ข่าว
สภาป่วน "วัชระ"พาดพิง"แม้ว" ถูกสั่งหิ้วออกนอกห้องประชุม

เมื่อ 20 เม.ย. ที่ประชุมรัฐสภา เวลา 14.20 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 291/3 เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.ตามมาตรา 291/1(1) โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขโดยเพิ่มถ้อยคำ (5) ตามมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ซึ่งการอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง

จนถึงเวลา 17.20 น. ได้เกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อนายณรงค์ ดูดิง ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้หวังว่าเสียงข้างน้อยจะชนะ เพราะตลอดการประชุม 4 วันที่ผ่านมากรรมาธิการฯ ไม่ได้รับฟังเสียงข้างน้อย ดังนั้นการอภิปรายที่ผ่านมาเท่ากับเป็นการสีซอให้ควายฟัง

ทำให้นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงว่า อยากให้ประธานควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ เกี่ยวกับการใช้ถ้อย ที่ผู้อภิปรายระบุว่า สีซอให้ควายฟัง ถือเป็นคำเสียดสี เพราะตนก็ไม่อยากฟังควายพูดเช่นเดียวกัน ทำให้นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงขอให้นายพิเชษฐ ถอนคำพูดว่าควาย เพราะถือเป็นการดูถูกกัน

แม้พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม จะพยายามควบคุมการประชุมให้อยู่ในกรอบการประชุมและเกิดการประนีประณอมทั้ง 2 ฝ่าย แต่ทางส.ส.พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่หยุดอภิปรายและประท้วงในประเด็นดังกล่าวต่อเนื่อง จนสุดท้ายประธานก็ให้นายณรงค์ อภิปรายต่อ

เมื่อถึงช่วงการอภิปรายของนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายใน(5) โดยอภิปรายนอกประเด็นและพาดพิงถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคนลุกขึ้นประท้วง จนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ขอให้นายวัชระ อภิปรายอยู่ในประเด็น แต่นายวัชระยังคงพูดนอกประเด็นอยู่ นายสมศักดิ์ จึงขอให้ยุติการอภิปราย แต่นายวัชระไม่ยอมยุติ ยังคงพูดต่อไป แม้นายสมศักดิ์จะพยายามให้หยุดพูดก็ตาม

จนในที่สุดนายสมศักดิ์ ใช้อำนาจประธานด้วยการลุกจากที่นั่ง พร้อมสั่งให้นายวัชระนั่งลง แต่เมื่อนายวัชระไม่ยอมนั่งนายสมศักดิ์ จึงสั่งให้ตำรวจสภา นำตัวนายวัชระออกจากห้องประชุม โดยกำชับให้นำตัวออกไปอย่างสุภาพ แต่นายวัชระ ไม่ออก พร้อมปัดมือเจ้าหน้าที่ตำรวจสภาที่จะมาพาตัวออกไป ซึ่งนายสมศักดิ์ ได้กำชับให้อีกรอบให้ตำรวจสภายกมือไหว้และเชิญตัวออกไปอย่างสุภาพ ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลุกขึ้นยื่นประท้วง ที่จะไม่ให้คุมตัววัชระออกนอกห้องประชุม จนนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตะโกนว่า “ประธานใช้ข้อบังคับสองมาตรฐาน”

ทำให้นายสมศักดิ์ ชี้แจงอีกว่า ที่ผ่านมาตนอนุโลมให้มาโดยตลอดแต่เหตุการณ์ที่ตนสั่งให้ออกจากห้องประชุมเพราะหาทางออกไม่ได้ ทั้งนี้ขอให้นายวัชระยอมนั่งลงเถอะเพื่อให้การประชุมเดินหน้าไปได้ด้วยดี ในที่สุดนายวัชระยอมนั่งลงโดยดี

แต่นพ.วรงค์ เดชกิจกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นมาขอใช้สิทธิ์ว่า ขอนับองค์ประชุม

ทำให้นายสุนัยจุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมาขอให้ที่ประชุมตามระเบียบ เพราะในเมื่อการอภิปรายกันมาพอสมควรแล้ว และกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากเห็นด้วยแล้ว เมื่อมีการนับองค์ประชุมแล้ว ตนขอเสนอให้มีการปิดอภิปรายมาตรา 291/3

จากนั้นประธานสั่งนับองค์ประชุม โดยระหว่างให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตนนั้น ประธานที่ประชุมได้เปลี่ยนมาเป็น พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่แทน โดยมีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมจำนวน 345 เสียง ถือว่าครบองค์ประชุม

ภายหลังนับองค์ประชุมนายสุนัย ได้เสนอญัตติ ขอปิดการอภิปราย และลงมติในมาตรานี้เลย แต่นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ทบทวนการขอปิดการอภิปรายด้วยเสียงข้างมากว่าสมควร และรอบคอบหรือไม่ แต่นายสุนัย ยังคงไม่ยอม พร้อมกล่าวว่า เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าน่าจะเป็นปัญหา ซึ่งทำให้ทั้ง 2 คนยังคงถกเถียงกัน จนพล.อ.ธีรเดช ต้องไกล่เกลี่ยจนทำให้นายสุนัยยอมถอนญัตติ จากนั้นเข้าสู่การอภิปรายต่อไป

ศาลฎีกาฟัน "ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์" พ้นจากส.ส.-ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี

วันที่ 20 เม.ย. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา นายฐานันท์ วรรณโกวิท รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน พิพากษาลงโทษให้ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย บุตรสาวนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และให้จำคุกน.ส.ชินณิชา ผู้คัดค้าน เป็นเวลา 2 เดือน พร้อมทั้งปรับเงิน 4,000 บาท แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี

คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด น.ส.ชินณิชา ฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 263 และขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 โดยให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ตามคำร้องของ ป.ป.ช. สรุปว่า การที่ น.ส.ชินณิชา ได้ยื่นแสดงรายการเงินกู้ยืมจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ภายหลังจากที่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งส.ส.เชียงใหม่แล้ว เป็นเวลากว่า 8 เดือน โดยอ้างเหตุที่ไม่ได้แสดงรายการหนี้สินดังกล่าว เพราะความหลงผิดและเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยสุจริตว่า ระหว่างทำรายการบัญชีฯนั้นกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ยังไม่เสร็จสิ้น หนี้สินที่มีคำสั่งอายัดไว้ผู้ยื่นไม่สามารถดำเนินการอื่นใดได้จนกว่า คตส. จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัด

โดย น.ส.ชินณิชา ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยได้แสดงรายการเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก 3 (ทรูทาวเวอร์) ของตนเอง จำนวนเงิน 6,823,058.97 บาท ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากที่ คตส. มีคำสั่งอายัดไว้และ น.ส.ชินณิชาได้ร้องขอให้ คตส. เพิกถอนการอายัด และได้แสดงรายการเงินให้กู้ยืม ระบุว่า บริษัท วาย ชินวัตร จำกัด ได้กู้ยืม รวม 7 ครั้ง รวมเป็นเงิน 42,700,000 บาท และครั้งที่ 2 ได้ให้กู้ยืมเป็นเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน 10 ล้านบาทนี้เป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 100 ล้านบาทที่กู้ยืมมาจากนายบรรณพจน์

อย่างไรก็ตาม การขอยื่นแสดงรายการเงินกู้ยืมจากนายบรรณพจน์เพิ่มเติม ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการที่ น.ส.ชินณิชา ได้ร้องขอเพิกถอนการอายัดเงินจำนวน 100 ล้านบาท ต่อ คตส. และภายหลังจากที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของ น.ส.ชินณิชาแล้ว

โดยศาลฎีกา ฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานและเอกสารในสำนวน แล้วเห็นว่า น.ส.ชินณิชา ผู้คัดค้าน จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ฯ ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ปี 2550 มาตรา 259 และ 263 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119

จึงพิพากษาให้น.ส.ชินณิชา ผู้คัดค้าน พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้จำคุกน.ส.ชินณิชา ผู้คัดค้าน เป็นเวลา 2 เดือนพร้อมทั้งปรับเป็นเงิน 4,000 บาท แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี

“ไทยไฟต์” ปัดจัดฉาก พร้อมสู้คดี ป.ประมุข

บริษัท สปอร์ต อาร์ต ผู้จัดศึกมวยไทยไฟต์ จัดแถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน หลังถูก “กำนันแก๊” ประมุข โรจนตัณฑ์ กล่าวหาเป็นฝ่ายจัดฉากให้ บัวขาว ป.ประมุข ฉีกกฎพระราชบัญญัติมวยขึ้นเวทีชกศึก ไทยไฟต์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา โดยแย้งว่า ทางค่ายมวยไม่รักษาสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ ยืนยันหากถูกฟ้องร้องเตรียมสู้คดีความทางกฎหมายในชั้นศาล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องต่อสังคมต่อไป

เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันศุกร์ที่ 20 เมษายน ณ อาคารสำนักงานบางกอกทูเดย์ ซอยวิภาวดี 17 นพรัตน์ พุทธรัตน์มณี รองประธานฝ่ายจัดศึกไทยไฟต์ พันจ่าอากาศเอก อรรถพงษ์ อ่ำอนันต์ โปรโมเตอร์มวยไทยไฟต์ พร้อม สมเกียรติ เรืองสุรเกียรติ ทนายความของบริษัท สปอร์ต อาร์ต ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดใจต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

โดย นพรัตน์ รองประธานจัดศึกไทยไฟต์ ซึ่งมองว่า ตนเองเป็นผู้เสียหาย และถูกกล่าวพาดพิงจากทางฝั่งค่าย ป.ประมุข เป็นผู้จัดฉาก เผยต่อสื่อมวลชน ว่า “ที่ผ่านมา เรื่องความขัดแย้งระหว่างค่าย ป.ประมุข กับ บัวขาว ป.ประมุข ทางบริษัท สปอร์ต อาร์ต ไม่เคยเข้ายุ่งเกี่ยว เพียงแต่แนะนำให้สองฝ่ายหาทางออกร่วมกัน แต่เมื่อในทุกอย่างไม่ลงตัว นักมวยไม่สามารถขึ้นชกได้ ทำให้ฝ่ายจัดกลับต้องเป็นผู้เสียหาย ทั้งที่ความจริงได้มีการตกลงสัญญาไว้เรียบร้อยตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งทำการโปรโมตไว้มากมาย ซึ่งทางค่ายก็ตกลงเป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ รองประธานศึกไทยไฟต์ ได้ตั้งคำถามกับสังคม ว่า เมื่อบัวขาวไม่ได้ขึ้นชกใครต้องเป็นฝ่ายเสียหาย “ทางบริษัทต้องเป็นฝ่ายรับปัญหาที่ตนเองไม่ได้สร้างขึ้นอยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่ทางค่ายมวยกลับไม่รักษาสัญญาที่ตกลงไว้ โดยอ้างว่า ทางบริษัทไม่ขออนุญาตก่อน ค่ายไม่รับรู้ว่า นักมวยของตนเองต้องขึ้นชก และไม่ยินยอมให้มีการแข่งขันเกิดขึ้น พร้อมทั้งส่งหนังสือให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ระงับการจัดแข่ง หากฝ่ายจัดไม่ถอดชื่อ บัวขาว ออกจากการชก ดังนั้น ฝ่ายจัดยอมถอดชื่อบัวขาวออก แต่วันจริงมีการพลิกโผเกิดขึ้นและกำนันแก๊ ขู่ว่า จะฟ้องร้องดำเนินคดีผู้จัด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นตนเองก็พร้อมสู้กับความถูกต้องในชั้นศาล”

ด้าน “จ่าทุย” พ.อ.อ.อรรถพงษ์ โปรโมเตอร์ไทยไฟต์ กล่าวเสริมว่า “ตนเองอยู่ในวงการมวยมายาวนาน และรู้ดีว่าทุกอย่างต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน ซึ่งการจัดศึกครั้งนี้ ได้มีการคุยกับทางค่ายให้รับรู้ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม โดยได้ประกบคู่มวยทั้ง 8 คู่ ส่งไปให้ กกท.รับทราบ แม้ว่า ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แต่วงการมวยถือว่าคำพูดลูกผู้ชายคือสิ่งสำคัญ แค่เพียงคุยกันก็ถือว่ารู้เรื่อง ซึ่งศึกไทยไฟต์ ปี 2011 ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการเซ็นสัญญากับค่ายมวย แต่มาปีนี้ “กำนันแก๊” กลับโบ้ยว่าตนเองไม่ทราบเรื่อง”

เมื่อถูกถามว่า การที่ บัวขาว ขึ้นเวทีแทน ไทรโยค พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ไม่สามารถขึ้นชกได้ เพราะมีเวลาพักไม่ถึง 21 วัน ครั้งนี้เป็นการจัดฉากหรือไม่ โปรโมเตอร์ชื่อดัง ชี้แจง ว่า “เดิมทีเดียว บัวขาว ไม่มีชื่อในการขึ้นชก แต่ตนเองได้เรียกให้บัวขาวมาไหว้ครู และโชว์ตัวบนเวทีโชว์ พร้อมกล่าวเปิดใจเล็กน้อยถึงสาเหตุที่ไม่สามารถชกได้ เนื่องจากได้มีการตกลงกับผู้สนับสนุนบางส่วนเอาไว้ก่อนหน้านี้ แต่ช่วงเที่ยงบัวขาวเดินทางพร้อมนำเอกสารขอยกเลิกสัญญาจากค่ายที่ยื่นต่อ กทท.เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหัวหน้าค่าย จึงอนุญาตให้ขึ้นชกแทน ไทรโยค ได้ทันที เพราะตาม พ.ร.บ.มวย มีข้อที่กล่าวไว้ว่าผู้จัด หรือค่ายมวย มีหน้าที่สนับสนุน และส่งเสริมมวยไทย ไม่ใช่ขัดขว้าง แต่ในขณะที่กำนันแก๊ทำเข้าค่ายว่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า”

ขณะที่ สมเกียรติ เรืองสุรเกียรติ ทนายความฝั่งไทยไฟต์ ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้มาก เนื่องจากอาจเป็นการเสียรูปคดี โดยยืนยัน “การตกลงข้อสัญญาบางประเภทไม่จำเป็นต้องมีการลงสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ในเบื้องต้นทางฝ่ายบริษัท สปอร์ต อาร์ต จะรอดูท่าทีของกำนันแก๊ว่าฟ้องมาอย่างไร ซึ่งหากมีการฟ้องดำเนินคดี ฝ่าย สปอร์ต อาร์ต ก็เตรียมสู้คดีในชั้นศาลตามกฎหมายด้วยเช่นกัน”