ข่าว
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประณามการทำร้ายอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

12 มีนาคม พ.ศ. 2564 : ไทยโพสต์: ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวประณามพฤติกรรมที่เขาเรียกว่า “อาชญากรรมจากความเกลียดชังที่ชั่วร้าย” ต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย นับแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เป็นอเมริกันและเรียกร้องให้ยุติ

ระหว่างแถลงถึงความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโควิด-19 เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีตามเวลาในสหรัฐ ฯฯประธานาธิบดีไบเดน กล่าวประณามการโจมตีทำร้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียบ่อยครั้งขึ้น ว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังอันชั่วร้ายต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ที่โดนโจมตี รังควาน กล่าวโทษ และตกเป็นแพะรับบาป เพราะการแพร่ระบาดของโรคที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ เพื่อนร่วมชาติเชื้อสายอเมริกันจำนวนมาก พวกเขาอยู่ด่านหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ ในความพยายามรักษาชีวิตผู้ป่วย แต่พวกเขากลับต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัวเมื่อต้องเดินบนท้องถนนในอเมริกา “มันเป็นสิ่งผิด ไม่เป็นอเมริกัน และต้องยุติ” เขากล่าว

นักวิเคราะห์กล่าวกันว่า การเลือกปฏิบัติต่อต้านชาวเอเชียอย่างกว้างขวางได้แรงกระตุ้นจากการคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และคนอื่นๆ ที่พูดถึง “ไวรัสจีน”

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า คดีการทำร้ายเพราะเชื้อชาติหลายกรณียากจะระบุมูลเหตุจูงใจ แต่ปีที่แล้วมีรายงานการเกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อต้านเอเชียเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 49 คดี เป็น 122 คดี ใน 16 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ รวมถึงนิวยอร์ก และ ลอส แอนเจลิส ถึงแม้ว่าอาชญากรรมจากความเกลียดชังโดยรวมจะลดจำนวนลงก็ตาม

ล้ำอีกขั้น “นิติวิทย์ฯไทย-จีน” ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

โควิดฯไม่เป็นอุปสรรค “นิติวิทย์ฯไทย-จีน” ลงนาม MOU ทางไกลเสมือนจริง พัฒนาเทคโนโลยีระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล เพิ่มศักยภาพสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลดความเหลื่อมล้ำ-ผู้ด้อยโอกาส เชื่อมโยงหน่วยงานภายนอก ให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 64 พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ร่วมลงนามกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย Mr.Zhao Qiming ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงความมั่นคง สาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) ผ่านระบบ WEBEX ภายหลัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้นำร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ประเทศจีนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เปิดเผยว่า บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มุ่งเน้นกรอบความร่วมมือ ด้านการพัฒนาวิชาชีพผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการฝึกอบรม การพัฒนาเทคนิคโดยเน้นพัฒนาฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล และการตรวจเปรียบเทียบ การพัฒนาเทคนิค วิธีการเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสารพันธุกรรมและสมรรถนะ ห้องปฏิบัติการตรวจ DNA รวมถึงพัฒนาความรู้สมรรถนะเทคโนโลยีมาตรฐานการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ภายหลังลงนาม จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี และได้รับการต่ออายุอีก 5 ปีเมื่อทั้งสองฝ่ายยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ MOU เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล พัฒนาฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ ข้อมูลสารพันธุกรรม ข้อมูลใบหน้าบุคคล ข้อมูลม่านตาและเพิ่มศักยภาพสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของไทย เป็นศูนย์บริหารฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลของผู้กระทำความผิดในกระทรวงยุติธรรม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก ให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป


คลัสเตอร์ “ฟิตเนส” ติดเชื้อพุ่ง 50 คน ฮ่องกงส่งกักตัวอีก 240 คน !

วันที่ 12 มี.ค. รอยเตอร์และ สเตรตส์ไทมส์ รายงานสถานการณ์ โรคโควิด-19 หวนระบาดหนักใน ฮ่องกง หลังกระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงแถลงพบผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อีก 60 คน สูงสุดในรอบ 44 วัน หนำซ้ำการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ที่เออร์ซัสฟิตเนสยังพบผู้ติดเชื้อที่เชื่อม

โยงเพิ่มขึ้นเป็น 47 คนขณะที่ยอดป่วยสะสมของฮ่องกงมีอย่างน้อย 11,151 คน และเสียชีวิตแล้ว 203 ราย

รายงานระบุว่าฟิตเนสเออร์ซัสในย่านไซยิงปัน เป็นสถานที่ออกกำลังยอดนิยมในกลุ่มทนายความต่างชาติ พนักงานธนาคาร และผู้บริหารกองทุน ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของคลัสเตอร์ฟิตเนสเออร์ซัสยังส่งผลให้บุคคลมีความเสี่ยงกว่า 240 คนต้องเข้ากักตัวที่ศูนย์กักกันของรัฐบาล เนื่องจากลูกค้าของฟิตเนสส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย

ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศข้อบังคับให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยระหว่างออกกำลังกาย ส่วนพนักงานของฟิตเนสต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกๆ 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนเคลเลตต์ห้องหนึ่งถูกส่งตัวไปยังศูนย์แยกกักตัว ภายหลังยืนยันพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรงเรียนอย่างน้อย 9 แห่งปิดการเรียนการสอนชั่วคราว


ชาวพม่า ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง คนทั่วไป สามัคคีต้านรัฐประหารทั้งในและนอกประเทศ

นักการเมือง นักกิจกรรม และผู้ประท้วงมากกว่า 2,000 คนถูกจับกุมคุมขังหลังการรัฐประหาร

คนที่มีบทบาทในการจุดประกายให้ขบวนการ คือ มิง โก นาย อดีตผู้นำการประท้วงของนักศึกษาประชาชนในปี 2531 เขาออกแถลงการณ์ และปรากฏตัวในที่สาธารณะเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวไป

อีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างแข็งขันและเอาจริงเอาจัง คือ บรรดานักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เพื่อประสานงานกับองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การสหประชาชาติ

แม้ว่าการเสียชีวิตระหว่างการประท้วงรัฐประหารของเด็กสาวชาวพม่า 2 คน คือ เมี๊ยะ ทเว ทเว คาย อายุ 20 ปี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่เนปิดอว์ และแจ ซิ่น อายุ 19 ปี เมื่อ 4 มีนาคม ที่มัณฑะเลย์ จะเป็นโศกนาฏกรรมที่สะเทือนอารมณ์คนทั่วโลกอย่างมาก แต่ความตายของเธอทั้งสองกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ และนั่นเป็นแรงหนุนส่งให้ชาวพม่าจำนวนมากมายมหาศาลยังยึดมั่นต่อสู้ขัดขืนอำนาจกองทัพต่อไปอย่างไม่หวั่นไหว ในขณะที่สถานการณ์นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

การรัฐประหารของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก็เหมือนกับการยึดอำนาจครั้งก่อนในปี 2531 คือเผชิญหน้ากับการลุกฮือต่อต้านอย่างทันทีทันใด โดยประชาชนกลุ่มแรกที่แสดงการต่อต้านกองทัพ คือบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เริ่มต้นจากการแสดงออกผ่านเฟซบุ๊กในนามขบวนการ “อารยะขัดขืน” จนถึงปัจจุบันมีคนติดตามเพจนี้ มากถึง 335,858 คน (ข้อมูลเมื่อ 12 มีนาคม 2564) และจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมของขบวนการนี้เติบโตทั่วประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่เมืองไปถึงรัฐ และภาค ไม่เฉพาะแต่คนเชื้อสายพม่าเท่านั้น หากแต่กลุ่มชาติพันธุ์ก็เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนนี้อย่างกว้างขวาง

เชื่อกันว่า คนที่มีบทบาทในการจุดประกายให้ขบวนการนี้คือ มิง โก นาย อดีตผู้นำการประท้วงของนักศึกษาประชาชนในปี 2531 นั่นเอง เขาออกแถลงการณ์ และปรากฏตัวในที่สาธารณะในช่วงสั้นๆ เมื่อประชาชนมารวมตัวกันบนถนนในนครย่างกุ้งเพื่อต่อต้านรัฐประหารต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวไป มีนักการเมือง นักกิจกรรม และผู้ประท้วงมากกว่า 2,000 คนถูกจับกุมคุมขังหลังการรัฐประหาร แต่นั่นไม่ได้ทำให้ขบวนการอารยะขัดขืนต้องสูญสลายไปด้วยเลย ตรงกันข้าม กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนเรือนแสนเข้าร่วมการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศในเวลาต่อมา

การลุกฮือประท้วงรัฐประหารของพม่าในคราวนี้เหมือนกับการประท้วงของประชาชนในหลายประเทศก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่ฮ่องกงหรือในประเทศไทย คือเป็นการประท้วงกระจายตัว ไม่รวมศูนย์ ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ ประชาชนซึ่งจำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาวแสดงออกทางสัญลักษณ์ เริ่มตั้งแต่การชูสามนิ้วซึ่งเป็นแฟชั่นจากภาพยนตร์ฮังเกอร์เกมส์ บวกกับความเชื่อแบบเดิมของชาวเอเชียจำนวนมากคือ เคาะหม้อ กระทะ ถ้วยชาม เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ผสมผสานกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่อย่าง โซเชียลมีเดีย และประการสำคัญที่สุดคือ การสไตรค์ ผละงาน รณรงค์ให้มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ต่อต้านบริษัทธุรกิจที่เป็นของกองทัพ หรือมีสายสัมพันธ์กับกองทัพ

การคว่ำบาตรภายในประเทศนี่เอง ที่ทำให้กองทัพพม่าวิตกกังวล และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพม่าาโดยรวม และรวมตลอดถึงธุรกิจต่างประเทศ เช่น บริษัทของไทยที่ไปลงทุนในพม่าประสบกับปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เพราะระบบธนาคารของพม่าถูกต่อต้านจากประชาชนทั่วไป ด้วยการพากันแห่ไปถอนเงินทั้งจากบัญชี และเครื่องเอทีเอ็ม พนักงานธนาคารใหญ่ๆ ทั้งของรัฐ กองทัพ และเอกชน เช่น เอ็มเอบี อิรวดี เมียวดี พากันผละงานเพื่อรวมกับขบวนประท้วง ธนาคารจึงจำเป็นต้องลดธุรกรรม หรือไม่ก็ปิดสาขาต่างๆ ลงไปนับแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป แบงก์ชาติพม่าต้องออกระเบียบจำกัดการถอนเงินสดของประชาชนทั่วไป ที่ถอนด้วยสมุดเงินฝากวันละไม่เกิน 2 ล้านจั๊ต และจากเครื่องเอทีเอ็มไม่เกิน 500,000 จั๊ต ส่วนธุรกิจก็ห้ามถอนเงินสัปดาห์ละ 20 ล้านจั๊ต นอกจากนี้ การที่ทางการพม่าตัดระบบการสื่อสารเพื่อตอบโต้ผู้ประท้วง ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อการสื่อสารของธนาคารและธุรกรรมทางการเงินด้วยเช่นกัน

อีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างแข็งขัน และเอาจริงเอาจังมาก คือ บรรดานักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา เพราะเกิดการรัฐประหารเสียก่อนจะมีการเปิดสภา พวกเขาจึงรวมตัวกันทำพิธีสาบานตนกันเอง และตั้งกลุ่มในนามคณะกรรมการผู้แทนสภาพิดองซู เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เพื่อประสานงานกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร รณรงค์ไม่ให้นานาชาติให้การยอมรัฐบาลที่สภาบริหารแห่งรัฐของมิน อ่อง หล่าย จัดตั้งขึ้น และยืนยันว่า รัฐบาลของประธานาธิบดี วิน มินต์ เท่านั้นเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรม เพจของคณะกรรมการมีคนติดตามมากถึง 1,570,493 คน

คณะกรรมการดังกล่าวได้แต่งตั้ง นายแพทย์ซาซา เป็นทูตพิเศษประจำสหประชาชาติ และ อู ทิน ลิน อ่อง เป็นผู้แทนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซาซา เป็นแพทย์ที่ทำงานทางด้านสาธารณสุข มูลนิธิเพื่อสุขภาพและความหวังของเขาทำงานในพื้นที่รัฐชิน และฝึกอบรมชาวบ้านให้ช่วยงานทางด้านสาธารณสุขมาเป็นเวลานับทศวรรษก่อนหน้า ถึงแม้ว่าจะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แต่เขาก็เป็นที่รู้จักมานานในฐานะคนทำงานเพื่อมนุษยธรรม ส่วน ทิน ลิน อ่อง นั้นเป็นอดีตนักโทษการเมืองที่มีประสบการณ์ในการต่อสู้ในยุคหลังปี 2531 เขาออกจากพม่าไปอาศัยอยู่ในเมอรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2551 คือหลังเหตุการณ์การลุกฮือของพระสงฆ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามของการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม คณะกรรมการได้ติดต่อว่าจ้างสำนักงานกฎหมายนานาชาติ โวลเทอร์ร่า เฟี๊ยตตา เพื่อให้ช่วยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายระหว่างประเทศในการเคลื่อนไหว และรณรงค์ในนานาชาติต่อต้านการรัฐประหารและรัฐบาลในกรุงเนปิดอว์ ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นพวกนอกกฎหมาย นายแพทย์ ซาซา แถลงเรื่องนี้หลังจากมีข่าวว่า กองทัพพม่าเองก็จ้างล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐฯ เพื่อคอยแก้ต่างให้การรัฐประหารและป้องกันการคว่ำบาตรจากกนานาชาติ

เรียกได้ว่าเปิดแนวรบกันทุกด้านเลยทีเดียว


วิกฤติใหญ่ครั้งใหม่ในราชวงศ์วินด์เซอร์

ความจริงราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ปกครองอังกฤษในขณะนี้นั้น เดิมมีชื่อเป็นภาษาเยอรมันคือราชวงศ์ “แซกซ์-โคบวร์ก-โกธา” แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ปรากฎว่าประเทศเยอรมนีเป็นประเทศศัตรูอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอังกฤษในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1

ดังนั้นพระเจ้าจอร์จที่ 5 กษัตริย์อังกฤษในเวลานั้นจึงเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็น “วินด์เซอร์” ซึ่งฟังเป็นอังกฤษดีกว่าแซกซ์-โคบวร์ก-โกธา ที่เป็นเยอรมันมากไปหน่อยเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2460 นั่นเอง

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ราชวงศ์ของอังกฤษเป็นราชวงศ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้ดีที่สุดในโลก อันทำให้ราชวงศ์ของอังกฤษเป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบ ได้รับความเคารพนับถือจากมหาชนทั่วไปสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 พระบรมราชินี แห่งสหราชอาณาจักร ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2495 ทรงเป็นกษัตรีย์แห่งรัฐเอกราช 16 รัฐ ซึ่งรวมกันเรียกว่าเครือจักรภพอังกฤษ

ครั้นสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์โดยนับถึงปีนี้เป็นเวลา 69 ปี พระองค์ได้ทรงเป็นประมุขของ 32 ประเทศเนื่องจากอาณานิคมอื่นๆ ของจักรวรรดิอังกฤษได้รับเอกราชเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ปัจจุบัน พระองค์ทรงเป็นประมุของค์เดียวในโลกที่ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของชาติเอกราชเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งเครือจักรภพอังกฤษ จอมทัพแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร และผู้ปกครองสูงสุดแห่งศาสนจักรอังกฤษ แต่ในทางปฏิบัติพระองค์จะทรงใช้อำนาจบริหารทางการเมืองส่วนพระองค์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ตลอดระยะเวลา 69 ปีของการเป็นประมุขแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ได้เกิดวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่เพียง 2 ครั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับลูกสะใภ้และหลานสะใภ้ในเรื่องภายในครอบครัวแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ ผ่านทางการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งสร้างความฉาวโฉ่ให้กับราชวงศ์วินด์เซอร์อย่างมโหฬารเพราะเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมทั่วโลกหลายสิบล้านคน

รักส่วนเกินของไดอาน่า

วิกฤติใหญ่ครั้งแรก เมื่อเจ้าหญิงไดอาน่าขณะทรงเป็นพระชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ล มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษของราชวงศ์วินด์เซอร์ ทรงให้สัมภาษณ์ในรายการพาโนรามาของสถานีโทรทัศน์บีบีซีเมื่อปี 2538 เป็นการบอกเล่าถึงปัญหาในชีวิตคู่ของพระองค์กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และได้นำไปสู่การหย่าขาดจากกันในเวลาต่อมา

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้มีผู้ชมเกือบ 23 ล้านคน และได้นำโศกนาฏกรรมตลอดจนความเปลี่ยนแปลงมาสู่ราชวงศ์วินด์เซอร์ในหลายด้าน เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงไดอาน่าและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระสวามีได้แยกกันอยู่ แต่ยังไม่หย่าขาดจากกันอย่างเป็นทางการ

ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์มีการถามเจ้าหญิงไดอาน่าว่า นางคามิลลา พาร์กเกอร์-โบลส์ (ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาองค์ปัจจุบันของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์) คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตคู่ของพระองค์กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ต้องล้มเหลวหรือเปล่า? เจ้าหญิงไดอานาตอบว่า “มีเราสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้ มันก็เลยแออัดไปหน่อย”

นอกจากนี้ เจ้าหญิงไดอาน่ายังทรงเปิดเผยเรื่องราวส่วนพระองค์ต่างๆ เช่น การเล่าถึงเรื่องที่ทรงเป็นโรคซึมเศร้า โรคบูลีเมีย และการทำร้ายตัวเอง ตลอดจนเรื่องการมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับ พันตรี เจมส์ ฮิวอิตต์ อดีตครูสอนขี่ม้า นอกจากนี้ ยังทรงแสดงความข้องใจถึงความเหมาะสมของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในฐานะกษัตริย์ของอังกฤษ ขณะเดียวกันก็ไม่ทรงเห็นว่าพระองค์จะได้เป็นราชินีของอังกฤษเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในราชสำนัก

ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีจดหมายถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ และทรงแนะนำให้ทั้งสองพระองค์หย่าขาดจากกัน โดยเจ้าหญิงไดอาน่าจะต้องสูญเสียฐานันดรศักดิ์ชั้นเจ้าฟ้า (Her Royal Highness) เนื่องจากมิได้เป็นเจ้าหญิงพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์อีกต่อไป และให้ใช้พระนาม “ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์” แต่เพียงเท่านั้นในฐานะที่เป็นพระมารดาของกษัตริย์อังกฤษในอนาคต

เผยปมเหยียดผิวสะเทือนข้ามทวีป

วิกฤติใหญ่ครั้งใหม่ครั้งที่ 2 คือการสัมภาษณ์พิเศษความยาว 2 ชั่วโมงเต็ม แบบเปิดอกครั้งแรกของเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุคแห่งซัสเซกส์และเมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกส์ โดยพิธีกรสตรีผิวสีชื่อดัง โอปราห์ วินฟรีย์ ออกอากาศในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมานี้

เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนเล่าถึง ความเย็นชา ไร้ความห่วงหาปรานีในรั้วในวังอังกฤษ และทำให้พวกเขาต้องหนีออกมาจากชีวิตแบบนั้นมาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนยังกล่าวหาว่ามีสมาชิกในราชวงศ์อังกฤษเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และไม่ส่งเสริมสนับสนุนเมแกนในฐานะสมาชิกใหม่ในราชวงศ์อังกฤษ มิหนำซ้ำยังมีสมาชิกของราชวงศ์อังกฤษบางคนถึงกับออกปากเป็นกังวลถึงสีผิวของพระโอรสของเจ้าชายยแฮร์รี่และเมแกน เนื่องจากมารดาของเมแกนเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา เรื่องนี้ถึงกับทำให้เมแกนคิดฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าที่มีสาเหตุจากการใช้ชีวิตในราชสำนักอังกฤษ

การสัมภาษณ์ครั้งนี้มียอดผู้ชม 17.1 ล้านคนในการออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ในสหรัฐและอีก 12 ล้านคนในการออกอากาศที่อังกฤษ ถือเป็นการสัมภาษณ์แบบเปิดอกจากสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่มีผู้ชมมากที่สุด

สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ได้ทอดพระเนตรรายการสัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนทางโทรทัศน์ แต่ได้รับทราบรายละเอียดของการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังในตอนเช้าวันจันทร์ที่ 8 มี.ค. แล้ว แต่เนื่องจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชประสงค์ให้ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นนั้นลดระดับลงเสียก่อน จึงได้ลงพระนามในแถลงการณ์และทรงมอบหมายให้สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชน โดยเนื้อหาสำคัญอ้างว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องในครอบครัว และสมาชิกในครอบครัวทุกคนรู้สึกเสียใจที่ได้ทราบถึงปัญหาที่เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนได้เผชิญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งเน้นไปที่ เรื่องสีผิว เรื่องเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติจะมีการพูดกันในครอบครัวเป็นการส่วนตัว ซึ่งเนื้อหาของแถลงการณ์ในตอนท้าย ยังระบุว่า “เจ้าชายแฮร์รี่ เมแกน และอาร์ชี จะเป็นที่รักของสมาชิกในครอบครัวเสมอ”

ครับ ! ราชวงศ์วินเซอร์ก็ยังคงมีความมั่นคงอยู่เหนือบัลลังก์อังกฤษต่อไปอีกนานแสนนานเพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างแนบเนียนไม่ดึงดันติดยึดกับทัศนคติและขนบประเพณีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของโลกปัจจุบัน

ขอขอบคุณ

ภาพ : Peter Summers/Getty Images

“ชวน” เดินหน้าเปิดประชุมรัฐสภาถกแก้รธน.วาระ 3

นสพ.บ้านเมือง: “ชวน” เดินหน้าเปิดประชุมรัฐสภาถกแก้รธน.วาระ 3 “จุรินทร์” ชี้รอดูคำวินิจฉัยกลาง ยันปชป.หนุนลงมติรธน.วาระ 3 ทางด้านฝ่ายค้านหนุนเช่นกัน เตือนรบ.-ส.ว.อย่าเตะถ่วง ขณะที่ประธานวุฒิฯ นัดประชุมหาทางออกโหวตรัฐธรรมนูญวาระสาม 15 มี.ค. นี้

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ฝ่ายกฎหมายได้ศึกษาและรายงานให้ทราบแล้ว ซึ่งสามารถเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 3 ที่บรรจุระเบียบวาระได้ในวันที่ 17 มีนาคม ท่ามกลางความเห็นหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยเต็มจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาจะยึดหลักรัฐธรรมนูญเป็นหลัก จากนั้นดูคำวินิจฉัยว่ามีผลผูกพันทุกองค์กรอย่างไร

นายชวน ย้ำว่า วันที่ 17 มีนาคม นี้ ได้บรรจุระเบียบวาระเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไว้แล้ว ไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งกรณีที่มีข้อเสนอให้ระงับหรือชะลอการพิจารณาไว้ก่อน โดยย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และจะไม่มีการหาข้อสรุปใดๆ ก่อน ต้องรอดูวันที่ 17 มีนาคม

ส่วนจะต้องใช้มติตัดสินหรือไม่ว่ารัฐสภาจะดำเนินการต่อไปอย่างไร นายชวน กล่าวเพียงว่า ได้บรรจุระเบียบวาระไว้แล้ว

“ “จุรินทร์” ชี้ รอดูคำวินิจฉัยกลาง ยันปชป.หนุนลงมติรธน.วาระ 3

ที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงท่าทีพรรคประชาธิปัตย์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ต้องรอดูคำวินิจฉัยกลางก่อน ว่าความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน และที่สำคัญคงจะต้องรอดู ประธานรัฐสภาว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ในรูปแบบไหน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ถ้ามีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภา และลงมติในวาระ 3 พรรคก็จะให้ความเห็นชอบ ซึ่งเราก็มียืนในจุดเดิมที่เคยพูดมาตลอดว่าในทุกกรณี ที่เราต้องร่วมตัดสินใจก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดยืนที่ยืนมาตลอดไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่าเห็นด้วยที่จะนำไปทานมติก่อนหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าสุดท้ายมีความหมายว่าอย่างไร เพราะขณะนี้จะต้องดูฉบับเต็มอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายเห็นว่าการลงมติวาระ 1- 2 อาจจะเป็นโมฆะ นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่มีฐานะที่จะตอบได้ต้องรอคำวินิจฉัยกลาง ต้องนับหนึ่งจากตรงนั้นก่อน ว่าสุดท้ายแล้วมีความหมายว่าอย่างไร ตอนนี้มีการถกเถียงกันอยู่สองฝ่าย

เมื่อถามว่าพรรคจะเตรียมแผน 2 ในการแก้ไขรายมาตราหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอให้ได้ข้อยุติตรงนี้ก่อน เพราะที่ผ่านมาพรรคทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้งสสร.ถ้ามีการลงมติประชาธิปัตย์ก็จะสนับสนุน ส่วนที่อาจจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปเลยนั้นก็อยู่ที่ดุลพินิจของแต่ ละฝ่ายว่าจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเรียกร้องให้ทำประชามติถามประชาชนว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าเราผลักดันการแก้ไขมาสุดทางแล้ว และผลักดันถึงวาระ 1-2 มาจนถึงวาระสามแล้ว ทำตรงนี้ให้สุดทางก่อน ผลจะเป็นอย่างไรค่อยมาว่ากัน ถือว่าเต็มที่แล้ว

ฝ่ายค้าน หนุนสภาฯ เดินหน้าแก้รธน.วาระ 3 เตือนรบ.-ส.ว.อย่าเตะถ่วง

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงท่าทีต่อการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ ดังนั้นฝ่ายค้านจะดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะเดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อไป โดยในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ประธานสภาควรนำเรื่องการทำประชามติเข้ามาหารือในที่ประชุมด้วย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นสอดคล้องกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในรัฐสภา วาระที่ 1 และ 2 ถือว่าไม่เป็นโมฆะ และเราจะเดินหน้าไปสู่วาระที่ 3 ในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ เพราะสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่นั้นคือการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา คือ มาตรา 256 ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ การที่สมาชิกรัฐสภาบางคนพยายามลดทอนอำนาจของตัวเอง โดยบอกว่าวาระที่ 1 และ 2 เป็นโมฆะนั้น เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง

แม้ว่าวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ประธานรัฐสภาจะกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แล้ว แต่กระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นการพายเรือวนอยู่ในอ่าง มีความพยายามประวิงเวลา และถ่วงเวลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามีการโหวตคว่ำในการประชุมรัฐสภาในวาระที่ 3 อีกก็จะได้รู้กันว่าใครมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน

พรรคฯ เห็นว่าถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ แต่จะโหวตคว่ำในวาระที่ 3 ปิดประตูการแก้ไข ศาลรัฐธรรมนูญได้บอกวิธีลดอุณหภูมิการเมือง คือให้รัฐบาลใช้มาตรา 166 เพื่อสอบถามประชาชนว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือกุญแจนำไปสู่ทางออก

นายพิธา กล่าวต่อว่า พรรคยืนยันว่าอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาตั้งแต่ต้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการยืนยันความปกติของการเมืองไทยว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ฉีกง่ายกว่าแก้ และจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรมาจากการล้มล้างการปกครอง หรือการทำรัฐประหารอย่างเดียว แต่ควรอยู่คู่กับกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตย

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ประธานรัฐสภาทำถูกแล้วในการบรรจุกำหนดวันโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ดังนั้นในการประชุมควรพิจารณาเห็นชอบเรื่องนี้เพียงอย่างเดียวว่ารับหรือไม่รับ

นอกจากนี้ รัฐบาล ส.ว. และรัฐสภา ต้องเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกสำหรับวิกฤตประเทศ หากมีการโหวตคว่ำหรือไม่มีการโหวตก็จะค้านกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3

ประธานวุฒิฯ นัดประชุมหาทางออกโหวตรัฐธรรมนูญวาระสาม 15 มี.ค. นี้

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค. นี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้เรียกวิปวุฒิสภาหารือกันถึงปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และมองว่าความเห็นที่ต่างกันขณะนี้เป็นเพราะยังไม่มีใครเห็นคำวินิจฉัยกลาง ดังนั้นต้องพิจารณาจากคำวินิจฉัยกลางก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร