ข่าว
"ยงยุทธ" แถลงลาออกแล้ว ”นิวัฒน์ธำรง”รักษาการแทน

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. มีรายงานข่าวแจ้งว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จะประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในเวลา 13.00 น. วันนี้ แต่ยังไม่กำหนดสถานที่ชัดเจน ซึ่งเจ้าตัวอยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม หลังจากนั้นจะเข้าร่วมพิธีทางศาสนา ในโอกาสประชุมมหาเถรสมาคม ที่วัดสระเกศ ต่อทันที โดยจะมีพิธีสวดมนต์เสริมสิริมงคล ปัดรังควานจากพระชั้นผู้ใหญ่ให้กับนายยงยุทธด้วย

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังแกนนำและทีมกฎหมายคนสำคัญของพรรคเพียงไม่กี่รายและนายยงยุทธ ได้มีการประชุมเป็นเวลานานหลายชั่วโมงล่วงเลยถึงดึกของคืนวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงมีความเห็นว่าควรลาออกไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่ากกต.จะวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติ เพื่อไม่ให้กระทบกับพรรคและรัฐบาล ที่สำคัญคือป้องกันข้อวิพากวิจารณ์และปัญหาที่จะตามมาในอนาคต หากยังปฏิบัติหน้าที่ลงนามแต่งตั้งในระหว่างนี้

โดยรูปแบบให้เป็นการแสดงสปิริตและความเสียสละของนายยงยุทธ ซึ่งการลาออกจะมีผลในวันถัดไป คือ วันที่ 29 ก.ย.55 จากนั้นให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนทั้งสองตำแหน่ง ส่วนนายยงยุทธจะทำหน้าที่หัวหน้าพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยต่อไป

'ปู'ปรับครม.ใหญ่ “จตุพร”เสียบ'มท.3'

"ปู" จ่อปรับ ครม.ใหญ่หลัง "ยงยุทธ" ไขก๊อกรองนายกฯ-มท.1 ยันเต็มใจออกเอง ไม่มีใครกดดัน "บ้านเลขที่ 111-เด็กแม้ว" ตบเท้าร่วมพรึ่บ "ตู่-อภิวันท์" ชิง รมต.โควตาแดง "กิตติรัตน์" พ้นคลัง ดัน "ศุภวัฒน์" เสียบแทน พรรคร่วมขานรับสลับเก้าอี้

หลังจากนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ แถลงลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยแล้ว มีผลวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หลังเกิดปัญหาข้อกฎหมาย กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดให้ไล่ออก หรือปลดออก จากคดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย) มีมติให้ปลดออก แต่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยเห็นว่านายยงยุทธเข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 ทำให้มีผู้นำเรื่องไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้พิจารณาส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ

โดยนายยงยุทธ ได้กล่าวยืนยันว่า "นายกฯ ไม่เคยโทรมากดดัน และไม่เคยโทรมาสั่งให้ลาออก"


ชี้เหตุยงยุทธออกกลัวกระทบรัฐ-นายกฯ

แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นายยงยุทธตัดสินใจลาออกนั้น เนื่องจากผู้ใหญ่ในพรรคได้มีการปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาลและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ หากนายยงยุทธยังทำหน้าที่ต่อไป เนื่องจากในข้อกฎหมายยังไม่ชัดเจนว่านายยงยุทธจะได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 หรือไม่ เพราะยังไม่เคยรับโทษมาก่อน ดังนั้นอาจจะเป็นภาพไม่ดีหากรัฐมนตรีจะต้องไปขึ้นศาลระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่ง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และนายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้เดินทางไปหารือกับพ.ต.ท.ทักษิณที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณไม่ขัดข้องการลาออกของนายยงยุทธ หากจะทำให้การทำงานของรัฐบาลไม่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง นอกจากนี้นายยงยุทธได้ปรึกษา น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องการให้นายยงยุทธลาออกก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่า ห่วงเรื่องภาพรวมว่าอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ เนื่องจากฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องปรับโยกย้ายตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทย ที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ หากดำเนินการไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินภายหลังว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัติจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้น เพื่อความรอบคอบจึงจำเป็นที่นายยงยุทธจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยก่อน ให้เหลือเพียงตำแหน่ง ส.ส.อย่างเดียว ส่วนตำแหน่งรมว.มหาดไทยนั้น สามารถให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รักษาการแทนได้ สำหรับการปรับครม.นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังดูอยู่ หากมีความพร้อมในทุกด้านก็อาจจะปรับ ครม.ทันที


พท.เสียงแตกพรบ.ล้างมลทิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยวันที่ 28 กันยายน มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความเห็นถึงกรณีนายยงยุทธอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 หรือไม่ด้วย ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายแรกเห็นว่า นายยงยุทธอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการล้างมลทิน อาทิ นายจาตุรนต์ ที่มองว่า การที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยสั่งลงโทษนายยงยุทธย้อนหลังไปถึงเดือนกันยายน 2545 นั้น เข้าข่ายพ.ร.บ.ล้างมลทิน เพราะถือว่าได้รับโทษไปแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา มองว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 ตีความได้ 2 ทาง คือ อาจจะต้องรับโทษบางส่วนก่อน หรือไม่ต้องรับโทษมาก่อนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.บ.ล้างมลทินกรณีนายยงยุทธอย่างแน่นอน โดยใช้นายยงยุทธเป็นเหยื่อเพื่อให้รัฐบาลตกที่นั่งลำบาก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเป็นห่วงด้วยว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณีของนายยงยุทธนั้น อาจจะออกมาตรงกันข้ามกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้


"ปู"จ่อปรับใหญ่บ้าน111-เด็กแม้วพรึ่บ

ภายหลังนายยงยุทธยื่นใบลาออกแล้ว ได้เกิดกระแสข่าวการปรับ ครม.ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดขึ้นมาทันที เพราะต้องมีบุคคลมาทำหน้าที่แทนนายยงยุทธ หากนายยงยุทธลาออกจริง เนื่องจากงานของรองนายกฯและรมว.มหาดไทยนั้น ต้องมีบุคคลมารับผิดชอบเต็มตัว เพราะเป็นกระทรวงที่ใหญ่และมีความสำคัญในการบริหารประเทศและงานการเมืองของพรรคเพื่อไทย จึงจำเป็นต้องมีรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ หากจะปล่อยให้มีการรักษาการแทนไปนานๆ จะไม่เหมาะสม

บุคคลที่มีชื่อว่าอาจเข้ารับหน้าที่นี้ เช่น นายโภคิน พลกุล นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายภูมิธรรม เวชยชัย และพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ หรือแม้แต่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต รมช.มหาดไทย ก็ปล่อยข่าวจนคนในพรรครู้กันทั่วแล้วว่า นายเสริมศักดิ์ต้องการตำแหน่งนี้ด้วยเช่นกัน แต่กรณีนี้อาจมีการพิจารณาว่าใครควรจะรับตำแหน่งใด ระหว่างรองนายกฯกับรมว.มหาดไทย อีกทั้งยังมีกระแสข่าวบางด้านแจ้งว่า นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการ รมว.มหาดไทย ก็เป็นคนหนึ่งในแคนดิเดตที่จะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งด้วย

ข่าวระบุว่า การปรับ ครม.ที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป ถือว่าเข้าทาง "นายใหญ่" เพราะก่อนหน้านี้ ช่วงหลังจากปลดล็อกบ้านเลขที่ 111 มีกระแสข่าวว่า “นายใหญ่” ต้องการดึงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย จากนายยงยุทธ เพื่อนำมาให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 แต่ถูกปฏิเสธจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ให้เหตุผลว่า นายยงยุทธเป็นคนที่ช่วยงานนายกฯและพรรคเพื่อไทยมาตลอด ไม่เคยทิ้งพรรค ทั้งนี้ยังคาดว่าจะเป็นการปรับ ครม.ใหญ่ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมหมดแล้ว จะเหลือก็เพียงภายในพรรคเพื่อไทย เชื่อว่างานนี้เกิดฝุ่นตลบอีกครั้งแน่นอน

ขณะเดียวกัน ครม.ชุดนี้ที่ทำงานครบ 1 ปีนั้น ครม.ทุกคนมีสัญญาใจว่าอาจต้องโดนปรับออก รวมทั้งรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานด้วย โดยรัฐมนตรีที่เคยมีกระแสข่าวว่าน่าจะโดนปรับออก เช่น นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งมีปัญหาหลายด้านทั้งในกระทรวงและการประสานงานกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวมทั้งยังเคยตำหนิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผ่านสื่อมวลชนจนเป็นข่าวมาแล้ว นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ที่ไม่มีผลงานเด่นชัด ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคมนั้น ก็อาจจะโดนปรับออก เพื่อไปสมัครผู้ว่าฯ กทม. และยังมีกระแสข่าวว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่อาจต้องโดนสลับออกมา เพื่อให้นายวราเทพ รัตนากร เข้าไปรับตำแหน่งแทน โดยสองคนนี้เป็นโควตาของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า อาจมีการยุบเก้าอี้รัฐมนตรีช่วย 1 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก เนื่องจากมีความขัดแย้งกับคนภายในกระทรวงคมนาคมเรื่องโครงการรถไฟฟ้า โดยขณะนี้ พล.ต.ท.ชัจจ์กำลังวิ่งเต้นจะไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


"ตู่-อภิวันท์"ชิงเก้าอี้รมต.โควตาแดง

ส่วนโควตาของแกนนำ นปช.นั้น มีกระแสข่าวว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อาจย้ายจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไปทำงานกระทรวงอื่นแทน ขณะเดียวกันนายจตุพร พรหมพันธุ์ และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย สองแกนนำ นปช.ที่เคยได้รับสัญญาใจจาก พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะได้ร่วม ครม.แน่นอนนั้น อาจต้องเลือกคนใดคนหนึ่งเข้าร่วม ครม. เพราะหากจะดึงทั้งสองคนเข้ามาพร้อมกัน ต้องใช้โควตากลางของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง ที่มีกระแสข่าวว่า นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ กับนายวีรพงษ์ รามางกูร ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกฯ ไม่ค่อยพอใจแนวทางทำงานและเคยเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณให้เปลี่ยนตัวนายกิตติรัตน์ออก แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เห็นด้วย เพราะยังเชื่อมั่นแนวทางการทำงานของนายกิตติรัตน์มาก แม้ที่ผ่านมานายกิตติรัตน์จะโดนโจมตีอย่างหนักเรื่องโกหกสีขาวก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่นายกิตติรัตน์จะเหลือเก้าอี้รองนายกฯ เพียงตำแหน่งเดียว โดยอาจมีการดึงนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เข้ามาเป็น รมว.คลัง แทน


พรรคร่วมขยับปรับเปลี่ยนรมต.ด้วย

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลนั้น แน่นอนแล้วว่าจะมีส่วนร่วมในการปรับ ครม.โดยพรรคชาติพัฒนาจะเสนอเปลี่ยน ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ออก แต่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคยังหาบุคคลมารับหน้าที่นี้แทนไม่ได้ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่านายเทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชายนายสุวัจน์ อาจร่วม ครม.นั้น ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า นายเทวัญไม่ได้รับโอกาสนี้

ส่วนพรรคพลังชลก็จะสลับนายสนธยา คุณปลื้ม ที่เพิ่งพ้นโทษถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี เข้ามาเป็นรัฐมนตรี แทนนางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนายังไม่ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนตัว รมว.เกษตรและสหกรณ์หรือไม่ เพราะนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯไม่เคยบอกว่าจะขอออกจากตำแหน่งจากปัญหาสุขภาพ แต่ก็มีข่าวลือเสมอๆ ว่า นายธีระจะออกจากตำแหน่งแล้วเปิดทางให้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ เข้ารับตำแหน่งแทน

นายกฯกล่าวสุนทรพจน์วันสุดท้ายที่นิวยอร์ค

ยืนยันการเมืองไทยมีเสถียรภาพและพื้นฐานทางศก.เข็มแข็ง คาดเติบโตทางศก.5.5-6% แวะกรุงโรม ก่อนกลับถึงไทยเช้าวันเสาร์นี้

ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ก.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง และภาคเอกชน ได้เข้าร่วมงานและกล่าวสุนทรพจน์เปิดการสัมมนาในหัวข้อ “The State of the Thai Economy” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและภาวะตลาดทุนไทย โดยนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ยึดมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป ผ่านกระบวนการสร้างปรองดองในประเทศ การสร้างความเข้มแข็งแก่หลักนิติธรรม และการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างเต็มที่ และคงคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5.5 - 6

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีได้พบกับทีมไทยแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำทีมไทยแลนด์ให้บูรณาการการทำงานร่วมกัน และต้องช่วยกันชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องของประเทศไทยต่อสายตาของนานาประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน รวมทั้ง ขอให้กระทรวงการต่างประเทศสื่อสารนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน และด้านต่างประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์

จากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน Executive Luncheon Meeting กับภาคเอกชนไทยและนักลงทุนสหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเข้มแข็ง อัตราคนว่างงานมีน้อยกว่าร้อยละ 1 อีกทั้งไทยมีเงินเฟ้อระดับปานกลาง และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากการเหตุอุทกภัยเมื่อปีที่แล้วและได้เตรียมความพร้อมสำหรับความยากลำบากที่ต้องเผชิญในอนาคต ไทยจำเป็นต้องขยายความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งของภูมิภาค และเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง จึงได้มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ครอบคลุมระบบการบริหารจัดการน้ำ และระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกนำไปลงทุนในโครงการตั้งแต่ ระบบควบคุมน้ำท่วม ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันในพันธสัญญาที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ประชาธิปไตย หลักนิติรัฐและธรรมาภิบาล ตลอดจนการต่อต้านการคอร์รัปชั่น การผลักดันการปฏิรูปกระบวนการทางกฏหมาย และการลดข้อด้อยด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการเสริมสร้างความโปร่งใสและร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของประเทศ

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เข้าหารือกับนายไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ณ New York City Hall ก่อนที่จะกล่าวถ้อยแถลง ช่วงการอภิปรายทั่วไป ของการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ว่าจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้ ต้องส่งเสริมความอดทน อดกลั้น แก้ข้อพิพาทต่างๆ ด้วยแนวทางสันติ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะส่งผลต่อหลักประกันของความเป็นนิติรัฐ และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ด้วยการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ด้วยส่งเสริมค่านิยม และมาตรฐานระดับสากล ผ่านองค์การสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างหลักนิติรัฐ ให้เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่นำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคงของโลก หวังว่าข้อพิพาทต่างๆ ในประชาคมโลก มีทางออกโดยสันติวิธี และไม่ใช้ความรุนแรง

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังสนามบินเจเอฟเค เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะแวะกรุงโรม ประเทศอิตาลี ก่อนเดินทางกลับถึงประเทศไทยในเวลา 09.40 น. ของวันเสาร์ที่ 29 ก.ย นี้ ซึ่งถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจในการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 67 ระหว่างวันที่ 23-29 ก.ย.55