ข่าว
เกาหลีใต้พบอายุ 60 ปีขึ้นไปได้วัคซีน‘แอสตราฯ-ไฟเซอร์’ เข็มเดียวลดติดโควิดถึง 87%

5 พ.ค. 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว S.Korea says AstraZeneca, Pfizer COVID-19 vaccines 87% effective after first shot อ้างการเปิดเผยของ องค์การควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ (KDCA) ระบุว่า วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 2 ยี่ห้อ คือไฟเซอร์ และแอสตราเซเนเกา มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 86.6 โดยวัคซีนไฟเซอร์ที่พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเท็ค มีประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 89.7 ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาอยู่ที่ร้อยละ 86

ผลการศึกษานี้สำรวจจากประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 3.5 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. 2564 ในจำนวนนี้มี 521,133 คนที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งข้างต้นเพียงคนละ 1 โดส จากที่ต้องฉีดคนละ 2 โดส พบว่า ในจำนวน 1,237 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 มีเพียง 29 คนเท่านั้นที่เป็นผู้ผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว ชี้ให้เห็นว่า แม้จะได้วัคซีนเพียงโดสเดียว แต่ก็เพิ่มโอกาสการป้องกันโรคให้สูงขึ้นได้ แต่แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาที่กำหนดก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 เพื่อให้ประสิทธิภาพการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นอีก

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษานี้ถูกเปิดเผยขึ้นเนื่องจากทางการเกาหลีใต้ต้องการให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากบางคนยังลังเลเพราะข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ยุน แท-โฮ (Yoon Tae-ho) เจ้าหน้าที่อาวุโส กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ ระบุว่า ร้อยละ 95 ของผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในเกาหลีใต้เป็นประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป และวัคซีนลดความเสี่ยงนี้ลงได้ ส่วนผลข้างเคียงต่างๆ นั้นโอกาสเกิดขึ้นก็น้อยมากรวมถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้

เกาหลีใต้มีประชากรประมาณ 52 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 6.7 ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศในเดือน ก.ย. 2564 และคาดว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน อนึ่ง เกาหลีใต้อนุญาตให้ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดส และมีใบตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ผลเป็นลบ และไม่มีอาการใดๆ เมื่อเดินทางกลับประเทศไม่ต้องกักตัว 14 วัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 4 พ.ค. 2564 อยู่ที่ 676 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวมอยู่ที่ 124,945 คน และเสียชีวิตสะสมรวม 1,847 ราย

ม.พะเยา นำร่องติดตั้ง ‘หอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด’ เครื่องที่ 3 ของประเทศ

จากปัญหา สภาพอากาศ และฝุ่น PM 2.5ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีระดับสูงเกินมาตรฐานซึ่งจะเกิดในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของนิสิต บุคลากร และประชาชน ที่เข้ามาใช้บริการและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยพะเยา โดยสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา และหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านวิศวศึกษาโดยมีชุมชนเป็นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณะสุขศาสตร์ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & lnnovation for Sustainbility Center-RISC) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDE) ด้านความร่วมมือทดสอบต้นแบบหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) ภายใต้ชื่อโครงการ “ฟ้าใส รุ่นที่ 2” ซึ่งเป็นหอฟอกอากาศกลางแจ้งผ่านระบบการปล่อยละอองน้ำ เพื่อดักจับฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน และสามารถฟอกอากาศได้เป็นระยะรัศมี 20 เมตร จากหอฟอกอากาศ

รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยาได้มอบหมายให้ ดร.ชัชวาล วงค์ชัย ผู้ช่วยอธิการบดี ดูแลการติดตั้งหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) ณ บริเวณลานสนามกีฬากลางแจ้ง มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 64 โดยได้ทำการลงพื้นที่ พร้อมด้วยทีมงานนักวิจัย เพื่อทดสอบการติดตั้ง และตรวจสอบความเรียบร้อยของหอฟอกอากาศ ผ่านการร่วมมือของนักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา ผศ.ดร. ธนาทิพย์ จันทร์คง คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้า และ ดร.ปฎิพัทธ์ วงค์เรือง คณะสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยขนาดหอฟอกอากาศนี้มีขนาด 2.4*2.4*5.1 เมตร โดยหลักการทำงานระบบการกำจัดฝุ่น Jet Venturi Scrubber จะเป็นการพ่นละอองน้ำขนาดเล็กเพื่อดักฝุ่น และมีระบบดูดอากาศจากด้านบนตัวเครื่องผ่านระบบการจัดการฝุ่นและฆ่าเชื้อ และพ่นอากาศที่บริสุทธิ์ได้ในรัศมี 20 ถึง 25 เมตร โดยตัวเครื่องได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อน โดยการติดตั้งหอฟอกอากาศเครื่องแรก ในปี 63 ในโครงการ 101 True Digital Park กรุงเทพมหานคร เครื่องที่ 2 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสัน และเครื่องที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา

การติดตั้งหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) ในครั้งนี้เพื่อเป็นการฟอกอากาศในสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยเป็นแหล่งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของประชาชน พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อการดูและสุขภาพในสภาวะฝุ่นควัน ทั้งสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการรับมือในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในอนาคต โดยผ่านการร่วมมือของสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านวิศวศึกษาโดยมีชุมชนเป็นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ หน่วยวิจัยมลพิษบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมหาวิทยาลัยพะเยา และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาต่อไป


'ไทย'ส่งออก‘ทุเรียน’ไปจีน ไตรมาสแรกพุ่ง 14% มูลค่า 5.79 พันล้านบาท

5 พฤษภาคม 2564 อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย เปิดเผยว่าไทยส่งออกทุเรียน มูลค่า 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.79 พันล้านบาท) ไปยังจีน ในไตรมาสแรกของปี 2021

อรมนระบุว่ายอดจำหน่ายทุเรียนไทยไปจีนระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และครองสัดส่วนร้อยละ 88 ของมูลค่าการจำหน่ายทุเรียนทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก

เมื่อปี 2020 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน คิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.67 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากปี 2019 และครองสัดส่วนร้อยละ 73 ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก

อรมนเสริมว่าจีนกลายเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของทุเรียนไทย ซึ่งเป็นผลจากการค้าขายปลอดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)


สธ.ใช้'อิมแพค เมืองทอง'ตั้งรพ.สนาม รองรับกว่า 5 พันเตียง-ลดแออัดในรพ.

5 พ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมครม. รับทราบการดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว จากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงซึ่งเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรง คือมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินแล้วว่าการตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองนี้จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลลง เพื่อให้ส่วนของโรงพยาบาลมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักได้มากขึ้น

ส่วนของพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ซึ่งใช้โรงพยาบาลสนามทั่วไปและHospitel อยู่นั้น เวลานี้มีพื้นที่เพียงพอ ยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพิ่ม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลโรงพยาบาลสนาม ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ได้ลงพื้นที่เพื่อวางแผนนั้น ที่นี่จะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง โดยใช้พื้นที่อาคาร 1 และ 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ภายในจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง

ทั้งนี้ หลังจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่น ๆ ติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการรักษาได้เริ่มมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้นด้วย เพื่อเป็นการหยุดยั้งการอักเสบของปอด และยืนยันว่าขณะนี้ปริมาณยามีเพียงพอ จากที่ได้มีการนำเข้ามามา 2 ล้านเม็ดในช่วงปลายเดือนเม.ย. ซึ่งมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว 1 ล้านเม็ด อยู่ในคลังกลาง 1 ล้านเม็ด อยู่ระหว่างการสั่งซื้ออีก 3 ล้านเม็ด จะเข้ามาในประเทศภายในเดือนพ.ค.นี้ และองค์การเภสัชกรรมยังมีแผนการผลิตยาชนิดนี้เองในประเทศด้วย


โควิด-19 บุกสวนสัตว์'อินเดีย' พบ‘สิงโตเอเชีย’ติดเชื้อ 8 ตัว

5 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ทางการอินเดียรายงานการตรวจพบสิงโตเอเชีย ที่สวนสัตว์แห่งหนึ่งในเมืองไฮเดอราบัดทางตอนใต้ของประเทศ มีผลตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นบวก จำนวน 8 ตัว

รายงานระบุว่าสิงโตที่ติดเชื้อมีการฟื้นตัวได้ดี และผลวิเคราะห์ตัวอย่างพบว่าไม่ใช่เชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ โดยสิงโตที่ติดเชื้อทั้งหมดถูกกักตัวแยกกัน ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม รวมถึงได้รับการรักษาที่จำเป็นแล้ว

“สิงโตทั้ง 8 ตัวตอบสนองต่อการรักษาและการฟื้นตัว พวกมันมีพฤติกรรมปกติและกินอาหารได้ดี ด้านเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และสวนสัตว์ได้ปิดให้บริการเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับภายนอกให้น้อยที่สุด” กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอินเดียระบุ

กระทรวงฯ เสริมว่าไม่มีหลักฐานว่าสัตว์สามารถแพร่กระจายโรคสู่มนุษย์ได้

ทั้งนี้ วันพุธ (5 พ.ค.) กระทรวงสาธารณสุขกลางของอินเดียรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 382,315 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 3,780 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมง

'กองทัพเมียนมา'แบนทีวีดาวเทียม ชี้เป็นภัยความมั่นคง

5 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สื่อของทางการเมียนมาประกาศวานนี้ ห้ามการใช้เครื่องรับโทรทัศน์ดาวเทียม โดยระบุว่า การแพร่ภาพออกอากาศจากนอกประเทศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและขู่จะลงโทษจำคุกผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการนี้

เอ็มอาร์ทีวี สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเมียนมา กล่าวว่า โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกต่อไปแล้ว ผู้ใดที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยโทรทัศน์และวิดิทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้จานดาวเทียมในการชมโทรทัศน์จะถูกลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับอีก 500,000 จ๊าด หรือประมาณ 10,000 บาท

เอ็มอาร์ทีวี กล่าวด้วยว่า บรรดาสื่อสำนักที่ผิดกฎหมายกำลังแพร่ภาพออกอากาศข่าวที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ หลักนิติธรรม และความสงบเรียบร้อย รวมถึงส่งเสริมผู้ที่ก่อการกบฏ เมียนมาเผชิญกับการประท้วงรายวันจากผู้ที่ต่อต้านรัฐประหาร

เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในเมียนมาถูกรัฐบาลปิดกั้นเป็นส่วนใหญ่เพื่อขัดขวางการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความรุนแรงขยายวงกว้างและสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของเมียนมากล่าวว่า กองกำลังความมั่นคงสังหารประชาชนไปแล้วมากกว่า 760 ราย แต่รัฐบาลทหารเมียนมาโต้แย้งว่า ตำรวจและทหารเสียชีวิตไปแล้ว 24 ราย ในระหว่างเกิดการประท้วง