ข่าว
ฟิลิปปินส์ อ่วมน้ำท่วม-ดินถล่ม ดับเกือบครึ่งร้อย ขณะที่พายุ “นัลแก” ใกล้ขึ้นฝั่ง

28 ต.ค.: รอยเตอร์ รายงานว่า ฝนตกหนักจากพายุโซนร้อน “นัลแก” ที่กำลังเคลื่อนเข้า ฟิลิปปินส์ ส่งผลให้น้ำท่วมและดินถล่ม ในจังหวัดมากินดาเนา ทางใต้ของฟิลิปปินส์ ขณะที่หน่วยกู้ภัยพบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 42 ราย ที่จมน้ำท่วมและโคลนถล่ม

นายนากิบ ซินาริมโบ รัฐมนตรีกิจการภายในแห่งเขตปกครองตนเองบังซาโมโรบนเกาะมินดาเนา (BARMM) ระบุว่า หน่วยกู้ภัยยุติปฏิบัติการค้นหากลางดึกและจะเริ่มค้นหาในเช้าวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. และมีความกังวลว่า ประชาชนอีกหลายยังจมใต้โคลนและจนน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองดาตู โอดิน

“จากการประเมินภาคพื้นดิน หลายคนถูกฝังที่นั่น ตัวเลขอาจถึง 80 คน แต่เราหวังว่าตัวเลขจะไม่ถึงวันนั้น” นายซินาริมโบกล่าวทางโทรศัพท์ และว่า ปริมาณน้ำฝนมากกว่าที่ประชาชนคาดการณ์ แม้จะะเตรียมการแล้ว

นอกจากจังหวัดมากินดาเนา ในจังหวัดซุลตันคูดารัต บนเกาะมินดาเนาเช่นกัน หน่วยกู้ภัยใช้เรือยางรับผู้อยู่อาศัยที่ติดน้ำท่วมลึกถึงหน้าอก

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อพยพประชาชนหลายพันคนออกจากเส้นทางพายุนัลแกที่อาจขึ้นฝั่งคืนนี้ในจังหวัดซามาร์ ตอนกลางของประเทศ

ทั้งนี้ พายุโซนร้อนนัลแกที่มีความเร็วลม 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เที่ยวบินต้องถูกยกเลิก เช่นเดียวกับหลายพันคนที่กำลังวางแผนเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อฉลองวันออลโซลส์เดย์ (All Souls’ Day) โรงเรียนต่างปิดตัว และท่าเรือบางแห่งเป็นอัมพาต

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ระบุว่า พายุอาจรุนแรงขึ้นอีกขณะเคลื่อนตัวเหนือทะเลฟิลิปปินส์

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ประชุมพิเศษหารือวิกฤติเมียนมา หนุนฉันทามติ 5 ข้อ

ที่ประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียนเปิดหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมา โดยไม่มีผู้แทนเมียนมาเข้าร่วม เห็นชอบการยึดมั่นต่อการสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อเพื่อหาทางแก้วิกฤติความรุนแรง

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ที่กรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้เปิดการประชุมนัดพิเศษ หารือแนวทางผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมา ก่อนจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนหน้า ท่ามกลางสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา หลังจากเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพเมียนมา เปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มพื้นที่รัฐคะฉิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 80 ศพ ซึ่งนับเป็นความรุนแรงครั้งล่าสุดนับตั้งแต่เกิดกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาครึ่งวัน ซึ่งทางการเมียนมาไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมโต๊ะหารือ โดยกัมพูชาในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมาวิกฤติและมีความเปราะบาง ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนจากชาติสมาชิกอาเซียนเห็นชอบว่า อาเซียนควรมุ่งมั่นมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างสันติในเมียนมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก่อนการประชุมเพียง 1 วัน ทางการกัมพูชา ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อการยกระดับการใช้ความรุนแรงในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้เมียนมายับยั้งชั่งใจ และประกาศหยุดยิงทันที รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจากันขึ้นก่อนจะถึงการประชุมประจำปีของบรรดาผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งปกติแล้วที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนมีธรรมเนียมในการดำเนินบทบาทไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพ และหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนประสิทธิภาพขององค์กรในการจัดการกับวิกฤติการเมืองและภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว สมาชิกอาเซียนเห็นชอบฉันทามติ 5 ข้อในการหาทางออกจากวิกฤติความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยข้อเรียกร้องให้เมียนมายุติความรุนแรงโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ พร้อมผลักดันการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกอย่างสันติ นอกจากนี้ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน และอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ ขณะเดียวกันทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


“อีลอน มัสก์” ปิดดีลทวิตเตอร์ 44,000 ล้านดอลลาร์-สั่งปลดฟ้าผ่าซีอีโอ

28 ตุลาคม : รอยเตอร์: “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ปิดดีลซื้อกิจการทวิตเตอร์ มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า มัสก์ได้ประกาศปลดผู้บริหารระดับสูง 4 คนทันที ประกอบด้วยนายปารัก อักราวัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ของทวิตเตอร์, เน็ด เซกัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน, วิจายา แกดด์ ผู้บริหารด้านกฎหมายและนโยบาย และ ชอน เอ็ดเจ็ตต์ ที่ปรึกษาทั่วไป

รายงานข่าวระบุว่า นายอักราวัล และเซกัลอยู่ในสำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์ที่นครซานฟรานซิสโก ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ในขณะที่มีการปิดดีลซื้อกิจการทวิตเตอร์ โดยทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนำตัวออกจากบริษัทในเวลาต่อมา

การปลดผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์มีขึ้นในขณะที่มีรายงานว่า มัสก์ได้วางแผนปลดพนักงานทวิตเตอร์เกือบร้อยละ 75 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์ แต่มัสก์ได้ออกมาปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยระบุว่า เขาจะไม่ปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมากเช่นนั้น

นอกจากนี้ ข่าวปลดผู้บริหารระดับสูงยังมีขึ้นเพียง 1 วันก่อนกำหนดเส้นตายที่ศาลสหรัฐฯ สั่งให้มัสก์เสร็จสิ้นกระบวนการซื้อกิจการทวิตเตอร์ในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้มัสก์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด ในโลก เข้าไปมีอำนาจควบคุมทวิตเตอร์ที่มีบัญชีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 230 ล้านคน

เมื่อวานนี้ มัสก์โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ในคลิปวิดีโอที่เขากำลังเดินอยู่ที่ล็อบบี้ของทวิตเตอร์ พร้อมอุ้มอ่างล้างหน้าขนาดใหญ่ว่า เขากำลังเข้าไปที่สำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์ในเมืองซานฟรานซิสโก และเอาอ่างล้างหน้าเข้าไปด้วย นอกจากนี้ มัสก์ยังเปลี่ยนข้อความหน้าบัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ของเขาเป็น “หัวหน้าของทวิตเตอร์” (Chief Twit) และเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งเป็น “สำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์” (Twitter headquarters)

ต่อมา เมื่อวานนี้ มัสก์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ในทวิตเตอร์ โดยระบุถึง “ผู้โฆษณาของทวิตเตอร์”ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “เหตุผลที่ผมซื้อทวิตเตอร์ก็เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่มนุษยชาติในอนาคตจะต้องมีพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนยุคดิจิทัลได้มาถกหารือความเห็นที่แตกต่างได้อย่างปลอดภัย โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง”

มัสก์บอกอีกว่า ทุกวันนี้ สื่อสังคมออนไลน์เสี่ยงที่จะถูกแบ่งออกเป็น “เอคโคแชมเบอร์” (echo chamber) ระหว่างฝ่ายซ้ายจัดกับขวาจัดมากเกินไป ขณะที่สื่อดั้งเดิมก็เติมเชื้อไฟความขัดแย้งเหล่านี้เพราะทำเงินได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องซื้อทวิตเตอร์ พร้อมกล่าวว่า “ผมทำมันเพื่อพยายามกอบกู้มนุษยชาติที่ผมรัก”

ส่วนการซื้อขายหุ้นของทวิตเตอร์ เมื่อวานนี้ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ราคาหุ้นของทวิตเตอร์ปิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ที่ 53.86 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือต่ำกว่าราคาตามข้อตกลงที่ 54.20 ดอลลาร์เพียงเล็กน้อย ขณะที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ระบุว่าหุ้นของทวิตเตอร์จะถูกสั่งพักการซื้อขายชั่วคราวในวันนี้


‘ปูติน’ ลั่น ไม่เคยขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ แค่โต้โดน ‘แบล๊กเมล์’ ‘ไบเดน’ สวน ไม่คิดใช้แล้วพูดทำไม !

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวโจมตีบรรดาชาติตะวันตกอย่างหนักในงานประชุมประจำปีของ Valdai Discussion Club ในช่วงถาม-ตอบที่กินเวลาราว 3 ชั่วโมงครึ่งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมในกรุงมอสโก ซึ่งเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนนานที่สุดนับตั้งแต่ทำสงครามรุกรานยูเครน และยังแสดงท่าทีว่าเขาไม่มีความเสียใจใดๆ ในการทำสงครามยูเครน ทั้งยืนยันว่ากองทัพรัสเซียกำลังดำเนินไปตามแผน และรัสเซียไม่สนใจที่จะดวลอาวุธนิวเคลียร์กับชาติตะวันตก นอกจากนี้ยังให้ความเห็นว่าอิทธิพลของชาติตะวันตกที่มีต่อกิจการโลกใกล้สิ้นสุดลงแล้ว

ปูตินกล่าวหาว่าชาติตะวันตกเป็นผู้ปลุกระดมสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และยังโจมตีชาติตะวันตกว่ากำลังเล่นเกมที่อันตราย นองเลือด และน่ารังเกียจที่สร้างความวุ่นวายไปทั่วโลก อีกทั้งชาติตะวันตกจะต้องมาพูดคุยกับรัสเซียและชาติมหาอำนาจอื่นๆ เกี่ยวกับอนาคตของโลกนี้

“เรากำลังยืนอยู่ในพรมแดนอันเป็นประวัติศาสตร์ อนาคตข้างหน้าของเราอาจเป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด และคาดเดาได้ยากที่สุดในเวลาเดียวกัน นี่คือทศวรรษที่มีความสำคัญมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2” ปูตินกล่าว

เมื่อถูกถามว่าเขามีความผิดหวังใดๆ บ้างหรือไม่สำหรับปีที่ผ่านมา ปูตินตอบว่า ตนไม่มีความผิดหวัง เสียใจใดๆ แต่ยังคงนึกถึงชาวรัสเซียที่เสียชีวิตจากสงครามยูเครนอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี ปูตินไม่ได้กล่าวถึงการที่กองทัพรัสเซียต้องถอยทัพออกจากหลายพื้นที่ของยูเครนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และเมื่อถูกถามว่าการดำเนินการทางทหารของกองทัพรัสเซียยังคงเป็นไปตามแผนหรือไม่ นายปูตินตอบคำถามดังกล่าวว่า เป้าหมายของกองทัพรัสเซียไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด นั่นก็คือการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนในภูมิภาคดอนบาส ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งรวมไปถึง 2 จาก 4 แคว้นที่รัสเซียจัดประชามติแยกตัวออกจากยูเครน ซึ่งในครั้งนั้น 4 แคว้นที่ทำประชามติแยกตัวออกจากยูเครนเพื่อผนวกกับรัสเซีย ประกอบไปด้วย แคว้นลูฮานสค์ โดเนตสค์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย

ต่อกรณีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ปูตินปฏิเสธการดวลอาวุธนิวเคลียร์กับชาติตะวันตก โดยยืนยันว่ารัสเซียไม่ได้ขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพียงแต่ตอบโต้กับการ “แบล๊กเมล์ทางนิวเคลียร์” จากบรรดาผู้นำชาติตะวันตกเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ ปูตินและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียออกมาประกาศย้ำเมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนว่า รัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องความเป็นเอกภาพในดินแดนของรัสเซีย ซึ่งบรรดาชาติตะวันตกตีความคำกล่าวในครั้งนั้นว่า อาจมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องแคว้นที่รัสเซียจัดทำประชามติแยกตัวจากยูเครนเพื่อผนวกเข้ากับรัสเซีย โดยหลายชาติได้ออกมาประณามการแยกตัวดังกล่าวและประกาศว่าการทำประชามตินั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ยิ่งไปกว่านั้น ปูตินยังได้ย้ำถึงข้อกล่าวหาของรัสเซียที่ว่ายูเครนเตรียมที่จะใช้ระเบิดกัมมันตรังสี หรือ Dirty Bomb ซึ่งบรรดาชาติตะวันตกอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวของรัสเซียแล้ว ขณะที่ปูตินปฏิเสธการใช้ระเบิดกัมมันตรังสีว่า “รัสเซียไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น ไม่มีเหตุใดเลยที่ต้องทำ”

ล่าสุด นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาให้ความเห็นถึงคำกล่าวของนายปูตินเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ว่า หากรัสเซียไม่มีความคิดที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทำไมนายปูตินไม่หยุดพูดถึงอาวุธนิวเคลียร์ ทำไมถึงยังคงพูดถึงความสามารถในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนายปูตินมีความอันตรายมากในเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์


สหรัฐฯ ยังอ่วม “ฝีดาษลิง” ป่วยสะสมทะลุ 28,000 คน-ทั่วโลกกระฉูดเกิน 76,000 ราย

28 ต.ค.: ซินหัว รายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ระบุว่าผู้ป่วย โรคฝีดาษลิง สะสมทั่วประเทศเพิ่มเป็นกว่า 28,240 คน โดยรัฐแคลิฟอร์เนียตรวจพบผู้ป่วยมากสุดอย่างน้อย 5,372 คน ตามด้วยรัฐนิวยอร์ก 4,082 คน และรัฐฟลอริดา 2,697 คน

ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงในสหรัฐฯ มีอย่างน้อย 6 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ 2 ราย ในรัฐนิวยอร์ก 2 ราย รัฐเนวาดา 1 ราย และรัฐแมรีแลนด์อีก 1 ราย

รายงานระบุอีกว่า การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงนั้นไม่ค่อยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และผู้ป่วยส่วนใหญ่หายได้เองภายในระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตราวร้อยละ 3-6 แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีแนวโน้มว่าจะป่วยรุนแรงมากกว่าเมื่อได้รับเชื้อฝีดาษลิง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ทั่วโลกมีผู้ป่วยฝีดาษิงสะสมอย่างน้อย 76,713 คน ใน 116 ประเทศหรือเขตการปกครอง ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 166 ราย

“อียู” ผ่านข้อตกลง เลิกใช้รถเครื่องยนต์สันดาป ภายในปี 2035

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) มีมติเห็นชอบผ่านข้อตกลงด้านกฎหมายที่จะกำหนดให้ยุติการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งก่อภาวะโลกร้อนภายในปี 2035

ปาสคาล ก็องแฟง สมาชิกรัฐสภายุโรป และหัวหน้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของรัฐสภายุโรป กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของอียูในด้านสภาพภูมิอากาศ ที่ยืนยันเป้าหมายของภูมิภาคในการใช้รถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2035 ในช่วงเวลาดำเนินการระหว่างปี 2025 และ 2030

ข้อตกลงดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเสนอฉบับหนึ่งโดยคณะบริหารของอียูเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2021 ที่เรียกร้องให้อียูลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกลุ่มรถยนต์ใหม่ในยุโรปให้เป็นศูนย์ภายในปี 2035 ซึ่งหมายความว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้เกิดการระงับการขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง รถยนต์ เชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก และรถยนต์ไฮบริดในทางพฤตินัยในอียู และหนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในระยะเวลานั้น

ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ชื่นชมข้อตกลงดังกล่าวว่า เป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศปี 2030 ของอียู

ทั้งนี้ จะมีข้อยกเว้นให้กับผู้ผลิตของตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือบริษัทที่ผลิตรถยนต์น้อยกว่า 10,000 คันต่อปี อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปได้จนถึงปลายปี 2035 ส่งผลให้มีข้อวิจารณ์ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็น “การแก้ไขกฎหมายเฟอร์รารี” เนื่องจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรูโดยเฉพาะ