เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 21 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบพล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที
จากนั้นนายกลิน ที เดวีส์ เปิดเผยว่า การเข้าพบเพื่อจะพูดคุยกับพล.อ.ทวีป เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโครงการและเรื่องสำคัญต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อพบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่ามีวิธีการใดที่จะทำให้การพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศเกิดผลผลิตออกมาได้
สำหรับกำหนดเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯนั้น ยังไม่มีกำหนดแน่นอน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังมีภารกิจที่ยุ่งกันอยู่ แต่ยังคงทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดวันที่แน่นอนและเหมาะสม นอกจากนั้นการหารือยังพูดกันอีกหลายเรื่อง ทั้งที่เกี่ยวกับประเทศเกาหลีเหนือ เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งบรรยากาศการพบปะพูดคุยครั้งนี้ถือว่าดีมาก และเป็นประโยชน์ โดยทางสหรัฐฯพยายามที่จะหาทางพบปะพูดคุยกันอีกในโอกาสต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการพูดคุยได้หารือเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา ซึ่งรัฐบาลไทยได้ดำเนินการจับกุมบ้างหรือไม่ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังไล่ล่าอาชญากรที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องและถูกดำเนินคดีด้วยนั้น ถือว่าเป็นพัฒนาการทางบวก และหวังว่าจุดนี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันที่จะขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากประเทศไทยได้
ตำรวจได้เปิดแผนฆ่า 8 ศพ ครอบครัวนายวรยุทธ สังหลัง อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เจ็บอีก 3 คน และลูกสาววัย 3 เดือน ของผู้ใหญ่บ้านรอดชีวิต โดยเหตุการณ์วันเกิดเหตุได้เริ่มต้นเมื่อเวลา 15.30 น. นายวรยุทธ พร้อมด้วยภรรยาและลูกสาววัย 3 เดือน ได้เดินทางออกจากบ้านไปทำธุระในตัวเมืองกระบี่ โดยมีเด็กหญิง 3 คนอยู่ที่บ้าน
จากนั้นเวลา 16.18 น. กลุ่มคนร้ายที่นำโดย นายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์สกุล หรือ บังฟัต ได้เดินทางมาที่บ้านโดยใช้รถฟอร์จูนเนอร์ สีดำ ทะเบียน กรุงเทพมหานคร และรถโตโยต้ายาริส สีขาว รวม 7 คน โดยสวมชุดลายพรางแบบทหาร พร้อมอาวุธครบมือ โดย บังฟัต สวมหมวกไอ้โม่ง แต่ไม่พบผู้ใหญ่บ้าน จึงควบคุมตัวเด็กๆ ทั้ง 3 คนไว้ในห้องนอน และแจ้งให้ทราบว่า มีหมายค้นของศาล จากนั้นกลุ่มคนร้ายได้รื้อค้นหาข้าวของภายในบ้าน พบอาวุธปืนขนาด .38 ของผู้ใหญ่บ้าน และได้รื้อค้นถอดเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิดภายในบ้านทั้งหมดไปเก็บไว้ในรถฟอร์จูนเนอร์
ต่อมาเวลา 17.00 น. นางอัญชลี บุตรเติบ พร้อมบุตรสาว 1 คน ได้เดินทางมาที่บ้าน ทางกลุ่มคนร้ายได้แจ้งว่า เป็นเจ้าหน้าที่ทหารมาตรวจค้นเรื่องยาเสพติด จึงนำตัวทั้ง 2 คนไปควบคุมตัวไว้ในห้องนอนอีกห้องหนึ่ง และรอผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งยังไม่เดินทางกลับมา
เวลา 20.30 น. นายวรยุทธ หรือผู้ใหญ่บัติ ได้เดินทางกลับมาบ้าน พร้อมภรรยา ลูกสาววัย 3 เดือน และแวะรับบุตรสาวอีกคนมาที่บ้าน โดยใช้รถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี สีขาว โดยกลุ่มคนร้ายซึ่งแต่งกายเป็นเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวทั้ง 4 คน โดยให้ภรรยาและลูกๆ ของผู้ใหญ่ไปขังไว้ในห้อง และแยกผู้ใหญ่ออกมาอยู่อีกห้องหนึ่ง โดยได้ใช้ผ้าคลุมศีรษะและใส่กุญแจมือ
ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวทางบังฟัตและพวกได้เข้ามาในห้อง ทำร้ายร่างกายนายวรยุทธ เพื่อให้รับเรื่องยาเสพติด แต่นายวรยุทธปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง บังฟัต จึงถามว่ามีเงิน 4 แสนบาทหรือไม่ นายวรยุทธบอกว่ามีเพียง 6 พันบาท จากนั้นบังฟัตได้ให้ นายคมสรร เวียงนนท์ ไปเอาโทรศัพท์ของนายวรยุทธมา ให้โทรไปยืมเงินเพื่อนคนหนึ่ง แต่เพื่อนรายดังกล่าวบอกว่ามีเพียง 5 หมื่น จากนั้นนายวรยุทธจึงมอบบัตรเอทีเอ็ม พร้อมรหัส ให้กับบังฟัต เพื่อไปเบิกเงินในวันรุ่งขึ้น บังฟัตจึงมอบบัตรเอทีเอ็มให้นายเลาะเก็บไว้
ต่อมาเวลา 22.30 น. น.ส.แอนนา บุตรเติบ พร้อมนายสุริยา สังหลัง สามี ได้เดินทางมาที่บ้านผู้ใหญ่ จึงถูกกลุ่มคนร้ายควบคุมตัวไว้อีก 2 คน รวมผู้ถูกคุมตัวไว้ทั้งสิ้น 11 คน ทางกลุ่มคนร้ายซึ่งนำโดย บังฟัต จึงได้นำผู้ใหญ่ออกมาถอดเมมโมรี่การ์ดของรถซีอาร์วีออก และนำเอกสารจำนำรถยนต์ยาริส ซึ่งเป็นชื่อของภรรยาผู้ใหญ่ พร้อมสำเนาบัตรและสำเนารถมาให้เซ็นจำนำในวงเงิน 2 แสนบาท จากนั้นได้ให้นายคมสรรเก็บไว้ แล้วนำผู้ใหญ่กลับเข้ามาที่ห้องอีกครั้ง
เวลา 23.45 นายสุทธิพงษ์ พริกดำ สามี ของนางอัญชลี ได้เดินทางมาที่บ้าน เพื่อตามภรรยาและลูกๆ กลับบ้าน แต่ก็ถูกคนร้ายจับไปขังไว้ในห้องอีกคน รวมเป็น 12 คน
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่คุมตัวผู้ใหญ่อยู่ภายในห้อง และเซ็นเอกสารต่างๆ แล้ว บังฟัต ได้นำผู้ใหญ่บ้านออกมาด้านนอกอีกครั้ง พร้อมทั้งบอกว่าต้องการเงิน 4 แสนบาท แต่หลุดคำพูดเป็นภาษาถิ่นใต้ ซึ่งทางผู้ใหญ่ได้พูดขึ้นว่า โทริ เหรอ ซึ่งคำว่าโทริ คือชื่อเล่นของบังฟัต ที่คนในหมู่บ้านเรียกกัน บังฟัต จึงเปิดหมวกให้ดู ก่อนปิดไว้เหมือนเดิม จากนั้นได้นำผู้ใหญ่ไปรื้อค้นในกระเป๋าของภรรยาผู้ใหญ่ แต่ไม่มีทรัพย์สิน จึงนำผู้ใหญ่กลับมาที่ห้องอีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าวทางบังฟัต ได้ทำร้ายผู้ใหญ่บ้านหลายครั้ง เพื่อให้นำเงินมาให้ จนผู้ใหญ่โมโห พูดออกมาว่า อย่าให้ตนหลุดไปได้ จะฆ่าทิ้งทั้งครอบครัว ทำให้บังฟัต คิดว่าต้องฆ่าทั้งหมดทิ้ง ประกอบกับคนในบ้านเห็นหน้าบังฟัตหมดแล้ว จึงได้วางแผนฆ่าทีละคน โดยบังฟัตลงมือยิงทุกคน ยกเว้นผู้ใหญ่วรยุทธ ที่ให้นายอรุณ ทองคำ เป็นคนยิง และทิ้งปืนของผู้ใหญ่เอาไว้ข้างมือผู้ใหญ่ เสมือนว่าผู้ใหญ่เป็นคนยิงคนในครอบครัว เนื่องจากมีปัญหาทางด้านการเงิน
แต่ผิดแผน เนื่องจากมีผู้รอดชีวิต คือนางอัญชลี และบุตรสาว ที่ให้การว่า จำคนร้ายในกลุ่มนี้ได้ และเมื่อมีการไล่ลำดับปมสังหารต่างๆ ก็มาสิ้นสุดที่ปมการจำนองที่ดินที่ผู้ใหญ่ นำที่ดินของพ่อตาแม่ยาย 2 แปลงไปจำนองไว้กับบังฟัต เมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อผ่อนหมด บังฟัตกลับไม่สามารถนำเอกสารโฉนดที่ดินมาคืนได้ เนื่องจากนำไปจำนองกับธนาคารไว้ และเมื่อผู้ใหญ่ทวงถามหลายครั้ง และถูกผู้ใหญ่ขู่ฆ่า ทำให้บังฟัต ต้องหนีไปอยู่ต่างจังหวัด เก็บเงินจากการปล่อยกู้ไม่ได้ ธนาคารจะมายึดที่ดินที่นำมาจำนองไว้ในลักษณะดังกล่าวอีกหลายแปลง จึงได้วางแผนเพื่ออุ้มฆ่าผู้ใหญ่บ้าน แต่เพราะมีคนในบ้านจำนวนมาก จนนำมาสู่การสังหารหมู่ดังกล่าว
ส่วนแนวทางการติดตามตัวคนร้ายนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้รับการยืนยันจากพยานที่รอดชีวิตว่าจำหน้าได้ 2 คน คือนายคมสรรค์ เวียงนนท์ หรือม่อน และนายธวัชชัย บุญคง หรือชัย และนำมาสู่การติดตามจับกุมกลุ่มคนร้ายที่เหลือในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั้งภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช และ ระนอง.
เจ้าหน้าที่คุมตัว “เณรคำ” ส่งเรือนจำ หลังดีเอสไอคุม ตัวให้อัยการส่งฟ้องศาลอาญา ในคดีพรากผู้เยาว์และพ.ร.บ.คอมพ์ แต่รอดข้อหาอนาจารเด็ก เพราะหมดอายุความแล้ว เผยถูกสอบเครียดถึงเช้า เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อหา ขอให้การชั้นศาลเท่านั้น ไม่ยอมให้ตรวจดีเอ็นเอ แต่ยอมถอดจีวร สวมชุดขาว รับทราบคำสั่งปาราชิก ขณะที่ศาลแพ่งตัดสินยึดทรัพย์เณรคำกับพวก มูลค่ารวม 43 ล้านบาท หลังไม่สามารถอธิบายแหล่งที่มาได้ บุกวัดอดีตเณรคำที่ศรีสะเกษพบเงียบเหงา
จากกรณีศาลของรัฐเเคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งให้ส่งตัวนายวิรพล สุขผล หรืออดีตพระเณรคำ ประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ กลับมาดำเนินคดีในข้อหาพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี, พ.ร.บ.คอม พิวเตอร์, ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน ที่ประเทศไทย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เดินทางไปรับตัวถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 22.00 น. คืนวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะควบคุมตัวมาสอบสวนที่ดีเอสไอทันที ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ควบคุมตัวพระเณรคำ มาสอบปากคำที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. คืนวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนควบคุมตัวพระเณรคำขึ้นไปยังห้องประชุม 3 ซึ่งถูกจัดเตรียมไว้เป็นห้องที่ใช้สอบปากคำและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทั้งหมด
จากนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานายวิรพล หรืออดีตพระเณรคำทราบรวม 6 ข้อกล่าวหา คือ 1.ความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2.ฉ้อโกงประชาชน 3.ฟอกเงิน 4.กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 5.กระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 และ 6.ปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยนาย วิรพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การทั้งหมดในชั้นศาลเท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า นายวิรพลเปิดเผยกับพนักงานสอบสวนว่า ได้เดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับ เพราะได้รับกิจนิมนต์จากต่างประเทศ และเมื่อทราบข่าวว่าถูกออกหมายจับก็ยังรู้สึกทำใจและยังตั้งหลักไม่ได้ จึงไม่ได้เดินทางกลับมายังประเทศอีกเลย ส่วนกรณีที่มีใครเป็นผู้คอยให้การช่วยเหลือระหว่างหลบหนีออกไปยังนอกประเทศนั้น ไม่ได้มีการให้การกับเจ้าหน้าที่ โดยขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่ยอมเดินทางกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากทำใจได้แล้ว และพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัวนายวิรพล มาส่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อนำตัวฟ้องศาลอาญา โดยการควบคุมตัวอดีตพระเณรคำจากดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ มายังสำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นั้น ได้จัดรถสายตรวจนำขบวนรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ สีดำ จำนวน 3 คันของดีเอสไอ เมื่อเดินทางมาถึงนายวิรพล ซึ่งอยู่ในชุดสวมเสื้อแขนสั้นและกางเกงขายาวสีขาว ถูกพาตัวลงมาจากรถฟอร์จูนเนอร์คันแรก เพื่อขึ้นไปพบอัยการสำนักงานคดีพิเศษโดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอควบคุมตัวไป
ต่อมานายวิรุณฬ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ดำเนินการสอบประวัติว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้ต้องหาหรือไม่ พร้อมแจ้ง คำสั่งฟ้องคดีอาญา ก่อนที่ดีเอสไอและอัยการควบคุมนายวิรพลมายื่นฟ้องต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พร้อมสำนวน
ขณะเดียวกันที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 11 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกฯ, นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ร่วมกันแถลงโดยกล่าวว่า อัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ได้ตรวจพยานหลักฐานแสดงตัวบุคคลและคำให้การชั้นสอบสวนผู้ต้องหาแล้วเชื่อได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นบุคคลเดียวกับนายวิรพล สุขผล โดยนายวิรุฬห์ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 มีความเห็นสั่งฟ้อง 2 คดี คดีที่ 1 ฐานความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีฯ และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีซึ่งไม่ใช่ภริยาตนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ที่อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และมาตรา 317 วรรคสามอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ซึ่งเป็นการสั่งฟ้องตามความเห็นเดิมที่พนักงานสอบสวนเคยสรุปสำนวนส่งให้อัยการ
แต่ในข้อหาทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีและพาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นข้อหาเล็ก ตาม ม.279, 283 ทวิ นั้นอัยการสั่งยุติดำเนินคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความแล้ว เพราะคดีมีอายุความ 15 ปีนับแต่วันกระทำผิด ซึ่งเหตุข้อกล่าวหานั้นเกิดเมื่อปี 2543-2544 คดีจึงขาดอายุความตั้งแต่ปี 2559
คดีที่ 2 อัยการสั่งฟ้องอดีตพระเณรคำ ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมหรือเท็จฯ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และฐานฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ม.5, 60 โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกัน ซึ่งการยื่นฟ้องสำนวนคดีฉ้อโกงฯนี้ อัยการได้ระบุท้ายฟ้องขอให้ศาลสั่งอดีต พระเณรคำ จำเลย คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย 29 คน รวมเป็นเงิน 28.6 ล้านบาทเศษด้วย โดยทั้งสองคดีในการยื่นฟ้องต่อศาลนั้น อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษทั้ง 2 คดีต่อจากกันด้วย พร้อมคัดค้านการให้ประกันตัวในศาล เนื่องจากเคยมีพฤติการณ์จะหลบหนี จึงเกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจะหลบหนีอีก
ต่อมาอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 นำตัวนายวิรพล มายื่นฟ้องเป็นจำเลย ต่อศาลอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้พาตัวลงมาควบคุมตัวยังห้องเวรชี้ ชั้น 1 ของศาล เพื่อรอสอบคำให้การคดีทั้ง 2 สำนวน โดยศาลอาญาประทับรับคำฟ้องคดีพรากผู้เยาว์ฯ และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.277 วรรคแรก และ ม.317 วรรคสาม ไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2340/60 และคดีฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 ม.14 และฐานฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ม.5, 60 รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2341/2560 ซึ่งนายวิรพล ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีทั้ง 2 สำนวน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองคดีในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ทั้งนี้เนื่องจากนายวิรพล ไม่ได้ยื่นประกันตัว ต่อมาเวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
วันเดียวกัน ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ.61/2556 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 3 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินมูลค่า 43 ล้านบาทเศษของนาย วิรพล สุขผล กับพวกซึ่งเป็นผู้คัดค้านรวม 8 คน ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ โดยศาลแพ่ง เห็นว่า นายวิรพล และผู้คัดค้านทั้ง 8 คน ไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของทรัพย์ได้ ขณะที่นายวิรพล บวชเป็นพระมีรายได้จากประชาชนที่มาทำบุญ ไม่ได้มีรายได้จากแหล่งอื่น จึงเชื่อว่าทรัพย์สิน 27 รายการ อาทิ ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง, รถหรูปอร์เช่, รถจักรยานยนต์ และทรัพย์อื่น ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงให้ทรัพย์สินทั้ง 27 รายการ มูลค่ากว่า 43 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน
(20 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.1962/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332
โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2552 ระบุว่า วันที่ 10 พ.ค. 52 นายจตุพร จำเลยได้ปราศรัย ด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนจำนวนกว่าหมื่นคน ใส่ความรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ขณะนั้น) ทำนองว่าเป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม รวมทั้งกล่าวหาว่า โจทก์ เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน ใส่ร้ายประชาชน กลุ่มคนเสื้อแดง โจทก์จะต้องถูกประหารชีวิตในข้อหาฆ่าคนตาย และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็น เท็จ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก ถูกดู หมิ่น เกลียดชังจากประชาชนที่ได้ยินได้ฟังการปราศรัยของจำเลย เหตุเกิดที่วัดไผ่เขียว แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. คดีนี้หลังจากศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2555 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่า ทางนำสืบรับได้ว่าเป็นกรณีที่ได้มีการปราศรัย แถลงข่าว วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการตอบโต้ ทางการเมืองทางวิธีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยกระทำ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุ ที่นำมาสู่การกล่าวหมิ่นประ มาทที่มิใช่เพียงการโต้ตอบทางการเมือง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาแล้วนั้น รูปคดีมีเหตุผลที่ทำให้จำเลยเชื่อว่าน่าจะมีมูลเหตุในเรื่องที่จำเลยได้กล่าวถึงจริง การกล่าวของจำเลยเป็นการปกป้องตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามทำนอง คลองธรรม ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้องจำเลย ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงเห็นว่าโจทก์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเสร็จไปก่อนเกิดความไม่สงบที่กระทรวงมหาดไทย ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะสร้างสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก และไม่สมเหตุผลที่โจทก์จะต้องสร้างสถานการณ์ไม่สงบให้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลโจทก์ เมื่อพิจารณาภาพเหตุการณ์ประกอบหนังสือพิมพ์ปรากฏว่าวันดังกล่าวมีกลุ่มคนสวมเสื้อแดงรุมทุบทำลายรถนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ หากรัฐบาลโจทก์จัดฉากก็น่าจะนำนายนิพนธ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลออกไปพร้อมโจทก์ด้วย ไม่น่าจะจัดฉากสร้างสถานการณ์ ข้ออ้างไม่มีน้ำหนัก
จำเลยในฐานะแกนนำมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับโจทก์อย่างรุนแรง จึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด และวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านก่อนที่จะมีการกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะการปราศรัยของจำเลยในฐานะแกนนำดังกล่าว ย่อมเป็นข่าวออกไปและส่งผลกระทบต่อโจทก์ รวมทั้งสังคมอย่างกว้างขวาง หรือถ้าหากจำเลยต้องการที่จะกล่าวปราศรัยถึงเหตุการณ์ความไม่สงบที่กระทรวงมหาดไทย จำเลยก็อาจกล่าวอ้างว่าได้ข้อมูลมาอย่างไร ในลักษณะไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลของโจทก์เป็นผู้จัดฉากสร้างสถานการณ์ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงทุบรถของโจทก์ โดยความจริงโจทก์ก็ไม่ได้อยู่ในรถ เพื่อให้เห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงมีอาวุธ ก่อเหตุร้ายในที่ต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างรุนแรง โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะยืนยันว่ารัฐบาลของโจทก์จัดฉากสร้างสถานการณ์ขึ้นโดยโจทก์ไม่ได้อยู่ในรถคันเกิดเหตุที่กระทรวงมหาดไทย
จึงเป็นกรณีเลือกเชื่อที่จะหยิบยกข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนนี้มาใส่ความโจทก์เพื่อหวังผลทางการ เมือง หาใช่เป็นการเชื่อโดยสุจริต การกล่าวปราศรัยของจำเลยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนเอง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 วรรคหนึ่ง และเมื่อฟังได้ว่าไม่ได้แสดงความเห็นโดยสุจริตแล้ว การกระทำย่อมไม่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามโจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี พร้อมให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เดลินิวส์ มติชน ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยชำระค่าโฆษณา
ภายหลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้ควรคุมตัวนายจตุพรที่ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้ม ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาต่อไป
แต้ว ณฐพร และ ป้อง ณวัฒน์ ซิวนักแสดงนำชาย-หญิง จากงานประกาศรางวัล นาฏราช 2559 ด้านละคร นาคี มาแรง กวาดเรียบ 10 รางวัล...
ช่วงเย็น วันที่ 20 ก.ค. ที่ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรม สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ได้จัดงานประกาศผลรางวัล "นาฏราช" ครั้งที่ 8 ประจำปี 2559 โดยมีผลรางวัลทั้งสิ้น 36 รางวัล
ซึ่ง แบ่งเป็นรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- รางวัลเกียรติยศคนทำงานด้านวิทยุ ได้แก่ อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ หรือ ดุ่ย ณ บางน้อย นักจัดรายการวิทยุ
- รางวัลเกียรติยศคนทำงานด้านโทรทัศน์ ได้แก่ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช่องวัน 31
- รางวัลประเภทละครโทรทัศน์ จำนวน 14 รางวัล ซึ่งละครเรื่อง "นาคี" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางช่อง3 กวาดรางวัลไปทั้งหมด 10 รางวัล
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่
- ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ จากละครเรื่อง "พิษสวาท" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31
- รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่
ณฐพร เตมีรักษ์ จากละครเรื่อง "นาคี"ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3
- รางวัลละครยอดเยี่ยม ได้แก่
นาคี จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3
- รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ได้แก่ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง จากละครเรื่อง "นาคี" ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ได้แก่
"นาคี" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดย ณรงค์ บุญบำรุง ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่
"นาคี" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ "นาคี" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดย ธนอรรถ กาสุริยะ ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ได้แก่
"นาคี" โดย ศิรินาจ ถาวรวัตร์ และ ชานนท์ ไวทยะบูลย์ ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลละครชุดยอดเยี่ยม ได้แก่
ซีรีส์ "Club Friday The Series 7 เหตุเกิดจากความรัก" จากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ออกอากาศทางช่อง GMM25
- รางวัลเพลงละครยอดเยี่ยม ได้แก่
เพลง "คู่คอง" ขับร้องโดย มก้อง ห้วยไร่ จากละครเรื่อง "นาคี" ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลบทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม ได้แก่
วัยแสบสาแหรกขาด โดย ณฤดี ศิรกรวิไล,กุศลิน เมฆวิภาต,ชญานิน เลี่ยวไพโรจน์,ปิยรส สุนทรวิภาต และธัญญ์ชยา เสาวภาคย์สัตสกุล ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยม ได้แก่
"นาคี" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ได้แก่ สันติสุข พรหมศิริ จากละครเรื่อง "ขมิ้นกับปูน" ออกอากาศทางช่อง7
- รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ อริศรา วงษ์ชาลี จากละครเรื่อง "นาคี" ออกอากาศทางช่อง3
รางวัลประเภทรายการโทรทัศน์ จำนวน 14 รางวัล ประกอบด้วย
- รางวัลรายการข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "ข่าว 3 มิติ" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลผู้ประกาศข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่
บัญชา ชุมชัยเวทย์ รายการ "จอโลกเศรษฐกิจ" จาก บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลสกู๊ปข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ สกู๊ปข่าว"ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลเกมส์โชว์ยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "ปริศนาฟ้าแลบ" จากบริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ ช่อง 23
- รางวัลทอล์คโชว์ยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "Perspective" จากบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด และบริษัท แบล็คดอท จำกัดออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD
- รางวัลวาไรตี้ยอดเยี่ยม ได้แก่
รายการ "หน้ากากนักร้อง (The Mask Singer)" จากบริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ออกอากาศทางเวิร์คพอยท์ ช่อง 23
- รางวัลสารคดียอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "คนค้นฅน" จากบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD
- รางวัลสารคดีชุดยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "ด้วยพระบารมี" จากบริษัท มาจอริตี้ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด และ บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
- รางวัลรายการเด็กยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี ๕" จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ออกอากาศทาง ทรูโฟร์ยู ดิจิตอลฟรีทีวี ช่อง 24
- รางวัลรายการกีฬายอดเยี่ยม ได้แก่
รายการ "Sport Guru" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลรายการกีฬาถ่ายทอดสดยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน AFF Suzuki Cup 2016 รอบชิงชนะเลิศ นัดสอง ระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติอินโดนีเซีย" จากบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ออกอากาศทางช่อง7
- รางวัลผู้บรรยายรายการโทรทัศน์ยอดเยี่ยม ได้แก่ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง :รายการ สารคดีเฉลิมพระเกียรติ 70 ปี รัชกาลที่ 9 ตอน "รอยยิ้มจากหยาดเหงื่อ" จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกอากาศทางช่อง3
- รางวัลผู้บรรยายรายการกีฬายอดเยี่ยม ได้แก่ วรปัฐ อรุณภักดี จาก รายการ "ฟุตบอลไทยไฟว์ ทีมชาติไทย - อิหร่าน" และ รายการ "วอลเลย์บอล AVC Cup 2016" จากบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ออกอากาศทางไทยรัฐทีวี ช่อง32
- รางวัลพิธีกรยอดเยี่ยม ได้แก่ กันต์ กันตถาวร จากรายการ "นักร้องซ่อนแอบ (I Can See Your Voice)" จากบริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ออกอากาศทางเวิร์คพอยท์ ช่อง23
รางวัลประเภทรายการวิทยุ จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย
- ผู้ผลิตรายการข่าวและสาระยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "ธ สถิต ณ แดนสรวง ราษฎ์กำสรวล หวนไห้" บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท FM 100.5 MHz "News Network"
- ผู้ผลิตรายการบันเทิงยอดเยี่ยม ได้แก่
Green Wave 106.5 FM : รายการ "Club Friday" จาก บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด ออกอากาศทาง 106.5 MHz
- ผู้ดำเนินรายการข่าวและสาระยอดเยี่ยม ได้แก่ ฐิติรัตน์ พูนศิริชัยกิจ และ นภัส มรรคดวงแก้ว รายการ "บอกเล่า 96.5ช่วงปลดล็อกความคิดชีวิตเปลี่ยน" ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท FM 96.5 MHz "News Network"
- ผู้ดำเนินรายการบันเทิงยอดเยี่ยม ได้แก่
กำภู ภูริภูวดล และรัชนีย์ สุทธิธรรม : รายการ "ลูกทุ่งมหานคร LTM FM 95 ซูเปอร์สเตชั่น" จาก สถานีวิทยุ อสมท จำกัด (มหาชน)ออกอากาศทาง 95.0 MHz คลื่นลูกทุ่งมหานคร
- รายการบันเทิงท้องถิ่นยอดเยี่ยม ได้แก่
รายการ "อะหยั้งเอาะ อะหยั้งเอาะ" จาก สถานีวิทยุ อสมท จ.ลำปาง ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท จ.ลำปาง 99.0 MHz
- รายการข่าวสาระความรู้ยอดเยี่ยม ได้แก่ รายการ "ธ สถิต ณ แดนสรวง ราษฎร์กำสรวล หวนไห้ พระบารมีปกเกล้าชาวอีสาน" จาก สถานีวิทยุ อสมท จ.ชัยภูมิ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท จ.ชัยภูมิFM 102.0 MHz.