ข่าว
นักวิทย์อึ้ง ! อัดเสียงบนดาวอังคารครั้งแรก พบเสียงเดินทาง 2 ความเร็ว

ผลการวิจัยเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน เปิดเผยผลการศึกษาเสียงที่บันทึกบนดาวอังคาร จากยานสำรวจเพอร์เซอเวอแรนซ์ (Perserverance) ที่ลงจอดบนดาวอังคาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน พบผลการทดลองความเร็วของเสียงบนดาวอังคารสุดแปลกเมื่อพบว่าเสียงเดินทางด้วย 2 ความเร็วด้วยกัน

ยานเพอร์เซอเวอแรนซ์ มีไมโครโฟนบันทึกเสียง 2 ตัวที่ใช้อัดเสียงบนดาวอังคารความยาว 5 ชั่วโมงเป็นครั้งแรก โดย ซิลเวสเตอร์ มอไรซ์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยหลัก และผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ในการสร้าง “SuperCam” กล้องพร้อมไมโครโฟนที่ติดตั้งอยู่บนยานระบุว่า เสียงที่บันทึกได้ค้นพบสภาวะปั่นป่วนของสภาพอากาศบนดาวอังคารที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน

เสียงที่นำมาวิเคราะห์เป็นเสียง 2 แบบ โดยเป็นการวิเคราะห์เสียงของอินจีนิวตี้ (Ingenuity) เฮลิคอปเตอร์ขนาดจิ๋วที่บินบนดาวอังคาร และเสียงเลเซอร์ที่ใช้เจาะหินบนดาวอังคารจนมีเสียง “แคล็กๆ”

นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์เสียงที่เดินทางระหว่างจุดกำเนิดเสียงและจุดรับเสียงระยะห่างราว 6-16 เมตร โดยการวิเคราะห์เสียงของคอปเตอร์จิ๋วครั้งแรกพบว่าเสียงเดินทางบนดาวอังคารด้วยความเร็ว 240 เมตรต่อวินาที เดินทางช้ากว่าเสียงบนโลกที่เดินทางด้วยความเร็ว 340 เมตรต่อวินาที

ผลดังกล่าวเป็นที่คาดหมายไว้เนื่องจากบรรยากาศบนดาวอังคารนั้นเป็นคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าบนโลกที่มีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ 0.04 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมีบรรยากาศเบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า ส่งผลให้เสียงจะเบากว่าบนโลกราว 20 เดซิเบล

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักวิทยาศาสตร์วัดเสียงจากเลเซอร์เจาะหินกลับพบว่าเสียงดังกล่าวเดินทางด้วยความเร็ว 250 เมตรต่อวินาที เร็วกว่าที่คาด 10 เมตร

“มันทำให้ผมแพนิกนิดหน่อย” มอไรซ์ระบุ และว่า “ผมบอกตัวเองว่าการวัดหนึ่งใน 2 อย่างนี้จะต้องผิดพลาดเพราะบนโลกเสียงจะมีความเร็วเป็นตัวเลขเดียวเท่านั้น”

นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาแล้วสรุปว่าบนดาวอังคาร เสียงจะมีความเร็ว 2 แบบคือเสียงที่มีความถี่สูงเช่นเสียงกระเทาะหิน จะเดินทางได้เร็วกว่าเสียงที่มีความถี่ต่ำ อย่างเสียงของมอเตอร์ใบพัด เป็นต้น

และนั่นหมายถึงว่าหูของมนุษย์จะได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงก่อน ที่จะได้ยินเสียงต่ำเล็กน้อย

“บนโลกเสียงจากวงออเคสตร้าจะเดินทางถึงคุณในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงสูงหรือเสียงต่ำ

แต่ลองจินตนาการว่าคุณอยู่บนดาวอังคาร หากคุณอยู่ไกลจากเวทีหน่อย มันจะเกิดการดีเลย์ขึ้น” มอไรซ์ระบุ

ด้านสถาบันวิจัยซีเอ็นอาร์เอส ของฝรั่งเศส ออกแถลงการณ์ถึงการค้นพบดังกล่าวด้วยว่า ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้คนสองคนที่พูดคุยกันห่างกันด้วยระยะแค่ 5 เมตรก็เกิดปัญหาขึ้นได้แล้ว

นอกจากนี้ยังระบุด้วยกว่า การเดิมพันทางวิทยาศาสตร์ด้วยการนำไมโครโฟนขึ้นไปกับยานด้วยนั้นถือว่าเป็นความสำเร็จที่ทำให้มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ร่วมจัดงาน ASEAN Charity Bazaar 2022

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ร่วมด้วยสมาคมสตรีอาเซียนแห่งนครลอสแอนเจลิส (ASEAN Women Circle of Los Angeles – AWCLA) และสถานกงสุลใหญ่ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ จัดงานออกร้านการกุศล ASEAN Charity Bazaar ณ ลานจอดรถของสถานกงสุลใหญ่อินโดนีเซียประจำนครลอสแอนเจลิส (3457 Wilshire Blvd, Los Angeles CA 90010) เนื่องจาก Madame Dyah Krisnawan ภริยากงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่ง President of The ASEAN Women Circle of Los Angeles (AWCLA) คนปัจจุบัน

โดยนายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ฯ และนางสิริกมล ศรลัมพ์ ภริยากงสุลใหญ่ฯ ได้นำทีมงานสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ไปร่วมออกบูธเผยแพร่วัฒนธรรมและอาหารไทย ได้แก่ ข้าวผัดแกงเขียวหวานไก่ ลาบไก่ทอด ปอเปี๊ยะทอด ข้าวเหนียวมะม่วง และสินค้าจากประเทศไทย ไปเผยแพร่ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทยจากชมรมนาฏศิลป์สังคีตแอลเอ.และการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมไทย ได้แก่ การบรรเลงระนาด รำโนราห์ เซิ้งโปงลาง และเซิ้งกะโป๋ ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมอย่างสนุกสนาน รวมทั้งจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทยจากชมรมนาฏศิลป์สังคีตแอลเอ ไปแสดงเผยแพร่ในงานด้วย

งาน ASEAN Charity Bazaar ประจำปี 2022 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเผยแพร่ภาพลักษณ์และความเข้าใจต่อประเทศอาเซียน โดยนอกจากจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศต่อสาธารณชนแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันใกล้ชิด พลังความสามัคคี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย

ภายในงานมีการออกร้านจากสถานกงสุลใหญ่และชุมชนของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเผยแพร่อาหาร สินค้าพื้นเมือง สินค้าหัตถกรรม และการแสดงพื้นเมืองของอาเซียน ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 350 คน ได้รับความบันเทิงและสนุกสนาน ทั้งนี้ สมาคมสตรีอาเซียนจะนำรายได้ที่จากการจัดงานไปมอบให้แก่องค์กรการกุศลในนครลอสแอนเจลิสเพื่อสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมท้องถิ่นต่อไป


มาแล้ว โอมิครอนลูกผสมน้องใหม่ XE อนามัยโลกเตือน อาจแพร่ติดเชื้อเร็วสุด

โอมิครอนกลายพันธุ์น้องใหม่ XE น่าวิตก อนามัยโลกออกคำเตือน โอมิครอน XE อาจเป็นโควิด-19 ที่แพร่ติดเชื้อเร็วสุดเท่าที่เราเคยเห็นมา เพราะเป็นโควิดลูกผสมระหว่าง โอมิครอนตัวแม่ BA.1 กับ BA.2

เมื่อ 1 เมษายน 2565 สื่อต่างประเทศรายงาน องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับเชื้อโควิดโอมิครอนลูกผสม ที่ตั้งชื่อให้ว่า XE อาจเป็นเชื้อโควิด-19 ที่สามารถแพร่ติดเชื้อได้รวดเร็วที่สุดเท่าที่พวกเราเคยเห็น นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 เลยทีเดียว

เชื้อโควิดโอมิครอน กลายพันธุ์ XE เป็นเชื้อโควิดไฮบริด หรือลูกผสมระหว่างเชื้อโควิดโอมิครอน “ตัวแม่” BA.1 กับโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งถูกตั้งฉายาให้ว่า 'โอมิครอนล่องหน' และขณะนี้โอมิครอน BA.2 กำลังกลายเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อแล้วถึง 86% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเชื้อโอมิครอน BA.2 เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และสามารถแพร่ติดเชื้อได้เร็วกว่าโอมิครอนตัวแม่ BA.1 ถึง 30%

แต่ถึงอย่างไร ศักยภาพของเชื้อโอมิครอน BA.2 ในการแพร่ติดเชื้อก็ยังน้อยกว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XE ซึ่งเป็นโอมิครอนกลายพันธุ์ใหม่ ลูกผสมระหว่าง BA.1 กับ BA.2 จึงทำให้เชื้อโควิดโอมิครอน XE สามารถแพร่ติดเชื้อได้เร็วกว่าโควิดโอมิครอน BA.2 ถึง 10% ตามรายงานของ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า เชื้อโควิดโอมิครอนลูกผสม ถูกตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อ 19 มกราคม และขณะนี้มีรายงานยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อยใหม่ XE น้อยกว่า 600 ราย

นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลกยังระบุว่าจนกว่าองค์การอนามัยโลกจะสามารถตรวจสอบพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งในเรื่องการแพร่ติดเชื้อ ลักษณะอาการป่วย และความรุนแรงของโรค จากเชื้อโอมิครอน XE ทางองค์การอนามัยโลกจะยังคงจัดให้เชื้อโอมิครอน XE เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยของเชื้อโควิดโอมิครอนต่อไป

ทางองค์การอนามัยโลกจะยังคงเฝ้าจับตาเชื้อโควิดโอมิครอน XE อย่างใกล้ชิดถึงความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุข ควบคู่ไปกับเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ และจะมีการรายงานความคืบหน้าหากพบหลักฐานสำคัญเพิ่มเติมที่สามารถหาได้ของโอมิครอน XE

นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลกยังแสดงความกังวลเพิ่มขึ้นในกรณีที่มีการลดการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดประเทศ

ที่มา : express


จีนเร่งถอดรหัส ‘กล่องดำ 2 ใบ’ โบอิ้ง 737 ไชน่า อีสเทิร์น ดิ่งตกไฟลุกท่วม

จีนเร่งถอดรหัส กล่องดำ 2 ใบ ของเครื่องบินโบอิ้ง 737 สายการบินไชน่า อีสเทิร์น ดิ่งตกไฟลุกไหม้ที่กว่างซี เผย จนท.กำลังวิเคราะห์เบื้องต้น หลังระบุตำแหน่ง-ถ่ายภาพสภาพแวดล้อมจุดเกิดเหตุได้แล้ว

เมื่อ 1 เมษายน ความคืบหน้ากรณี เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MU MU 5735 จากคุนหมิง มณฑลยูนนาน มายังเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ประสบเหตุดิ่งตกในทิศทางเกือบเป็นแนวตั้งกระแทกพื้นดินจนเกิดไฟลุกท่วม ที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีนเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตหมดทั้งลำ 132 ศพนั้น

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา นาย จู เทา หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยทางการบิน สังกัดสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่กำลังถอดรหัสอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินหรือ “กล่องดำ” ทั้ง 2 กล่องจากเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ ที่ประสบเหตุตกในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

นายจูกล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำการวิเคราะห์เบื้องต้น หลังจากได้ระบุตำแหน่งและถ่ายภาพสภาพแวดล้อมจุดเกิดเหตุ การกระจายของเศษซาก และจุดที่เครื่องบินตกได้แล้ว โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการบินกำลังศึกษาและตัดสินวิถี ท่าทาง และแรงกระแทกของเครื่องบินที่อาจเกิดขึ้นขณะพุ่งตกสู่พื้น

ขณะที่ หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยทางการบินของจีน ยังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่กำลังพยายามกู้คืนขั้นตอนการบินจริงก่อนเครื่องบินตก โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลระบบเรดาร์อัตโนมัติของการควบคุมการจราจรทางอากาศ พร้อมเสริมว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้โดยสาร กระเป๋าเดินทาง สินค้า และจดหมายของเที่ยวบินดังกล่าวล้วนอยู่ระหว่างการตรวจสอบเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : Xinhuathai


'ไอเออีเอ' สอบด่วนปมรัสเซียถอนทหารจาก 'เชอร์โนบิล' หลังลือป่วยจากกัมมันตรังสี

ทหารรัสเซียได้ถอนกำลังออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลแล้ว หลังจากยึดไว้หลายสัปดาห์ เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์เป็นการด่วน เนื่องจากมีอาการป่วยแบบเฉียบพลันจากการได้รับสารกัมมันตรังสี ขณะที่ IAEA เตรียมสอบประเด็นดังกล่าวแล้ว

1 เม.ย. 65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เอเนอร์ฮัวตอม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่งในยูเครน แถลงผ่านแพลตฟอร์มเทเลแกรมเมื่อวันพฤหัสบดีโดยอ้างคนงานในโรงไฟฟ้าว่า ทหารรัสเซียได้ถอนกำลังออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่เข้ายึดครองตั้งแต่วันแรกที่เปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน กลับไปยังเบลารุสแล้ว หลังจากมีทหารเจ็บป่วยจากการได้รับปริมาณกัมมันตรังสีจำนวนมาก เนื่องจากไปขุดสนามเพลาะในพื้นที่ต้องห้าม ที่มีการปนเปื้อนสูง

อย่างไรก็ตาม ทางเอเนอร์ฮัวตอมไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยหรือจำนวนทหารรัสเซียที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่ระบุว่ากองทหารรัสเซียตื่นตระหนกกับสัญญาณแรกของการเจ็บป่วย ซึ่งปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้านรองนายกรัฐมนตรี ยูเครน กล่าวอ้างเช่นเดียวกันว่า ทหารรัสเซียที่ขุดสนามเพลาะในป่าได้รับกัมมันตภาพรังสี นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า ทหารรัสเซียถูกส่งตัวไปรักษาที่สถานพยาบาลพิเศษในเบลารุส หลังจากขับรถถังทะลุผ่านเขตรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และทำให้ฝุ่นปนเปื้อนรังสีฟุ้งกระจาย

ขณะที่สถานีโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า ทหารรัสเซียออกไปจากเชอร์โนบิลหมดแล้ว และไม่มีบุคคลภายนอกที่โรงไฟฟ้าดังกล่าว และฝ่ายรัสเซียได้ตกลงที่จะคืนความรับผิดชอบในการปกป้องเชอร์โนบิลให้กับยูเครน

หัวหน้าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ หลายคนยืนยันว่า กองกำลังรัสเซียได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ที่ประสบภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่เมื่อปี 1986 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และแพร่กระจายกัมมันตภาพรังสีไปทั่วยุโรป หลังจากรัฐบาลรัสเซียประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 มี.ค.) ว่ารัสเซียจะลดปฏิบัติการทางทหารในกรุงเคียฟ และชานเมืองเชอร์นิฮิฟลง ทางภาคเหนือของยูเครน

แม้ว่ากองทหารรัสเซียจะเข้าควบคุมเชอร์โนบิล แต่ยังให้เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าดังกล่าวดูแลการจัดเก็บกากนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ กองกำลังรัสเซียได้ถอยทัพออกจากเมืองสลาวุตทิช ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นเมืองที่คนงานของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลอาศัยอยู่ด้วย

ด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ เผยว่าไม่สามารถยืนยันรายงานได้ แต่กำลังหารืออย่างใกล้ชิดกับทางการยูเครนในการส่งคณะทำงานไปยังโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ล่าสุด ยังไม่มีความคิดเห็นใดๆ จากทางฝ่ายรัสเซีย ซึ่งเคยปฏิเสธว่า กองกำลังของตนไม่ได้ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครนตกอยู่ในความเสี่ยง

“ปูติน” ไล่บี้ชาติยุโรปซื้อก๊าซเป็น “เงินรูเบิล”

เปิดกลยุทธ์ปูติน คาดเดินเกมเล็งขายสินค้ารัสเซียทุกชนิดเป็นรูเบิล ประเดิมบีบยุโรปจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิลมีผลวันนี้

วันที่ 1 เมษายน 2565 ความมั่นคงทางพลังงานกลายเป็นการเผชิญหน้าล่าสุดระหว่างรัสเซียกับชาติยุโรป จากการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียแสดงท่าทีหลายครั้งหลายคราว่า ให้บรรดาชาติที่ไม่เป็นมิตรที่ต้องซื้อพลังงานจากรัสเซีย จ่ายค่าน้ำมันและก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิล

ล่าสุด ผู้นำรัสเซียได้กล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐบาลที่มีการถ่ายทอดทางทีวีว่า ได้ลงนามในกฤษฎีกาที่วางกรอบกระบวนการชำระเงินนี้แล้ว ซึ่งระบุถึง “ประเทศที่ไม่เป็นมิตร” จะต้องเปิดบัญชีสกุลเงินรูเบิลในธนาคารของรัสเซีย และชำระเงินผ่านบัญชีเหล่านี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ตามกฤษฎีกาที่ปูตินลงนาม การชำระเงินทั้งหมดในเรื่องนี้จะดูแลดำเนินการโดยธนาคาร “ก๊าซพรอมแบงก์” ซึ่งเป็นกิจการธนาคารในเครือก๊าซพรอมบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย นับเป็นการสวนกลับบรรดาชาติยุโรปที่พากันคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียยจากระบบสวิฟต์

ท่าทีดังกล่าวของปูติน สะเทือนทันทีต่อบรรดาชาติยุโรปที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นหลักโดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งนำเข้าพลังงานรัสเซียมากถึง 40% ของการใช้พลังงานในประเทศ ทำให้รัฐบาลเบอร์ลินเตรียมใช้แผนฉุกเฉินเพื่อสำรองความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งรวมไปถึงการขอความร่วมมือให้ครัวเรือนและภาคเอกชนอุตสาหกรรมหาแนวทางประหยัดพลังงาน

ปูตินยังกล่าวอีกว่านับตั้งแต่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป ผู้ซื้อก๊าซของรัสเซียจะต้องเปิดบัญชีรูเบิลในธนาคารของรัสเซีย เพื่อเป็นช่องทางสำหรับการจัดส่งก๊าซในครั้งต่อไป “หากไม่มีการชำระเงินดังกล่าว เราจะถือว่านี่เป็นการผิดนัดของผู้ซื้อด้วยผลที่ตามมาทั้งหมด เราไม่ขายอะไรให้ใครฟรี ๆ รัสเซียไม่ได้ทำการกุศล หากไม่จ่ายสัญญาซื้อขายทั้งหมดจะยุติ”

ซื้อก๊าซด้วยเงินรูเบิล ต่างแค่ไหนจากวิธีเดิม ?

จากข้อมูลของ voxeu.org เว็บไซต์ด้านการวิจัยและนโยบายสาธารณะสำหรับนักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า ตามระบบปกติ เอกชนหรือชาติยุโรปที่ซื้อก๊าซรัสเซียจะชำระค่าก๊าซเป็นเงินสกุลยูโร หรือเงินดอลลาร์ ผ่านระบบชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT ผ่านไปยังบัญชีธนาคารที่บริษัทพลังงานรัสเซียเปิดในธนาคารยุโรป

โดยบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ถือเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซียที่ชาติยุโรปมักซื้อก๊าซจากรัสเซีย เมื่อชาติยุโรปชำระค่าพลังงานเข้ามายังบัญชีของก๊าซพรอมที่เปิดไว้ในธนาคารยุโรป จากนั้นบริษัทจะทำการแปลงเป็นเงินสกุลรูเบิลเพื่อโอนเข้ามายังบัญชีธนาคารในรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม หากว่าชาติยุโรปต้องการซื้อก๊าซรัสเซียด้วยเงินรูเบิล วิธีการชำระค่าพลังงานอาจไม่แตกต่างจากรูปแบบปกติมากนัก โดยชาติยุโรปจำต้องเปิดบัญชีธนาคาร 2 บัญชี ในธนาคารที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรหรือถูกตัดออกจากระบบสวิฟต์ โดยบัญชีหนึ่งเปิดเป็นเงินรูเบิล ส่วนอีกบัญชีเป็นเงินยูโร

ในกรณีนี้หากชาติยุโรปจะซื้อพลังงานรัสเซีย จะต้องโอนเงินยูโรเข้ามาในบัญชีเงินยูโร จากนั้นโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเข้ามาในบัญชีรูเบิล ในธนาคารที่ไม่ได้ถูกคว่ำบาตรจากยุโรป ซึ่งจะทำหน้าที่แปลงจากยูโร เป็นรูเบิลเพื่อจ่ายให้กับบริษัทก๊าซพรอม

เหตุใดปูตินต้องให้จ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิล

เดอะการ์เดี้ยนวิเคราะห์ว่า ช่วงที่รัสเซียบุกยูเครนจากนั้นตามมาด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจต่อรัสเซียอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง การที่ปูตินงัดวิธีชำระค่าก๊าซเป็นรูเบิล อาจกระตุ้นความต้องการเงินรูเบิลในตลาดฟอเรกซ์ระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินรูเบิลกลายเป็นอีกสกุลที่ “บางชาติ” ทั้งจะช่วยพยุงราคาค่าเงินรูเบิลที่เคยดิ่งลงในช่วงก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันยังเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจที่เครมลินสามารถแก้เกมคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้ ด้วย การนำเรื่องพลังงานมาเป็นตัวต่อรอง ซึ่งจะยิ่งทำให้มอสโกสามารถท้าทายความครอบงำของเงินดอลลาร์ในตลาดเงินโลกได้ หากว่าจีนให้การสนับสนุนธุรกรรมดังกล่าวของรัสเซีย

หากรัสเซียเดินเกมใช้รูเบิลชำระค่าพลังงานได้สำเร็จ ยังมีแนวโน้มอีกว่าเครมลินอาจใช้วิธีการนี้ขยายไปยังสินค้าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ที่บังคับให้ต่างชาติต้องแปลงสกุลเงินซื้อขายเป็นรูเบิล ซึ่งขณะนี้

เครมลินกำลังพิจารณาแผนการส่งออกสินค้าทั้งหมดของรัสเซียเป็นเงินรูเบิล โดยใช้ประโยชน์จากการผูกขาดในวัตถุดิบที่จำเป็นในกระบวนการผลิต

ทั้งสามารถขยายแผนให้ครอบคลุมไปยังสินค้าชนิดอื่น ทั้งปุ๋ย ถ่านหิน โลหะ และสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญอื่นๆ ตัวอย่างเช่น แร่แพลเลเดียม ซึ่งเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญของการผลิตรถยนต์นั้น จากข้อมูลของ S&P Global Ratings ชี้ว่า 40% ของอุปทานโลหะทั้งหมดของโลกมาจากรัสเซีย และโลหะที่รัสเซียส่งออกส่วนใหญ่เกือบ 80% ไปอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

กรณีนี้ ผู้ผลิตรถยนต์อาจถูกบังคับให้เลือกระหว่างการซื้อแพลเลเดียมในสกุลรูเบิล หรือมองหาซัพพลายจากแหล่งอื่น ซึ่งในมุมทางการเมืองรัฐบาลของประเทศนั้นอาจบีบให้เอกชนต้องเสาะหาซัพพลายจากแหล่งอื่นๆ แต่ก็จะแลกมาด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สินค้าที่ราคาแพงขึ้นเช่นกัน