หญิงสาวชาวอเมริกันวัย 27 ปี ซึ่งเคยกระโดดลงรางรถไฟสมัยเป็นวัยรุ่นแต่ถูกตำรวจช่วยชีวิตไว้ได้ ตัดสินใจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจนิวยอร์กเป็นเงิน 7,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ้างว่าตำรวจเผยแพร่ข่าวการฆ่าตัวตายของเธอจนทำให้ "เสียประวัติ" และไม่มีใครรับเข้าทำงาน ยัสมิน ราห์มาน อ้างว่า ภาพที่เธอพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จได้เผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งทำให้นายจ้างส่วนใหญ่ไม่อยากรับเธอเข้าทำงาน ราห์มาน เล่าว่า เธอเผชิญปัญหามากมายซึ่งทำให้พยายามฆ่าตัวตายในปี 2001 ขณะอายุเพียง 15 ปี แต่หลังจากรอดชีวิตมาได้ เธอก็ถูกปฎิเสธการสมัครงานจากบริษัทที่อ่านเจอประวัติการฆ่าตัวตายของเธอ “มันทำให้ฉันรู้สึกว่า ชีวิตฉันจมปลัก” ราห์มาน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ โดยอ้างว่าเธอถูกนายจ้างอย่างน้อย 39 รายปฏิเสธงาน ราห์มาน ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดประจำเทศมณฑลควีนส์เมื่อเดือนที่แล้ว โดยบัณฑิตสาขาจิตวิทยาผู้นี้กล่าวว่า เธอสูญเสียโอกาสในการทำงานเนื่องจากตำรวจได้ใส่รายละเอียดเรื่องการฆ่าตัวตายไว้ในประวัติของเธอ แม้จะใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลถึง 6 เดือนหลังเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟเล็กซิงตันอเวนิว โดยเธอได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ กระดูกหัก และสูญเสียความทรงจำชั่วขณะ แต่เธอก็ยอมรับว่า การรอดชีวิตช่วยให้เธอฉุกคิดได้ เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาด้านจิตวิทยา และมีความฝันว่าจะเป็นที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ติดตามการให้บริการองค์กร(caseworker) แต่เธอกลับสามารถทำได้เพียงงานพาร์ทไทม์ขายโทรศัพท์เท่านั้น แอนดริว ชัตคิน ทนายของเธอ กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการพยายามฆ่าตัวตายของ ราห์มาน สมควรถูกปกปิดเป็นความลับมากกว่า
เกิดเหตุสลดกับพฤติกรรมวัยรุ่นอเมริกัน 3 คนที่คิดฆ่าผู้บริสุทธิ์เพียงเพราะว่าเบื่อและนึกสนุก ทั้งนี้ นายแดนนี ฟอร์ด ผู้บัญชาการตำรวจเมืองดันแคน ห่างจากเมืองโอกลาโฮมา ซิตี้ไปทางใต้ 130 กม. รัฐโอกลาโฮมา ในสหรัฐฯ เผยว่า เจ้าหน้าที่อัยการตั้งข้อหานายเจมส์ เอ็ดวาร์ดส อายุ 15 ปี กับนายชานเซย์ ลูนา อายุ 16 ปี ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา หากศาลตัดสินว่ามีความผิดโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ต้องรอลงอาญา โดยละเว้นโทษประหารชีวิต เนื่องจากผู้ต้องหาอายุไม่ถึง 18 ปี ตาม ก.ม.รัฐโอกลาโฮมา ส่วนนายไมเคิล เดเวย์น โจนส์ อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคนที่ 3 ถูกตั้งข้อหาใช้รถเป็นยานพาหนะในการก่อเหตุ และซุกซ่อนกระสุนปืนที่ตำรวจค้นเจอในช่องแอร์กับกล่องฟิวส์ นายฟอร์ดเผยว่า นายคริส เลน ชาวออสเตรเลีย อายุ 22 ปี เหยื่อคนดังกล่าว ซึ่งเป็นนักศึกษาทุนนักกีฬาเบสบอลของมหาวิทยาลัยอีสต์ เซ็นทรัล วิ่งออกกำลังกายผ่านหน้าบ้านของผู้ต้องหาที่กำลังคิดหาอะไรทำ ทั้ง 3 คนจึงตัดสินใจขึ้นรถขับตามแล้วก็ใช้ปืนสั้นยิงจากทางด้านหลังก่อนขับรถหนีไป ต่อมาพยานเห็นนายเลนเดินโซเซข้ามถนนแล้วล้มลงก็รีบแจ้งสายด่วน 911 แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ นอกจากนี้ ผู้ต้องหาคิดจะฆ่าคนอื่นเพิ่มและยังโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กอีกด้วย ด้านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวเลน ซึ่งถือเป็นคดีใหญ่พาดหัวข่าวไปทั่วออสเตรเลีย.
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมว่า ชาเนย่า เคลลี่ หญิงอเมริกัน ชาวเมืองนิวยอร์ก ได้สารภาพว่า เธอได้โกหกว่าพ่อได้ข่มขืนเธอ ส่งผลให้เขาต้องติดจำคุกถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว โดยเจ้าตัวได้เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวบิดาของเธอเพราะเธอจำเป็นต้องโกหก และหวังว่าการสารภาพของเธอจะไม่สายจนเกินไป
ชาเนย่ากล่าวว่า เธอได้กล่าวหานายดาร์ริล เคลลี่ บิดาของเธอว่าข่มขืนเธอ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 9 ปี เพราะถูกแม่ซึ่งติดยาและเหล้าบังคับ ทำให้พ่อของเธอถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 40 ปี ด้วยความผิดหลายกระทงรวมทั้งข่มขืนและทำร้ายทางเพศด้วย โดยบิดาของเธอซึ่งก็ติดเหล้าได้พยายามจะเลิกนิสัยดังกล่าว เพื่อทำให้ครอบครัวของเขามีความสุข
ทว่า แม่ของเธอกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักขึ้น เพราะเธอได้ขายตัวเพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพติด และอารมณ์แปรปรวน ตั้งคำถามบังคับให้เธอตอบว่า พ่อได้จับอวัยวะส่วนสงวนของเธอ โดยขู่จะตีเธอ ก่อนที่แม่เธอจะแจ้งความ และบิดาของเธอถูกตัดสินจำคุกโดยไม่มีการพิสูจน์ร่างกายเธอ เนื่องจากแม่และชาเนย่าได้ร่วมกันให้การต่อคณะลูกขุน ซึ่งฝ่ายหลังเห็นว่าเป็นหลักฐานเพียงพอที่จะตัดสินว่า นายดาร์ริลได้ข่มขืนลูกสาวตัวเองจริง แต่บิดาของเธอปฏิเสธข้อกล่าวหา ทำให้เขาถูกตัดสินโทษจำคุกยาวจากคณะลูกขุน โดยไม่ยอมรับสารภาพแม้ว่าจะได้ลดโทษ
ชาเนย่ากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เธอได้ไปเยี่ยมบิดาที่เรือนจำตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอได้กอดพ่อและขออภัยเขา ขณะที่พ่อของเธอบอกว่า เขารักเธอ และไม่ได้ตำหนิโทษเธอเลย ขณะที่นางชาเรด แม่ของชาเนย่าก็ยืนยันว่า สิ่งที่ลูกสาวเธอพูดเป็นเรื่องจริง โดยเธอโทษว่าสาเหตุที่เธอก่อเหตุเลวร้ายดังกล่าวเพราะฤทธิ์เหล้า ทั้งนี้ ด้านอัยการเขตในกรุงนิวยอร์กได้เตรียมที่จะสอบสวนคดีนี้ใหม่แล้ว
รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ขับผู้อพยพชาวต่างด้าวให้ออกจากประเทศ เพราะอ้วนเกินไป นับเป็น การขับผู้คนด้วยความอ้วนเป็นเหตุให้ออกจากประเทศ เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวขึ้นเป็นรายแรก
ผู้อพยพเคราะห์ร้ายผู้นั้นชื่อ นายอัลเบิร์ต บิวเทนฮุส อาชีพเป็นพ่อครัว มีน้ำหนักตัว 130 กก. หลังจากที่เขาอพยพไปอยู่ที่เมืองไครสต์เชิร์ชมาได้ 6 ปีแล้ว ซึ่งตอนนั้นหนักเพียง 160 กก. และในเวลาต่อมา เขายังลดน้ำหนักตัวลงไปได้ 30 กก.แล้วด้วย
เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองอ้างว่า น้ำหนักตัวของเขาเกินมาตรฐานทางสุขภาพ ตามที่ยอมรับกันได้
“ความอ้วนของเขา จะทำให้เขาเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคต่างๆ หลายโรค ตั้งแต่เบาหวานความ ดันโลหิตสูงและโรคหัวใจด้วย” เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้อพยพทุกคนจะต้องรักษาตัวให้อยู่ในมาตรฐานสุขภาพ อันเป็นที่ยอมรับไว้เพื่อให้เป็นภาระของรัฐบาลในด้านสุขภาพให้น้อยที่สุด
ปัจจุบันนิวซีแลนด์เป็นชาติที่มีพลเมืองมีน้ำหนักตัวเกินอยู่มากถึงเกือบ 1 ใน 3.
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. สิบตรี เบรดลีย์ แมนนิง วัย 25 ปี ผู้มอบเอกสารลับทางการทูตหลายแสนฉบับให้แก่เว็บไซต์จอมแฉ 'วิกิลีกส์' จนเกิดการแฉข้อมูลลับครั้งใหญ่เมื่อปี 2010 ถูกศาลทหารสหรัฐฯตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 35 ปี จากหลายข้อหารวมกว่า 20 ข้อหา รวมถึงการจารกรรมความลับ การพิพากษาที่ศาลทหารในเมือง ฟอร์ด มีด รัฐแมรีแลนด์ เมื่อวันอังคาร พันเอกเดนิส ลินด์ ผู้พิพากษา ประกาศขับสิบตรีแมนนิงออกจากกองทัพสหรัฐฯ และลดยศเหลือแค่พลทหาร ขณะที่โทษที่เขาได้รับนั้นเขามีสิทธิ์ขอทัณฑ์บน หลังจากรับโทษไปแล้วหนึ่งในสาม ซึ่งรวมเวลา 112 วันที่เขาถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาด้วย ขณะเดียวกัน เว็บไซต์วิกิลีกส์แสดงความพอใจต่อคำตัดสินของศาล และว่าการที่แมนนิงได้รับโทษจำคุกเพียง 35 ปี ถือเป็นชัยชนะทางเทคนิคที่สำคัญ จากข้อหาทั้งหมด เขาอาจได้รับโทษสูงสุดถึง 90 ปี ขณะที่อัยการฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งจำคุกแมนนิงนานถึง 60 ปี ด้านทนายของแมนนิงระบุว่า เขาจะมีคุณสมบัติเพียงพอขอรับทัณฑ์บนหลังจากจำคุกไปแล้วประมาณ 7 ปี ทั้งนี้ สิบตรีแมนนิง อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข่าวกรอง ถูกจับกุมตัวที่ประเทศอิรัก เมื่อปี 2010 เขาถูกคุมขังอยู่ที่ค่ายอาริฟจาน ในประเทศคูเวต นานหลายสัปดาห์ก่อนถูกส่งตัวกลับสหรัฐฯ เขายอมรับในการพิจารณาคดีขึ้นต้นเมื่อเดือนก.พ.ว่า เผยแพร่เอกสารลับระหว่างประเทศและการทูตนับแสนฉบับ ให้แก่เว็บไซต์จอมแฉ 'วิกิลีกส์' เพราะต้องการให้สังคมถกเถียงกันเรื่องนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯและกองทัพ คดีของแมนนิง ถือเป็นการรั่วไหลของเอกสารลับครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยเอกสารเหล่านั้นรวมถึงรายงานสถานการณ์ในสนามรบที่อิรักและอัฟกานิสถาน จำนวน 470,000 ฉบับ, บันทึกการสื่อสารผ่านโทรเลขระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯและสถานทูตทั่วโลกอีก 250,000 ฉบับ และภาพกราฟฟิกเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ อาปาเช โจมตีกรุงแบกแดดในอิรักเมื่อปี 2007 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย รวมถึงช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ด้วย.
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012