ข่าว
โวย‘อิสราเอล’ โจมตีด้วย‘อาวุธต้องห้าม’พ่วงตัดเสบียงทำพลเรือนอดอยาก

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 Syrian Arab News Agency สำนักข่าวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซีเรีย เสนอข่าว Palestinian Foreign Ministry: The occupation commits genocide against the Palestinians, uses internationally banned weapons อ้างการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ ว่า ในการโจมตีพื้นที่ฉนวนกาซาโดยกองทัพอิสราเอล เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่บุกโจมตีอิสราเอล ฝ่ายอิสราเอลได้ตัดการขนส่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพเข้าไปในฉนวนกาซาจนส่งผลกระทบต่อพลเรือน รวมถึงยังใช้อาวุธที่ถูกห้ามใช้ตามหลักสากล

กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 ต.ค.2566 ระบุว่า กองทัพอิสราเอลมีการใช้ระเบิดฟอสฟอรัส ระบิดลูกปราย และอาวุธอื่นๆ โจมตีพื้นที่ฉนวนกาซา ทำให้ถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,055 ราย และบาดเจ็บ 5,184 ราย และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากบ้านอาคารและสาธารณูปโภคจำนวนมากถูกได้รับความเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

"อาชญากรรมของการฆ่า การทำลายล้าง และการพลัดถิ่น หมายความว่า การยึดครองดังกล่าวกำลังก่ออาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ท่ามกลางการรณรงค์อดอยากอย่างบ้าคลั่ง และการตัดเสบียงและความต้องการขั้นพื้นฐานของไฟฟ้า น้ำ ยา เชื้อเพลิง และอื่นๆ จากพลเรือนที่ไม่มีที่พึ่ง ในรูปแบบการลงโทษโดยรวมที่น่าเกลียดที่สุด" กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ กล่าวในแถลงการณ์

'เศรษฐา'เร่งประสานสายการบินเอกชน เร่งอพยพคนไทยกว่า 5 พันคน ชี้สถานการณ์เลวร้าย

12 ต.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ประเทศมาเลเซียถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล ว่า ล่าสุดเวลา 3 ทุ่ม ตามเวลาท้องถิ่น นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และนางสาวพรรณภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ หลังคนไทยในอิสราเอล และพื้นที่ใกล้เคียง ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยกว่า 5,000 คน ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์แย่ลง และเลวร้ายลงไป มีจรวดยิงกันตลอดเวลา

ทั้งนี้เครื่องบินของไทยที่จะออกในวันพรุ่งนี้ สำหรับคนไทย 15 คนนั้นก็ยังไม่พร้อม เนื่องจากอีก 11 คน กำลังเดินทางมาที่สถานทูต ซึ่งขณะนี้มีแค่ 4 คนและได้รับบาดเจ็บ แต่อยู่ในสถานทูตปลอดภัยแล้ว ส่วนการจราจรในประเทศอิสราเอลถนนก็ปิดหลายสาย ดังนั้นทางเดียวที่จะสามารถเดินทางได้ ต้องอาศัยรถทหาร โดยพล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้ประสานกองทัพอิสราเอลเพื่อขอให้ช่วยใช้รถของทหารลำเลียงคนไทยเข้ามายังสถานทูต แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือขณะนี้สถานการณ์เร็วร้ายลงไปอีก ดังนั้นเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะอพยพคน 5,000 คน ให้ได้ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาใหญ่อยู่คือ เราต้องมีเครื่องบินเพียงพอ โดยเราได้ประสานแอร์เอเชียที่จะสามารถให้คงบินได้ 2 ลำ หรือมากกว่า และทางนกแอร์ ก็จะมีอย่างน้อย 2 ลำ รวมถึงการบินไทยก็อยู่ระหว่างการพิจารณา ตอนนี้เราพยายามนำเครื่องบินมาให้ได้เร็วที่สุดเพื่อบินเข้ามา และรับคนไทยออกจากอิสราเอลเพื่อไปจอดยังประเทศข้างเคียง และกลับไปรับใหม่เพื่อจะได้นำคนออกจากประเทศอิสราเอลให้เร็วที่สุด ซึ่งพรุ่งนี้ก็สามารถออกได้เลย แต่ทั้งนี้ต้องให้มั่นใจว่าเมื่อไปถึงแล้วคนไทยพร้อมที่จะออกมา เพราะการเดินทางในอิสราเอลนั้น สามารถใช้ได้เฉพาะรถทหารเท่านั้น

ส่วนที่เป็นห่วงว่าเครื่องบินของรัฐมีอยู่ 5 ลำ จะสามารถเตรียมได้ถึง 9 ลำหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาจจะมีมากกว่านั้นเพราะขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังเจรจาอยู่ และยืนยันว่าเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นเป็นเรื่องเล็ก เท่าไหร่ก็จ่ายเท่าไหร่ก็ต้องออกไปให้ได้ เพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน สำคัญที่สุด

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ปัญหาที่ตามมาคือไม่แน่ใจว่าน่านฟ้าจะเปิดนานเท่าไหร่ และอีกปัญหาคือการลำเลียงคนเข้ามายังสนามบินจะได้มากเท่าไหร่ เพราะหากนำเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้ และไม่สามารถลำเลียงคนมาได้ก็จะเปล่าประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามหากเราไม่ได้เตรียมพร้อม และไม่เตรียมเครื่องบินไว้ก็จะเสียโอกาสไป เพราะก็มีโอกาส ที่น่านฟ้าจะปิดในเร็ววันนี้ ดังนั้นการปฎิบัติการเราต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมพร้อมและอาจจะต้องบินเข้าไปก่อน และเข้าไปเสี่ยงว่าจะสามารถนำคนของประชาชนคนไทยออกมาได้หรือไม่

นายเศรษฐา ย้ำว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนที่อยู่ในอิสราเอลสูงที่สุด ซึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจและประสานงานอยู่ตลอดต่อเนื่อง ของทุกภาคส่วนและพรุ่งนี้เช้าน่าจะมีการอัพเดทสถานการณ์อีกครั้ง ขอให้ติดตามฟังข่าวต่อไป

ส่วนเครื่องบินพาณิชย์ ยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายแต่เขาระบุว่าจะคิดแค่ค่าน้ำมัน แต่ย้ำว่าค่าใช้จ่ายนั้นถือเป็นเรื่องรอง ตอนนี้เรื่องที่สำคัญกว่าคือความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทย และนี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุด มีความเสี่ยง ขณะนี้ทุกคนยังปลอดภัยอยู่ แต่จะทำอย่างไร ให้ทั้ง 5,000 คน มาอยู่ในที่ปลอดภัยก่อนที่จะ อพยพกลับเมืองไทย แต่ หากอยู่ในที่ปลอดภัยแล้วเครื่องบินไม่มารับ ก็จะมีปัญหาอีก หรือหากเครื่องบินมาแล้วไม่สามารถขึ้นลงได้ก็มีปัญหาอีก ทั้งนี้รัฐบาลมีความพร้อมที่จะนำเครื่องบินมาให้ได้เยอะที่สุด

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า แนวโน้มคนไทยที่แจ้ง ความประสงค์จะเดินทางกลับมีมากขึ้นเรื่อยๆเพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์เลวร้ายลงไป

"หากน่านฟ้าเปิดตลอด และสถานการณ์ลดความรุนแรงลง ก็ยังมีความหวังแต่ถ้าเราเสี่ยงไม่ได้ ตรงนี้ อาจจะต้องเตรียมเครื่องบินให้เยอะกว่านั้น จะได้อพยพคนไทยกลับมาปลอดภัยได้เร็วที่สุด"

ผู้สื่อข่าวถามว่า สื่อของอิสราเอลรายงานว่าพบคนไทยจำนวน 14 คนในเขตพื้นที่กาซา ได้รับรายงานหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน จากเอกอัครราชทูต ณ กรุง เทลอาวีฟ แต่หวังว่าจะเป็นเรื่องจริง และหวังว่าทุกคนจะปลอดภัย เพราะก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ที่นั่น เมื่อเกิดเหตุระเบิดลงต่างคนต่างหนีตัวเปล่า เหตุการณ์ชุลมุน เอกสารและพาสปอร์ตก็ไม่มี แต่เรื่องเอกสารเป็นเรื่องทีหลังมากกว่า โดยกระทรวงต่างประเทศก็สมทบเจ้าหน้าที่พื้นที่ใกล้เคียง เป็นอาสาสมัครไปช่วยดำเนินการเรื่องเอกสารทำให้ประชาชนออกมาโดยเร็วที่สุด ตนได้สั่งการไปว่าเรื่องของเอกสารขอให้เป็นเรื่องรอง ความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด


‘ผบ.ทอ.’ยันรับคนไทยในอิสราเอลไร้ขีดจำกัด แต่ติดขัดบางประเทศไม่อนุญาตบินผ่าน

11 ตุลาคม 2566 ที่โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช จ.สระบุรี พลอากาศเอกพันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ระบุถึงการเตรียมพร้อมของกองทัพอากาศในการไปรับคนไทยในอิสราเอล ว่า กองทัพอากาศมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยกองทัพอากาศได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรวบรวมข้อมูล และในวันที่ 8 ตุลาคมได้ตั้งชุดติดตามสถานการณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชน ขั้นต้นได้เตรียมเครื่องบินแอร์บัส 340 จำนวน 1 เครื่อง และC-130 อีก 5 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์การบินเพื่อคัดกรองกรณีผู้ป่วยติดเครื่องมาด้วย

ส่วนเวลาเดินทางไปรับคนไทยขอไม่แจ้ง ณ ที่นี้ เพราะจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัย ซึ่งภารกิจเมื่อบินไปรับแล้วจะบินกลับทันที พร้อมยืนยันว่ากองทัพอากาศไม่มีข้อจำกัดในการไปช่วยเหลือคนไทย แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการบินผ่านน่านฟ้า ตามปกติต้องใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์ แต่กระทรวงการต่างประเทศสามารถประสานงานให้อย่างรวดเร็ว

“มีบางประเทศที่ไม่ยอมให้บินผ่าน จึงจำเป็นต้องบินอ้อมหรือบินในเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะการปฏิบัติภารกิจต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ทรัพยากรของเรา และประชาชนที่จะไปอพยพกลับมา” ผบ.ทอ. กล่าว

ผบ.ทอ. กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่แจ้งความจำนงจะเดินทางกลับมา 3,000 กว่าคนนั้น หากใช้เฉพาะเครื่องบินของกองทัพอากาศอาจต้องใช้เวลานาน จึงต้องประสานงานกับการบินไทยในการใช้เครื่องบินพาณิชย์ด้วย เพื่อช่วยลำเลียงคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการระดมสรรพกำลังทรัพยากรที่มีอยู่ในชาติ รวมถึงความรักสามัคคี ซึ่งกองทัพอากาศได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานต่างๆเป็นอย่างดี


อย่าหน่อมแน้ม?! ‘มท.1’เล็งชง‘นายกฯ’แก้กม.ใช้ยาแรงคุม‘อาวุธปืน’

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทางความคิด ตามที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ประกาศไว้ ว่า นายชาดาพูดหลายครั้งแล้วว่า การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้เกิดความไม่สงบ เกิดความไม่มั่นคง เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติส่วนร่วม ก็ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายอาจจะไม่เข้มงวดเด็ดขาด แต่ถ้าบางส่วนมีความจำเป็นต้องเด็ดขาดก็ต้องใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ย้ำว่าเราทำทุกอย่างให้เกิดความสงบ มีความสามัคคีของคนไทยชาติ

นายอนุทิน กล่าวถึงความคืบหน้าการควบคุมอาวุธปืน ว่า วันนี้ใครพกปืนออกจากบ้านไม่ได้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานบ้านเมือง และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ตอนนี้อาวุธปืนต่อให้มีทะเบียนก็ออกจากบ้านไม่ได้ต้องเก็บอย่างมิดชิด เน้นย้ำฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตรวจตรา ให้ความปลอดภัยกับประชาชนให้มากทีุ่สด ไม่จำเป็นต้องมาอ้างว่าต้องมีอาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวเอง

ภาคใต้เมียนมาเผชิญน้ำท่วมใหญ่ หลังฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ในเดือน ต.ค.

ย่างกุ้ง (เอพี/เอเอฟพี) - พื้นที่ภาคใต้ของเมียนมาเผชิญน้ำท่วมรุนแรง เนื่องจากฝนที่ตกกระหน่ำอย่างยาวนาน วัดปริมาณน้ำฝนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเดือนตุลาคม จนชาวบ้านกว่า 14,000 คนต้องอพยพจากบ้านเรือน

หลายพื้นที่ทางตอนใต้ของเมียนมาเผชิญน้ำท่วมฉับพลันตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเพียงวันเดียว วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 200 มิลลิเมตร มากเป็นประวัติการณ์ของเดือนตุลาคม และยังคงมีฝนตกต่อเนื่องจนถึงคืนวันจันทร์ ส่งผลให้บ้านเรือน ท้องถนนในหลายชุมชนของภูมิภาคพะโค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครย่างกุ้งจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก ถือเป็นสถานการณ์น้ำท่วมในภูมิภาคพะโครุนแรงที่สุดในรอบกว่า 60 ปี

สตรีวัย 101 ปี คนหนึ่งเผยว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่บ้านถูกน้ำท่วม ชาวบ้านช่วยกันแบกเธอออกมาอาศัยวัดอยู่เป็นการชั่วคราว ด้านสถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวี ของทางการเมียนมารายงานว่าประชาชน 14,000 คน ทั่วภูมิภาคพะโคต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า ประชาชนราว 5,600 คน อาศัยตามศูนย์พักพิงชั่วคราวของรัฐบาล โรงพยาบาลกลางถูกน้ำท่วม และบริการโทรคมนาคม 3 ใน 4 รายใช้การไม่ได้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและชาวบ้านต้องออกช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน เพราะหลายจุดน้ำท่วมสูงท่วมหัว โดยไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ ขณะที่ทางการท้องถิ่นเตือนว่า ระดับน้ำในแม่น้ำพะโคอาจจะเพิ่มระดับต่อไปอีก 1 เมตร ในอีกไม่กี่วันนี้ จึงประกาศเตือนให้ประชาชนอพยพด้วย

ทั้งนี้ หลายพื้นที่ในเมียนมาเผชิญกับน้ำท่วมมา ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่นรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และรัฐชิน ทำให้ไร่นา ถนนหนทาง และ บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ประชาชนมากมายต้องไปหลบภัยตามวัดต่างๆ ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เมียนมาเพิ่งประสบภัยไซโคลนโมคา ซึ่งรัฐบาลรายงานผู้เสียชีวิตที่อย่างน้อย 148 ศพ แต่เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่านั้นมาก