ข่าว
ศาลสั่งฟ้อง”หมอนิ่ม-แม่” คดีฆ่า 'เอ็กซ์-จักรกฤษณ์'

พนักงานอัยการ นำตัว 'หมอนิ่ม-แม่' และพวกอีก 2 คน ฟ้องต่อศาล ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยศาลประทับรับฟ้องไว้ ขณะที่หมอนิ่มและแม่ ยื่น 5 แสนบาท ขอประกันตัวชั่วคราว อยู่ระหว่างการพิจารณา...

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 31 มกราคม ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ถนนสีหบุรานุกิจ นายสุทน สุขเม่า พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลจังหวัดมีนบุรี นำตัว นายจิรศักดิ์ หรือจี กลิ่นคล้าย อายุ 33 ปี นางสาวสุรางค์ ดวงจินดา อายุ 72 ปี พญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม ภู่เจริญยศ อายุ 38 ปี และนายสันติ หรืออีส ทองเสม อายุ 28 ปี มาฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยจ้างวานใช้ ยุยงส่งเสริมให้ฆ่า มีและพกพาอาวุธปืน ยิงอาวุธปืนในที่ทางสาธารณะ ศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ 383/57 นำสอบถามคำให้การวันที่ 6 ก.พ. เวลา 09.00 น. โดยจำเลยที่ 1 และ 4 ถูกคุมตัวมาจากเรือนจำ ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ได้ประกันตัวในชั้นตำรวจ

คำฟ้องบรรยายว่า เมื่อระหว่างเดือน ส.ค.ถึง 19 ต.ค. 2556 จำเลยที่ 2 ถึง4 ได้ร่วมกันจ้างวานใช้จำเลยที่ 1 กับพวกที่อยู่ระหว่างหลบหนี ให้ฆ่านายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม โดยจำเลยที่ 1 กับพวก ได้ใช้อาวุธปืนออโตเมติก ยี่ห้อลูเกนอร์ รุ่นโตกาเรฟ ขนาด 7.62 มม. ยิงนายจักรกฤษณ์หลายนัด ถูกที่หน้าอก หัวใจและปอด บาดเจ็บ และถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนี ต่อมาตำรวจสืบสวนจับกุมจำเลยทั้งหมดไว้ได้ จำเลยให้การปฏิเสธ เหตุเกิดที่เขตบางซื่อ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ และอำเภอเมืองนนทบุรี ต่อเนื่องกัน หากจำเลยขอประกันตัว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัวจำเลยที่ 1 กับ 4 เพราะกลัวจะหลบหนี ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ศาลประทับรับฟ้องไว้ จากนั้นจำเลยที่ 2 กับ 3 ได้ยื่นหลักทรัพย์คนละ 5 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว ส่วนจำเลยที่ 1, 4 ไม่ได้ยื่นประกันตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล.

'มีชัย' ชี้เลือกตั้งโมฆะ กกต.ต้องรับผิดชอบ

"มีชัย" FB ขยายปมเลือกตั้ง 2 ก.พ. "โมฆะ" ชี้ รธน.กำหนดให้เลือกตั้งวันเดียว เสียดาย กกต.พลาด หากศาล รธน.วินิจฉัยว่าเลือกตั้งโมฆะ ต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียว ส่วนรัฐบาลลอยตัว...

วันที่ 31 ม.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะนักกฎหมายชั้นนำของสังคมไทย ตอบคำถามในเว็บไซต์ www.meechaithailand.com เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ในคำถามของปกรณ์ว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะด้วยเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ว่า เรียน อ.มีชัย ได้อ่านบทความล่าสุดของอาจารย์ เรื่อง "เราควรจะออกไปเลือกตั้งหรือไม่" มีอยู่ตอนหนึ่ง อาจารย์เขียนว่า "การเลือกตั้งมีโอกาสเป็นโมฆะ หากไม่จัดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร อยากขอให้อาจารย์ขยายความตรงส่วนนี้ด้วย เพราะการเลือกตั้งเที่ยวนี้ อาจจัดวันเดียวกันไม่ได้พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร เพราะมีบางเขตยังสมัครไม่ได้ อย่างนี้จะเข้าข่ายโมฆะหรือไม่ ด้วยความเคารพครับ"

นายมีชัย ให้คำตอบว่า การที่รัฐธรรมนูญ ม.๑๐๘ กำหนดให้ต้องกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ก็เพราะต้องการให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างพรรคการเมือง ผู้สมัคร และเสียหายต่อการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งที่ทำกะปริดกะปรอย ส่งผลต่อการลงคะแนนอย่างมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ถ้ารู้ว่าใครแพ้ หรือชนะ ก็มักจะถูกครอบงำโดยผลแพ้-ชนะนั้น สุดแต่ว่าจะชอบเข้าข้างคนชนะ หรือขี้สงสารคนแพ้ ยิ่งถ้าได้คะแนนใกล้เคียงกัน ก็หมิ่นเหม่ต่อการทุจริตเพื่อเอาชนะกันได้ง่าย ในขณะนี้ปรากฏชัดเจนว่า มีเขตเลือกตั้งถึง ๒๗ เขต ที่สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ (ไม่ใช่ไม่มีคนสมัคร) การเลือกตั้งจึงไม่อาจทำได้ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า การที่ไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งได้ใน 27 เขต ถ้าไปจัดให้มีการเลือกตั้งในภายหลัง (หลังมีการเลือกตั้งเขตอื่นๆ ไปแล้ว) จะถือเป็นการค่อยๆ เลือกไป หรือเป็นการเลือกซ่อม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการค่อยๆ เลือกไป ก็จะเข้าข่ายต้องห้ามคือ ไม่ได้ทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ถ้าถือว่าเป็นการเลือกซ่อม ทำนองเดียวกับการเลือกซ่อม เมื่อมีการให้ใบเหลือง/ใบแดง ก็อาจไม่เข้าข่าย ต้องห้าม จึงขึ้นอยู่กับการนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งต่อศาล ในเรื่องนี้ดูเหมือน กกต.เองก็ไม่แน่ใจอยู่ เพราะมีข่าวออกมาว่า กกต.เกรงว่าจะถูกฟ้องให้เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดให้มีขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ในเรื่องนี้ กกต.ออกจะไม่รอบคอบ เพราะทางที่ถูก กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กกต.ควรต้องพิจารณาประเด็นนี้ให้เป็นที่ยุติในหมู่ของ กกต.เสียก่อน ถ้า กกต.เห็นว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะเดินหน้าต่อไปตามใจรัฐบาลก็เดินหน้าไปได้ แต่ถ้า กกต. เอง ก็เห็นว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หัวเด็ดตีนขาด กกต.ก็จัดให้มีการเลือกตั้งต่อไปไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะว่าอย่างไร ต้องการอย่างไร ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ กกต.ทำในสิ่งที่ กกต.เห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ถ้ารัฐบาลยืนยันให้ กกต.เดินหน้า และ กกต.ไม่อาจเดินหน้าได้ ก็อาจถือเป็นกรณีขัดแย้งกันที่จะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ถ้าทำได้เช่นนี้ กกต.ก็จะปลอดภัย แต่น่าเสียดาย ที่ กกต.ไม่ได้ทำเช่นนั้น ดังนั้น ถ้าภายหลังศาลวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ก็อาจพลอยต้องไปรับผิดชอบในผลนั้น ส่วนรัฐบาลน่ะ ถึงตอนนั้นท่านก็คงปฏิเสธว่า ท่านมิได้เป็นคนจัดการเลือกตั้ง ท่านมีแต่ความอยากให้มีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา.

“สดศรี-โคทม”โต้”สมชัย” รุมยืนยัน 2กพ.ไม่โมฆะ

อดีต กกต.-นักวิชาการรุมยัน ระบุชัดจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ไม่มีเหตุทำให้เป็นโมฆะอย่างแน่นอน "สดศรี" ชี้พ.ร.ฎ.กำหนดชัดกำหนดเลือกตั้งในวันเดียว ส่วนอีก 28 เขตรับสมัครไม่ได้นั้นเข้าข่ายมีเหตุต้องจัดเลือกตั้งใหม่ แนะออกมติ กกต.ให้ชัดเจนอย่าสร้างความสับสน ด้าน "โคทม อารียา" ติง กกต.อย่าออกมาพูดทำให้เกิดความเสียหาย คนเข้าใจผิด "เอกชัย" โฆษก สปป.ชี้นำไปเทียบการเลือกตั้งโมฆะไม่ได้ "อ๋อย" อัด "สมชัย" พูดความจริงไม่หมด เจตนาให้ร้ายรัฐบาลอยากให้การเลือกตั้งโมฆะ ปชป.ส่ง "วิรัตน์" ร้องผู้ตรวจฯให้ยื่นต่อศาลรธน.ล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ.

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกระแสการจัดเลือกตั้งส.ส. วันที่ 2 ก.พ. อาจเป็นโมฆะ เนื่องจากปัญหา 28 เขต 8 จังหวัดภาคใต้ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เขต และการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 ม.ค. ที่ผู้มีสิทธิ์ไม่สามารถลงคะแนนได้ จึงถูกมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้จัดขึ้นครั้งเดียว ในสถานการณ์เดียว อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 108 นั้น ถ้าดูตามมาตรา 108 ที่ระบุว่าเมื่อยุบสภา ก็ต้องออกพ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ภายใน 45-60 วัน อีกทั้งต้องกำหนดให้มีวันเลือกตั้งวันเดียว ซึ่งตามพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ กำหนดไว้แล้วคือวันที่ 2 ก.พ. เป็นไปตามมาตรา 108 วรรคสอง

นางสดศรีกล่าวว่า ส่วนที่ 8 จังหวัดภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เขต เนื่องจากถูก ผู้ชุมนุมขัดขวางไม่ให้เข้าสถานที่รับสมัคร จนทำให้วันที่ 2 ก.พ.นี้ 8 จังหวัดภาคใต้จะไม่มีการลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตนั้น กกต.ต้องกำหนดวันเลือกตั้งซ่อมทำให้ 8 จังหวัดนี้มีผู้สมัครให้ได้ จึงไม่ได้หมายความว่าเป็น การกระทำที่ขัดต่อมาตรา 108 วรรคสอง หรือทำให้วันเลือกตั้งไม่ใช่วันเดียว เพราะการรับสมัครก็เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ แต่มันเกิดเหตุปัจจัยที่ทำให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ไม่ได้ กกต.ก็ต้องไปจัดเลือกตั้งซ่อมวันอื่น

นางสดศรีกล่าวว่า เช่นเดียวกับกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ได้ในวันที่ 26 ม.ค. เนื่องจากมีการขัดขวางจากผู้ชุมนุม จน กปน.ต้องสั่งยุติการลงคะแนน ทาง กกต.จึงต้องรักษาสิทธิ์ให้ผู้มีสิทธิ์เหล่านั้น ไปเลือกตั้งในวันอื่น ซึ่งกรณีทั้ง 8 จังหวัดภาคใต้ และวันเลือกตั้งล่วงหน้า จะไปเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 78 ที่ระบุให้ กกต.งดการลงคะแนนเลือกตั้งหากเกิดภัยพิบัติหรือเหตุจลาจล ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งได้ ก็ให้เลื่อนไปเป็นวันอื่นจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ดังนั้น การไปตีความทางข้อกฎหมายว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่การจัดการเลือกตั้งในวันเดียว จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจผิด เพราะพ.ร.ฎ.ฉบับนี้กำหนดวันเลือกตั้งไว้เพียงวันเดียวคือวันที่ 2 ก.พ.เท่านั้น

"ส่วน ตัวแล้วไม่เห็นว่าการเลือกตั้งนี้จะเข้าข่ายเป็นโมฆะได้อย่างไร แต่นักวิชาการบางส่วนหรือผู้ชุมนุมพยายามบอกว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ ซึ่งกกต.ต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ ต้องชี้แบบเป็นมติของกกต.ทั้ง 5 คนว่าหากเห็นว่าการเลือกตั้งนี้จะเป็นโมฆะก็ควรออกมาพูดให้ชัดเจน เพราะการที่ กกต.บางคนบอกว่าการเลือกตั้งเสี่ยงจะเป็นโมฆะ มันจะเกิดคำถามว่า หากรู้ว่าเลือกตั้งแล้วจะเป็นโมฆะแล้วจัดเลือกตั้งไปทำไม ทำไมไม่พูดตั้งแต่ตอนที่ 8 จังหวัดภาคใต้ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ แต่ออกมาพูดในช่วงที่ใกล้เลือกตั้ง อาจทำให้ประชาชนสับสนและไม่ออกไปใช้สิทธิ์" นางสดศรีกล่าว

อดีต กกต.กล่าวว่า ถ้ามั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ กกต.ควรมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรคสอง ว่าการที่ 8 จังหวัดภาคใต้ไม่มีผู้สมัครหรือวันเลือกตั้งล่วงหน้า ผู้มีสิทธิ์ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้ จะทำให้ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งครั้งเดียว ขัดต่อมาตรา 108 วรรคสอง ก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะหากศาลเห็นตามมติของ กกต. ก็จะสั่งให้เป็นโมฆะ การเลือกตั้งครั้งนี้จะจบลง ดีกว่าปล่อยให้เลือกตั้งแล้วไม่ได้อะไร สูญงบประมาณไปเปล่าๆ อีกทั้งประชาชนจะได้หมดข้อสงสัย ตนอยากเห็นเหมือนกันว่าหาก กกต.ยื่นไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเรื่องนี้ว่าอย่างไร