นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่การกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 23 กับผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศ พร้อมด้วยเลขาธิการอาเซียน เพื่อทบทวนประเด็นเรื่องความคืบหน้าการทำงานของอาเซียนที่ผ่านๆ มา การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค อนาคตของอาเซียนภายหลังปี 2558 และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ที่ห้อง Muzakarah ศูนย์การประชุม International Conference Centre กรุงบันดาร์เสวีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม เมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เสมอทรัพย์ ตัวแทนแรงงานที่ถูกหลอกไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน และไม่ได้รับเงินค่าจ้างประมาณ 200 ราย เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ โดยกล่าวว่า แรงงานไทยที่ถูกหลอกให้เดินทางไปทำงานในช่วง 24 ก.ค.-27 ก.ย.ที่ผ่านมา มีประมาณ 500 คน แต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางทั้งค่าวีซ่า 20,000 บาท และกู้เงินจากสินเชื่อเป็นค่าเดินทางให้กับบริษัทตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท แต่เมื่อเดินทางไปกลับพบว่าไม่มีผลไม้เก็บเพียงพอที่เป็นรายได้นำมาหักจากเงินที่กู้ไป ทั้งนี้ จากการสอบถามพบว่าทุกรายที่เดินทางไปรอบที่ผ่านมาล้วนมีปัญหาถูกหลอกเอาเงินค่าหัวคิวไปทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องการให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัท ฟินิกซ์ เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ 401/9 ต.ช่องสามหมอ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ด้านนายนิติพล ใจคง ชาวจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า แรงงานที่ถูกหลอกส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีคนในหมู่บ้านที่รู้จักเป็นคนชักชวนทำให้หลงเชื่อเพราะเชื่อใจและตัดสินใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ส่วนตัวก่อนเดินทางไปต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าวีซ่า 20,000 บาท และกู้เงินค่าหัวคิวไปให้นายหน้าประมาณ 75,000 บาท ผลไม้ที่ไปเก็บเป็นจำพวกบลูเบอร์รี่ และผลไม้ท้องถิ่น นายนิติพล กล่าวต่อว่า แต่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วกลับพบว่าไม่มีผลไม้ป่าให้เก็บมากนัก ประกอบกับมีแรงงานเดินทางไปจำนวนมากทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอ ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าน้ำมันรถเพื่อไปทำงานด้วย ทำให้เมื่อเดินทางกลับมานอกจากไม่มีรายได้ติดมาแล้วยังไม่มีเงินกลับมาใช้หนี้ที่กู้เพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วย
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณ 1,800 ลบ.ม./วินาทีต่ำกว่าตลิ่งหลายเมตร ส่วนเขื่อนเจ้าพระยาก็ลดการระบายน้ำลงเรื่อย ๆ ส่วน อ.บางไทร มีปริมาณน้ำสูงขึ้น เนื่องจากฝนตกแต่ก็ไม่ร้ายแรง ส่วนแม่น้ำป่าสักปริมาณน้ำลดลงจาก 800 ลบ.ม./วินาที เหลือ 700 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำสะแกกรังปริมาณน้ำลดเหลือ 200 ลบ.ม./วินาที จาก 300 ลบ.ม. ด้วยเหตุนี้จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่น่าเป็นห่วง เพราะน้ำเหนือและน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้นจบไปแล้ว ส่วนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกใน อ.กบินทร์บุรี จะมีน้ำขึ้นสูงสุดในอีก 2 วันข้างหน้า โดยน้ำจะสูงกว่าตลิ่งประมาณ 2.3 เมตร ซึ่งคาดว่าในวันที่ 13 ต.ค.นี้น้ำจะลดลง แต่ในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.เมืองปราจีนบุรี ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์อุทกภัยในลุ่มน้ำปราจีนบุรีจะสามารถคลี่คลายได้ในปลายเดือนนี้หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม แต่เนื่องจากแม่น้ำปราจีนบุรีระบายน้ำได้วันละ 70 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่มีน้ำค้างอยู่เกือบ 1,000 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งปากน้ำบางปะกงตื้นทำให้ระบายน้ำได้ช้า แต่อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าน้ำในลุ่มแม่น้ำบางปะกงจะไม่ส่งผลกระทบกับฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ในพื้นที่ทุ่งรังสิต บางกะปิ
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ความกังวลเรื่องนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ฉะเชิงเทรานั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะน้ำที่จ่อนิคมนั้นเป็นน้ำจากแม่น้ำบางปะกงที่ไหลย้อนเข้ามาในคลองหลังนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งกำลังมีการหารือว่าอาจจะปิดคลองเพื่อป้องกันปัญหา ทั้งนี้ตนยืนยันว่าไม่มีสถานการณ์น้ำท่วมน้ำหลากจากแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรีที่จะส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ฉะเชิงเทรา เพราะนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งก็มีเขื่อนกั้นน้ำ และเครื่องสูบน้ำเตรียมพร้อมอยู่แล้ว
“ตอนนี้พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องดูเรื่องของฝนตกในพื้นที่ และน้ำทะเลหนุนสูงในช่วง 2-3 วันนี้ และจะหนุนอีกครั้งในวันที่ 15-16 ต.ค. ดังนั้นต้องดูแลไม่ให้น้ำในแม่น้ำที่ขึ้นสูงรั่วเข้าไปในพื้นที่ และต้องดูแลท่อระบายน้ำที่อาจมีน้ำเล็ดลอดเข้าไป รวมถึงฝนตก ซึ่งตอนนี้ที่สำคัญคือการช่วยเหลือประชาชนทั้งการดำเนินชีวิต การเดินทาง และการรักษาโรค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทางกองทัพเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว”นายปลอดประสพ กล่าว.
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 12 ปีฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัด ซื้อรถ และเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687,489,000 บาท ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นขออุทธรณ์คดี ก่อนที่จะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในวันที่ 10 ต.ค.นี้
แหล่งข่าวจากศาลฎีกาฯ กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาแล้วถือว่าเป็นที่สิ้นสุด แต่การยื่นอุทธรณ์ก็สามารถกระทำได้ในกรณีที่มีการพบพยานหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ศาลจะส่งคำร้องขออุทธรณ์ของจำเลยไปให้ ป.ป.ช. โจทก์ทราบตามขั้นตอนเพื่อ ให้ทำคำแก้อุทธรณ์ส่งกลับมาภายใน 15 วัน จากนั้นศาลจะรวบรวมคำอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ทั้งหมดเสนอให้องค์คณะผู้พิพากษา 5 คนที่จะถูกเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์คดีนี้ว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยองค์คณะฯ ทั้ง 5 จะ ต้องทำบันทึกความเห็นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิจารณาต่อไปว่าจะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ แต่หากองค์คณะทั้ง 5 คนพิจารณาแล้วมีความเห็นไม่สมควรรับเรื่องอุทธรณ์ไว้ให้ เรื่องนั้นสิ้นสุดการพิจารณาไป
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012