ข่าว
สหรัฐฯ ร่วมกับไทยค้นหานักบินสูญหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

วันที่ 4 มีนาคม 2565 : รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มปฏิบัติการร่วมกับไทยเพื่อค้นหานักบินอเมริกันที่สูญหายมากว่า 70 ปี ทั้งนี้ เชื่อว่านักบินคนดังกล่าวพร้อมด้วยเครื่องบิน P-38 ตกใกล้กับ ม.บ้านแม่กัวะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เชี่ยวชาญ 9 คนจากสำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหาย (DPAA)

สำนักงานใหญ่ในฮาวาย กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางมาเพื่อร่วมปฏิบัติการค้นหาโดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชนบ้านแม่กัวะ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ไมเคิล ฮีธ, กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ ฌอน โอนีลล์ และพันเอก อลงกต ดอนมูล ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่และพบกับคณะค้นหา อีกทั้งยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มดังกล่าว ตลอดจนร่วมในปฏิบัติการค้นหาด้วย

อุปทูตฮีธ กล่าวว่า “แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 70 ปีแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังคงดำเนินการเพื่อนำทหารทุกนายของเรากลับบ้าน ภารกิจด้านมนุษยธรรมนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือและมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ในนามของสหรัฐฯ และประชาชนอเมริกัน ผมขอขอบคุณสมาชิกชุมชนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตลอดจนรัฐบาลไทยที่ช่วยเราปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญและทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาติของเรา”

พันตรี ไบรอัน ดับเบิลยู. สมิท หัวหน้าคณะค้นหา กล่าวว่า “เป้าหมายของเราที่นี่คือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด และสื่อสารกับครอบครัวของผู้สูญหายอย่างเปิดเผย ผมขอขอบคุณเจ้าภาพชาวไทยที่ช่วยเรานำทหารของเรากลับสู่มาตุภูมิ”

ทหารอเมริกันประมาณ 81,600 คน ยังคงสูญหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในอดีต รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นหาข้อมูลของผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถเพื่อนำพวกเขากลับสู่มาตุภูมิและครอบครัว ภารกิจนี้เป็นปฏิบัติการนำตัวผู้สูญหายกลับสู่มาตุภูมิที่สำคัญครั้งแรกในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2550 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561

สำนักงาน DPAA ได้รับข้อมูลชุดใหม่เกี่ยวกับการพบเครื่องบินที่สูญหายไปของสหรัฐฯ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจำนวน 3 ลำในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานเครื่องบินที่สูญหายในพื้นที่ ความสูญเสียแต่ละเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับทหารอเมริกันที่ยังคงสูญหายอยู่ ภารกิจนี้เกิดขึ้นได้จากการค้นคว้าโดยละเอียดของนักประวัติศาสตร์และอาสาสมัครทั้งจากไทยและสหรัฐฯ ตลอดจนใช้ข้อมูลที่ได้จากบันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์

ผู้นำโลกรุมประณามรัสเซีย เหตุโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยูเครน คุกคามความปลอดภัยทั้งภูมิภาค

ผู้นำจากทั่วโลกรุมประณามการกระทำของกองทัพรัสเซียที่บุกเข้าโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยูเครน เสี่ยงคุกคามความปลอดภัยประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ทั่วโลกยังคงจับตาดูสถานการณ์ในยูเครนอย่างไม่กะพริบตา เมื่อรัสเซียเดินเกมบุกเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งนับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วยุโรป เพราะเกรงว่าหากเกิดการระเบิด หรือเหตุไม่คาดคิดจากการยิงต่อสู้กันเกิดขึ้น ความเสียหายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจจะมากมายมหาศาลเกินกว่าใครจะคาดถึง แม้ว่าในเวลานี้ จะมีการยืนยันว่าโรงไฟฟ้ายังคงปลอดภัย และระดับกัมมันตรังสีจะยังอยู่ในระดับปกติก็ตาม

โดยนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษระบุว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นความประมาทเลินเล่อ และนับเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของยุโรปทั้งหมด

ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้รัสเซีย หยุดกิจกรรมทางทหารทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดาระบุว่า การโจมตีอันเลวร้ายของรัสเซีย จะต้องยุติลงทันที โดยผู้นำจากทั้ง 3 ชาติได้มีโอกาสต่อสายพูดคุยกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ทางโทรศัพท์ก่อนหน้านี้แล้ว

ด้านนายเซเลนสกี ได้ประณามการกระทำ ของรัสเซียที่ใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นเครื่องมือในการก่อการร้าย และมีจุดประสงค์ที่จะสร้างหายนะภัยซ้ำรอยกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในปี 1986 โดยหากเกิดการระเบิด ทุกสิ่งทุกอย่างจะจบสิ้น รวมทั้งยุโรปด้วย

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ต่างนำเสนอภาพขณะเกิดเหตุระเบิดใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยังมีการยิงต่อสู้กันจนเกิดแสงวูบวาบทั่วท้องฟ้าในยามค่ำคืน ขณะที่ล่าสุดคนงานโรงไฟฟ้าระบุว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิด

ขึ้นในส่วนอาคารฝึกอบรมสามารถควบคุมไว้ได้ทั้งหมดแล้ว โดยในขณะนี้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวเปิดใช้งานอยู่เพียงเตาเดียวจากทั้งหมด 6 เตา

ด้าน ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA หน่วยนิวเคลียร์วอชด็อกขององค์การสหประชาชาติระบุว่า เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวไม่ได้กระทบกับอุปกรณ์ที่จำเป็นของโรงงานผลิตไฟฟ้า และไม่ได้พบระดับกัมมันตรังสีที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะนี้ทาง IAEA กำลังเฝ้าระวังและจับตาดูสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากนับเป็นสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติ เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่าการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนี้เป็นเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด และถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ที่มา : บีบีซี


อพยพ 203 คนไทยออกจากยูเครนแล้ว พรุ่งนี้อีก 61 คน เดินทางกลับถึงประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ เผย คนไทยในยูเครนทั้งหมด 256 คน ช่วยอพยพแล้ว 203 คน พรุ่งนี้ คณะคนไทย 2 ชุดรวม 61 คน เตรียมเดินทางจากกรุงบูคาเรสต์-กรุงวอร์ซอ กลับถึงประเทศ

วันที่ 4 มี.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในยูเครนในสถานการณ์ฉุกเฉิน (สถานะวันที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา 22.00 น.

สำหรับกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยของคนไทยจากยูเครนมี 2 ชุด

- คณะคนไทยชุดที่ 4 จำนวน 16 คน จะเดินทางโดยเครื่องบินออกจากกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ในวันที่ 4 มี.ค. 2565 และมีกำหนดถึงประเทศไทยในวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG971 เวลา 06.50 น.

- คณะคนไทยชุดที่ 5 จำนวน 45 คน โดยเครื่องบินออกจากกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ในวันที่ 4 มี.ค. เช่นกัน และมีกำหนดถึงไทยวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK384 เวลา 12.05 น.

ส่วนการช่วยเหลือคนไทยและแผนอพยพคนไทยออกจากยูเครน (วันที่ 3 มี.ค. 2565) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ช่วยเหลือให้คนไทยจำนวน 6 คน ออกมาจากเมืองมิโคลาอีฟ (Mykolayiv) ได้แล้ว และนำไปพักรอที่เมืองโอเดสซา โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ จะรับช่วงต่อในการนำคนไทยกลุ่มนี้ พร้อมด้วยคนไทยอีก 6 คนในเมืองโอเดสซาที่เปลี่ยนใจจะเดินทางกลับไทย เดินทางเข้าประเทศโรมาเนียในวันที่ 4 มี.ค. 2565

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ จะนำคนไทยที่เข้าพักที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทย เมืองลวิฟ เพิ่มเติมอีก 14 คน ข้ามแดนเข้าประเทศโปแลนด์ในวันที่ 4 มี.ค. และรอการเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 6 มี.ค. 2565

สำหรับจากตัวเลขจำนวนคนไทยในยูเครนทั้งหมด 256 คน สามารถช่วยให้อพยพออกมาจากยูเครนแล้ว 203 คน และรอการอพยพในวันที่ 4 มี.ค. 2565 อีก 26 คน โดยจะเหลือคนไทยที่ต้องการอพยพเพียง 1 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเซเบโรโดเนส (Severodonetsk) แต่ยังไม่สามารถเดินทางออกมาได้เพราะสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ยังได้ให้ความร่วมมือแก่สถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์

ประจำประเทศโปแลนด์ ในการอพยพชาวฟิลิปปินส์ 15 คน ออกจากประเทศยูเครนไปยังกรุงวอร์ซอ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 ซึ่งเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ ณ กรุงวอร์ซอ ได้แสดงความขอบคุณ เอกอัครราชทูตไทยและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ สำหรับความช่วยเหลือครั้งนี้ โดยเอกอัครราชทูตทั้ง 2 เห็นว่า ความร่วมมือดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของครอบครัวอาเซียนทั้งในยามปกติและยามวิกฤติ

ชาวเยอรมันแห่รับผู้ลี้ภัยยูเครน ลั่น 'ในสักวันอาจเป็นพวกเราก็ได้'

4 มี.ค. 2565 : ในสถานีรถไฟกลางของกรุงเบอร์ลิน มีผู้ลี้ภัยหลายพันคนทุกวัน ไม่ว่าจะชายหรือหญิงรวมทั้งเด็กที่หลบหนีออกจากสงครามในยูเครน และพวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากประชาชนเยอรมัน

หากผู้อพยพต้องการมุ่งหน้าต่อไปจากเยอรมัน จะได้รับตั๋วรถไฟฟรีเพื่อไปทุกที่ในยุโรป และหากใครที่ไม่รู้ว่าควรไปที่ไหน ก็จะได้รับการพาไปยังห้องโถงในสถานี สิ่งที่ผู้อพยพจะได้พบคือการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวเยอรมัน มีการแจกอาหารและเครื่องดื่มพร้อมกับซิมการ์ดสำหรับโทรศัพท์ และมีทีมแพทย์ นักแปล อาสาสมัคร และผู้จัดงานคอยช่วยเหลือ

มีครอบครัวชาวเยอรมันจำนวนมากที่มีความพร้อมและเข้มแข็งหลายร้อยคนยืนอยู่ที่นั่น โดยพวกเขาจะเสนอที่พักให้กับผู้ลี้ภัย พร้อมถือป้ายที่ทำเอง: “พักได้สองคน! ระยะสั้นหรือระยะยาว” หรือ “ห้องใหญ่ หนึ่ง-สามคน เด็กก็ยินดีต้อนรับเช่นกัน นานเท่าที่คุณต้องการ”

มีเสียงปรบมือดังลั่นเมื่อผู้ชายถือโทรโข่งถามว่ามีใครพร้อมรับ 13 คนไหม และมีคนก้าวไปข้างหน้า แม่คนหนึ่งอยู่ที่นี่กับลูกสาวของเธอ ซึ่งมีอายุไม่เกิน 12 ขวบ ถือป้ายที่เขียนว่า “แม่หนึ่ง ลูกสองคน อายุสี่หกสัปดาห์” ถัดจากเธอคือ มาร์กอท ซึ่งอายุ 70 ปี พร้อมกระดานสีน้ำเงินและสีเหลือง: “ห้องเดียวสำหรับแม่และลูก”

“ฉันเองก็เป็นลูกของผู้ลี้ภัยเหมือนกัน” มาร์กอทกล่าวโดยอธิบายว่าแม่ของเธอ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และตอนนี้อายุ 97 ปี ต้องหนีจากพวกนาซีของฮิตเลอร์เพื่อหาที่หลบภัย “ดังนั้นฉันจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อผู้ลี้ภัย คราวนี้ไม่ใช่ฮิตเลอร์ แต่สำหรับฉันมันรู้สึกเหมือนกับที่ปูตินทำคือสิ่งที่ฮิตเลอร์เคยทำมาก่อน” แม้จะมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่เดินทางมาถึง แต่ก็ดูเหมือนว่ามีครอบครัวชาวเยอรมันมากเกินพอที่จะรับพวกเขาเข้ามา

ในเขตชานเมืองของกรุงเบอร์ลิน มาทีนาและสามีของเธอ ทิมโม ได้เปิดบ้านของพวกเขาซึ่งพวกเขามีลูกสาววัยรุ่น 2 คน และเพิ่งรับชาวยูเครนไป 4 คน

อนาสตาเซียพร้อมด้วยอาร์เทมีลูกชายวัย 4 ขวบและพ่อแม่บุญธรรมของเธอวิกตอเรีย สามีของเธอ

ดิมิทรี ถูกสั่งห้ามออกจากยูเครน ไม่มีผู้ชายวัยฉกรรจ์คนไหนที่สามารถออกจากประเทศได้ และนี่เป็นสิ่งที่เธอไม่สามารถอธิบายกับลูกชายวัย 4 ขวบได้

“เขาเอาแต่ถามถึงพ่อของเขาทุกครั้ง” เธอพูดเสียงสั่น “พ่อของเขาอยู่ที่ไหน และเมื่อไหร่ที่เขาจะได้เจอกัน ฉันไม่รู้ แต่ฉันหวังว่าในเร็วๆ นี้” อนาสตาเซียพูดพร้อมปาดน้ำตา “และพ่อของฉัน ฉันหวังว่าฉันจะได้พบเขาในไม่ช้าเช่นกัน” ซึ่งพ่อของเธอพยายามจะข้ามยูเครนเพื่อหนีไปยังเยอรมนีเช่นกัน

เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับผู้ที่กำลังเดินทางมา มาทีนาและสามีของเธอ ทิมโม ผู้บริหารบริษัทไอที ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในห้องของลูกสาวคนหนึ่ง พร้อมทั้งให้จูนาและโจลี ลูกสาวฝาแฝดวัย 13 ปีของพวกเขาแชร์ห้องนอนกัน

“เมื่อเราเริ่มอ่านข่าว เราพูดทันทีว่า เราต้องรับใครสักคนเข้ามา เพื่อให้ใครบางคนได้รับความสงบ เพราะบางทีมันอาจกลายเป็นเราก็ได้ นี่คือสิ่งที่เรารู้สึก” ทิมโมบอก

การโจมตียูเครนของวลาดิมีร์ ปูติน ทำให้หลายคนในเยอรมนีสั่นสะท้าน เพราะพวกเขาเชื่อมาตลอดว่าสันติภาพจะยังคงอยู่ในยุโรป “เราอยู่อย่างสงบสุขมาทั้งชีวิต” มาทีนา กล่าว “เราไม่รู้ว่าการอยู่ในสงครามเป็นอย่างไร มันน่าตกใจ ความคิดแรกของเราคือเราต้องช่วยสักครอบครัวเพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย เราจะให้ความสงบแก่พวกเขาในบ้านหลังนี้”

อาร์เทมีวัย 4 ขวบกำลังเล่นอย่างมีความสุขกับรถดับเพลิงไม้ที่เพิ่งได้รับ เขาคิดว่าวันนี้เป็นวันเกิดของเขาเพราะเขาได้รับของขวัญมากมาย ครอบครัวที่อุปถัมภ์กล่าวว่าแขกของพวกเขาสามารถอยู่ได้นานเท่าที่ต้องการ พวกเขาเล่าว่าเมื่อเราออกจากบ้านมา เพื่อนบ้านแบกของขวัญมามากมาย พร้อมทั้งตะกร้าอาหารสำหรับผู้ลี้ภัย

ในย่านอื่นของเบอร์ลิน เราพบ ทาเร็ก และคนอื่นๆ อีกประมาณโหลที่ขนเสบียงขึ้นรถบัส ทาเร็กเป็นชาวซีเรีย เขาหนีสงครามที่นั่นเมื่อหกปีที่แล้ว โดยเดินผ่านยุโรปเป็นเวลา 2 เดือนเพื่อไปถึงเยอรมนี ตอนนี้เขากำลังเดินทางไปชายแดนยูเครนเพื่อรวบรวมผู้ลี้ภัยและนำพวกเขากลับมา

“ผมรู้ว่าการหนีสงครามเป็นอย่างไร นั่นคือเหตุผลที่ผมต้องการช่วยเหลือผู้คนในตอนนี้” เขากล่าว

ทาเร็ก ผู้ลี้ภัยจากวิกฤตการณ์หนึ่ง กำลังมุ่งหน้าไปช่วยเหลือผู้มาจากอีกวิกฤตหนึ่ง เขากล่าวว่าประเด็นทั่วไปที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสงครามในซีเรียและยูเครน คือการรุกรานของวลาดิมีร์ ปูติน และความรุนแรงที่ปลดปล่อยออกมา คร่าชีวิตผู้คนมากมาย

ที่มา: BBC


ผู้นำยูเครน เรียกร้อง ปูติน เจรจากัน "ตัวต่อตัว" ทิ้งท้าย "ผมไม่กัด"

4 มี.ค. เอพี รายงานสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครนซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 10 แล้วว่า นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เรียกร้องให้นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นั่งลงเพื่อเจรจาด้วยตัวต่อตัว พร้อมเรียกร้องให้ตะวันตกเสนอความช่วยเหลือทางทหารมากขึ้นแก่ยูเครน เพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซียที่รุกรานเข้ามา

“พระเจ้า คุณต้องการอะไร ออกไปจากแผ่นดินของเรา หากคุณไม่ต้องการออกไปตอนนี้ นั่งลงกับผมเพื่อเจรจาสิ แต่ไม่ใช่ห่างกัน 30 เมตร เหมือนผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนี (ที่เคยมานั่งลงเจรจากับ ปูติน ) ผมไม่กัดหรอก คุณกลัวอะไรกัน” นายเซเลนสกีกล่าวในทำนองเสียดสีโดยอ้างถึงโต๊ะยาวที่นาย ปูติน ใช้เพื่อพบปะผู้นำต่างประเทศและเจ้าหน้าที่รัสเซียเมื่อไม่นานนี้

ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มี.ค. นายเซเลนสกีกล่าวว่า โอกาสสำหรับการเจรจารอใหม่ระหว่างรัสเซียและยูเครนดูจะไม่มีความหวัง แต่เน้นความจำเป็นในการเจรจาว่า “คำพูดใดๆ สำคัญมากกว่าการพบปะ”

นายเซเลนสกีกล่าวว่า โลกช้าเกินไปที่จะให้การสนับสนุนยูเครน และชักชวนให้ผู้นำตะวันตกบังคับใช้เขตห้ามบินเหนือยูเครนเพื่อไม่ให้เครื่องบินรบของรัสเซียเข้ามา หลังพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ปฏิเสธมาตลอด แต่ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า หากตะวันตกยังคงลังเลที่จะประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน อย่างน้อยควรจัดหาเครื่องบินรบแก่ยูเครน

นาโตเมินกำหนด 'เขตห้ามบิน' เหนือยูเครน

4 มีนาคม 2565 :กลัวเปิดสงครามกับรัสเซีย เลขาธิการองค์การนาโตย้ำชัดเมื่อวันศุกร์ นาโตจะไม่่กำหนดเขตห้ามบินเหนือยูเครน หลังจากประธานาธิบดียูเครนเรียกร้องให้กำหนดเขตห้ามบินเพื่อหยุดการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย

เอเอฟพีกล่าวว่า เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ยืนกรานปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากยูเครน ภายหลังประชุมฉุกเฉินกับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มนาโตที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 โดยเขากล่าวว่า หนทางเดียวในการบังคับใช้เขตห้ามบินก็คือส่งเครื่องบินขับไล่ของนาโตเข้าน่านฟ้ายูเครน แล้วบังคับใช้เขตห้ามบินนี้ด้วยการยิงเครื่องบินของรัสเซียตก ซึ่ง "หากเราทำแบบนั้น เราจะจบลงด้วยบางสิ่งบางอย่างที่ลงท้ายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนมากขึ้น นี่คือเหตุผลที่เราตัดสินใจอย่างเจ็บปวดในครั้งนี้"

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน พยายามเรียกร้องหลายครั้งให้กลุ่มนาโต ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นแกนนำ บังคับใช้เขตห้ามบิน เพื่อช่วยหยุดยั้งการถล่มทางอากาศแบบไม่เลือกหน้าของรัสเซียตามเมืองต่างๆ ของยูเครน

สโตลเทนเบิร์กเตือนว่า วันข้างหน้ามีแนวโน้มจะเลวร้ายกว่านี้อีก มีคนล้มตายมากขึ้น ทุกข์ทรมานมากขึ้น และมีการทำลายล้างมากขึ้น เนื่องจากกองทัพรัสเซียนำอาวุธยุทโธปกรณ์หนักกว่านี้เข้ามาและเดินหน้าโจมตีทั่วยูเครนต่อไป

กลุ่มนาโตส่งกำลังทหารหลายพันนายมาเสริมในยุโรปตะวันออกที่เป็นแนวหน้าใกล้กับรัสเซียที่สุด และยังส่งอาวุธมาให้ยูเครนป้องกันตนเอง แต่นาโตปฏิเสธที่จะแทรกแซงทางทหาร ด้วยกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียที่อาจบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้

สโตลเทนเบิร์กกล่าวว่า นาโตจะทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อปกป้องและป้องกันดินแดนทุกตารางนิ้วของนาโต นาโตเป็นกลุ่มพันธมิตรเชิงป้องกัน งานหลักของเราคือทำให้สมาชิก 30 ประเทศของเราปลอดภัย

"เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนี้ และเรามีความรับผิดชอบที่ต้องทำให้แน่ใจว่า ความขัดแย้งนี้จะไม่ขยายวงและลุกลามออกมานอกยูเครน" เขาย้ำ

ยูเครน ซึ่งหวังจะเข้าเป็นสมาชิกนาโตและเป็นสิ่งที่รัสเซียไม่อาจยอมรับได้ กล่าวว่า หากนาโตไม่เปิดน่านฟ้ายูเครน ก็ควรจะส่งเครื่องบินรบและระบบป้องกันภัยทางอากาศมาให้ยูเครนใช้หยุดยั้งการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย

ถึงบัดนี้ ชาติยุโรปยังยืนกรานว่าจะไม่ส่งเครื่องบินมาให้ และอาวุธที่ส่งมาส่วนใหญ่เป็นอาวุธเบา กับพวกมิสไซล์ต่อต้านรถถังและต่อต้านอากาศยานที่ใช้เครื่องยิงแบบประทับบ่า