ข่าว
ตะลึง ! ยูเครนพบหลุมศพหมู่กว่า 440 ศพในเมืองที่เคยถูกรัสเซียยึด

เอเอฟพี และ ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำ ยูเครน แถลงเมื่อค่ำ วันพฤหัสบดีที่ 15 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ถึงการค้นพบพื้นที่ฝังศพหมู่ในเมืองอีซยุม ในแคว้นคาร์คิฟ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน หลังกองทัพยูเครนยึดคืนจากกองกำลังรัสเซียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ในเมืองอีซยุม แคว้นคาร์คิฟ ค้นพบการฝังศพหมู่ของประชาชน การดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเริ่มต้นแล้ว ข้อมูลเพิ่มเติมที่มีความชัดเจนและได้รับการตรวจสอบน่าจะพร้อมพรุ่งนี้” นายเซเลนสกีกล่าวหลังประธานาธิบดีเซเลนสกีเพิ่งเยือนเมืองอีซยุมเพื่อเยี่ยมเยียนทหารยูเครนเมื่อวันพุธที่ 14 ก.ย.

“เราต้องการให้โลกรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ และสิ่งที่เกิดจากการยึดครองของรัสเซีย เมืองบูชา เมืองมารีอูโปล และน่าเศร้า เมืองอีซยุม… รัสเซียทิ้งความตายทุกหนทุกแห่งและต้องรับผิดชอบกับสิ่งนี้ โลกต้องทำให้รัสเซียรับผิดชอบอย่างแท้จริงกับสงครามนี้ เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้น” นายเซเลนสกีกล่าวและเสริมว่า ผู้สื่อข่าวยูเครนและผู้สื่อข่าวจากนานาชาติจะเยือนเมืองอีซยุมวันศุกร์นี้เพื่อดูสิ่งที่ยูเครนค้นพบต่อไป

ขณะที่นายอันดรีย์ เยร์มัก หัวหน้าคณะทำงานประธานาธิบดียูเครน โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ กล่าวหารัสเซียก่อฆาตกรรมพร้อมเผยแพร่ภาพถ่ายหลุมฝังศพหมู่ที่อยู่ในพื้นที่ป่าที่ไม้กางเขนปักหลายอัน และระบุว่า เจ้าหน้าที่จะขุดศพทั้งหมดส่งไปตรวจทางนิติเวช คาดว่าข้อมูลจะมีเพิ่มเติมในวันถัดไป

ส่วนนายเซอร์ฮี บอตวีนอฟ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูมิภาค ให้สัมภาษณ์สกายนิวส์ว่า พื้นที่ฝังศพมีผู้เสียชีวิตราว 440 ราย โดยบางรายเสียชีวิตจากการถูกยิงและถูกทิ้งระเบิด แต่ศพหลายรายยังไม่มีการระบุอัตลักษณ์ ดังนั้น สาเหตุการตายจะมีการระบุระหว่างการสอบสวน

นายเซอร์ฮีย์ โบลวินอฟ หัวหน้าตำรวจสืบสวนของแคว้นคาร์คีฟในยูเครน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษว่า ผู้เสียชีวิตบางส่วนตายเพราะถูกกระสุนปืนใหญ่โจมตี และบางส่วนก็ตายจากการถูกโจมตีทางอากาศ ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งเพิ่งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเมืองอิซูมเมื่อวันพุธ กล่าวผ่านคลิปวิดีโอเมื่อคืนวันพฤหัสบดีว่า รัสเซียทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่ยึดครอง และต้องได้รับโทษจากการกระทำดังกล่าว

นายโอเลก โคเทนโก กรรมาธิการกรณีผู้สูญหายในเหตุการณ์พิเศษของยูเครน กล่าวว่า ทหารรัสเซียเป็นผู้ฝังทหารยูเครนในหลุมศพหมู่ที่ตั้งอยู่ในป่า ทหารรัสเซียได้โพสต์วิดีโอที่เป็นภาพป่า และกล่าวว่าพวกเขาได้ฝังศพทหารยูเครน 17 ศพ เขากล่าวว่า ในวิดีโอเราเห็นศพมากกว่านั้น เพียงแต่ยังไม่ได้นับ แต่เขาคิดว่ามีศพอย่างน้อย 25 ศพ

นายโคเทนโกยังระบุว่า ชาวเมืองอิซูมหลายร้อยคนที่เสียชีวิตในระหว่างการเข้ายึดครองของรัสเซียถูกฝังศพไว้ที่นี่ โดยมีการระบุเป็นตัวเลขไว้ที่กางเขนบนหลุมศพ แทนการเขียนชื่อ ด้านชาวเมืองอิซูมยืนยันว่า ร่างผู้เสียชีวิตในระหว่างการยึดครองของรัสเซียถูกฝังไว้ในป่า โดยจะมีการขุดศพขึ้นมาเพื่อตรวจดีเอ็นเอ

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวรอยเตอร์สยังไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องในข้อกล่าวหาของยูเครนได้ ส่วนรัสเซียก็ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหานี้ ผู้สื่อข่าวของเอพีได้เดินทางไปยังหลุมศพหมู่ที่ตั้งอยู่ในป่าเมื่อวันพฤหัสบดี พบป้ายที่ระบุว่ามีศพทหารยูเครน 17 ศพถูกฝังอยู่ ขณะที่โดยรอบคือหลุมฝังศพจำนวนมากที่มีเพียงกางเขนปักอยู่

ก่อนหน้านี้ กองทัพรัสเซียหลายพันคนได้ตัดสินใจถอนกำลังทหารออกจากเมืองอิซูมเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังยึดพื้นที่ดังกล่าวมาใช้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของแคว้นคาร์คีฟ และยังได้ทิ้งอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นๆ ไว้ที่เมืองนี้เป็นจำนวนมาก

ส่อเค้าตึงเครียด คณะผู้แทนรัฐบาลจีนไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมสักการะควีน

16 ก.ย. บีบีซี: สภาสามัญของอังกฤษ เผยว่า คณะผู้แทนรัฐบาลจีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสักการะพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากเหตุที่จีนคว่ำบาตรรัฐมนตรีของอังกฤษ

เซอร์ ลินด์เซย์ ฮอยล์ ประธานสภาสามัญอังกฤษ เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซี ว่า คณะผู้แทนรัฐบาลจีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสักการะพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ แม้จะมีการร้องขอเข้ามา เพื่อตอบโต้กรณีที่ทางการจีนคว่ำบาตรสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ 5 คน และขุนนางอังกฤษอีก 2 คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีน กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ก่อนหน้านี้

เมื่อปีที่แล้ว จีนได้คว่ำบาตรพลเมืองชาวอังกฤษ 9 คน โดยห้ามเดินทางเข้าประเทศจีน และยังถูกอายัดทรัพย์สินในจีนด้วย ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ 7 คน เพราะไม่พอใจที่คนเหล่านี้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ส่งผลทำให้เอกอัครราชทูตจีนประจำสหราชอาณาจักรถูกสั่งแบนไม่ให้เข้ามายังอาคารรัฐสภา และขยายลุกลามมายังคณะผู้แทนจากจีนที่แสดงความประสงค์อยากจะเข้าไปร่วมสักการะพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปด้วย เนื่องจากเวสต์มิน สเตอร์ ฮอลล์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารรัฐสภา ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและจีนยิ่งตึงเครียดมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า รองประธานาธิบดีของจีนจะเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในวันจันทร์นี้ ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ด้วย ทั้งนี้ตามกฎหมายของรัฐสภา ในปี 1965 ควีนเอลิซาเบธ ทรงพระราชทานอนุญาตให้อำนาจในการควบคุมดูแลเวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ ร่วมกันระหว่าง สมุหพระราชวังที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชวงศ์ และประธานสภาสามัญ อย่างไรก็ตามในบทบัญญัติไม่ได้มีการระบุว่าอำนาจในการสั่งห้าม หรือควบคุมการเข้าไปในอาคารรัฐสภานั้น จะรวมไปถึงเมื่อมีการสักการะพระบรมศพภายในสถานที่แห่งนี้ด้วยหรือไม่


สหรัฐฯ เตือนฝีดาษลิงอาจกลายพันธุ์ต้านยารักษา

16 ก.ย. แชนแนลนิวส์เอเชีย : เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ เตือนอย่าใช้ยาต้านฝีดาษลิงมากเกินปริมาณ โดยหากไวรัสกลายพันธุ์เพียงเล็กน้อย ยาต้านไวรัสอาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา

สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ออกคำแนะนำล่าสุดในการใช้ยา Tecovirimat หรือ (TPOXX) ที่ถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษลิงแล้วกว่าหมื่นคน โดยคำแนะนำที่เผยแพร่ทางออนไลน์เกี่ยวกับยารักษาฝีดาษลิง

ล่าสุดเตือนว่า ถ้าโมเลกุลไวรัสฝีดาษลิงมีการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ตัวเดียว ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยา TPOXX ที่ใช้รักษาได้ โดยพบว่าไวรัสมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในการแพร่เชื้อ ซึ่งรวมถึงการดื้อยา โดย FDA ย้ำว่า แพทย์ควรเพิ่มความรอบคอบในการสั่งยา

ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ไม่ควรจ่ายยา TPOXX ให้กับผู้ใหญ่ที่ร่างกายแข็งแรง และมีอาการป่วยไม่รุนแรงแล้ว โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี การดูแลอย่างใกล้ชิดและให้ยาควบคุมความปวดน่าจะเพียงพอสำหรับการรักษาในเวลานี้แล้ว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ หลังจากองค์กรดูแลกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวีและอื่นๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนายโจ ไบเดน และขอให้เร่งดำเนินการให้ยา TPOXX สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างมากขึ้น โดยยาชนิดนี้ได้รับการรับรองให้ใช้กับผู้ป่วยไข้ทรพิษรวมทั้งถูกนำมาประยุกต์ทดลองใช้รักษาโรคฝีดาษลิงภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลกลาง

โดยแพทย์ที่จะสั่งจ่ายยาชนิดนี้จะต้องยื่นคำร้องต่อศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ขณะที่คนไข้จะต้องเซ็นยอมรับที่จะให้ติดตามอาการ และผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยขณะนี้ทางการได้จัดส่งยา 37,000 ชุดให้แก่แพทย์แล้ว


“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3-ควีนคามิลลา” เสด็จเยือนเวลส์ พสกนิกรรับเสด็จเนืองแน่น

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เวลส์ โดยมีพสกนิกรจำนวนมากเฝ้าฯ รับเสด็จ

16 กันยายน 2565 : สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองคาร์ดิฟฟ์ แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปยังเมืองคาร์ดิฟฟ์ เมืองหลวงของแคว้นเวลส์ เมื่อวันศุกร์ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งสุดท้ายของพระราชกรณียกิจเสด็จเยือน 4 แคว้นของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ เริ่มจากอังกฤษ ตามด้วยสกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ

ทั้งนี้ ทั้งสองพระองค์เสด็จไปที่มหาวิหารแลนดาฟฟ์ ในเมืองคาร์ดิฟฟ์ เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศล อุทิศแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยก่อนเริ่มพิธี สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงมีพระราชปฏิสันถารอย่างไม่ถือพระองค์ กับพสกนิกรจำนวนมาก ซึ่งเฝ้าฯ รอรับเสด็จอยู่ด้านนอกมหาวิหาร

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนา ทั้งสองพระองค์เสด็จต่อไปยังสภาในกรุงคาร์ดิฟฟ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาของเวลส์เข้าเฝ้าฯ และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสต่อที่ประชุมด้วย

อนึ่ง ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงดำรงพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเวลส์ หรือมกุฎราชกุมาร เป็นเวลายาวนานถึง 53 ปี ปัจจุบัน เจ้าชายวิลเลียม พระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงสืบทอดพระอิสริยยศดังกล่าว

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS


ปูติน - สี จิ้นผิง เรียกร้องการเปลี่ยนโฉม “ระเบียบโลก”

16 ก.ย. เอเอฟพี : รายงานวันที่สองซึ่งเป็นวันสุดท้ายของของการประชุมสุดยอดขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ที่อุซเบกิสถานเป็นเจ้าภาพว่า ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ระหว่างการพบปะผู้นำ 4 ชาติเอเชียกลาง ได้แก่ อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ตลอดจนผู้นำอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และตุรกี

ประธานาธิบดีสีบอกถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนโฉมระบบระหว่างประเทศและละทิ้งทฤษฎีเกมที่มีผลเพียงชนะและแพ้ (zero-sum games) และการเมืองแบบกลุ่ม และว่าบรรดาผู้นำควรทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระเบียบระหว่างประเทศที่ยุติธรรมและมีเหตุผลมากขึ้น

ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินยกย่องอิทธิพลของนอกตะวันตกที่เพิ่มขึ้น โดยประณามสิ่งที่ปูตินเรียกเป็น “เครื่องมือของลัทธิคุ้มครอง การคว่ำบาตรอย่างผิดกฎหมาย และความเห็นแก่ตัวทางเศรษฐกิจ” และว่า “บทบาทที่เพิ่มขึ้นของศูนย์กลางอำนาจใหม่ที่ร่วมมือกันกำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ”

ในวันเดียวกัน ผู้นำรัสเซียมีกำหนดที่จะพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที แห่งอินเดีย และประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี ซึ่งเป็นแกนนำหลักในข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครนในประเด็นต่างๆ เช่น การขนส่งธัญพืช ขณะที่ประธานาธิบดีแอร์โดอันบอกผู้นำในการประชุมสุดยอดว่า ตนกำลังพยายาม “ยุติความขัดแย้งในยูเครนผ่านการทูตโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ส่วนผู้นำจีนพบปะประธานาธิบดีแอร์โดอัน และเรียกร้องความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันทางการเมืองระหว่างทั้งสองชาติมากขึ้นและผลักดันความร่วมมือมากขึ้นในความริเริ่มการค้าระดับโลกของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และผู้นำจีนเตรียมสนทนาตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกกับนายเอบราฮิม ราซี ประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งพบปะผู้นำรัสเซียไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.ย.

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมนอกรอบของผู้นำจีนและรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดีวันที่ 15 ก.ย. ประธานาธิบดีปูตินยกย่องจีนที่มีจุดยืนสมดุลในสงครามยูเครน แต่ยอมรับว่าจีนมีคำถามและข้อกังวลประเด็นดังกล่าวเช่นกัน

ขณะที่ประธานาธิบดีสีกล่าวว่า จีนจะทำงานร่วมกับรัสเซียเพื่อขยายการสนับสนุนร่วมกันอย่างแข็งขันในประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์หลักของกันและกัน ดำเนินบทบาทนำในการอัดฉีดเสถียรภาพและพลังเชิงบวกสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและความวุ่นวาย

ส่วนนานาชาติส่งเสียงเตือนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างรัสเซียกับจีน

นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนและรัสเซียมีวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับโลกขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับวิสัยทัศน์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบระหว่างประเทศตลอด 80 ปีที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นที่จีนกล่าวถึง “ความกังวล” เกี่ยวกับยูเครนที่ประธานาธิบดีปูตินเอ่ยในการประชุมนอกรอบกับประธานาธิบดีสี นายไพรซ์ระบุเป็นการแสดงว่า รัสเซียไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากจีนในศึกทางทหารของรัสเซีย

ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศของไต้หวันกล่าวว่า ทั้งรัสเซียและจีนสร้างความเสียหายต่อ “สันติภาพ เสถียรภาพ ประชาธิปไตย และเสรีภาพระหว่างประเทศ”


ไฟไหม้ตึกระฟ้าในเมืองฉางชาของจีน

เกิดเหตุไฟไหม้ตึกระฟ้าในเมืองฉางชา ทางตอนกลางของจีน เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

ศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 : สำนักข่าว แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารสูง 42 ชั้น ของบริษัท ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) ในนครฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ส่งผลให้กำแพงภายนอกหลายสิบชั้นถูกเผาไหม้อย่างรุนแรง จนเกิดควันดำหนาทึบพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า

เหตุเพลิงไหม้ทำให้ต้องอพยพผู้คนออกจากอาคาร ท่ามกลางเศษซากอาคารติดไฟที่ตกลงมาเบื้องล่าง ขณะที่สำนักงานดับเพลิงระดมเจ้าหน้าที่กว่า 280 นาย กับรถน้ำอีก 36 คันเข้าระงับเหตุ ซึ่งล่าสุดสามารถดับไฟได้แล้ว โดยไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด

ด้านบริษัท ไชน่า เทเลคอม ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตึก คอมมิวนิเคชั่น ทาวเวอร์ หมายเลข 2 (No. 2 Communications Tower) ของพวกเขา ก่อนเจ้าหน้าที่จะสามารถดับเพลิงได้ในเวลาประมาณ 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ โดยการตรวจสอบในเบื้องต้นของสำนักงานดับเพลิงมณฑลหูหนานพบว่า กำแพงด้านนอกของอาคารถูกไฟไหม้อย่างหนัก แต่ไม่มีการเปิดเผยว่าภายในอาคารเสียหายมากน้อยเพียงใด

เอเอฟพีรายงานว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร 42 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานของไชน่า เทเลคอม บริษัทโทรคมนาคมแห่งประเทศจีน เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ของวันศุกร์ ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ซึ่งระบุว่า มีควันหนาทึบลอยออกมาจากอาคารที่เกิดเหตุ และหลายสิบชั้นถูกไฟไหม้อย่างรุนแรง

หน่วยงานดับเพลิงท้องถิ่นรายงานสถานการณ์ต่อมาผ่านโซเชียลมีเดียว่า “ขณะนี้ เพลิงสงบลงแล้ว และยังไม่พบผู้เสียชีวิต”

ภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นเปลวไฟสีส้มที่ลุกโชนผ่านอาคารที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง พร้อมมีควันดำลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า และผู้คนหลายสิบคนหนีออกจากอาคาร ก่อนที่ภาพต่อๆ มา จะเห็นว่าเปลวไฟได้สงบลงแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงระดมฉีดน้ำพุ่งเข้าใส่ด้านหน้าอาคารที่ไหม้เกรียม

ฉางชา เป็นเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน และมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน อาคารที่เกิดไฟไหม้ดังกล่าวสูง 218 เมตร และสร้างเสร็จในปี 2543

สื่ออังกฤษตีข่าว ‘ปูติน’ ถูกลอบสังหาร-รอดตายหวุดหวิด

สื่ออังกฤษตีแผ่ข่าวลือ “วลาดิมีร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซีย เพิ่งรอดตายหวุดหวิดจากความพยายามลอบสังหาร ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่สงครามยูเครนกำลังร้อนระอุ ขณะที่ภรรยาลับของเขาถูกบังคับให้ “ยุติการตั้งครรภ์” แล้ว

เว็บไซต์เดอะมิเรอร์ของอังกฤษอ้างข้อมูลจากบัญชีเทเลแกรม “General SVR” ซึ่งระบุว่า วันเกิดเหตุรถลิมูซีนที่ผู้นำรัสเซียนั่งมามี “เสียงระเบิด” ดังขึ้นที่ล้อหน้าฝั่งซ้าย และเกิดกลุ่มควันลอยโขมง แต่พนักงานขับรถสามารถขับหนีมาได้โดยที่ ปูติน ไม่ได้รับอันตราย

ความพยายามลอบสังหารนี้เกิดขึ้นในขณะที่ ปูติน กำลังเดินทางกลับไปยังบ้านพักประจำตำแหน่ง โดยผู้นำหมีขาวเลือกนั่งมาในขบวน “รถยนต์สำรอง” เพื่อความปลอดภัย

“ระหว่างทางกลับไปยังบ้านพักซึ่งอยู่ห่างไปอีกไม่กี่กิโลเมตร รถยนต์คันหน้าสุดถูกรถพยาบาลจอดขวาง และคันที่ 2 ได้ขับแซงขึ้นไปโดยไม่หยุด จากนั้นรถยนต์ของ ปูติน (คันที่ 3 ในขบวน) เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นที่ล้อหน้าฝั่งซ้าย พร้อมกับมีควันลอยขึ้นมา” General SVR ระบุ

แม้จะควบคุมรถได้ลำบาก แต่ทีมอารักขาก็สามารถพา ปูติน กลับไปถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่ต่อมาจะมีการพบ “ศพ” ชายนั่งอยู่บนเบาะคนขับรถพยาบาลซึ่งจอดขวางรถคันแรกในขบวนของ ปูติน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายอารักขาถูกจับกุม หรือ “หายสาบสูญ” เป็นจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสข่าวว่าข้อมูลการเดินทางของผู้นำรัสเซียรั่วไหลออกไป

“หลังเหตุการณ์มีเจ้าหน้าที่อารักขาหายสาบสูญไป 3 คน ซึ่งก็คือกลุ่มที่นั่งมาในรถคันแรก ไม่มีใครทราบชะตากรรมของพวกเขา”

บัญชีเทเลแกรมดังกล่าวซึ่งอ้างว่ามี “คนวงใน” คอยติดตามความเคลื่อนไหวภายในทำเนียบเครมลิน ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันสิ่งพวกเขาอ้าง และบอกว่ารายละเอียดของแผลลอบสังหาร “ถูกเก็บเป็นความลับ”

คาบาเอวา วัย 39 ปี ซึ่งลือกันว่ามีบุตรกับผู้นำรัสเซียหลายคน ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อเดือน มิ.ย. ก่อนจะหายหน้าหายตาไปจากสื่อ

“ปลายเดือน ส.ค. ประธานาธิบดียืนกรานให้ อลินา ไปทำแท้ง แม้เธอจะตั้งครรภ์นานกว่า 20 สัปดาห์แล้ว... และหลังทำแท้งยังเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้น ทำให้ คาบาเอวา ไม่สามารถออกงานได้” General SVR อ้าง

สื่อเดอะมิเรอร์ยอมรับว่าไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่าข้อมูลทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน

ปูติน ไม่เคยยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ คาบาเอวา ขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียเคยออกมาปฏิเสธเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง ทว่าแม้แต่คนในรัสเซียเองก็ยังเชื่อว่ามันน่าจะมีมูล

ที่มา : The Mirror