วันที่ 11 ต.ค. นายมิตซูโอะ ชิบาฮาชิ อดีตพระนักเทศน์ชื่อดัง และ นางสุทธิรัตน์ มุตามะระ หรือ "สีกาแอน" เจ้าของสถานเสริมความงามย่านทองหล่อ ให้สัมภาษณ์ ร่วมกันให้สัมภาษณ์ในรายการตีข่าวแตก ทางเดลินิวส์ทีวี โดย นางสุทธิรัตน์ ระบุว่า ตนรับใช้และศรัทธาพระอาจารย์มิตซูโอะ ด้วยความเลื่อมใส และไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกันสักเท่าไร จนเข้าไปช่วยดูแลการตอบเฟซบุ๊กเรื่องธรรมะให้ท่านจึงได้พูดคุยกันมากขึ้น เพราะต้องสอบถามความถูกต้องของการตอบโต้ธรรมะกับประชาชน ซึ่งลึกๆจากการพูดคุยกับท่านก็ดีใจ และถามท่านว่าทำไมถึงสึก ท่านบอกว่ามโนธาตุเราต้องกัน อยากให้แอนช่วยกันไปเผยแพร่ธรรมะที่ญี่ปุ่นและทั่วโลก ตนก็เลยขอปวารนาตัวรับใช้ท่านตลอดชีวิต แล้วก็ถามท่านว่าจะบาปหรือไม่ ท่านก็บอกว่า แอนไม่ผิด เพราะธรรมะอยู่ในใจ อย่ายึดติดกับผ้าเหลือง ซึ่งก็เตรียมใจเพราะสังคมไทยยึดติดกับพระ และตัวท่านเพราะหลายล้านคนศรัทธาท่าน ซึ่งที่ผ่านมาตนโดนต่อว่าตลอดว่ามอมยา แบล็กเมล์บ้าง เป็นต้น
ขณะที่ นายมิตซูโอะ กล่าวว่า ยังมีความเกลียดชังของหลายคนในมูลนิธิ ทำให้เกลียดแอนและก็มาเกลียดเราด้วย มันก็กระทบกันเพราะเราก็เป็นคนเดียวกัน ส่วนที่ไม่ได้ลาสิกขาในวันที่ได้บอกคุณแอนนั้น ช่วงนั้นติดกิจนิมนต์ติดต่อกัน และยังคิดว่าคนในสังคมยึดติดกับพระมานานด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดเปลี่ยนของตนในอายุ 62 ปี เป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนการกลับมาครั้งนี้และมีการออกสื่อมากนั้น นางสุทธิรัตน์ กล่าวว่า การได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ก็ได้พิสูจน์ความจริงคนได้เห็น และได้ออกสื่อก็เป็นการพยายามพูด และก็อยากให้ท่านอาจารย์มิตซูโอะได้พูด ส่วนเรื่องการพาดหัวข่าว ตนเห็นว่าแรงไป และไม่ได้อยากสื่อสารเรื่องแบบนี้ อยากให้ท่านได้เผยแพร่หนังสือเป็นสำคัญเพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้น
นายมิตซูโอะ กล่าวว่า ตอนนี้ยังเข้ามูลนิธิไม่ได้ ทำให้เรื่องเอกสารบางอย่างเข้าไปเอาไม่ได้ และยังเป็นเรื่องเข้าใจผิด ตนจึงอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นการเทศน์ครั้งสุดท้าย เชื่อว่าจะมีประโยชน์กับมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะคนไทยจากนี้ไปอาจจะไปมาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งที่ได้ศึกษามาตลอดระยะเวลาที่บวชเป็นพระภิกษุ และแม้ว่าจะสึกแล้ว แต่จะใช้ชีวิตอย่างคนเห็นทางสว่าง และเพื่อให้สังคมพิจารณาได้อย่างเหมาะสม.
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีต้อนรับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.56 และร่วมตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ที่บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นผู้นำทั้งสองประเทศร่วมหารือ ข้อราชการ เต็มคณะในการพัฒนาความสัมพันธ์ ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยต้องการผลักดัน คือการขยายการค้าสินค้าเกษตรจากไทย ไปประเทศจีน ส่งเสริมการลงทุน ในอุตสาหกรรมยางพารา พร้อมส่งเสริมการเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม ในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ให้ประเทศจีนมีส่วนร่วม ในโครงการพัฒนา ระบบรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้ ภายหลังร่วมหารือ ผู้นำทั้งสอง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างไทย-จีน จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน 2.การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการศึกษา 3.บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยโครงการความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตรกร 4.การลงนามความตกลงว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 5.แผนปฏิบัติการ 5 ปีสำหรับความร่วมมือทางทะเลไทย-จีน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของไทย กับทบวงกิจการทางสมุทรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ 6.การจัดทำแถลงข่าวร่วมว่าด้วยแผนระยะยาว
จากนั้น ทั้ง 2 ประเทศ ได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีจีน ในฐานะผู้นำประเทศจีนชุดใหม่มีความสำคัญต่อทิศทางความร่วมมือของสองประเทศต่อไป พร้อมยินดีกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด การลงนามบันทึกความตกลงร่วมกัน 6 ฉบับ เป็นการเห็นชอบร่วมกันต่อแผนระยะยาว ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนที่กำหนดแนวทางความร่วมมือไว้อย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญพิเศษในด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยในด้านการค้าได้กำหนดเป้าหมายการค้าระหว่างไทยและจีน ให้บรรลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์มและผลไม้ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีจีนสนับสนุนให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม ด้านเศรษฐกิจการค้าไทยจีนครั้งที่ 3 ภายในปีนี้เพื่อที่จะได้หารือส่งเสริมถึงแนวทางการค้าการลงทุนร่วมกัน
"ดิฉันได้เชิญนักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบในประเทศไทย เช่น โรงงานแปรรูปยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้จีนยังได้แสดงความสนใจที่จะพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงของประเทศไทย โดยในหลักการฝ่ายไทยยินดีชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนในรูปของสินค้าเกษตร ซึ่งทั้่งสองฝ่ายจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือในรายละเอียดต่อไป และฝ่ายไทยเห็นด้วยกันจีนที่จะมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างด้านคมนาคมของภูมิภาค และไทยก็จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านการร่วมมือภูมิภาค ในกรอบอาเซียนจีนและอาเซียนบวก 3 ด้านการเงินเห็นพ้องในการใช้เงินหยวนในการส่งเสริมการค้า และธุรกรรมอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรม โดยฝ่ายไทยเสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการทำหน้าที่ชำระเงินในภูมิภาค โดยให้ธนาคารแห่งชาติของทั้งสองประเทศหารือในรายละเอียดต่อไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้ประชาชนของสองประเทศไปมาหาสู่กันได้อย่างคล่องตัว จึงได้เห็นพ้องให้มีการทำการเจรจาตกลง ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ส่วนในด้านพลังงานได้มีการหารือว่าฝ่ายไทยจะซื้อไฟฟ้าจากมณฑลยูนาน ของประเทศจีน โดยฝ่ายจีนก็ยินดีให้ความร่วมมือ
ด้านนายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า ประเทศจีนยินให้ความร่วมมือกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค และสังคมโลก ในการลงนามในบันทึกข้อตกลงหลายฉบับในวันนี้ มีการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านประชาธิปไตยของการกันและกัน รวมถึงการยกเลิกการลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) ทั่วไป เพื่อเอื้อให้นักลงทุนเดินทางมาลงทุนในประเทศไทย และเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน มั่นใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนจะแน่นเฟ้นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ารัฐบาลใหม่ของจีนมีความยินดีร่วมมือกับรัฐบาลไทยที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะให้ความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ให้ก้าวหน้าต่อไป ย้ำว่ามิตรระหว่างไทยกับจีนจะสนิทแนบเน้นมากกว่าเดิม
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล.
วันที่ 11 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มกองทัพประชาชน โค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) บางส่วน ยังชุมนุมที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ไม่ยอมไปอยู่ที่สวนลุมพินี ว่า ได้ฝาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ไปเจรจาว่า ขยับขยายไปที่อื่นที่กว้างกว่านี้ ได้หรือไม่ การจราจรบริเวณนั้น ติดขัดมาก
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ที่มีผู้ปาระเบิดเพลิงใส่ผู้ชุมนุม เมื่อกลางดึกวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ประชา ตอบว่า ยอมรับว่า ป้องกันยาก เพราะมีทางด่วนอยู่ข้างบน จึงกำชับ ผบ.ตร.ให้ช่วยดูแลความปลอดภัยของประชาชน เชื่อว่า เป็นการกระทำของมือที่ 3 สร้างสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาขยายพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ครอบคลุม ไปจนถึงอุรุพงษ์ และต้องให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ประเมินสถานการณ์ ส่วนที่มีข่าวว่า จะมีผู้ชุมนุมจากภาคใต้ขึ้นมาสมทบนั้น พล.ต.อ.ประชา ตอบว่า ยังไม่ได้รับรายการจากฝ่ายข่าว แต่ขอว่า อย่ามากันเลย
เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่า ในช่วงที่นายกฯ จีน มาที่ทำเนียบฯ จะไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาวุ่นวายอีก พล.ต.อ.ประชาตอบว่า คงยืนยันไม่ได้ แต่เราจะป้องกันและพยายามพูดคุยไม่ให้มี เพราะถือเป็นหน้าตาของประเทศ เพราะแขกที่มาเยือนก็ถือเป็นแขกที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ดังนั้น ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มีเหตุอะไรแทรกซ้อนขึ้นมา โดยต้องมีการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงสุด เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุม ย้ายจากหน้าทำเนียบฯ ไปแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่ยกเลิกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก่อนกำหนด พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.รส.จะเสนอขึ้นมา
ต่อมาเวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ประชา เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายกฯ ว่า นายกฯ สั่งให้คง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไว้ก่อน จนกว่าสถานการณ์จะนิ่ง และนายกฯ จีน เดินทางกลับประเทศ พร้อมกำชับให้ ศอ.รส. ดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่าให้เกิดเหตุอย่างคืนวันที่ 10 ต.ค.ที่มีการปาระเบิดเพลิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม.
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012