เกิดเหตุสารพิษรั่วไหลออกจากโรงงานเคมีในประเทศอินเดีย ส่งผลกระทบต่อประชาชนนับพันคน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ศพ และต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลอีกกว่า 800 ราย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สาร ‘สไตรีน’ ซึ่งมีความเป็นพิษสูง รั่วไหลจากโรงงานเคมี ‘LG Polymers’ ของเกาหลีใต้ ใกล้หมู่บ้านซึ่งมีประชากรราว 3,000 คน ในเมือง วิสาขปัตนัม รัฐอานธรประเทศ ของอินเดีย เมื่อเวลาประมาณ 3:00น. วันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ค. 2563
เจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติเผยว่า สารแพร่กระจายเป็นวงกว้างรัสมีถึง 3 กม. โดยพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนถึง 10,000 คน และมีผู้สัมผัสกับสารพิษโดยตรงเกือบ 1,000 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบอพยพประชาชนซึ่งล่าสุดอพยพไปแล้วกว่า 5,000 คน ขณะที่มีภาพเผยแพร่บนโลกออนไลน์แสดงให้เห็นคนจำนวนมากนอนหมดสติบนพื้น บางคนแบกร่างผู้บาดเจ็บหรือหมดสติวิ่งหนีจากที่เกิดเหตุ
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 13 ราย โดยนาย เมฆาพาตี กูธัม เรดดี รัฐมนตรีอุตสาหกรรม, พาณิชย์ และเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐอานธรประเทศระบุว่า ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เสียชีวิตในรถ หรือบริเวณระเบียงบ้าน หลังจากพวกเขาหมดสติเพราะแก๊สพิษจนล้มทั้งยืน ขณะที่บางคนก็หมดสติขณะนอนหลับ
ด้านนาย บีเค นาอิค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นเผยว่า ผู้ที่เข้ารับการในโรงพยาบาลทุกคนมีอาการทรงตัว โดยมี 86 รายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ส่วนใหญ่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว
ทั้งนี้ โรงงานเคมี LG Polymers เพิ่งได้เปิดทำการหลังจากถูกปิดตั้งแต่ 24 มี.ค. ตามมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 โดยนาย สวารูป รานี เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสเมืองวิสาขปัตนัมคาดว่า แก๊สตัวนี้คงถูกปล่อยไว้โดยไม่มีการดูแลตั้งแต่ล็อกดาวน์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับความร้อนขึ้นภายในแทงก์เก็บ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรั่วไหล
ขณะที่นายเรดดีกล่าวว่า ตอนนี้พวกเขากำลังเตรียมการดำเนินคดีตามกฎหมายกับโรงงานนี้ เนื่องจากดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ของโรงงานจะไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเหมาะสม และได้แจ้งเรื่องนี้ต่อสถานทูตเกาหลีใต้แล้ว
อนึ่ง สไตรีน เป็นของเหลวติดไฟได้ ไร้สีหรือมีสีเหลืองอ่อน ถูกใช้ในการผลิตพลาสติกโพลีสไตรีนและเรซิน นอกจากนี้ยังถูกใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร, หินอ่อนเทียม, แผ่นปูพื้น, เครื่องใช้สำหรับโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง และเฟอร์นิเจอร์พลาสติก
การหายใจเอาอาการที่ปนเปื้อนละอองของสารสไตรีนเข้าไป สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและลำคอ, ไอหรือจาม และทำให้เกิดของเหลวสะสมในปอด และการสัมผัสสารตัวนี้เป็นเวลานานจะทำให้เกิด ‘โรคจากสไตรีน’ (styrene sickness) อาการบ่งชี้คือ ปวดหัว, อาเจียน, อ่อนแรง, เหนื่อยล้า, มึนงงสับสน และเคลื่อนไหวได้อย่างไม่มั่นคง เพราะแรงกดดันต่อระบบประสาทส่วนกลาง ในบางกรณีอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติถึงขั้นโคม่า
นอกจากนี้ ผลการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายชิ้นชี้ว่า การสัมผัสสารสไตรีนอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคลูคีเมียและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน
7 พฤษภาคม 2563 เมื่อวันพุธ (6 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้โหวตคัดค้าน (วีโต้) การลงมติที่จำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการใช้กองกำลังทหารกับอิหร่าน
“นี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่หมิ่นประมาทอย่างยิ่ง ซึ่งถูกเสนอโดยพรรคเดโมแครต อันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อคว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ด้วยการแบ่งแยกพรรครีพับลิกัน” ทรัมป์ กล่าวในการใช้สิทธิ์วีโต้พร้อมเสริมว่า “จะมีสมาชิกรีพับลิกันแค่ไม่กี่คนที่โหวตให้ เพราะพวกเขาจะใช้สิทธิ์ในมือตัวเองได้อย่างถูกต้อง”
ทรัมป์ ชี้ว่า มตินี้จะทำลายความสามารถของประธานาธิบดีในการปกป้องสหรัฐอเมริกา พันธมิตร และหุ้นส่วนของเรา
“รัฐสภาไม่ควรผ่านมตินี้” เขากล่าวเสริม
สื่อสหรัฐฯ รายงานภายหลังว่า วุฒิสภาตั้งเป้าจะลงมติคัดค้านการใช้วีโต้ของทรัมป์ในวันพฤหัสบดี (7 พ.ค.) แต่คาดว่าจะขาดเสียงสนับสนุน 2 ใน 3
ทิม เคน วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการดำเนินการทางกฎหมายครั้งนี้ทวีตว่า “ผมขอให้เพื่อนร่วมงานทุกท่านเข้าร่วมการลงคะแนนครั้งนี้ เพื่อยับยั้งการใช้สิทธิ์วีโต้ของทรัมป์ ก่อนที่เขาจะส่งกองกำลังของเราไปสู่ภยันตราย”
สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติมติดังกล่าวในการลงคะแนนเสียงที่ส่วนใหญ่เป็นไปตามมติพรรค นั่นคือ 227 ต่อ 186 ในเดือนมีนาคม ส่วนวุฒิสภาที่ควบคุมโดยพรรครีพับลิได้ผ่านมติดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์
การใช้วีโต้เกิดขึ้นเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ยังคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ กล่าวว่า เขาได้สั่งให้กองทัพเรือสหรัฐฯ ทำลายเรือปืนทุกชนิดของอิหร่าน หากพวกเขาคุกคามเรือสหรัฐฯ ในทะเล ขณะที่เจ้าหน้าที่อิหร่านออกมาสบประมาทสหรัฐฯ และปฏิญาณว่าจะตอบโต้หากความปลอดภัยของดินแดนอิหร่านตกอยู่ในความเสี่ยง
สารภูมิคุ้มกันจากตัวลามา ใช้เป็นต้นแบบผลิตวัคซีนและลบล้างฤทธิ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ – BBCไทย
สัตว์เลี้ยงน่ารักขนตางอนจากภูมิภาคอเมริกาใต้ อย่างตัวลามา หรือ ยามา (Llama) ไม่ได้มีไว้เพื่อนำขนมาทอเป็นผืนผ้าแสนอบอุ่นเท่านั้น แต่ในเลือดของมันยังมีสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีชนิดพิเศษ ที่มนุษย์สามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อสังเคราะห์วัคซีนและยายับยั้งฤทธิ์ไวรัสได้หลายชนิด ซึ่งล่าสุดยังพบว่าสามารถใช้ป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยเกนต์ของเบลเยียมและสถาบันวิจัยอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการค้นพบล่าสุดในวารสาร Cell โดยชี้ว่าแอนติบอดีของลามา ซึ่งเคยใช้ยับยั้งการก่อโรคและลบล้างฤทธิ์ของไวรัสได้ผลมาแล้วหลายชนิด ทั้งกับไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) มีประสิทธิภาพแบบเดียวกันในการป้องกันและกำจัดไวรัสซาร์สซีโอวีทู (SARS-CoV-2) ที่ก่อโรคโควิด-19 ด้วย
การค้นพบครั้งนี้ต่อยอดจากงานวิจัยที่เริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน โดยทีมวิจัยจากเบลเยียมพบว่าแอนติบอดีจาก "วินเทอร์" ลูกลามาวัยสี่เดือนในขณะนั้น สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโรคซาร์สและโรคเมอร์สให้กับเซลล์ของมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในจานทดลองได้เป็นเวลานานถึง 6 สัปดาห์ และในครั้งนี้แอนติบอดีจากลามาตัวเดิมก็สามารถยับยั้งไวรัสโรคโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการได้เช่นกัน
การที่แอนติบอดีของลามา ขนาดเล็กกว่าของมนุษย์มาก จึงสามารถเข้าจับกับตัวรับบนหนามของไวรัสโคโรนาได้อย่างละเอียดทั่วถึง ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้สูงกว่า
นายแดเนียล แรปป์ นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตออสติน หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "ฉลามมีแอนติบอดีแบบนี้เหมือนกัน แต่เราคงจะทำการทดลองกับมันได้ยากอยู่ เทียบกันแล้วลามาเป็นสัตว์ว่าง่ายและน่ารักน่ากอดกว่าเยอะ หากมันไม่ชอบใครก็จะแค่ถ่มน้ำลายใส่เท่านั้น"
วัคซีนที่สังเคราะห์โดยใช้แอนติบอดีของลามาเป็นต้นแบบ สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกายได้ทันที ซึ่งต่างกับวัคซีนทั่วไปที่ต้องรอราว 1-2 เดือน นอกจากนี้ ยังอาจให้แอนติบอดีดังกล่าวกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงของอาการลงได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้จะมีฤทธิ์ป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพียงชั่วคราวราว 1-2 เดือนหลังได้รับวัคซีนเท่านั้น และจำเป็นจะต้องมีการฉีดซ้ำ
ดร. ซาเวียร์ แซเลนส์ นักไวรัสวิทยาโมเลกุลจากมหาวิทยาลัยเกนต์ของเบลเยียมบอกว่า "ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กว่าจะทำการทดสอบแอนติบอดีของลามาไปจนถึงขั้นทดลองในมนุษย์ได้ แต่หากมันได้ผล เจ้าวินเทอร์ก็สมควรจะมีอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติกับเขาได้แล้ว"
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 มีรายงานข่าวแจ้งว่า นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อายุ 56 ปี ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ได้เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยก่อนหน้านี้ นายอิทธิรัตน์ รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 16.00 น.วันที่ 8 พ.ค.ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน
สำหรับประวัติของ นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ เป็น ส.ส.ลำปาง มา 5 สมัย ตั้งแต่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย
นายอิทธิรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2507 เป็นบุตรของ นายพินิจ จันทรสุรินทร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางจุไรรัตน์ มีพี่น้อง 3 คน หนึ่งในนั้นคือ นายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง เขต 3 สำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับ นางภุมรา มีบุตร 1 คน
สำนักข่าว South China Morning Post สื่อภาษาอังกฤษในฮ่องกง รายงานวันที่ 7 พ.ค. อ้างรายงานการวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Infection, Genetics and Evolution โดยทีมนักวิจัยจาก University College London และ the University of Reunion Island ว่า โรคโควิด-19 อาจเริ่มระบาดในมนุษย์ตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 ตุลาคม ถึง 11 ธันวาคมปีที่แล้ว
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ใช้ตัวอย่างไวรัสโควิด-19 จำนวน 7,710 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ลักษณะการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมในไวรัส ซึ่งจะทำให้เห็นวิวัฒนาการและสามารถย้อนไปถึงบรรพบุรุษของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะทำให้นักวิจัยคาดการณ์การระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ได้
นอกจากการวิจัยจะทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า โรคโควิด-19 อาจระบาดมาตั้งแต่เดือนตุลาคมแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังวิเคราะห์ว่า โรคโควิด-19 อาจแพร่กระจายอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดแล้ว
การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มถูกพูดถึงเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังมีรายงานผู้ป่วยรายแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีน แต่ในตอนนี้เริ่มมีการตั้งสมมุติฐานว่า โลกอาจเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ซึ่งนอกจากงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีการเปิดเผยจากแพทย์ในฝรั่งเศส ซึ่งทำการตรวจเชื้อผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคโควิด-19 ย้อนหลัง และพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยที่ผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่เคยมีประวัติไปเมืองอู่ฮั่น
ขณะเดียวกันยังมีการเปิดเผยจากนักระบาดวิทยาชาวสวีเดนที่เชื่อว่า อาจมีผู้ป่วยโควิด-19 จากเมืองอู่ฮั่นเดินทางไปสวีเดนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และเริ่มมีการระบาดในสวีเดนตั้งแต่ตอนนั้น
นอกจากนี้สำนักข่าว South China Morning Post เคยรายงานอ้างเอกสารของรัฐบาลจีนว่า พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในมณฑลหูเป่ยตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายนอีกด้วย
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012