ข่าว
สื่อนอกตีข่าว ชาวรัสเซียแห่หนีภัยสงครามยูเครนเข้าไทย

6 ก.ย.2566 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอรายงานพิเศษ ‘Russian-only’ businesses in Thailand’s Phuket spark backlash ว่าด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้มีชาวรัสเซียจำนวนมากลี้ภัยมาพักอาศัยในประเทศไทย โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต และคนเหล่านี้ได้เข้าไปแย่งงานคนไทยในท้องถิ่น โดยรายงานของทางการไทย พบว่า 7 เดือนแรกของปี 2566 มีชาวรัสเซียเดินทางไปภูเก็ตถึง 7 แสนคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสงคราม

ในเดือน ก.ค. 2566 เซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย เป็นประธานในพิธีเปิดสถานกงสุลรัสเซียที่ภูเก็ต เพื่อรองรับจำนวนพลเมืองที่กำลังมองหางานและพักผ่อนบนเกาะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การมีอยู่ของรัสเซียที่เพิ่มขึ้นกำลังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของและนายหน้าชาวไทย แต่ก็ทำให้ผู้เช่าหาสถานที่ที่เหมาะสมบนเกาะได้ยากขึ้น

ธุรกิจที่ดำเนินการโดยชาวรัสเซียและเน้นให้บริการเฉพาะชาวรัสเซียเท่านั้นได้เติบโตขึ้น โดยมักจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นภาษารัสเซีย และมีพนักงานที่ทำงานโดยผิดกฎหมาย ซี่งรวมไปถึงการขายบริการทางเพศโดยชาวรัสเซียบริเวณศูนย์กลางสถานบันเทิงยามค่ำคืนของถนนบางลา โดย Prayut Thongmusik ประธานชมรมคนขับรถตู้ในภูเก็ต ซึ่งมีสมาชิก 200 ราย เปิดเผยว่า พวกตนได้รับผลกระทบจากชาวรัสเซียที่เข้ามาทำธุรกิจการท่องเที่ยว คนเหล่านี้ขับรถส่วนบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งของไทย ให้บริการรับนักท่องเที่ยวที่จองผ่านแอปฯ รัสเซีย โดยเสนอค่าบริการที่ถูกกว่าเเกือบร้อยละ 20 นั่นคือเงินรัสเซียทั้งหมดจะหมุนเวียนอยู่แต่กับชาวรัสเซีย

บนเพจเฟซบุ๊กของท้องถิ่น โพสต์ต่างๆ รวบรวมความกังวลที่เพิ่มขึ้นของคนในท้องถิ่นที่กลัวว่างานของพวกเขาจะถูกคุกคาม และคนไทยกำลังกลายเป็นเจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยวแต่เพียงในนาม โดยมีนักลงทุนชาวรัสเซียอยู่เบื้องหลัง บางโพสต์มีรูปถ่ายการรับแท็กซี่ของรัสเซีย และผู้คนที่เชื่อว่าเป็นคนขับชาวรัสเซีย พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุม

ท่ามกลางความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้น กองกำลังตำรวจของภูเก็ตเมื่อเดือนที่แล้วได้ประกาศจับกุมคนงานผิดกฎหมายจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางคนถูกชาวบ้านแสดงความไม่พอใจชี้ให้เห็น อาทิ ในเดือน ก.ค. 2566 มีการจับกุมชาวรัสเซีย 3 คนที่เปิดร้านทำผม โดย พ.ต.ท.ธงชัย มติธรรม (Thongchai Matitam) รอง ผกก.(สอบสวน)สภ.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตำรวจได้ตั้งข้อหาทำงานในอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าการไหลเข้าของเงินรัสเซียอาจมาพร้อมกับการแข่งขันทางธุรกิจและอาชญากรรม ดังตัวอย่างเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จ.ภูเก็ต จับกุมชายชาวคาซัคสถาน ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงนักธุรกิจชาวรัสเซีย ดมิทรี อาเลย์นิคอฟ (Dmitry Aleynikov) วัย 44 ปี ในเวลากลางวันแสกๆ ขณะที่เขานั่งอยู่ในรถด้านนอกร้านกาแฟที่มีผู้คนพลุกพล่าน รวมถึงเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ในพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตำรวจเข้าจับกุมชาวรัสเซียวัย 31 ปี ผู้ต้องสงสัยสมรู้ร่วมคิดกับแก๊งตุ้มตุ๋นที่มีฐานปฏิบัติการในกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านของไทย

อาชญากรชาวรัสเซียหลายคนถูกควบคุมตัวขณะหลบซ่อนอยู่ในรีสอร์ทอื่นๆ รวมถึงที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีชื่อเสียงในฐานะฐานที่มั่นของกลุ่มมาเฟียรัสเซียที่หลบหนีคดี ขณะที่ใน จ.ภูเก็ต ด้านหนึ่งทางการเน้นย้ำว่าประชากรชาวรัสเซียส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในไทยยังปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อีกด้านหนึ่ง ชาวรัสเซียบางส่วนในภูเก็ตก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับสัญชาตของพวกเขาที่อาจถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

เซอร์เก มาลินิน (Sergey Malinin) ชาวรัสเซียที่ทำกิจการบริษัทนำเที่ยวมานาน 25 ปี กล่าวว่า คนไทยเข้าใจคนที่เห็นว่าเป็นชาวรัสเซียไปหมด โดยที่แยกไม่ออกว่านั่นอาจเป็นชาวอุซเบกิสถาน ยูเครน หรือจอร์เจียก็ได้ ชาวรัสเซียบางคนทำงานผิดกฎหมายเนื่องจากกฎหมายที่เข้มงวดของไทยเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ แต่ภาพรวมคือความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่กำลังเติบโต ชาวรัสเซียบางคนกลายเป็นอาชญากรเพราะพวกเขาไม่มีงานถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย พวกเขาไม่สามารถขอวีซ่าได้อีกต่อไป เมื่อมีเงินแต่หางานไม่ได้ วิธีเดียวที่จะอยู่ได้คือทำผิดกฎหมาย

การมีส่วนร่วมอย่างมากของชาวรัสเซียต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่ซบเซาหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งกำลังต่อสู้กับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว Simpsonmarine Phuket ผู้จำหน่ายเรือยอชท์หรู ระบุว่า ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดคือชาวรัสเซียที่ซื้อเรือยอชท์มูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำนวนผู้ซื้อชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10-20 นับตั้งแต่เกิดสงคราม

ในวันที่ 15 ส.ค. 2566 สมาคมการท่องเที่ยวของภูเก็ต ส่งผู้แทยไปจัดงานโปรโมทการท่องเที่ยวที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย โดยหวังรายได้ประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 6 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากชาวรัสเซียมองหาบ้านที่ห่างไกลจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังมองไม่เห็นวันสิ้นสุด ประกอบกับภูเก็ตก็มีที่ดินจำกัด

โซเฟีย มาลีกาเอวา (Sofia Malygaeva) นายหน้าอสังหาฯ ชาวรัสเซีย เปิดเผยว่า ลูกค้าจำนวนมากซื้อแบบไม่ได้อยู่แผน โดยใช้เงินราว 20-30 ล้านบาท คนเหล่านี้มีตั้งแต่มาจากกรุงมอสโกไปจนถึงแถบไซบีเรีย พวกเขายังคงมีธุรกิจในรัสเซียหรือทำงานจากระยะไกล แต่ต้องการให้ครอบครัวอาศัยอยู่ในภูเก็ตพร้อมลูกๆ และมองว่าที่นี่เป็นสถานที่ปลอดภัย

เครียดแต่ไม่เหงา! ‘ก้าวไกล’เชื่อร่วมงานฝ่ายค้าน-ปชป.ได้ ไร้ปัญหาผลประโยชน์ขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล โดนจับตาเรื่องพฤติกรรม เช่น การนำอาหารจากรัฐสภากลับ ว่า เป็นเรื่องที่พรรคจะต้องกำชับ เพราะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก เป็นธรรมดาที่ถูกจับจ้อง นำเรื่องนั้นเรื่องนี้มาโจมตี เป็นหน้าที่ที่พรรคก้าวไกลจะต้องทำให้ ส.ส.มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ต้องขอบคุณทุกฝ่าย หากเห็น ส.ส.พรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขอให้แจ้งมาที่พรรคได้เลย อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าหลายเรื่องอาจไม่มีอะไรมากล่าวหาหรือโจมตีพรรคก้าวไกลแล้ว จึงต้องนำเรื่องแบบนี้มาโจมตี แต่ก็ไม่เป็นไร ตนคิดว่านักการเมืองทุกคน ส.ส.ทุกคน ต้องถูกตรวจสอบได้

"เรื่องอาหารหรืออะไร บางวันคนน้อย เมื่อวานคนน้อย บางทีพนักงานในห้องอาหารยังเตรียมกับข้าวใส่ถุง ขอให้ ส.ส.เอากลับบ้านหน่อย บางวันผู้แทนราษฎรมาประชุมน้อยจริงๆ ยิ่งวันที่ไม่มีวาระสำคัญ หลายร้านนำใส่ถุงไว้เลย ให้ ส.ส.ช่วยเอากลับให้หน่อย ไปให้ผู้ช่วยหรือคนขับรถ แต่ไม่ว่า ส.ส.หรือใครมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรถูกตรวจสอบได้" นายชัยธวัช กล่าว

เมื่อถามว่า มองว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกรุมกินโต๊ะหรือถูกโดดเดี่ยวในสภาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ในแง่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในการทำงานร่วมกันในสภาไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นผลประโยชน์ของพรรคหรือแกนนำพรรค ยอมรับว่ามีความตึงเครียด เนื่องจากรอบนี้ฝ่ายค้านมีจำนวนน้อย ไม่ถึง 200 คน และส่วนใหญ่เป็นพรรคก้าวไกล จึงจะถูกจับจ้องมากเป็นพิเศษ แต่ไม่เหงา

เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชัยธวัช กล่าวว่า วันนี้ได้เริ่มทำงานร่วมกันแล้ว คือการพูดคุยเนื้อหาและกรอบเวลาในการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ต้องดูว่าการทำงานร่วมกันหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะยังมีพรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม และพรรค 1 เสียงอีก 2 - 3 พรรค น่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราไม่มีผลประโยชน์อะไรขัดแย้งกัน


'บิ๊กจิ๋ว'หวานเจี๊ยบ!! เชื่อมั่น'สุทิน'คุมกลาโหมได้ ใช้มุมมองพลเรือนดูแลกองทัพ

7 ก.ย.2566 ที่บ้านพักย่านเกษตร-นวมินทร์ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าพบในวันนี้ว่า ต้องรอเจอกัน ถึงจะรู้ว่าจะพูดคุยกันเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องหลักๆต้องคำนึงถึงเหตุผลแต่ส่วนตัวมองว่า ที่ผ่านมากองทัพได้มีการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนามาโดยตลอด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะต้องสนใจเรื่องความมั่นคงในประเทศ

ทั้งนี้มองว่า การที่พลเรือนมาคุมกองทัพเป็นสิ่งที่ดี จะได้รู้ได้เห็นว่า ในฐานะที่เป็นพลเรือนที่ดี เมื่อมารับผิดชอบในเรื่องความมั่นคง ก็จะเห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไขบ้างโดยยอมรับว่าปัญหาในกองทัพมีมาก เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนคือเรื่องคน ต้องมีการพัฒนายกระดับให้ทัดเทียม และ เป็นที่ยำเกรงของต่างประเทศ รวมถึงพัฒนายุทโธปกรณ์ แต่เรื่องที่สามคือปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้

พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายปรับลดกำลังพล ทำกองทัพให้เล็กกะทัดรัด ต้องคำนึงถึงความแข็งแกร่ง และเป็นเสาหลักให้ประเทศด้วย ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมของประเทศ ก็เอื้ออำนวยเพราะไทยไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร จึงอยากให้ค่อยๆคิดค่อยๆทำในแต่ละขั้นตอน

ส่วนแนวคิดยกเลิกเกณฑ์ทหารและปรับมาเป็นการสมัครใจนั้นมองว่า ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นถึงปัญหา เพราะในหนึ่งปีมีการเกณฑ์ทหารครั้งเดียว โดยการระดมชายไทยทั่วประเทศมาเกณฑ์ทหาร และที่ผ่านมาเราก็แก้ไขกันมาตลอด จนมาถึงปัจจุบันนี้ที่ไม่อยากให้มีการเกณฑ์ทหาร

พร้อมมองว่า กองทัพก็มีทหารพราน เปรียบเหมือนทหารบ้าน ที่มาจากคนในพื้นที่ มีความเชี่ยวชาญ และถนัด รวมทั้งรู้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งใช้จำนวนคนไม่มากก็สามารถทำงานแก้ปัญหาได้ แต่หากเป็นทหารจากพื้นที่อื่นต้องใช้เวลาปรับตัวและเรียนรู้มากกว่า ดังนั้นจึงสอดคล้อง การทำงานในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้อง ใช้ทหารจากพื้นที่อื่นมาทำงาน


'ชาวห้วยแก้ว'ตำบลผาบ่องเจออุทกภัยหนักสุดในรอบ 50 ปีพื้นที่เกษตรเสียหายหนัก

วันที่ 7 กันยายน 2566 เมื่อเวลา 14.45 น. นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบเหตุอุทกภัยที่บ้านห้วยแก้วล่าง หมู่ 7 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากประสบกับเหตุอุทกภัยเมื่อกลางดึกของวันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาโดยได้กำชับให้นายวีระพงศ์ รัตนศรี ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เร่งดำเนินการรวมรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะได้ทำการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยเป็นการเร่งด่วน

ก่อนหน้านั้นในช่วงเช้านายวีระพงศ์ รัตนศรี ปลัดอาวุโส อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้ลงพื้นที่ไปกำกับดูแลการเปิดเส้นทางที่ถูกปิด ตั้งแต่ปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยแก้วล่าง ไปจนถึงหมู่บ้านห้วยแก้ว ที่อยู่ห่างกันไปประมาณ 7 กม. โดยมีนางวัลภา ต่าดู ผู้ใหญ่บ้านห้วยแก้วล่าง และนายบุญทอง ทรัพย์สิทธิเสรี สมาชิก อบต.ผาบ่อง และราษฎรในหมู่บ้าน ร่วมกันออกสำรวจพื้นที่เสียหายของหมู่บ้านห้วยแก้วทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่างการสำรวจที่คาดว่าจะสามารถสำรวจให้แล้วเสร็จภายในอีก 2 วัน

นายบุญทอง ทรัพย์สิทธิเสรี สมาชิก อบต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เหตุอุทกภัยดังกล่าวนับว่าเป็นเหตุรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี โดยพื้นที่การเกษตร เรือกสวนไร่นา สัตว์เลี้ยง และอุปกรณ์ทางการเกษตรเสียหายอย่างหนัก อยากจะวิงวอนให้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยเป็นการเร่งด่วน

นางวัลภา ต่าดู ผู้ใหญ่บ้านห้วยแก้ว หมู่ 7 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ความเสียหายในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากผู้ประสบภัย ในเบื้องต้น พบพื้นที่การเกษตรถูกน้ำป่าซัดเสียหายกว่า 700 ไร่, ฝาย 50 แห่ง ลำเหมือง 50 แห่ง, โรงเรือนการเกษตร 7 หลัง, ถนนระหว่างบ้านห้วยแก้วล่าง - บ้านห้วยแก้วบน ถูกดินสไลด์ตัดขาดไม่สามารถผ่านไปมาได้ประมาณ 11 แห่ง, รถจักรยานยนต์ 1 คัน, ไก่ 20 ตัว, แพะ 10 ตัว, ข้าวเปลือก 2 หลัง (160 ลิตร) ระบบประปาหมู่บ้านเสียหายทั้งหมด และอุปกรณ์การเกษตรอีกจำนวนมาก

นายวีระพงศ์ รัตนศรี ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ในเบื้องต้นได้ขอให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง นำเครื่องจักรกลมาเปิดถนนที่ถูกดินภูเขาสไลด์ลงปิดทับเส้นทาง เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรผ่านไปมาได้อย่างสะดวก คาดว่าจะใช้เวลาประมาณอีก 2 วันนับจากนี้ นอกจากนั้นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนก็คือระบบน้ำประปา เนื่องจากราษฎรบ้านห้วยแก้วในขณะนี้ ไม่มีน้ำดื่มและน้ำใช้เพื่อการอุปโภค สาเหตุมาจากระบบประปาถูกน้ำป่าลำลายเสียหายทั้งหมด ซึ่งในเรื่องน้ำดื่ม ล่าสุดตนได้ประสานไปยังป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอนขอรับการสนับสนุนรถผลิตน้ำดื่มสะอาดมาแจกจ่ายให้กับราษฎรในเย็นวันนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นไปก่อน หลังจากนี้ก็จะได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดำเนินการให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนต่อไป

'ญี่ปุ่น'ปล่อยจรวดภารกิจ'มูน สไนเปอร์' ลุ้นเป็นชาติที่5ลงจอดดวงจันทร์

7 ก.ย.66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จรวด “เอช2-เอ” ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (จาซา) ทะยานขึ้นจากฐานปล่อย ภายในศูนย์อวกาศทาเนงะชิมะ ที่จังหวัดคาโงชิมะ ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อเวลา 08.42 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อนำส่งยานสำรวจขนาดเล็ก Smart Lander for Investigating Moon – SLIM หรือ “สลิม” ไปลงจอดภายในรัศมี 100 เมตร จากเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเจาะจง

ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวมีชื่อว่า “มูน สไนเปอร์” จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-6 เดือน ขณะเดียวกัน จรวดยังบรรทุกดาวเทียมวิจัยที่เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างจาซา กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และองค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ)

หากทำสำเร็จจะเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่สามารถนำยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้ และจะกลายเป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่ทำได้ต่อจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ยานสำรวจดวงจันทร์ขององค์การอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) ซึ่งใช้ชื่อว่า “จันทรายาน-3” เป็นยานสำรวจลำแรกของโลก ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอด และสำรวจพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์