ข่าว
เจออีกดอก ! กกต.รัฐเมนตัดสิทธิ์ ‘ทรัมป์’ เลือกตั้งปธน.มะกัน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กำกับดูแลการเลือกตั้งในรัฐเมนของสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ์อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขึ้นต้นในรัฐเมน ซึ่งทำให้ทรัมป์ถูกห้ามการลงสมัครเป็นรัฐที่ 2 จากบทบาทของเขาเกี่ยวกับเหตุจราจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐในวันที่ 6 มกราคม 2021

เชนนา เบลโลว์ส จากพรรคเดโมเครต ในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้งของรัฐเมน ระบุว่า ทรัมป์ยุยงให้เกิดการจราจลเมื่อเผยแพร่คำกล่าวอ้างเป็นเท็จเกี่ยวกับการฉ้อโกงการเลือกตั้งในปี 2563 โดยเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเดินขบวนไปยังรัฐสภา เพื่อยุติไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับรองผลการเลือกตั้ง

การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติจากรัฐเมนกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ทรัมป์ควรถูกตัดสิทธิ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่ห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่งหากพวกเขามีส่วนร่วมในการจราจลหรือการก่อกบฏ

อย่างไรก็ดี คำตัดสินดังกล่าวซึ่งทรัมป์สามารถยื่นอุทธรณ์ได้จะมีผลเฉพาะการเลือกตั้งเบื้องต้นในเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น แต่มันอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของทรัมป์ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ทรัมป์ถูกศาลสูงของโคโลราโดตัดสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เขากลายเป็นผู้สมัครคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากการมีส่วนร่วมในการก่อกบฏ

ทีมวิจัยจากสหรัฐฯ เผยโพลีเมอร์ที่สามารถสู้กับเชื้อแบคทีเรียได้

แบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตามข้อมูลศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริการะบุว่า ในแต่ละปีมีการติดเชื้อมากกว่า 2.8 ล้านราย ซึ่งหากไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆ มากำราบเชื้อดื้อยาพวกนี้ การได้รับบาดเจ็บหรือติดเชื้อทั่วไปก็อาจถึงแก่ชีวิตได้

ข่าวคราวการพัฒนายาที่จะมาใช้ช่วยกำจัดภัยคุกคามดังกล่าวก็มีมาให้เห็นอยู่บ้าง เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีรายงานจากทีมวิจัยที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Michaudel Lab แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ในสหรัฐอเมริกา รายงานลงในการประชุมวิชาการของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ แสดงให้เห็นหนทางวิธีจัดการเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา เช่น เอสเชอริเชีย โคไล (E. coli) และสแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส ที่ดื้อยาเมธิซิลิน (MRSA)

ทีมอธิบายว่าสังเคราะห์โพลีเมอร์ชนิดใหม่ด้วยการออกแบบโมเลกุลที่มีประจุบวก แล้วนำมายึดต่อกันได้หลายครั้งจนกลายเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ และใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่คัดสรรมาอย่างดีเรียกว่า อควาเมท (AquaMet) ตัวเร่งปฏิกิริยานี้พิสูจน์ได้ว่ามีความสำคัญ เพราะทนต่อประจุที่มีความเข้มข้นสูง แถมยังละลายน้ำได้ ถือ เป็นคุณลักษณะที่ไม่ธรรมดาสำหรับกระบวนการประเภทนี้

แต่ผลลัพธ์ว่าจะได้อย่างใจหวังหรือไม่ อาจต้องรอหน่อย เพราะทีมวิจัยได้นำโพลีเมอร์ใหม่ไปทดสอบกับแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ E.coli และ MRSA โดยร่วมมือกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์ เอมเฮิร์สต์ ระหว่างที่รอข่าวดี ทีมของ Michaudel Lab ก็ทดสอบความเป็นพิษของโพลีเมอร์ต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงของมนุษย์ด้วย นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ต้องจับตาในการพิชิตแบคทีเรียดื้อยา

Escherichia coli. Credit : Rocky Mountain Laboratories, NIAID, NIH


สื่อแดนมังกรตีฆ้อง จีนตั้ง ‘ตง จุน’ ผบ.ทัพเรือ เป็นรมว.กลาโหมคนใหม่

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างสำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีนรายงานเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมว่า สภานิติบัญญัติของจีนได้แต่งตั้งนายตง จุน อายุ 62 ปี ที่เมื่อเร็วๆ นี้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหมของจีน แทนที่นายหลี่ ช่างฝู ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังหายหน้าจากสาธารณชนไปอย่างมีเงื่อนงำตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในเดือนมีนาคมปีนี้

รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวระบุว่า นายหลี่ที่หายตัวไปอยู่ภายใต้การสอบสวนการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์

ในขณะที่ทางการจีนไม่ได้ออกมาชี้แจงถึงการหายตัวไปของนายหลี่ แต่ก็ได้ประกาศปลดเขาพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมและมนตรีแห่งรัฐในเดือนตุลาคม

รอยเตอร์ระบุการตั้งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่แทนที่ว่างลงของจีนมีขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มุ่งยกระดับกองทัพให้แข็งแกร่งขึ้น ส่วนหนึ่งของการผลักดันของนายสีที่จะทำให้จีนเป็นมหาอำนาจโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สร้างกังวลให้กับชาติเพื่อนบ้านอย่างมาก

ขณะที่บทบาทของรัฐมนตรีกลาโหมของจีนคือการเป็นหน้าเป็นตาของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อและกองทัพอื่นๆ และยังมีภารกิจสำคัญในการมีส่วนร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ที่จะลดความเสี่ยงภัยของความขัดแย้งในประเด็นปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาไต้หวันและทะเลจีนใต้ ที่มีความอ่อนไหวระหว่างกันอย่างยิ่ง


สเปซเอ็กซ์ส่ง X-37B ยานอวกาศลับทางทหารของสหรัฐ สู่อวกาศ มุ่งทำภารกิจวิจัย

จรวดขนส่งฟอลคอนเฮฟวี ของ สเปซเอ็กซ์ บริษัทขนส่งทางอากาศของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกัน ได้นำส่งเครื่องบินอวกาศลับ X-37B ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ขึ้นสู่อวกาศเพื่อไปปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัย โดยเว็บไซต์ของสเปซเอ็กซ์ได้ถ่ายทอดสดขณะที่จรวดขนส่งฟอลคอนเฮฟวี นำเครื่องบินอวกาศ X-37B ทะยานออกจากส่งที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐ ในมลรัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 20.07 น. ของวันที่ 28 ธันวาคม ตรงกับเวลา 07.07 น. ของวันที่ 29 ธันวาคมตามเวลาในไทย

อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ยาน X-37B ที่ปฏิบัติการโดยอัตโนมัติ กำลังมุ่งหน้าไปปฏิบัติภารกิจที่ 7 ที่ใด โดยเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจและเครื่องบินอวกาศลับ X-37B ลำนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เดิมมีกำหนดจะส่งในวันที่ 7 ธันวาคม และสเปซเอ็กซ์ระบุเพียงว่า ภารกิจดังกล่าวของเพนตากอนมีขึ้นภายใต้รหัส USSF-52

ก่อนหน้านั้นเพนตากอนระบุว่า ภารกิจที่ 7 ของเครื่องบินอวกาศลับ X-37B จะนำมาซึ่งการทดลอง ที่ล้ำสมัยหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติการยานอวกาศที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในระบบโคจรใหม่ การทดลอง ด้วยเทคโนโลยีการรับรู้โดเมนอวกาศในอนาคต และการตรวจสอบผลกระทบของรังสีที่มีต่อวัตถุ

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินอวกาศลับ X-37B ถูกขนส่งโดยจรวดฟอลคอนเฮฟวี หนึ่งในจรวดขนส่งที่ทรงอานุภาพด้านปฏิบัติการ ซึ่งบรรทุกน้ำหนักได้มากถึง 26,700 กิโลกรัม ขณะที่เครื่องบินอวกาศลับ X-37B มีขนาดเท่ารถบัสคันเล็ก ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายกระสวยอวกาศขนาดเล็กที่ปลดประจำการไปแล้วในปี 2011 โดยภารกิจครั้งก่อนของยาน X-37B ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบของรังสีที่มีต่อเมล็ดพันธุ์พืชและวัตถุอื่นๆ ให้กับนาซา

ให้มันจบไปกับปีเก่า ! ประเพณีสุดแปลกที่ ‘เปรู’ เปิดสังเวียนนัดคู่กรณีตะบันหน้าเคลียร์ปัญหา

29 ธ.ค. 2566 สำนักข่าว AFP โพสต์คลิปวิดีโอผ่านทวิตเตอร์ “AFP News Agency” ระบุว่า ที่ประเทศเปรู ในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส มีประเพณีที่เรียกว่า “ทาคานากุย (Takanakuy)” ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่กรณีที่มีปัญหา มีเรื่องบาดหมางไม่ชอบหน้ากัน ได้นัดเคลียร์กันแบบบ้านๆ ด้วยการชกต่อยกันแบบตัวต่อตัว โดย ฟรอยลัน โรซาส (Froilan Rosas) ช่างแต่งผมชาวเปรู เล่าว่า ในอดีตชาวบ้านที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินจะตัดสินปัญหาด้วย การต่อสู้กัน มันคือวิธีการแก้ปัญหาทั้งระหว่างครอบครัวและเพื่อนบ้าน และประเพณีนี้ได้ถูกสืบทอดมารุ่นสู่รุ่น

ซึ่งคำว่า ทาคานากุย เป็นคำในภาษาของชาวเกชัว (Quechuan) ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเปรู แปลว่า “ตีกัน (to hit each other)” โดย ฮูลิโอ โบซา (Julio Boza) พ่อค้าชาวเปรู กล่าวว่า นี่คือพิธีกรรม มันเริ่มด้วยการสวมกอด จากนั้นจึงต่อสู้กันให้เต็มที่ ก่อนจะจบลงด้วยการสวมกอดกันอีกครั้ง ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามห้ามจัดกิจกรรมดังกล่าวจากทางการเปรู แต่ประเพณีทาคานากุย ก็ได้รับความนิยมไม่เพียงในพื้นที่ชนบทของเทือกเขาแอนดีสเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายเข้าไปสู่ชาวชุมชนเมืองอีกด้วย

โอมาร์ ฮัวชาซา (Omar Huachaca) พ่อค้าชาวเปรู กล่าวว่า ชาวเปรูภูมิใจในประเพณีนี้ มันเป็นสิ่งสวยงาม บางครั้งมันก็ไม่ใช่การต่อสู้ของคนที่เป็นคู่ปรับกัน แต่เป็นการต่อสู้เพื่อความสนุก ในฐานะลูกผู้ชายวัยหนุ่ม เราก็ต้องการทดสอบความเข้มแข็งว่าตัวเรานั้นอยู่ ณ จุดไหน และเหนือสิ่งอื่นใด เลือดที่ไหลเวียนอยู่ในตัวมันเรียกร้องไปสู่การเฉลิมฉลอง

ด้านสำนักข่าวออนไลน์ Firstpost ของอินเดีย โพสต์คลิปวิดีโอ “Fight, Fight, Fight: Peruvians Brawl in New Year Tradition” ผ่านช่องยูทูบ ระบุว่า ในการเฉลิมแลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่า – ต้อนรับปีใหม่ของชาวเปรู พวกเขาจะนัดดวลกำปั้นกันเพื่อสะสางเรื่องบาดหมางคาใจ