"วันตรุษจีน" ถือเป็นเทศกาลสำคัญของลูกหลานชาวจีนทั่วโลก ปีนี้ตรงกับวันที่ 31 ม.ค.2557 นอกจากการไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ชาวจีนยังมีข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามในวันตรุษจีนที่ยึดถือมายาวนาน โดยความปรารถนาสูงสุดของชาวจีนมีอยู่ 5 ประการคือ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง, ขอให้บุตร หลานเป็นคนดี, ขอให้ มีกิจการงานมั่นคง, ขอให้มีโอกาสสร้าง คุณงามความดี และขอให้จากโลกนี้ไปอย่างสงบสุข
ก็เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ชาวจีนทุกคนจึงให้ความสำคัญกับการประพฤติปฏิบัติตัวในวันตรุษจีน โดยเชื่อว่า วันขึ้นปีใหม่ต้องพูดจาไพเราะ, แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส, รับประทานอาหารที่มีความหมายมงคล และเก็บเงินให้ตุงกระเป๋า เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยเตรียมรับศักราชใหม่
อย่างไรก็ดี เพื่อปัดเป่าสิ่งร้ายๆ ให้ห่าง ไกลจากชีวิต ทำให้มีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับข้อห้ามและสิ่งที่ไม่ควรทำในวันตรุษจีนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ห้ามทำความสะอาดบ้านในวันตรุษจีน เพราะจะกวาดโชคลาภเงินทองออกจากบ้าน, ห้ามกินโจ๊กและเนื้อสัตว์ในมื้อเช้าของวัน ตรุษจีน เพราะโจ๊ก เป็นอาหารคนจนและเทพเจ้าที่เสด็จลงมาในตอนเช้าของวันตรุษจีนเป็นมังสวิรัติไม่ทานเนื้อสัตว์, ห้ามสระผมหรือตัดผมในวันตรุษจีน เพราะเป็นการนำความมั่งคั่งออกจากชีวิต, ห้ามพูดคำหยาบและทะเลาะ เบาะแว้งในวันตรุษจีนจะทำให้อับโชคตลอดทั้งปี, ห้ามซักผ้าในวันตรุษจีน เพราะเป็นการลบหลู่เทพเจ้าแห่งน้ำ, ห้ามใส่ชุดขาว-ดำในวันตรุษจีน เพราะเป็นลางร้าย, ห้ามทำของแตกในวันตรุษจีนเป็นลางไม่ดีบ่งบอก ว่าครอบครัวจะแตกแยก, ห้ามซื้อรองเท้าใหม่ในเดือนที่มีวันตรุษจีน เพราะพ้องเสียงกับการถอนหายใจเป็นลางร้าย และห้ามให้คนยืมเงินวันตรุษจีน เพราะจะโดนยืมเงินไปทั้งปี.
ผบ.ทบ.ชี้รัฐบาลมีอำนาจออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห่วงประเทศแตกแยก ระบุทหารจำเป็นต้องออก หากสถานการณ์แรงจนแก้ไม่ได้ ฉุนพวกใช้ความรุนแรงนอก ก.ม. ลั่นรู้ตัวพวกไหน
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่กองการบินกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กทม. และปริมณฑลว่า ตนคงไม่กล่าวพูดว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น เพราะขณะนี้ได้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วซึ่งเป็นข้อสรุปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)และอำนาจในการประกาศเป็นของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่กฎหมายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) โดยมีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เป็นผอ.ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการใช้กำลัง ส่วนทหาร40 กองร้อย ช่วยดูแลทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไม่ใช่ดูแลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือใครเป็นพิเศษ แต่ไปในฐานะที่ต้องดูแลทรัพย์สินส่วนกลางสถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งดูแล 3 ส่วน คือประชาชนทั่วไปผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้นภารกิจทหารค่อนข้างหนักเพราะต้องดูแลทั้ง 3 ส่วนในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งมากในปัจจุบัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเคยได้เสนอข้อพิจารณาและข้อห่วงใยไปแล้วและคิดว่าผู้ปฏิบัติก็คงต้องระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายเพราะมีระดับของกฎหมายที่สูงขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงคือเมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้วก็ต้องดูว่าเมื่อประกาศใช้แล้วสถานการณ์ลดความรุนแรงหรือไม่ เจ้าหน้าที่ปลอดภัยหรือไม่ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามดูต่อไป ถ้าพูดในสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วตนคิดว่าไม่น่าพูด ต้องมาดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น จะดีขึ้นหรือเลวลงแต่อย่างไรก็ตามคิดว่าวัตถุประสงค์หลักของเจ้าหน้าที่คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกส่วนเกิดความปลอดภัยรวมถึงผู้ชุมนุม เพราะบอกแล้วว่าต้องดูทุกส่วน เราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร
ผบ.ทบ. กล่าวอีกว่า วันนี้ที่น่าเป็นห่วงคือความแตกแยกของคนในสังคมและคนในครอบครัวที่มีมากขึ้นในฐานะที่เป็นทหารของชาติและประชาชนมีความเป็นห่วงว่าจะอยู่อย่างไรต่อไป ถ้าไม่ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นสังคมครอบครัว หรือในทุกหมู่เหล่า ดังนั้นต้องมีคนออกมาเตือนให้ทุกส่วนลดระดับความรุนแรงและความเกลียดชังลง ตนเป็นห่วงว่าไม่ว่าสถานการณ์จะจบอย่างไรก็ตาม แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรถ้าคนในครอบครัวยังขัดแย้งกัน และคนในสังคมยังขัดแย้งกัน ถึงจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไรก็ตาม ก็เป็นอันตรายทั้งสิ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตนได้กำชับกำลังพลที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่เสมอถ้าไปทำหน้าที่ในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เราก็จะไม่ได้รับความเกลียดชังและไม่เกิดปัญหาในอนาคต ทหารมีบทเรียนมากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราก็ต้องใช้บทเรียนเหล่านั้นมาดำเนินการ อย่าไปมองในแง่ว่าทหารกลัว หรืออยู่ข้างไหนเพราะเป็นเรื่องของการกำหนดบทบาทตัวเองให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ก็ทำงานแบบไม่สบายใจและไม่สะดวกถ้าทุกคนเห็นต่างกันแล้วออกไปทำงาน ตนคิดว่าอันตรายเพราะเป็นผู้ที่ต้องไปสัมผัสกับประชาชนและต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งกองทัพบกในฐานะที่เป็นส่วนสนับสนุนจะกำชับกำลังพลทุกส่วนที่ไปทำงานว่าจะต้องทำงานอย่างไรให้มีความชัดเจนมากขึ้นคิดว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทหารว่าเราไปเพราะความห่วงใย ไม่ใช่ไปเพราะคำสั่งหรือกฎหมาย กำลังพลทุกคนพกพาจิตใจที่งดงามออกไปด้วย และตนได้ให้นโยบายไปแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเจ้าหน้าที่ และสถานที่ปลอดภัย ไม่เกิดปัญหาความเสียหาย และอย่าไปสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น
ผบ.ทบ. กล่าวอีกว่า ในการชุมนุมต้องมีการทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่คงต้องไปลดระดับในหลายส่วนให้ได้ไปตรวจค้นจับกุม แต่ทหารไม่ได้มีกฎหมายในส่วนนี้จึงต้องให้ตำรวจดำเนินการเมื่อไรก็ตามที่มีข้อขัดแย้งและเหตุการณ์เกิดขึ้น ขอความร่วมมือให้ตำรวจได้เข้าไปทำงานตรวจสอบหลักฐานเพื่อให้ได้ความชัดเจนมิเช่นนั้นจะถูกสงสัย พาดพิง หรือนำไปสู่การกล่าวให้ร้ายกันในโซเชียลมีเดีย
“ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงผมไม่ไปก้าวล่วงอำนาจของใคร หรือให้ร้ายใคร แต่สิ่งที่เป็นความขัดแย้งในปัจจุบันน่าจะมีทางออกไม่ใช่ว่าจะต้องฆ่าฟันกัน ทำร้ายกัน เพราะอย่าลืมว่าทุกคนคือคนไทยด้วยกัน ถ้าคนไทยฆ่ากันเองแล้วเราจะเรียกว่าคนไทยได้อย่างไรทั้งหมดคือคนไทย เราต้องหยุดความขัดแย้งให้ได้เพื่อนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า เราจะเห็นต่างอย่างไรก็ตามต้องหาทางออกกันให้เจอถ้ายังคงต้องไล่ล่าฆ่าฟัน บังคับใช้กฎหมายต่อกัน คงไม่ได้ ต้องนำความขัดแย้งมาพูดคุยกันได้ผมสนับสนุนเรื่องการพูดคุย เมื่อไม่มีใครยอมต้องหาทางกันให้เจอ ซึ่งผมไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนเพราะผมไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นความขัดแย้งและสร้างปัญหาแต่ทหารจะทำหน้าที่ของทหารให้ดีที่สุดเมื่อไรก็ตามที่ความขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดที่แก้ไขอะไรไม่ได้ ทหารก็จำเป็นจะต้องแก้ไข เราจะดูแลประเทศชาติให้ดีที่สุดตามวิธีการที่ถูกต้อง คิดว่าพวกเราทุกคนคงไม่ก้าวไปสู่ความรุนแรงที่แก้ไขไม่ได้เพราะจะทำให้สถานการณ์เลวลงไปเรื่อยๆ ขอเตือนทุกภาคส่วนว่า อย่าให้เกิดขึ้น”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า กลุ่มคนที่ใช้อาวุธ ความรุนแรงและใช้ระเบิดนั้น คนเหล่านี้ไม่น่าจะใช่คนที่เกิดมาบนแผ่นดินนี้ตนไม่รู้ว่าคนเหล่านี้หัวใจทำด้วยอะไร ฆ่าคนไทยด้วยกันสร้างความรุนแรงเพื่อหวังผลอะไรสักอย่าง ซึ่งคงไม่เกิดอย่างที่เขาต้องการได้ แต่ทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้นไปทุกวันสังคมต้องช่วยกันนำคนเหล่านี้ออกมาลงโทษให้ได้ มีหลายกลุ่มที่ชอบออกมาเคลื่อนไหว กดดันเจ้าหน้าที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนกลุ่ม กปปส.ที่ออกมาก็ผิด ทำในความเชื่อที่มีเหตุผลของเขาแต่อีกกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย ที่ตนประนามคนเหล่านี้อยู่ และตนพอรู้อยู่บ้างว่าเป็นคนกลุ่มไหน ขอเตือนอีกครั้งว่าอย่าทำอีก เรากำลังติดตามหาหลักฐาน หาข้อมูลเพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายซึ่งจะมีหลายกลุ่มด้วยกันที่พูดจารุนแรงตามสถานีวิทยุต่างๆที่ออกมาข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐ เอาพวกออกมาหวังต้องการให้กระทบกระทั่งกับประชาชนถือว่าเป็นกระทำนอกกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องของรัฐที่ต้องดำเนินการ
ผบ.ทบ. กล่าวอีกว่า จะเห็นว่าทหารพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ใช้ความรุนแรงพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ประเทศไทยจะรบกันทั้งประเทศเลยหรือเมื่อถึงเวลานั้นใครจะแก้ปัญหาก็ไปคิดเอา ถ้าประชาชนไม่ใช่คนแก้ก็ไม่รู้ว่าใครจะแก้เราต้องหาทางออกกันให้ได้ท่ามกลางความขัดแย้ง และอย่าให้ใครเข้ามาจัดระเบียบในประเทศเราถ้าคนอื่นมาจัดการประเทศมีแต่จะเสียหาย เพราะไม่ใช่บ้านเมืองของเขา อย่าไปคิดว่าจะต้องหาคนมายุติเหตุการณ์ในประเทศเราโดยคนอื่นปัญหาเกิดขึ้นจากคนไทยก็ต้องแก้ด้วยคนไทยให้ได้.
ศาลรธน.มติเอกฉันท์ ให้เลื่อนเลือกตั้งได้ ส่วนอำนาจเลื่อนเลือกตั้ง มีมติ 7 ต่อ 1 ให้ "นายกฯ-ปธ กกต." รับผิดชอบร่วมกัน
เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 24 ม.ค. ภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา214ที่ ขอให้วินิจฉัยว่า การกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่สามารถทำได้หรือไม่ และอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ เป็นอำนาจขององค์กรใด ภายหลังการพิจารณานานกว่า7ชั่วโมง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าว ระบุว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร สามารถกำหนดขึ้นใหม่ได้ เนื่องจากเห็นว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา108วรรค สอง ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่า จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ไม่ได้เลย เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นขัดขวางทำให้การจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดเดิม ไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญได้ หรืออาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ความมั่นคงแห่งรัฐ หรือภัยพิบัติสาธารณะอันสำคัญ ก็สามารถกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ จากที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้ตามสภาพการณ์แห่งความจำเป็น เหมือนกรณีเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประเทศไทย เมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญ2540ซึ่งวันเลือกตั้งทั่วไป ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549เป็นวันที่2เม.ย.49ต้องถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป พ.ศ.2549ที่ได้กำหนดให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่เป็นวันที่15ต.ค.49หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยชี้ขาดให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่2เม.ย.49ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากดำเนินการไปไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา235บัญญัติ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และวรรคสองบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบ ด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556มาตรา5ก็บัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อให้บุคคลทั้งสอง เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่จากวันเลือกตั้งทั่วไปเดิม ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายจะต้องร่วมกันดำเนินการ เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะและความเสียหายร้ายแรงมิให้เกิดแก่ประเทศชาติหรือประชาชนด้วยความสุจริตและถือประโยชน์ของประเทศชาติและสันติสุขของประชาชนเป็นสำคัญ หากมีเหตุที่จะนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติหรือประชาชนอันเนื่อง มาจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไป คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ชอบที่จะต้องแจ้งให้กับนายกรัฐมนตรีหรือคณะ รัฐมนตรีทราบ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ ตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้ แทนราษฎร ที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ”
นาย เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การวินิจฉัยเป็นการพิจารณาตามคำร้องว่า สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ และอำนาจเป็นขององค์กรใด ซึ่งคำวินิจฉัยนี้เป็นแนวทางในวิธีปฏิบัติและเป็นคำวินิจฉัยกว้างๆ ซึ่งสุดท้ายก็แล้วแต่2องค์กร ที่ปรากฎตามคำร้องจะนำคำวินิจฉัยไปปฏิบัติตามหรือไม่ ส่วนรัฐบาลจะไม่มาหารือกับ กกต. หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะคำวินิจฉัยไม่ได้เป็นการไปออกคำสั่ง
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ มีตุลาการฯ เข้าประชุมเพียง8คน ขาดนายชัช ชลวร เนื่องจากลาประชุม โดยการพิจารณาในประเด็นที่2มติเสียงข้างมากดังกล่าว7ต่อ1โดย1เสียง ข้างน้อย คือนายนุรักษ์ มาประณีต เห็นว่า เป็นอำนาจเต็มของ กกต. ที่จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเชื่อว่าการพิจารณากำหนดวัน เลือกตั้งใหม่ ของนายกรัฐมตรีและประธานกกต.ที่จะต้องมีการหารือกันนั้น น่าจะยึดแนวทางเหมือนปี 2549 โดยอาจจะต้องมีการประชุมหารือกับทุกพรรคการเมือง และวันเลือกตั้งใหม่ที่จะกำหนดขึ้นนั้นก็น่าจะอยู่ในกรอบระยะเวลา 180 วัน นับแต่มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012