอประกาศว่า การเดินขบวนกดดันรัฐบาลจะมีขึ้นต่อไปอย่างแน่นอนจนกว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ นายข่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนเม.ย.หลังถูกพรรคร่วมรัฐบาลลงคะแนนไม่ไว้วางใจแต่ยังเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยม และปลุกให้ประชาชนออกมาร่วมกันประท้วง อ้างว่าตนเป็นเหยื่อการสมรู้ร่วมคิดของนายชารีฟและสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่างออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

รัสเซีย-สหรัฐฯ กังวลการใช้นิวเคลียร์ หลีกเลี่ยงการปะทะ

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ว่ารัสเซียจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันสงครามนิวเคลียร์ จะให้ความสำคัญ เป็นอันดับแรกในการหลีกเลี่ยงการปะทะกับประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมแสดงความกังวลว่า จะเกิดความขัดแย้งจนเกิดการปะทะกับ 5 ประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ ขอเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยุติการสนับสนุนให้ใช้การยั่วยุในเรื่องการใช้อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง

ขณะที่นายจอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่ารัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็กังวลถึงความเป็นไปได้และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แถลงมีขึ้นหลังหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์ก ไทม์ส รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า นายทหารระดับบัญชาการในกองทัพรัสเซียมีการหารือเรื่องความเป็นไปได้ รวมถึงเวลาและเป้าหมายที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์แบบจำกัดวง โดยเป็นการหารือที่ไม่มีนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ร่วมวงการสนทนา

ส่วนนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าววิจารณ์ว่า การที่รัสเซียย้อนศรกลับมาร่วมข้อตกลงคุ้มครองการส่งออกข้าวยูเครนทางทะเล แสดงให้เห็นว่าคำขู่ของรัสเซียไม่ก่อให้เกิดผลอะไร


ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ คลองแม่ข่า คนเดินแน่น ลานท่าแพประดับโคมสุดงดงาม

ค่ำคืนนี้เริ่มแล้วประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวตื่นตาอลังการแสงสีจากโคมนับหมื่นดวง ที่ลานประตูท่าแพ ขณะที่คลองแม่ข่า คนแห่เดินชมโคมล้านนาหลากสีและกระทงใหญ่ จนแน่นทั้ง 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ เวลานี้เต็มไป ด้วยความคึกคัก ต้อนรับประเพณีเดือนยี่เป็ง ที่เริ่มขึ้นวันนี้เป็นวันแรก (4-9 พฤศจิกายน) หลายจุดทั่วเมืองเต็มไปด้วยแสงไฟจากโคมล้านนาที่ถูกนำมาประดับตกแต่ง ที่ลานอเนกประสงค์ประตูท่าแพ กลางเมืองเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างพากันออกมาเดินเที่ยวชมและถ่ายภาพกับประติมากรรมโคมไฟ และซุ้มโคมล้านนาที่นำมาตกแต่งบนลาน ภายใต้แนวคิด “แสงศิลป์ประทีปเบิกฟ้า ยี่เป็งเชียงใหม่” เพื่อต้อนรับประเพณียี่เป็งในปีนี้

ขณะที่ บรรยากาศที่คลองแม่ข่า จุดเช็กอินแห่งใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเต็มไปด้วยประชาชนและนักท่องเที่ยวนับพันคนที่ออกมาเดินชมสีสันยามค่ำคืนและถ่ายภาพกับโคมล้านนาหลากสีและกระทงขนาด ใหญ่กลางคลอง ทำให้สองฝั่งคลองคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและชาวเชียงใหม่ด้วยกัน

สำหรับประเพณียี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2565 ภายใต้แนวคิด “ความสุขแห่งสายน้ำ ปิงนครามหานที” โดยในปีนี้จะกลับมาจัดงานเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากต้องงดไปนาน 2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 โดยตลอดสามวันจะมีกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมประเพณี อาทิ การประกวดกระทงฝีมือใบตอง-ดอกไม้สด การประกวดขบวนแห่โคมล้านนา การแสดงประติมากรรมโคมไฟล้านนา การปล่อยกระทงสายล้านนา รวมทั้งการแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ การแสดงม่านน้ำ การประกวด แห่ขบวนโคมล้านนา

ส่วนไฮไลต์คือการประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 19.00 น. ขบวนเริ่มจากบริเวณข่วงประตูท่าแพไปสิ้นสุดที่หน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ มีองค์กรภาครัฐและเอกชน ส่งรถกระทงใหญ่เข้าประกวดจำนวน 15 ขบวน

ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ คาดว่ามีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงตลอดสัปดาห์ยี่เป็งมากกว่า 1.2 แสนคน และคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 800 ล้านบาท


“เมียนมา” เริ่มรับมอบเครื่องบินรบจากรัสเซีย 6 ลำ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ว่า กองทัพเมียนมาเริ่มรับมอบเครื่องบินรบจากประเทศรัสเซียแล้ว ถือเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ล่าสุดที่รัสเซียส่งมอบให้กับกองทัพเมียนมา ขณะที่นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่ารัฐบาลทหารของเมียนมาได้ทำการโจมตีทางอากาศใส่พลเรือน

กองทัพของเมียนมาได้สั่งซื้อเครื่องบินรบ ซุคฮอย ซู-30 จากรัสเซียจำนวน 6 ลำในปี 2018 ซึ่งรัฐบาลเมียนมาในขณะนั้นยังเป็นรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี ตามรายงานของเมียนมา วิทเนส กลุ่มสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวในรัสเซีย โดยอ้างภาพจากดาวเทียม รายงานจากบรรดาผู้สังเกตการบิน และรวมถึงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องดังกล่าวยืนยันว่า ขณะนี้เครื่องบินรบรัสเซียอย่างน้อย 1 ลำอยู่ในกรุงเนปยีดอ เมืองหลวงของเมียนมาแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ทราบว่าเครื่องบินรบลำดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างฝึกซ้อม หรือถูกนำไปใช้บินเพื่อปฏิบัติภารกิจอื่นใด

สำนักข่าวท้องถิ่นของเมียนมาเคยรายงานไปก่อนหน้านี้ว่า เครื่องบินรบ 2 ที่นั่งจำนวน 4 ถึง 6 ลำได้บินมาถึงเมียนมาแล้ว พร้อมด้วยผู้ฝึกสอน และช่างเทคนิคชาวรัสเซีย ด้านกองทัพเมียนมาไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการซื้อเครื่องบินรบดังกล่าว และไม่ได้เผยข้อมูลว่าขณะนี้มีเครื่องบินรบ ซุคฮอย ซู-30 อยู่กี่ลำในประเทศ โดยประเทศรัสเซียถือว่าเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ และผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารของเมียนมา ที่สนับสนุนว่าการรุกรานประเทศยูเครนของกองทัพรัสเซียนั้นเป็นเรื่องชอบด้วยเหตุผล

รัฐบาลทหารเมียนมากำลังพยายามอย่างหนักที่จะจัดการกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างชนกลุ่มน้อย รวมถึงกองกำลังป้องกันประชาชนของเมียนมา หลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางซูจีเมื่อปี 2021 ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการโจมตีทางอากาศใส่คอนเสิร์ตที่จัดโดยชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของเมียนมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 50 คน รวมถึงพลเรือน

นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่ากองทัพเมียนมาทำการโจมตีทางอากาศใส่พลเรือน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมสงคราม แต่รัฐบาลก็ได้ออกมาโต้คำกล่าวอ้างถึงการเสียชีวิตของพลเรือนว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น


“สีจิ้นผิง” เปิดงาน CIIE ครั้งที่ 5 ย้ำเปิดกว้างเพื่ออารยธรรมมนุษย์-ความมั่งคั่งทั่วโลก

4 พ.ย. 65 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 5 ผ่านระบบวิดีโอในวันศุกร์ (4 พ.ย.) ว่าการเปิดกว้างเป็นพลังขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ และเป็นวิถีทางสู่ความมั่งคั่งและการพัฒนาของโลก

สีจิ้นผิง กล่าวว่า โลกวันนี้เผชิญการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยพบในรอบศตวรรษ รวมถึงการฟื้นตัวเชื่องช้าของเศรษฐกิจ เราจึงควรมุ่งมั่นเปิดกว้างเพื่อผจญความท้าทายในการพัฒนา บ่มเพาะการประสานงานเพื่อความร่วมมือ สร้างสภาพแวดล้อมของการรังสรรค์สิ่งใหม่ และส่งมอบประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

ขณะเดียวกันสีจิ้นผิงเรียกร้องความพยายามเดินหน้าการพัฒนาโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขยับขยายพลวัตแห่งการเติบโตของทุกประเทศ และช่วยให้ทุกชาติเข้าถึงผลลัพธ์จากการพัฒนาอย่างเป็นธรรมและดียิ่งขึ้น


“ยูเนสโก” เผยธารน้ำแข็งสำคัญของโลก จะละลายหายไปภายในปี 2050

4 พ.ย. 65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เผยแพร่คำเตือน ว่า ธารน้ำแข็งที่มีชื่อเสียงหลายแห่งของโลก เช่น ธารน้ำแข็ง โดโลไมต์สในอิตาลี ธารน้ำแข็งในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตีและอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในสหรัฐฯ รวมถึง ธารน้ำแข็งบนยอดเขาคิลิมันจาโรในแทนซาเนีย จะละลายหายไป ภายในปี 2050 เนื่องจากภาวะโลกร้อน ธารน้ำแข็งมรดกโลกตามที่ยูเนสโกกำหนดไว้ แสดงถึงสัดส่วนประมาณ 10% ของพื้นที่ธารน้ำแข็งในโลก และรวมไปถึงธารน้ำแข็งที่โด่งดังของโลกบางแห่งด้วย ซึ่งความสูญเสียนั้น สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่อง จากพวกมันเป็นจุดโฟกัสสำหรับการท่องเที่ยวทั่วโลก

นายทาเลส คาร์วัลโญ ผู้เขียนนำของรายงาน บอกกับรอยเตอร์สว่า ธารน้ำแข็งมรดกโลกสูญเสียน้ำแข็งโยโดยเฉลี่ยราว 58,000 ล้านตันทุกปี ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่ฝรั่งเศสและสเปนใช้ต่อปีรวมกัน และมีส่วน ทำให้ระดับน้ำทะเลที่มีการสังเกตการณ์ทั่วโลกสูงขึ้นเกือบ 5%

คาร์วัลโญ กล่าวว่า มาตรการป้องกันที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว ในการป้องกันการลดลงของธารน้ำ แข็งสำคัญทั่วโลก คือ การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมาก

นอกจากนี้ ยูเนสโกยังแนะนำว่า เนื่องจากธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ลดลงมากกว่าเดิมอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ หน่วยงานท้องถิ่นควรกำหนดให้ธารน้ำแข็งเป็นจุดรวมของนโยบาย ด้วยการปรับปรุง การเฝ้าติดตามและการวิจัย ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงของภัยพิบัติ

เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ 2022: เจาะ 9 มลรัฐ ชี้ชะตาสภาสูง

ในการเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 นี้ ชาวอเมริกันใน 34 มลรัฐ จะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กันอีกครั้ง เพื่อชี้ชะตาว่าพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันจะได้เป็นผู้ครอบครองเสียงข้างมากในสภาสูงอีกครึ่งเทอม (2 ปี) ที่เหลือของประธานาธิบดี โจ ไบเดน

ซึ่งในปัจจุบันทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันครองที่นั่งเท่ากันที่ 50 ที่นั่งพอดี นั่นทำให้เดโมแครตครองเสียงข้างมากแบบเฉียดฉิว เพราะรองประธานาธิบดีของพวกเขาอย่าง คามาลา แฮร์ริส จะสามารถตัดสินให้เดโมแครตชนะโหวตได้ (Tie-Breaker) ในกรณีที่คะแนนโหวตออกมาที่ 50 เสียงเท่ากันพอดี

ซึ่งนั่นแปลว่า ในการเลือกตั้งคราวนี้พรรครีพับลิกันมีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นฝ่ายครองอำนาจในวุฒิสภา เพียงแค่พวกเขาพลิกกลับมาแย่งที่นั่งจากเดโมแครตได้สัก 1 มลรัฐ (โดยที่ไม่เสียที่นั่งจากมลรัฐที่พวกเขาถือครองอยู่เดิม) ซึ่งในบทความนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจ 4 มลรัฐที่รีพับลิกันมีโอกาสจะแย่งที่นั่งมาจากเดโมแครต

เนวาดา: ลาซอลต์ vs คอร์เทซ มาสโต

เนวาดาน่าจะเป็นมลรัฐที่พรรครีพับลิกันมีโอกาสพลิกมาเอาชนะ ส.ว. เจ้าของที่นั่งเดิมของเดโมแครตอย่าง แคเทอรีน คอร์เทซ มาสโต มากที่สุด เพราะฐานเสียงของพรรคเดโมแครตในมลรัฐนี้คือชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกในเมืองลาสเวกัส ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเริ่มหันไปเทคะแนนให้กับพรรครีพับลิมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญเนวาดายังเป็นมลรัฐของชนชั้นแรงงาน และมีจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีการศึกษาระดับปริญญา (ซึ่งเป็นฐานเสียงใหม่ของพรรคเดโมแครต) ในระดับที่ต่ำ

ในการเลือกตั้งรอบก่อน คอร์เทซ มาสโต เอาชนะคู่แข่งจากรีพับลิกันไปแค่ 2.4% เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากคะแนนเสียงของเธอในหมู่ชาวฮิสแปนิกตกลงไปเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เธอแพ้คู่แข่งทันที แต่อย่างไรก็ดี คอร์เทซ มาสโต เป็นชาวฮิปแปนิกเอง ทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับฐานเสียงของพรรคในเมืองลาสเวกัสน่าจะดีกว่านักการเมืองของพรรคเดโมแครตคนอื่นๆ นอกจากนี้คอร์เทซ มาสโต ก็พยายามจะชูสิทธิเรื่องการทำแท้งมาเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียง เพราะคู่แข่งของเธออย่าง อดัม ลาซอลต์ นั้นมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องของการต่อต้านสิทธิในการทำแท้งเสรี

โพลจากสำนักต่างๆ ระบุตรงกันว่า เนวาดาน่าจะเป็นสนามเลือกตั้งที่คู่คี่สูสีมากที่สุดในประเทศ เพราะคะแนนของคอร์เทซ มาสโต และลาซอลต์ นั้นใกล้เคียงกันมาก ทั้งคู่ผลัดกันนำผลัดกันตามไม่เกิน 2-3% เรียกได้ว่าเนวาดาเป็นสนามที่ผลออกได้ทั้งสองหน้าอย่างแท้จริง (Toss-Up)

จอร์เจีย: วอล์กเกอร์ vs วอร์นอค

จอร์เจียเป็นอีกหนึ่งมลรัฐที่พรรครีพับลิกันมีโอกาสพลิกมาเอาชนะ ส.ว. เจ้าของที่นั่งเดิมของเดโมแครตอย่าง ราฟาเอล วอร์นอค

แต่เดิมนั้นพรรครีพับลิกันคาดหวังไว้ว่า พวกเขาจะสามารถล้มวอร์นอคได้โดยง่าย เพราะจอร์เจียเป็นมลรัฐทางภาคใต้ที่ยังคงความอนุรักษนิยมอยู่มาก และวอร์นอคก็เอาชนะคู่แข่งจากรีพับลิกันในปี 2021 อย่างฉิวเฉียดเพียงแค่ 2.0% ภายใต้สถานการณ์พิเศษที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง และพูดเป็นนัยๆ ว่าฐานเสียงของพรรคควรบอยคอตการเลือกตั้ง

รีพับลิกันคาดหวังว่า พวกเขาจะพลิกกลับมาชนะวอร์นอคได้โดยง่ายในสถานการณ์ปกติและด้วยคะแนนนิยมที่ตกต่ำของไบเดน แต่อย่างไรก็ดี หนทางของพวกเขากลับยากลำบากกว่าที่คิด เพราะอดีตประธานาธิบ

ดีอย่างทรัมป์ได้ให้การสนับสนุนผู้สมัครที่มีชนักติดหลังอย่าง เฮอร์เชล วอล์กเกอร์ จนชนะการเลือกตั้งขั้นต้นและได้เป็นผู้แทนพรรคมาลงสนามเลือกตั้งทั่วไปกับวอร์นอค

ดูเผินๆ นั้นวอล์กเกอร์ดูเหมือนจะเป็นผู้สมัครในอุดมคติ เพราะเขาเป็นนักอเมริกันฟุตบอลระดับตำนานที่เคยลงเล่นให้กับทีมของมหาวิทยาลัยจอร์เจียและเป็นความภูมิใจของชาวจอร์เจีย แต่อย่างไรก็ดี คะแนนนิยมของเขาก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ ในระหว่างแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเขาถูกจับโกหกในเรื่องประวัติการศึกษา

และประวัติการทำธุรกิจ, ถูกจับโกหกในเรื่องที่เขาเคลมว่าเขาเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นตำรวจ และยังถูกแฉเรื่องส่วนตัวอีกว่าเขามีความสัมพันธ์กับหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาจนมีบุตรนอกสมรสหลายคน

คล้ายกับที่เนวาดา โพลจากสำนักต่างๆ ระบุตรงกันว่าคะแนนของวอล์กเกอร์และวอร์นอคนั้นใกล้เคียงกันมาก โดยที่ค่าเฉลี่ยของวอร์นอคอาจจะนำอยู่สักประมาณ 1-2% ซึ่งก็แปลได้ว่าผลยังออกได้ทั้งสองหน้า โดยที่วอร์นอคอาจมีแต้มต่ออยู่สักครึ่งก้าว (Toss-Up)

อริโซน่า: มาสเตอร์ส vs. เคลลี

อริโซน่าก็เป็นอีกหนึ่งมลรัฐที่พรรครีพับลิกันคาดหวังไว้ว่าพวกเขาจะสามารถล้มเจ้าของเก้าอี้อย่าง มาร์ค เคลลี ได้โดยง่าย เพราะอริโซน่ายังคงเป็นมลรัฐที่มีความอนุรักษนิยม แต่เคลลีมีสถิติการโหวตในสภาให้กับนโยบายของไบเดนเกือบตลอดเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงคาดหวังว่าคะแนนนิยมที่ตกต่ำของไบเดนจะฉุดคะแนน นิยมในตัวของเคลลีลงมาด้วย

แต่อย่างไรก็ดี แคมเปญหาเสียงของรีพับลิกันนั้นไม่ได้ผล เพราะเคลลียังคงคะแนนความนิยมในตัวเขาได้อย่างดี ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองสายกลางผ่านโฆษณาทางโทรทัศน์และการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ทำให้ Approval Rating ของเขาในฐานะ ส.ว. อยู่ในแดนบวกตลอดเวลา

ที่สำคัญผู้สมัครที่รีพับลิกันเลือกมาสู้กับเขาอย่าง เบลค มาสเตอร์ส นั้นมีความคิดเคร่งศาสนาแบบขวาจัดที่ต่อต้านการทำแท้งอย่างเข้มข้น และเขายังเห็นด้วยกับความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาของศาลสูงสุดอย่าง คลาเรนซ์ โทมัส ที่กล่าวว่า ศาลสูงสุดควรจะกลับคำพิพากษาของคดี Griswold v Connecticut ที่การันตีสิทธิในการเข้าถึงยาคุมกำเนิดแก่สตรีทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งความคิดแบบขวาจัดของเขานั้นยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นคนกลางๆ ของเคลลียิ่งเด่นชัดขึ้น

โพลจากสำนักต่างๆ ระบุตรงกันว่า คะแนนของเคลลีนั้นเหนือกว่ามาสเตอร์ส อย่างโพลล่าสุดของมหาวิทยาลัยมาริสก็พบว่า คะแนนของเคลลีนำมาสเตอร์สอยู่ถึง 10% และนี่ก็คงเป็นสนามที่รีพับลิกันมีโอกาสจะชนะในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้วคงยากที่เคลลีจะพลิกล็อกกลับมาพ่ายแพ้ (Likely Democrats)

นิวแฮมป์เชียร์: โบลดัก vs. ฮัสสัน

นิวแฮมป์เชียร์เป็นมลรัฐสีม่วงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายของริพับลิกันที่จะทวงคืนเก้าอี้จากเจ้าของตำแหน่งอย่าง ส.ว. แมกกี ฮัสสัน

ในทางทฤษฎีแล้วนิวแฮมป์เชียร์น่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีของพวกเขา เพราะนิวแฮมป์เชียร์เป็นมลรัฐที่อาจจะโหวตได้ทั้งเดโมแครต และรีพับลิกัน ขึ้นอยู่กับกระแสความนิยมของแต่ละพรรคในขณะนั้น (เลือกตั้งครั้งล่าสุด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตให้ไบเดนเป็นประธานาธิบดี แต่เลือกผู้สมัครของรีพับลิกันให้เป็นผู้ว่าการรัฐ) และฮัสสันเองก็เป็น ส.ว. ที่ค่อนข้างจะ Low Profile ที่ชนะการเลือกตั้งในคราวก่อนอย่างฉิวเฉียดเพียงแค่ 1,000 กว่าเสียงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี พรรครีพับลิกันของนิวแฮมป์เชียร์เลือกผู้สมัครที่มีแนวคิดขวาจัดอย่าง โดนัลด์ โบลดัก มาเป็นผู้แทนพรรค ซึ่งแนวคิดของโบลดักนั้นสุดโต่งกว่ามาสเตอร์สเสียอีก เพราะเขาสนับสนุนกฎหมายการแบนการทำแท้งทั่วประเทศ (หลังอายุครรภ์ 15 สัปดาห์), สนับสนุนการยกเลิกระบบบำนาญ (Social Security) และประกันสุขภาพผู้สูงอายุโดยรัฐ (Medicare) และยังคงกล่าวหาว่าเดโมแครตนั้นโกงการเลือกตั้งในปี 2020 (ซึ่งถูกพิสูจน์มานับครั้งไม่ถ้วนว่าเป็นคำกล่าวหาที่เลื่อนลอยของทรัมป์)

ซึ่งแนวคิดขวาจัดของเขานั้นย่อมไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ที่มีคนมีแนวคิดแบบกลางๆ อยู่เป็นจำนวนมาก โพลจากสำนักต่างๆ ระบุตรงกันว่า คะแนนของฮัสสันเหนือกว่าโบลดักอยู่หลายช่วงตัว โดยที่เธอมีคะแนนนำโดยเฉลี่ยอยู่ที่เกือบๆ 10% และโอกาสที่เธอจะชนะอย่างสบายๆ ก็มีอยู่สูงพอสมควร (Likely Democrats)

ในบทความต่อไป คงจะไปเจาะลึกสนามเลือกตั้ง ส.ว. ในอีก 5 มลรัฐที่เหลือไม่ทัน เพราะ นสพ กว่าจะออกก็น่าจะรูผลการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งน่าจะดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน

ภาพ: Anna Moneymaker / Getty Images