ข่าว
'ญี่ปุ่น'ออกกฎกักตัวใหม่ คุมเข้มพลเมืองกลับจากต่างประเทศรวมถึง‘ไทย’

2 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแผนการออกกฎกักตัวนาน 6 วัน สำหรับผู้มีประวัติเดินทางเยือนเวียดนามและมาเลเซียก่อนเดินทางกลับญี่ปุ่น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ ที่มีอัตราการติดเชื้อสูงและแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่น

ผู้มีประวัติเดินทางเยือนเวียดนามหรือมาเลเซียภายใน 14 วันก่อนกลับมายังญี่ปุ่นจะต้องพักอยู่ในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดนาน 6 วัน และจะต้องเข้ารับการตรวจโรคโควิด-19 รวม 2 ครั้ง ส่วนผู้เดินทางกลับจากอัฟกานิสถานจะต้องกักตัวนาน 10 วัน และผู้มีประวัติเดินทางเยือนไทยต้องกักตัวนาน 3 วัน เช่นเดียวกับผู้มีประวัติเดินทางเยือน 15 รัฐของสหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ (4 มิ.ย.)

มาตรการกักตัวชุดใหม่จะส่งผลกระทบต่อพลเมืองญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากญี่ปุ่นสั่งห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ แม้จะเป็นชาวต่างชาติที่มีสถานภาพผู้พำนักอาศัยในญี่ปุ่นก็ตาม กฎนี้สร้างความไม่พอใจแก่ชุมชนชาวต่างชาติในญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

หอการค้าสหรัฐฯ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสภาธุรกิจยุโรป เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม เมื่อวันศุกร์ (28 พ.ค.) ระบุว่าการสั่งระงับชาวต่างชาติที่พักอาศัยในญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าพวกเขาเป็นภัยเสี่ยงทางสาธารณสุขมากกว่าผู้มีสัญชาติญี่ปุ่น เป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นนโยบายสาธารณสุขที่ไร้ประสิทธิภาพ

แถลงการณ์เสริมว่าญี่ปุ่นควรกลับไปดำเนินมาตรการก่อนหน้านี้ที่สอดคล้องกับกลุ่มประเทศจี7 (G7) ซึ่งอนุญาตชาวต่างชาติที่มีสถานภาพผู้พำนักอาศัย รวมถึงสมาชิกครอบครัวใกล้ชิดของพวกเขา สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้ตามมาตรฐานเดียวกันกับผู้มีสัญชาติญี่ปุ่น

‘ในหลวง’พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ แก่ผู้ป่วยโควิด ในเรือนจำ ทัณฑสถาน

1 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904 (อาคาร 2) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้ารับพระราชทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จำนวน 200,000 เม็ด หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ โดยมีคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมในพิธี

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในประเทศไทยหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง รวมทั้งในเรือนจำและทัณฑสถานหลายแห่ง ได้พบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด 19 เป็นจำนวนมาก กรมราชทัณฑ์จึงมีความจำเป็นต้องจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อไวรัส สำหรับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการหนัก จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์พิเศษ พร้อมทั้งใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ประกอบในการรักษาพยาบาล เพื่อลดอัตราการสูญเสียและอาการรุนแรงของโรค

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 200,000 เม็ด พระราชทานแก่กรมราชทัณฑ์ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 ในเรือนจำและทัณฑสถานต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนยาในการรักษาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การได้รับพระราชทานยาฟาวิพิราเวียร์ในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่กรมราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด 19


'กรมสมเด็จพระเทพฯ'พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ พร้อมข้อความให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก "มูลนิธิชัยพัฒนา" เผยแพร่ข้อความและภาพวาดฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โดยระบุว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ และข้อความให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ในนามมูลนิธิชัยพัฒนา และกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 ( และโรคระบาดต่างๆ )


บุรีรัมย์คุม 23 อำเภอ! ห้ามย้ายโคกระบือ 'ลัมปี สกิน'ยังระบาดหนัก

3 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงนามประกาศจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่อง กำหนดเขตโรคระบาด ชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ในชนิดสัตว์ โค กระบือ

ด้วยจังหวัดบุรีรัมย์ พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และอำเภอโนนสุวรรณ เกิดขึ้นในสัตว์โคเนื้อ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นโรคตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ 2558

จากสถานการณ์ดังกล่าว ที่มีแนวโน้มจะแพร่ระบาดไปยังท้องที่อื่นๆ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงออกประกาศให้ทุกพื้นที่ใน จ.บุรีรัมย์ ทั้ง 23 อำเภอ เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน ในชนิดสัตว์ โค กระบือ และห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ เข้า และออกผ่านพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ และในพื้นที่แต่ละอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งหากพบฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่คอกเลี้ยงโค และกระบือ ป่วยด้วยโรคชนิดนี้ ก็ได้เข้าไปป้องกัน และฉีดพ่นยาในแต่ละพื้นที่แล้ว ส่วนที่พบโคตายในพื้นที่ ก็มีการนำซากไปฝั่งกลบในดิน พร้อมฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ ยังมีการจัดเจ้าหน้าที่ดำเนินงานเชิงรุก ในการเฝ้าระวัง และป้องกันการระบาด พร้อมทั้งออกให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค และกระบือ ในการร่วมกันป้องกันโรค และดูแลสถานที่เลี้ยงให้ได้มาตรฐาน

สำหรับโรคชนิดนี้ เกิดจากเชื้อไวรัส Capripoxvirus ระบาดในโค และกระบือ ผ่านแมลงดูดเลือด เช่น ยุงเห็บ เหลือบ และแมลงวัน จะไม่ติดหรือแพร่เชื้อสู่คน


หนุ่ม 38 ปีเตรียมบวชให้คนตายตัวจริง ญาติผูกแขนต่ออายุ หลังจัดงานศพผิดคน

3 มิ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครอบครัว ญาติพี่น้อง และชาวบ้าน ได้ทำบุญตักบาตรแก้เคล็ด พร้อมผูกแขนสะเดาะเคราะห์ต่ออายุให้กับหนุ่มวัย 38 ชาว อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกเข้าใจผิดคิดว่าเสียชีวิตจนจัดงานศพให้ผิดคนก่อนจะโผล่งานศพตัวเองทำเอาแตกตื่นทั้งบ้าน ขณะที่เจ้าตัวเตรียมบวชให้คนตายตัวจริง เพราะเชื่ออาจเป็นตัวตายตัวแทน อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ช็อกกันทั้งงาน! พ่อจัดงานศพให้ลูกชาย เจ้าตัวโผล่ตกใจเห็นรูปตัวเองหน้าโลง

ล่าสุด ความคืบหน้ากรณีที่มีการจัดงานศพผิดตัว ที่บ้านซาด ต.สระบัว อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ล่าสุดทางครอบครัว ญาติ และชาวบ้าน ได้ร่วมกันทำบุญบ้าน และผูกแขนสะเดาะเคราะห์ต่ออายุให้นายสงัด สายวัน อายุ 38 ปี ตามประเพณีความเชื่อของคนในพื้นถิ่น หลังจากที่เกิดเหตุการณ์เข้าใจผิดคิดว่าศพที่ถูกรถชนตายจนหน้าเละจำหน้าไม่ได้ เป็นศพของนายสายวัน เพราะหายจากบ้าน 3 วัน และพ่อเห็นรอยสักยันต์ที่แขน จึงคิดว่าเป็นศพลูกตัวเอง โดยเชื่อว่าหลังจากที่ทำบุญตักบาตรและสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาแล้ว ก็จะทำให้นายสงัด แคล้วคลาดปลอดภัยและอายุยืน

ขณะที่ตัวนายสงัด เองเชื่อว่าแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการเข้าใจผิด แต่มีชาวบ้านบางคนมีความเชื่อว่าอาจจะเป็นตัวตายตัวแทน ตนจึงตั้งใจจะบวชให้กับนายวุฒิชัย พูนวงษ์ หรืออ๊อด ผู้ที่เสียชีวิตตัวจริง ซึ่งญาติจะฌาปนกิจ

ส่วนเรื่องคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจ บอกว่า กำลังตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียงและเส้นทางผ่านจุดเกิดเกตุ หาเบาะแสรถต้องสงสัยคันที่ชนนายวุฒิชัย เสียชีวิตแล้วหลบหนี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย


โผล่ที่สุรินทร์! หนุ่มอัดคลิปแฉ ‘หลวงปู่องค์ดำ’ แอบมาสร้างอาศรมขู่คนในพื้นที่

โลกออนไลน์ฮือฮาอีกแล้ว… หลังจากมีการแชร์ต่อคลิปของผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Chai Yos” หลังจากที่ไปพบกับ นายพุทธะ เทพสุริยะจักรวาล อายุ 38 ปี ที่ ที่แต่คล้ายพระสงฆ์ แต่ใช้ผ้าสีดำนุ่งห่มแทน ซึ่งเคยตกเป็นข่าวโด่งดังมาเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยในคลิปล่าสุดที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวนำมาแชร์นั้น ปรากฏภาพ ผู้ที่ถ่ายคลิป กำลังมีปากมีเสียงกับคณะผู้ติดตามของนายพุทธะ เทพสุริยะจักรวาล รวมถึงมีการพูดในทำนองว่า ไม่พอใจเหรอ คุยกันดีๆก็ได้ ไม่ใช่มาทำแบบนี้

โดยข้อความระบุว่า “ชายชุดดำอ้างตัวเป็น เทพสุริยะฯ “ที่เป็นข่าว” แอบมาสร้าง อาศรม “กำลังก่อสร้างตามรูปแถวจังหวัดสุรินทร์ โดยมีบริวารติดตาม และมี พนักงานรัฐวิสาหกิจ แห่งหนึ่ง เป็นสารถีพามา เป็นคนเดียวกับ ที่เคยพา คุณแม่ของ ผู้เสียหายที่ ร้องเรียน ที่เคยเป็นข่าว” “ตามคลิป ดังแนบ” แถมมาข่มขู่ คนในพื้นที่ “ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม”


'อิเหนา'ห้ามนักแสวงบุญร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ เหตุโควิดระบาด

นายยาคุต โชลิล กูมาส รัฐมนตรีกิจการศาสนาของอินโดนีเซีย กล่าวในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจว่า ในปีนี้จะไม่อนุญาตให้นักแสวงบุญชาวอินโดนีเซียเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และเพื่อความปลอดภัยของนักแสวงบุญเอง ซึ่งเป็นการห้ามการเดินทางเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และว่าทางซาอุดีอาระเบียเองก็ยังไม่ได้เปิดรับผู้แสวงบุญจากต่างประเทศในขณะนี้

เขากล่าวด้วยว่า ไม่ใช่เพียงเฉพาะอินโดนีเซีย แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดได้รับโควต้าให้เดินทางจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากยังไม่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ส่วนนักแสวงบุญคนใดที่จ่ายเงินค่าประกอบพิธีฮัจญ์ไปแล้ว จะต้องเดินทางไปในปีหน้าแทน ซาอุดีอาระเบียยกเลิกคำสั่งห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก 11 ประเทศ ที่ประกาศใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ยังคงกำหนดให้นักเดินทางเหล่านี้ต้องกักตัวเพื่อดูอาการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มีชาวมุสลิมทั่วโลกราว 2.5 ล้านคน เดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามในนครเมกกะและเมืองเมดินา ในช่วงพิธีฮัจญ์ ที่ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

'อิสราเอล'พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื่อมโยงหลังฉีดวัคซีน'ไฟเซอร์'

2 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลออกแถลงการณ์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เกี่ยวกับผลการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ว่าระหว่างเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ถึงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยฉีดให้แก่ประชาชนมากกว่า 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 275 คน พบว่าจำนวนหนึ่งมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและ 95% ของอาการที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่เป็นชายอายุระหว่าง 16-30 ปี โดยพบในช่วงอายุระหว่าง 16-19 ปีมากที่สุด เบื้องต้นมีการตั้งสมมุติฐานของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว กับการได้รับวัคซีนเข็มที่สอง อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลจะร่วมกันศึกษาเชิงลึกต่อไป

ในขณะเดียวกัน ไฟเซอร์ได้ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัททราบถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนของอิสราเอล ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงภาวะดังกล่าวกับวัคซีนของไฟเซอร์ ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ไฟเซอร์ได้ตรวจสอบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนอย่างละเอียด และหารือกับหน่วยงานความปลอดภัยวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลอยู่เป็นประจำเพื่อตรวจสอบข้อมูล