ข่าว
เจาะปม 'รัฐประหารในไนเจอร์' ส่อเค้าเขย่าแอฟริกาตะวันตก

4 ส.ค. 2566: BBC: เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว ที่สถานการณ์ในไนเจอร์ ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ต้องตกอยู่ในความตึงเครียด ไร้เสถียรภาพ หลังจากกลุ่มทหารที่มีอิทธิพลในกองทัพ ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาลพลเรือน และควบคุมตัวประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม และครอบครัว ตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา

ที่น่าวิตก ก็คือ เหตุรัฐประหารในไนเจอร์ ซึ่งทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับกินี, บูร์กินาฟาโซ และมาลี ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ที่เกิดรัฐประหารไปก่อนหน้านั้น ยังมีทีท่าส่อเค้าบานปลาย จนถึงขั้นมีคำเตือนออกมาแล้วว่าสามารถจะสั่นคลอนเสถียรภาพภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกได้เลยทีเดียว

คณะทหารประกาศก่อรัฐประหาร ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติไนเจอร์

ส่องปัจจัยนำไปสู่การเกิดรัฐประหารในไนเจอร์

ไนเจอร์ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และตั้งอยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา ในแอฟริกาตะวันตก มีประชากรประมาณ 15 ล้านคน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การเกิดรัฐประหารในไนเจอร์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เคยเกิดการรัฐประหารในสมัยประธานาธิบดี Mamadou Tandja ที่โดนกองทัพยึดอำนาจในปี ค.ศ. 2010

สำหรับการก่อรัฐประหารครั้งนี้ คณะทหารนำโดย พล.อ.อับดูราฮามาเน ชีอานี ผู้บัญชาการกองกำลังอารักขาประธานาธิบดี ซึ่งประกาศตั้งตัวเองเป็นผู้นำคนใหม่ของไนเจอร์ ได้อ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจประธานธิบดีบาซูมว่า เนื่องจากความไม่มั่นคงในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเศรฐกิจย่ำแย่ และ การไร้ธรรมาภิบาลในประเทศ

พล.อ.อับดูราฮามาเน ชีอานี ประกาศตั้งตัวเองเป็นผู้นำใหม่ของไนเจอร์ หลังคณะทหารก่อรัฐประหารเมื่อ 26 ก.ค.2023

ในขณะที่ สถานการณ์ในไนเจอร์ ถึงแม้มีกำลังทหารต่างชาติ โดยเฉพาะทหารจากฝรั่งเศส ในฐานะที่เคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมของไนเจอร์มาก่อน รวมทั้งสหรัฐฯ ถูกส่งมาประจำการ ตั้งฐานทัพอยู่ในไนเจอร์ แต่ก็ดูเหมือนไม่สามารถหยุดยั้งเหตุการณ์รุนแรง-ความไม่สงบ จากการถูกโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงให้ลดน้อยได้

ตอนนี้ มีกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอัลไคดา กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอซิส และกลุ่มโบโกฮาราม ที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในไนเจอร์ จนทำให้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันศพและผู้คนจำนวนมากต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหาความปลอดภัย

กลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐประหาร ออกมาชุมนุมแสดงความยินดี โบกสะบัดธงชาติรัสเซีย

ผู้ประท้วงในไนเจอร์ เชียร์รัสเซีย-กลุ่มวากเนอร์

หลังเกิดรัฐประหารในไนเจอร์ แม้มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงต่อต้านการก่อรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็มีเยาวชนหลายร้อยคนรวมกลุ่มกันในกรุงนีอาเม เมืองหลวงของไนเจอร์ เพื่อเฉลิมฉลองด้วยความยินดี พร้อมกับโบกสะบัดธงชาติรัสเซีย ที่ได้เข้าไปขยายอิทธิพลทั้งเศรษฐกิจ การทหารและการเมืองในทวีปแอฟริกา พร้อมทั้งยังตะโกนชื่อกลุ่มทหารรับจ้างเอกชน 'วากเนอร์' ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประท้วงได้ประณามฝรั่งเศส และยังบุกเข้าไปในสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงนีอาเม และจุดไฟเผาประตูด้วย

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนบางส่วนในเจอร์เชื่อมั่นในคณะก่อรัฐประหารซี่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และกลุ่มวากเนอร์ว่าจะสามารถต่อสู้ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงได้ดีกว่ารัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาซูม ซึ่งถือเป็นพันธมิตรหลักในภูมิภาคนี้ของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ

กลุ่มผู้ประท้วงบุกทำลายทรัพย์สินและจุดไฟเผาประตูสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงนีอาเม หลังเกิดรัฐประหาร

กองทัพไนเจอร์มองทหารต่างชาติเข้ามาบ่อนทำลาย

ขณะเดียวกัน การมีกำลังทหารต่างชาติอยู่ในไนเจอร์จำนวนมากและตั้งฐานทัพอยู่ในไนเจอร์นั้น ไม่ได้รับการต้อนรับด้วยดีจากทหารในกองทัพไนเจอร์ โดยเชื่อว่าทหารต่างชาติเหล่านี้เข้ามาบ่อนทำลายกองทัพ

ในขณะที่ไนเจอร์ เป็นพันธมิตรสำคัญของชาติตะวันตกในการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงนั้น ฝรั่งเศสได้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยูเรเนียมในไนเจอร์ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งถูกมองว่าแสวงผลประโยชน์ในเรื่องความมั่นคงในไนเจอร์ด้วย

ในปี 2019 สหรัฐฯ ได้เปิดฐานโดรนแห่งหนึ่งที่ไนเจอร์ ท่ามกลางเสียงประท้วงต่อต้านของประชาชน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไนเจอร์ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงและทำให้ประเทศชาติไร้เสถียรภาพมากขึ้น

ในปี 2022 ฝรั่งเศสและชาติพันธมิตรอื่นๆ ในยุโรปได้ถอนกำลังออกจากมาลี ประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ประธานาธิบดีบาซูมกลับเปิดประตูเชื้อเชิญให้ทหารต่างชาติเหล่านี้เข้ามาประจำการในไนเจอร์ทันที

ผู้แทนชาติสมาชิกกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS ร่วมประชุมฉุกเฉินที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงไนจีเรีย เมื่อ 31 ก.ค. 2023 หลังเกิดรัฐประหารในไนเจอร์

จับตากลุ่ม ECOWASจะใช้กำลังทางทหารหรือไม่ หลังเลยเส้นตาย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากเหตุรัฐประหารในไนเจอร์ นอกจากประชาคมโลก ชาติตะวันตกได้ออกมาประณามและเรียกร้องให้คณะก่อรัฐประหารในไนเจอร์ปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซูม ขณะเดียวกันชาติตะวันตกเหล่านี้ก็มีการอพยพประชาชนออกจากไนเจอร์นั้น

เรื่องที่กำลังถูกจับตาก็คือ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้นำประเทศแอฟริกาตะวันตก 15 ชาติ ในนามสมาชิกกลุ่ม 'ประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก' หรือ ECOWAS ซึ่งได้ไปร่วมประชุมฉุกเฉินกันที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงไนจีเรีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ขีดเส้นตายให้คณะรัฐประหารในไนเจอร์ ต้องปล่อยตัวและคืนอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีบาซูม ภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นกลุ่ม ECOWAS จะใช้ทุกมาตรการที่มี เพื่อฟื้นฟูการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่ไนเจอร์ รวมทั้งการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน และการใช้กำลัง ทางทหาร

ท่าทีแข็งกร้าวของกลุ่ม ECOWAS ที่ประกาศจะใช้กำลังทหารเข้าไปแทรกแซง ยุติเหตุรัฐประหารในไนเจอร์ ต้องถือเป็นครั้งแรกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่กลุ่ม ECOWAS ได้พิจารณาและตกลงกันว่าจะใช้กำลังทางทหารเข้าไปแทรกแซง และฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศที่เกิดเหตุรัฐประหารเลยทีเดียว

หลังจากถูกมองว่าล้มเหลวในการหยุดยั้งเหตุรัฐประหารในกินี, บูร์กินาฟาโซ และมาลี

ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 และวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2023 เมืองใหญ่หลายเมืองของไนเจอร์ต้องตกอยู่ในความมืด ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยการไฟฟ้าไนเจอร์ชี้ว่า เนื่องมาจากถูกไนจีเรีย ชาติเพื่อนบ้านทางใต้ 'ตัดไฟ' ไม่ยอมจ่ายกระแสไฟฟ้ามาให้ จนทำให้มีการวิเคราะห์ว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ECOWAS ในการตอบโต้การก่อรัฐประหารในไนเจอร์หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องติดตามสถานการณ์ตึงเครียดในไนเจอร์กันต่อไปว่า กลุ่ม ECOWAS จะส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซง เพื่อหวังยุติเหตุรัฐประหารในไนเจอร์หรือไม่ และขณะเดียวกัน คณะก่อรัฐประหารในไนเจอร์ จะต้องไปพึ่งพิงรัฐบาลทหารของชาติเพื่อนบ้านในมาลี รวมถึงรัสเซีย และกลุ่มวากเนอร์ เพื่อสู้กับชาติตะวันตกและกลุ่ม ECOWAS หรือไม่

เพียงแค่คิดว่าสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้น คำเตือนที่ว่า เหตุรัฐประหารในไนเจอร์ สามารถจะสั่นคลอนภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกได้นั้น ก็พอส่อเค้ารางขึ้นแล้ว

ผู้เขียน :อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : theconversation, BBC

สหรัฐฯ ยังรอคำตอบจากจีน หลังส่งเทียบเชิญ “หวัง อี้” เยือนวอชิงตัน

รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า ยังไม่มีท่าทีเพิ่มเติมจากจีน ว่านายหวัง อี้ เจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลปักกิ่ง จะเยือนกรุงวอชิงตันตามคำเชิญหรือไม่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลวอชิงตันยังคงรอการตอบสนองจากรัฐบาลปักกิ่ง เกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเชิญนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของจีน และ รมว.การต่างประเทศจีน เยือนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้การพบหารือกันมีความต่อเนื่อง

เดิมทีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ วางแผนการดังกล่าว ให้เป็นการเชิญนายฉิง กัง แต่เกิดความเปลี่ยนแปลง “อย่างฉับพลัน” ภายในกระทรวงการต่างประเทศของจีนก่อน เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ บลิงเคนเคยพบหารือกับฉิน ระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และพบหารือกับหวัง นอกรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อเดือน ก.ค.

ขณะที่นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวถึงเรื่องนี้เพียงว่า รัฐบาลปักกิ่ง “มุ่งมั่นรักษาช่องทางการติดต่อสื่อสาร” กับรัฐบาลวอชิงตัน

อนึ่ง นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวถึงการส่งคำเชิญไปยังเจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของจีนว่า “เป็นการเยือนที่น่าจะเกิดขึ้น” และคาดการณ์ช่วงเวลาเหมาะสมไว้ ระหว่างนอกรอบการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่นครนิวยอร์ก ในเดือน ก.ย. นี้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES...


ยูเครนส่ง “โดรนทางทะเล” บรรทุกไดนาไมต์หนักครึ่งตัน-ถล่มเรือรบยกพลรัสเซีย

บีบีซี รายงานวันที่ 4 ส.ค.: ว่า เรือรบยกพลของกองทัพเรือรัสเซียได้รับความเสียหายถูกโดรนทางทะเลโจมตีใกล้ท่าเรือใน เมืองโนโวรอสซีสก์ ดินแดนครัสโนดาร์ เมืองท่าสำคัญของรัสเซียในทะเลดำ

โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่ากองทัพสามารถยับยั้งโดรนทางทะเล 2 ลำที่ยูเครนใช้โจมตีนอกฐานทัพเรือและโดรนทั้งสองลำถูกยิงทำลาย แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหาย

ด้านแหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคงของยูเครนระบุว่า เรือรบยกพลโอเลเนกอร์สกี กอร์นึก ถูกโจมตีและได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งยังกล่าวด้วยว่าโดรนทางทะเลซึ่งออกแบบมาเพื่อบรรทุกอุปกรณ์และบุคลากร มีกำลังบรรทุกไดนาไมต์ที่น้ำหนักสูงสุด 450 กิโลกรัม

ขณะเดียวกันมีคลิปวิดีโอที่แหล่งข่าวเปิดเผยต่อบีบีซีเผยให้เห็นวัตถุคล้ายโดรนทางทะเลกำลังมุ่งหน้าประชิดเรือลำหนึ่งที่คาดว่าเป็นเรือยกพลโอเลเนกอร์สกี กอร์นึก ก่อนที่คลิปจะตัดจบ อย่างไรก็ตาม กองทัพยูเครนยังไม่แถลงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเม.ย.2565 กองทัพยูเครนเคยยิงขีปนาวุธเนปจูนโจมตี เรือลาดตระเวนติดอาวุธนำวิถี มอสกวา จนเกิดระเบิดมีเพลิงไหม้และจมลงสู่ทะเลดำ โดยเรือมอสกวาเป็นเรือลำเดียวกันกับที่รัสเซียใช้บุกโจมตีเกาะงูของยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ในปีเดียวกัน

แม้กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงเบื้องต้นว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจากเพลิงไหม้บนเรือจนเครื่องกระสุนและขีปนาวุธเกิดระเบิด แต่ภายหลังแถลงรับว่าเรือมอสกวาถูกโจมตีจนอับปางจริง

คาดว่าเป็นฝีมือยูเครน แต่ไม่มีผู้ได้รับอันตรายเพราะอพยพลูกเรือหลายร้อยนายออกจากจุดเกิดเหตุได้ทัน ถึงอย่างนั้นก็สร้างความเดือดดาลให้รัสเซียเพราะถือเป็นเรือรบ ลำใหญ่ที่สุดของรัสเซียที่ถูกโจมตี


ดินถล่มในจอร์เจีย เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุดินถล่มที่โชวี (Shovi) เมืองตากอากาศเล็กๆ บนภูเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจอร์เจียซึ่งขึ้นชื่อเรื่องป่าไม้อันกว้างใหญ่และน้ำแร่

มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 11 ราย และยังสูญหายอีกหลายสิบคน

นายกรัฐมนตรีอิราคลี การิบาชวิลี ของจอร์เจีย อัพเดทสถานการณ์ว่า ทางการได้ส่งหน่วยกู้ภัยไปยังที่เกิดเหตุแล้วและได้ร้องขอกำลังเสริมบางส่วนจากกองทัพมาช่วยในการค้นหา เพราะเหตุดินถล่มที่เกิด ค่อนข้างรุนแรง

ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวว่า ผู้สูญหายภายใต้ดินถล่มดังกล่าว มีประมาณ 25 คน

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังขุดดินเพื่อค้นหาผู้ถูกฝังอยู่ใต้นั้น พร้อมระดมรถขุดเพื่อทำงานตักหน้าดิน

ทางการอพยพผู้คนกว่า 200 คนออกจากพื้นที่ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์และสุนัขกู้ภัยถูกส่งไปช่วยปฏิบัติการค้นหา

เมืองโชวี ตั้งอยู่บนจุดบรรจบของแม่น้ำสองสายในหุบเขาห่างไกลทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหลวงทบิลิซี

มีรายงานว่า นอกจากมีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายแล้ว บ้านเรือน, สะพาน และถนนในพื้นที่หลายสายก็ถูกทำลายเช่นกัน

นักธรณีวิทยาจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของจอร์เจีย กล่าวว่า ดินถล่มเมื่อวันพฤหัสบดีเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน และไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก

“เหตุเกิดจากธารน้ำแข็ง 2 แห่งในต้นน้ำของแม่น้ำเริ่มละลายอย่างหนักและไหลลงมาพร้อมกับฝนตกหนัก จนหน้าดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว และถล่มลงมาในที่สุด” นักธรณีวิทยาฯกล่าว

ฝนตกหนักและน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติธรรมดาในจอร์เจีย ซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่ลาดชันที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม

ดาวเทียมทำแผนที่ลมกลับโลกปลอดภัย

โดยทั่วไปแล้ว ดาวเทียมที่ปลดระวางการใช้งานมักจะถูกเผาไหม้เมื่อร่วงกลับสู่โลก แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนองค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ รายงานว่าดาวเทียมเอโอลัส (Aeolus) น้ำหนัก 1,360 กิโลกรัม ที่ใช้ทำแผนที่ลมของโลกจากอวกาศและโคจรรอบโลกเป็นเวลา 5 ปีได้หวนกลับสู่พื้นโลกสำเร็จ หลังได้รับการช่วยเหลือที่ออกแบบมาอย่างละเอียดอ่อนเพื่อให้ลดความเสียหายในหลายๆ อย่างที่จะมาจากเศษซากของดาวเทียม และนับเป็นครั้งแรกที่หน่วยควบคุมภารกิจของอีเอสเอได้พยายามช่วยให้ดาวเทียมดวงนี้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

นักวิทยาศาสตร์อีเอสเอเผยได้ตัดสินใจใช้เชื้อเพลิงของดาวเทียมเอโอลัสที่เหลืออยู่น้อยนิด ในการช่วยให้มันไม่เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ และตกสู่มหาสมุทรในแอนตาร์กติกาแบบปลอดภัย โดยเริ่มจากเมื่อ 24 ก.ค.ดาวเทียมตกลงจากวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit-SSO) ที่ระดับความสูง 320 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก มาอยู่ที่ความสูง 280 กิโลเมตร เครื่องยนต์ของดาวเทียมมีการเผาไหม้ 2 ครั้ง กินเวลารวมราว 38 นาที

สิ่งนี้ทำให้ระดับความสูงของดาวเทียมลดลง 250 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ต่อมา 27 ก.ค. ดาวเทียมได้เผาไหม้เครื่องยนต์อีก 4 ครั้ง ลดระดับวงโคจรลงไปที่ความสูง 150 กิโลเมตร และในวันที่ 28 ก.ค. ดาวเทียมได้รับคำสั่งครั้งสุดท้ายจากการควบคุมภาคพื้นดิน ส่งผลให้มันเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในราว 5 ชั่วโมงต่อมาและเริ่มเผาไหม้โดยไม่เป็นอันตราย

ดาวเทียมเอโอลัส ตั้งชื่อตามผู้พิทักษ์แห่งลมในตำนานเทพเจ้าของกรีก ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อ 22 ส.ค. 2561 ด้วยจรวด Vega จากศูนย์อวกาศคูรู ในเฟรนช์กิอานา เพื่อวัดรูปแบบลมของโลก และปรับปรุงการพยากรณ์อากาศในระยะสั้น เพื่อช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น