ข่าว
'เซเลนสกี'วอนทั่วโลกช่วยปกป้องเส้นทางขนส่งธัญพืช ป้องกันปัญหาขาดแคลนระยะยาว

2 พฤศจิกายน 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติลงมือมากขึ้นเพื่อปกป้องเส้นทางขนส่งธัญพืชออกจากท่าเรือของยูเครน เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการป้องกันปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว รัสเซียจะต้องรู้ว่าหากรัสเซียเข้ามาขัดขวางการส่งออกธัญพืชของยูเครน ก็จะต้องเผชิญกับการโต้กลับอย่างหนักจากทั่วโลก เนื่องจากประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนหลายสิบล้านคนทั่วโลก

ขณะที่นายโอเล็กซานเดอร์ คูบราคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน กล่าวว่า ยูเครนคาดว่าจะมีเรือบรรทุกสินค้า 8 ลำออกเดินทางจากท่าเรือยูเครนไปในเส้นทางขนส่งธัญพืชในวันพฤหัสบดี ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงส่งออกธัญพืชและปุ๋ยที่ทำขึ้นร่วมกันระหว่างตุรกีกับองค์การสหประชาชาติ

ก่อนหน้านี้ปูตินได้กล่าวกับประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดอาน ของตุรกี ว่า เขาจะพิจารณาว่าจะเข้าร่วมข้อตกลงรับประกันความปลอดภัยในการขนส่งธัญพืชออกจากท่าเรือของยูเครนอีกครั้ง หลังรัฐบาลรัสเซียประกาศยุติการมีส่วนร่วมในข้อตกลงดังกล่าวจากเหตุคาบสมุทรไครเมียถูกโดรนโจมตี รวมถึงเหตุการณ์ที่รัสเซียกล่าวหายูเครนว่าเป็นผู้โจมตีเรือหลายลำของรัสเซียโดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษ โดยที่ยูเครนไม่ได้ออกมายอมรับหรือปฏิเสธว่าเหตุโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของตน ส่วนอังกฤษปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยระบุว่ารัฐบาลรัสเซียแต่งเรื่องโกหกขึ้นมา

งานนี้ค่ายญี่ปุ่นนั่งไม่ติด! สื่อนอกเผยจีนยกทัพEV รุกหนักตลาดยานยนต์เมืองไทย

2 พ.ย. 2565 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เสนอข่าว China’s Electric Carmakers Eye Thailand in Next Sales Push ระบุว่า ที่ประเทศไทย อุตสาหกรรมยานยนต์จากจีนแสดงท่าทีเอาจริงเอาจังในการมุ่งตีตลาดซึ่งถูกครอบครองโดยค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ยานยนต์แดนมังกรเคยทำมาแล้วกับตลาดในทวีปยุโรป อาทิ ในเดือน ก.ย. 2565 BYD ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี-EV) และรถยนต์ไฮบริด (ไฟฟ้าและน้ำมัน) รายใหญ่ที่สุดในจีน ประกาศตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกนอกประเทศ ณ จ.ระยอง ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

ก่อนหน้าคำประกาศของ BYD เพียงไม่กี่วัน Great Wall Motor (GWM) เพิ่งผลิต EV แล้วเสร็จเป็นคันที่ 1 หมื่น ขณะที่อีกด้านหนึ่ง Hozon New Energy Automobile ค่ายรถยนต์จีนจากเมืองเซี่ยงไฮ้ เปิดตัวโชว์รูมที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านถนนพระราม 2 กรุงเทพฯ และไม่ใช่เพียงการตั้งร้านค้าหรือเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น การส่งออกรถยนต์ EV จากจีนมาไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย โดย 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 59,375 คัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 176 จากช่วงเดียวกันของปี 2564

ไทยอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศปลายทางการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน เป็นรองเพียงเบลเยียมและสหราชอาณาจักร ประเทศแห่งนี้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และอันดับ 10 ของโลก จนถูกขนานนามว่า “ดีทรอยด์แห่งเอเชีย” แต่ที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ซึ่งผลิตยานยนต์แบบเครื่องสันดาปภายใน (ICE-ใช้น้ำมัน)

รัฐบาลไทยมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนที่เสนอเงินอุดหนุนส่วนลดสูงถึง 150,000 บาท หรือราว 4 พันเหรียญสหรัฐ สำหรับการซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล นอกจากนั้นยังเตรียมอุดหนุนแบตเตอรี่เพื่อลดต้นทุน การดำเนินการนี้จะช่วยเพิ่มการลดหย่อนภาษีและเพิ่มแรงจูงใจสำหรับ EV มูลค่ากว่า 4.3 หมื่นล้านบาท

รถยนต์สัญชาติจีนที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตไปจนถึงสิ้นปี 2566 ในทางกลับกัน บรรดาค่ายรถยนต์ต้องให้คำมั่นว่าจะเริ่มเปิดสายการผลิตในไทยตั้งแต่ปี 2567 และต้องการร้อยละ 30 ของผลผลิตรถยนต์ทั้งหมดให้กลายเป็น EV ภายในปี 2573 ซึ่ง นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ (Narit Therdsteerasukdi) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า นโยบายของเราแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในระดับโลกได้อย่างไร นั่นเป็นการเพิ่มความมั่นใจและนำผู้เล่นใหม่ๆ มากมายเข้ามา แน่นอนส่วนใหญ่มาจากจีน และมีแนวโน้มว่าจะตามมาอีกมาก

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ข้อมูลจากรัฐบาลไทย พบ 9 เดือนแรกของปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากจีนเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้ว และส่วนใหญ่เม็ดเงินนั้นไหลไปอยู่ในภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ อัลเลน ทอม อบราฮัม (Allen Tom Abraham) นักวิเคราะห์ด้านพลวัติของบลูมเบิร์ก ให้ความเห็นว่า กรอบดังกล่าวนับจากวันนี้จนถึงประมาณปี 2567 หรือ 2568 ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนมีโอกาสส่งออกรถยนต์ส่วนเกินไปยังประเทศไทยและทดสอบตลาด

ภายใต้คำมั่นของประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง (Xi Jinping) และการผลักดันการพึ่งพาตนเองในเทคโนโลยีระดับลึก (Deep Tech) นโยบายพิเศษได้กระตุ้นการผลิตและซื้อรถยนต์ที่พลังงานสะอาดขึ้น ส่งผลให้ตลาด EV ของจีนใหญ่ที่สุดในโลก ภูมิทัศน์ในประเทศที่ไม่คุ้นเคยได้กระตุ้นวัตกรรมอย่างรวดเร็วในการออกแบบ การนำเสนอเทคโนโลยีชั้นสูง และบริการอื่นๆ ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ยานยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดเหล่านี้กำลังรุกคืบเข้าสู่ตลาดที่ถูกยึดครองโดยค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นและตะวันตก

Thanakrit Dussadeeponphat คนไทยที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ EV ยี่ห้อ GWM รุ่น Ora Good Cat มาใช้ เล่าว่า ตอนแรกตนก็ไม่มั่นใจใน EV ของจีน เพราะโดยทั่วไปภาพลักษณ์ของสินค้าจีนเป็นที่รับรู้ในแง่ลบ แต่ตนก็ตกหลุมรักการออกแบบที่น่ารัก ดังนั้นจึงหาข้อมูลและคิดว่าคุ้มค่าที่จะลองใช้ ซึ่งมันก็เกินความคาดหมาย โดยปัจจุบัน Thanakrit เปิดกลุ่มฟซบุ๊ก Ora Good Cat Thailand มีสมาชิกมากถึง 92,000 คน ในกลุ่มจะเป็นการแบ่งปันภาพสวยๆ ของรถรุ่นนี้ที่สมาชิกใช้งาน เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเดินทางไปจนถึงการบำรุงรักษาและปัญหาทางเทคนิค

รถยนต์ EV รุ่นดังกล่าวมีหน้าตาย้อนยุคพร้อมไฟหน้าแบบโป่ง เป็น EV ที่ขายดีที่สุดในไทยในปี 2565 อ้างอิงจากข้อมูลการจดทะเบียนรถใหม่โดยกรมการขนส่งทางบก ราคาอยู่ที่คันละ 763,000 บาท แม้จะแพงกว่าที่ขายในจีน แต่ก็ถูกกว่ารถ EV ของค่ายญี่ปุ่น ขณะที่ Hozon Auto เปิดตัวรถยนต์รุ่น NETA V ราคา 549,000 บาท ในเดือน ก.ย. 2565 ชูจุดขายมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นผู้ช่วยที่สามารถส่งคำสั่งด้วยเสียง รวมถึงแอปพลิเคขั่นยอดฮิตอย่าง TikTok มียอดสั่งซื้อแล้ว 5,000 รายการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนในประเทศไทย น่าจะเพิ่มจากร้อยละ 58 ในปีที่แล้ว มาเป็นร้อยละ 80 ในปีนี้ โดยโฆษกของ Hozon Auto กล่าวว่า นี่คือปีเริ่มต้นของการก้าวไปสู่ระดับโลก และประเทศไทยเป็นจุดแรกของเรา เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง การวางรากฐานตั้งแต่เนิ่นๆ น่าจะทำให้เราได้เปรียบในตอนแรก ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยยังเปิดรับสินค้าจีนมากขึ้น เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม

แม้ตลาด EV ในไทยเพิ่งเริ่มต้น แต่ความต้องการในภูมิภาคนี้คาดว่าจะขยายตัวในวงกว้าง อาเซียนนั้นเป็นบ้านของประชากร 675 ล้านคน ยอดขาย EV น่าจะเพิ่มจาก 31,000 คันในปี 2565 เป็น 2.7 ล้านคันในปี 2583 อย่างไรก็ตาม ค่ายรถญี่ปุ่นอย่าง โตโยต้า ซึ่งครองสัดส่วนตลาดรถยนต์ในไทยถึง 1 ใน 3 มีแผนจะเปิดตัว EV รุ่นแรกในปลายปี 2565 หลังพบว่าตนเองกำลังเป็นฝ่ายไล่ตาม โดยแถลงการณ์ของโตโยต้า ระบุว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญของการพัฒนา ผลิตและส่งออกในเอเชีย และเราอยู่ที่นี่มาแล้ว 60 ปี โดยโตโยต้าต้องการเสนอทางเลือกมากมายบนถนน สู่สังคมที่ปราศจากคาร์บอน เรามั่นใจในการรักษาและขยายส่วนแบ่งทางการตลาด

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า หนทางของค่ายรถยนต์สัญชาติจีนยังอีกยางไกล เพราะในประเทศไทยนั้น ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ครองส่วนแบ่งการตลาดถึงเกือบร้อยละ 80 แบรนด์จีนจึงต้องสร้างเครือข่ายการขายและการบริการตั้งแต่เริ่มต้น เช่นเดียวกับการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษ อบราฮัม มองว่า ยังเร็วเกินไปที่ค่ายรถจีนจะยึดครองตลาดได้ ส่วนค่ายรถญี่ปุ่นก็กำลังรอการประหยัดจากขนาดที่เพียงพอก่อนที่จะเข้าสู่ภาคการผลิต EV ซึ่งปริมาณ EV ในไทย ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

การแข่งขันที่มากขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น รถ SUV ไฟฟ้า รุ่น Atto3 ของ BYD เพิ่งจำหน่ายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ค่ายรถ EV สัญชาติอเมริกันอย่างเทสลา ได้ขยายธุรกิจด้วยการจ้างงานในกรุงเทพฯ ซึ่ง นฤตม์ ระบุว่า ขอให้จับตางานมอเตอร์โชว์ปลายปี 2565 เพราะเชื่อว่ารถยนต์หลายยี่ห้อที่เราไม่รู้จักมาก่อนคงใช้งานนี้เป็นเวทีเปิดตัว กลายเป็นสนามแข่งขันในตลาด EV


ระอุ! 'เกาหลีใต้'ประณาม'โสมแดง' หลังระดมยิงปืนใหญ่-ขีปนาวุธตกใกล้น่านน้ำ

2 พฤศจิกายน 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ ประชุมฉุกเฉินสภาความมั่นคงแห่งชาติในวันนี้ ประณามการยั่วยุทางทหารจากเกาหลีเหนือ ระบุว่า "พฤติกรรมของเกาหลีเหนือกระทบต่อความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี ละเมิดทั้งมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและข้อตกลงความมั่นคงระหว่างสองเกาหลี พร้อมสั่งให้กองทัพเกาหลีใต้ยกระดับความพร้อมตอบโต้ เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนและความมั่นคงของเกาหลีใต้ กรณีเกาหลีเหนือปฏิบัติการยั่วยุทางทหาร"

สภาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ประณามเกาหลีเหนือไร้มนุษยธรรม โดยระดมยิงปืนใหญ่และขีปนาวุธ เพื่อยั่วยุทางทหารในขณะที่ชาวเกาหลีใต้ทั่วประเทศอยู่ระหว่างไว้ทุกข์

การยิงขีปนาวุธและปืนใหญ่ของเกาหลีเหนือมีขึ้นขณะที่สหรัฐฯและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างซ้อมรบทางอากาศ มีเครื่องบินรบกว่า 240 ลำร่วมซ้อมรบ รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบล่องหนล้ำสมัยจากสหรัฐฯ ซึ่งซ้อมแผนป้องกันการโจมตีจากเกาหลีเหนือ ขณะที่เกาหลีเหนือประณามการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ ระบุว่าเป็นการซ้อมเพื่อรุกรานเกาหลีเหนือ

คณะเสนาธิการร่วมของกองทัพเกาหลีใต้ ได้ส่งหนังสือประท้วงเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ ขอให้รัฐบาลของนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ยุติการยั่วยุทางทหารทั้งหมดโดยทันที หลังเกาหลีเหนือได้ระดมยิงปืนใหญ่กว่า 100 ลูกจากจังหวัดคังวอนของเกาหลีเหนือ ไปยังทะเลตะวันออก หลังจากนั้นได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ รวม 17 ลูก ตกในทะเลเหลือง

คณะเสนาธิการร่วมของกองทัพเกาหลีใต้ ยังระบุอีกว่า เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ (SRBM) 4 ลูกจากฐานยิงขีปนาวุธในจังหวัดพย็องอันเหนือทางภาคตะวันตกของเกาหลีเหนือไปตกยังทะเลเหลือง พร้อมทั้งยิงขีปนาวุธพิสัยไกลอีก 3 ลูกจากฐานยิงในเมืองว็อนซันในแถบชายฝั่งทางภาคตะวันออกของเกาหลีเหนือ หนึ่งในขีปนาวุธดังกล่าวไปตกใกล้กับน่านน้ำเกาหลีใต้ เพิ่มความตึงเครียดใกล้ชายแดนระหว่างสองเกาหลีมากขึ้น นับเป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้มายังตอนใต้ ล้ำเส้นแบ่งเขตระหว่างอาณาเขตสองเกาหลี

จากนั้นเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธอีกกว่า 10 ลูก รวมถึงขีปนาวุธพิสัยใกล้ (SRBM)และขีปนาวุธแบบยิงจากพื้นสู่พื้น (ground-to-surface missiles) จากฐานยิงหลายจุดเข้าไปยังทะเลตะวันออกและทะเลเหลือง

'ทวิตเตอร์'จ่อเรียกเก็บเงินรายเดือน บัญชีผู้ใช้งานที่ได้รับการยืนยันตัวตนด้วย'บลูมาร์ก'

2 พฤศจิกายน 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกที่เพิ่งซื้อกิจการทวิตเตอร์ เตรียมจะเรียกเก็บเงินจากบัญชีผู้ใช้งานที่ได้รับการยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายบลูมาร์ก ด้วยค่าบริการเดือนละ 8 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 300 บาท

อีลอน มัสก์ เปิดเผยผ่านบัญชีผู้ใช้งานส่วนตัว 'Elon Musk' ว่า เตรียมจะเรียกเก็บเงินรายเดือนของผู้ใช้งานที่ได้รับการยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายบลูมาร์ก ซึ่งเป็นป้ายยืนยันที่ผ่านการตรวจสอบว่าเป็นบัญชีผู้ใช้งานจริงสำหรับบุคคลสาธารณะ จากเดิมที่ปกติแล้วผู้ใช้งานทวิตเตอร์สามารถได้เครื่องหมายถูกสีน้ำเงินเหล่านี้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและปัจจุบัน ผู้ใช้งานที่ได้รับการยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน มักจะเป็นองค์กร คนดัง หรือบุคคลสาธารณะในหลากหลายวงการทั่วโลก

ซึ่งจากการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บอกก่อนหน้านี้ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องการยืนยันตัวตน เป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาเรื่องบัญชีผู้ใช้งานปลอมอีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้กับทวิตเตอร์ ที่ไม่มีกำไรมาหลายปีแล้ว นอกเหนือไปจากโมเดลโฆษณาที่ใช้อยู่

อย่างไรก็ตามหลายคนต่างบอกว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะยอมเสียเงินเดือนละ 300 บาท เพื่อเครื่องหมายถูกสีน้ำเงินอันเดียวหรือไม่ เพราะหากต้องเสียเงินรายเดือนเพื่อใช้สื่อออนไลน์จากเดิมที่เคยใช้ฟรี ผู้ใช้งานจำนวนมากอาจเลิกใช้ทวิตเตอร์แบบถาวร แล้วหันไปใช้สื่อออนไลน์แพลตฟอร์มอื่นแทนก็เป็นได้