ข่าว
'โอมิครอน' BA.2 ระบาดแล้ว 57 ประเทศทั่วโลก วิจัยชี้อาจแพร่เร็วกว่าพันธุ์ดั้งเดิม

2 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การอนามัยโลกระบุว่า พบการระบาดของเชื้อโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ใน 57 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลวิจัยบางส่วนชี้ว่า สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นกว่าเชื้อโอไมครอนดั้งเดิม

องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานอัปเดตสถานการณ์ด้านระบาดวิทยารายสัปดาห์เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า พบการระบาดของเชื้อโอไมครอนเป็นสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 93 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดในเดือนมกราคม และพบสายพันธุ์ย่อยของเชื้อโควิดโอไมครอน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.1.1, BA.2 และ BA.3 ทั้งยังระบุว่า สายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรก ยังคงครองสัดส่วนการระบาดสูงกว่าร้อยละ 96 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนทั้งหมดในระบบฐานข้อมูลกลางโควิดโลก (GISAID)

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า พบตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างไปจากเชื้อโอไมครอนดั้งเดิม เช่น หนามโปรตีนที่อยู่บนพื้นผิวของเชื้อไวรัสที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ โดยพบการระบาดของเชื้อ BA.2 ใน 57 ประเทศแล้ว นอกจากนี้ ในบางประเทศยังพบการระบาดของเชื้อดังกล่าวเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนทั้งหมดรวมกัน

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้ยังมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความแตกต่างของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย และเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลักษณะต่าง ๆ ของเชื้อเหล่านี้ เช่น การแพร่กระจาย การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และความรุนแรง อย่างไรก็ดี มีผลวิจัยบางส่วนเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วขึ้นกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม

‘ดร.อนันต์’เปิดผลทดสอบติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในมนุษย์

2 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana มีเนื้อหาดังนี้...

งานวิจัยทดสอบการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19ในอาสาสมัครมนุษย์ที่ดำเนินการในประเทศอังกฤษได้รายงานผลเพื่อพิจารณาเพื่อการตีพิมพ์แล้ว นับว่าเป็นการทดลองที่มีการพูดถึงกันเป็นวงกว้างถึงเรื่องความเหมาะสมในการใช้มนุษย์เป็นโมเดลในการศึกษา แต่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้ทำให้เราเข้าใจกลไกการก่อโรคโควิด-19 ของไวรัส SARS-CoV-2 ได้ชัดเจนมาก เพราะมีการควบคุมตัวแปรต่างๆอย่างดี ตัวเลขที่ได้มาจึงนับว่าน่าเชื่อถือและมีการรบกวนจากตัวแปรอื่นๆน้อยกว่าการเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ

งานวิจัยนี้ใช้ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ SARS-CoV-2/human/GBR/484861/2020 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ G ก่อนการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า ทำการหยอดจมูกให้กับอาสาสมัครที่ไม่มีเคยมีภูมิคุ้มกันจากไวรัส หรือ วัคซีน จำนวน 36 คน โดยใช้ไวรัสปริมาณ 10TCID50 หรือ เทียบเท่ากับ 55 อนุภาคไวรัสที่ติดเชื้อได้ ปรากฏว่ามีอาสาสมัครจำนวน 18 คนที่ได้รับเชื้อและตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นจำนวน 53% ของอาสาสมัครที่ทำการทดสอบ ซึ่งถือว่าปริมาณไวรัสที่ใช้น้อยมาก และ มากเพียงพอที่ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครติดเชื้อ

เมื่อทำการติดตามอาสาสมัครที่ติดเชื้อพบว่า สามารถตรวจพบเชื้อได้ในลำคอเป็นที่แรก ภายในเวลา 40 ชั่วโมง หรือ 1.67 วันหลังได้รับเชื้อ ซึ่งเร็วกว่าการตรวจพบในจมูกที่เวลา 58 ชั่วโมง หรือ หรือ 2.4 วัน หลังจากนั้นพบว่าปริมาณไวรัสจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยจุดสูงสุดของปริมาณไวรัสในลำคอคือที่ 112 ชั่วโมง หรือ 4.7 วัน หลังรับเชื้อ และ ที่ 148 ชั่วโมง หรือ 6.2 วันในจมูก แต่ถ้าเปรียบเทียบปริมาณไวรัสที่จุดสูงสุด ในจมูกจะมีมากกว่าในคอประมาณ 10 เท่า จากข้อมูลนี้เหมือนตัวอย่างจากคอ หรือ น้ำลายน่าจะพบไวรัสได้ก่อนจากจมูก แต่ถ้าหลังจากติดเชื้อมาสักพักตัวอย่างจากจมูกมีโอกาสพบเชื้อได้เยอะกว่า

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ การตรวจ ATK ถึงแม้ว่าจะสามารถทำ PCR จากตัวอย่างในคอได้ตั้งแต่ 2 วันหลังรับเชื้อ แต่ ATK จะตรวจได้ผลบวกที่ช้ากว่าโดยเฉลี่ยจะได้ผลบวก ATK ที่ 4 วันหลังได้รับเชื้อ (บางคนพบผลบวกไวที่ 2 วัน บางคนพบที่ 8 วัน)

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างจากคอและจมูกจะสามารถตรวจพบ ATK เป็นบวกได้พอๆกัน ทีมวิจัยยังระบุว่า RT-PCR จะตรวจพบได้ก่อน ATK ประมาณ 24-48 ชั่วโมง แต่ ความสามารถในการเพาะเชื้อไวรัสจากอาสาสมัครจะทำได้ก่อน ATKเป็นบวก ประมาณ 24 ชั่วโมง

หมายความว่า โอกาสแพร่เชื้อก่อน ATK ตรวจพบจะประมาณ 1 วัน และ ยังพบว่า ATK จะเป็นลบ หลังจากเชื้อไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้แล้วที่ 24-72 ชั่วโมง นั่นก็บอกว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ ATK เป็นลบ โอกาสแพร่เชื้อต่อก็จะน้อยมาก อาจไม่เกิดขึ้นแล้ว

จริงๆยังมีข้อมูลอีกมาก เช่นการสร้างแอนติบอดี และ อาการของโรค ตลอดจนการตอบสนองต่อยาต้านไวรัส ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านต่อได้ที่ link ข้างล่าง

ปล: ข้อมูลนี้มาจากไวรัสสายพันธุ์เก่า สำหรับไวรัสโอมิครอนที่ติดไวกว่าตัวเลขอาจจะต้องปรับให้เข้ากับคุณสมบัติของไวรัสด้วย

https://www.researchsquare.com/article/rs-1121993/v1


ตร.ยกข้อกม.ย้ำยังไม่ปลด‘กัญชา-กัญชง’ออกจากยาเสพติดประเภท 5 ปลูก-เสพต้องขออนุญาต

2 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า ตามที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ ว่าได้มีการปลดกัญชากัญชงออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว ประชาชนสามารถปลูก แปรรูป และใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดนั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนว่า การปลดพืชกัญชากัญชงออกจากยาเสพติดประเภท 5 นั้น ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม 65 คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญ “กำหนดให้ควบคุมเฉพาะสารสกัดจากทุกส่วนของกัญชาและกัญชงซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท5 และให้ยกเว้นสารสกัดดังต่อไปนี้ (1) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (2) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ

สำหรับกรณียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 รายการอื่น ได้แก่ พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ให้กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ตามเดิม” โดยประกาศฯ จะมีผลใช้บังคับเฉพาะในส่วนสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อรอกระบวนการออกกฎหมายควบคุมกัญชาและกัญชงให้มีผลใช้บังคับก่อน

ดังนั้น ในขณะนี้กฎหมายที่ควบคุมกัญชากัญชงอยู่เดิมยังมีผลใช้บังคับอยู่ ยังไม่สามารถปลูกหรือเสพกัญชากัญชงได้โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการใช้ประโยชน์ในส่วนต่างๆ ยังคงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม จนกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะมีผลบังคับใช้ และมีการควบคุมเท่าที่จำเป็นตามร่างกฎหมายที่จะออกมาใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว


มันมากับสุกๆดิบๆ! 'หมอแล็บแพนด้า'เตือนภัยไชสยองของ'พยาธิปอดหนู'

2 ก.พ.65 เพจเฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า” ของทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้โพสต์เตือนว่า วันนี้มีข่าวว่าพิษณุโลก พบพยาธิปอดหนูขึ้นตาข้าราชการหญิงจนตาบอด พบเป็นรายแรกของจังหวัดเพราะชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆเป็นประจำ ก็เลยต้องเตือนหนักๆเลยครับ เรื่องพยาธิเนี่ย

มาเข้าเรื่อง ’พยาธิปอดหนู’ หรืออีกชื่อนึงเรียกว่า ‘พยาธิหอยโข่ง’ กันดีกว่าครับ

พยาธิชนิดนี้เป็นพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า "แองจิโอสตรองจิลัส แคนโทเนนซิส" (Angiostrongylus cantonensis) ชื่อย้ากกก ยาก อย่าไปจำมันเลย ปกติมันจะชอบเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู ก็เลยเรียกว่า “พยาธิปอดหนู”

ทีนี้พอหนูขี้ออกมา พยาธิตัวอ่อนร่างที่ 1 ก็จะปนอยู่ในขี้หนู (พยาธิมันมีหลายร่างนะคุณ มีร่าง 1 ร่าง 2 ร่าง 3 ร่าง 4 ฯลฯ ไปจนถึงร่างเต็มวัย) ตัวอ่อนร่าง 1 จะชอบไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งและปูน้ำจืด กบ ตะกวด หรือแม้กระทั่ง งู !!! แล้วเจริญเป็นตัวอ่อนร่างที่ 2 ร่างที่ 3 ต่อไป ไอ้ร่างที่ 3 นี่แหละตัวดี เป็นระยะติดต่อ ถ้าใครกินร่างที่ 3 เข้าไป เตรียมมีพยาธิในร่างกายได้เลย พูดมาถึงตรงนี้ คนก็ไม่น่าจะไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใช่มั้ยครับ

แต่คนก็ไปเอาสัตว์พวกนี้มากินโดยไม่ปรุงให้สุกเสียก่อนไงล่ะ โอ้ยยย กะมันแซบเนาะสู ถถถถถ

พอกินเข้าไป พยาธิมันก็จะไชเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง ทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หลังแข็ง ชัก อาจเป็นอัมพาตหรือตายได้ แล้วมันไชไปเรื่อยนะ ถ้าพยาธิไชเข้าตา ตาอาจจะอักเสบ มัว และตาบอดได้เลยเหมือนข่าวนี้

เคยมีรายงานว่า มีคนกินตับตะกวด แล้วเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเพราะพยาธิตัวนี่มาแล้ว ตะกวดก็ยังไปกินเนาะ เรื่องรักษานี่ก็ยากมาก ความยากง่ายแล้วแต่เคส ตัดไฟแต่ต้นลมกันดีกว่า อย่าไปกินสุกๆดิบๆเลยจะดีกว่าครับ


เหตุ‘น้ำมันรั่ว’ในเอกวาดอร์ สะเทือนผืนป่า‘แอมะซอน’

2 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวซินหัวรายงาน กระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของเอกวาดอร์ เปิดเผยเหตุท่อส่งน้ำมันเส้นหนึ่งรั่วไหล สร้างมลพิษต่อพื้นที่คุ้มครองของอุทยานแห่งชาติคายัมเบ โคคา (Cayambe Coca National Park)

กระทรวงฯ ระบุว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม 21,007.91 ตารางเมตร ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองของอุทยานฯ 16,913.61 ตารางเมตร และพื้นที่กันชนของอุทยานฯ 4,094.3 ตารางเมตร

อุทยานแห่งชาติคายัมเบ โคคา ปกป้องแหล่งน้ำหลักแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นแหล่งพืชพันธุ์สัตว์ป่าสารพัดชนิด โดยกระทรวงฯ ระบุว่ามีการรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

ทั้งนี้ พื้นที่พีเอดรา ฟีนา (Piedra Fina) บนพรมแดนจังหวัดนาโป (Napo) และซูกุมบิโอส (Sucumbios) ซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าแอมะซอนในเอกวาดอร์ มีฝนตกหนักจนนำไปสู่หินถล่มท่อส่งน้ำมันของโอซีพี เอกวาดอร์ (OCP Ecuador) บริษัทเอกชนขนส่งน้ำมันดิบ เมื่อวันศุกร์ (28 ม.ค.)

กระทรวงฯ ระบุว่ารัฐบาลกำลังสืบสวนสอบสวนโอซีพี เอกวาดอร์ ซึ่งอาจถูกลงโทษปรับและคว่ำบาตรการดำเนินกิจการ

อิสราเอลพบ‘เหรียญโรมัน’เก่าพันปี สลักภาพจักรพรรดิผู้เหี้ยมโหด

2 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวซินหัวรายงาน องค์การโบราณวัตถุอิสราเอล (IAA) เปิดเผยการค้นพบเหรียญโบราณในพื้นที่ตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งมีอายุ 1,650 ปี และถูกสลักภาพพระเศียรของจักรพรรดิวาเลนติเนียนที่ 1 (Valentinian I)

เหรียญดังกล่าวถูกค้นพบโดยนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ขณะกำลังเดินป่าใกล้ลำธารเบซอร์ โดยด้านหนึ่งถูกสลักภาพพระเศียร พระนาม และพระยศของจักรพรรดิฯ

ส่วนอีกด้านมีคำจารึกเกี่ยวกับพิธีการของชาวโรมัน ซึ่งจัดขึ้นทุก 2-3 ปี เพื่อเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิโรมัน โดยเหรียญนี้ถูกผลิตขึ้นที่โรงกษาปณ์ในเมืองอันทิโอก ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของซีเรียในปัจจุบัน

อนึ่ง จักรพรรดิวาเลนติเนียนที่ 1 หรือวาเลนติเนียนมหาราช ปกครองกรุงโรม ช่วง 364-375 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเหล่านักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ระบุว่าพระองค์เป็นจักรพรรดิที่โหดเหี้ยม และยุคนั้นเกิดสงครามตามแนวชายแดนของจักรวรรดิอย่างต่อเนื่อง