ข่าว
ในหลวง-พระราชินี พระราชทานพวงมาลา วางหน้าหีบศพ ‘สรพงศ์ ชาตรี’

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและรดน้ำศพ สรพงศ์ ชาตรี ว่า เมื่อเวลา 16.30 น. เจ้าพนักงานพิธีเชิญน้ำหลวงอาบศพสู่ศาลา 11 ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ครอบครัวตั้งแถวรับ โดยมีหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นประธานพิธีีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

ต่อมาเวลา 18.00 น. ผู้แทนพระองค์ได้เชิญพวงมาลาหลวงส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มอบแก่ครอบครัว

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า กรณี สรพงศ์ ชาตรี ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ทายาทของสรพงศ์ ได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ซึ่งจะมีพิธีรดน้ำศพในเวลา15.30 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรม ระหว่างวันที่ 11-17 มี.ค.นี้ เวลา 19.00 น.ณ ศาลากลางน้ำ วัดเทพ ศิรินทราวาส ทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 100 วัน และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

ทั้งนี้นอกจากดำเนินการขอพระราชทานเพลิงแล้ว ยังมอบเงินช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศล จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ

ทั้งนี้ การจัดงานพิธีศพของสรพงศ์ ชาตรี เจ้าภาพขอความกรุณางดพวงหรีด และขอเชิญร่วมบริจาคทำบุญสมทบทุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ในพระอุปถัมภ์ฯ และ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และขอความกรุณาปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19

ทำไม สหรัฐฯ-นาโต ตั้งเขตห้ามบินในยูเครนไม่ได้ ?

11 มี.ค. 2565: การรุกรานยูเครนของรัสเซียก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ท่ามกลางการโจมตีด้วยปืนใหญ่และการทิ้งระเบิดทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ เมือง ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกจัดตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน เพื่อปกป้องพลเรือนและสกัดการรุกคืบของกองทัพรัสเซีย

นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ออกมาร้องขอหลายต่อหลายครั้งให้องค์กรสนธิสัญญาณแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ตั้งเขตห้ามบิน ล่าสุดคือเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังกองทัพรัสเซียโจมตีโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมาริอูโปล จนทำให้อาคารเสียหายอย่างหนัก มีผู้คนได้รับบาดเจ็บนับสิบราย

ขณะที่นอกยูเครน เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้นำกองทัพของชาติตะวันตกหลายคนก็แสดงความเห็นด้วยให้พิจารณาเรื่องการตั้งเขตห้ามบิน ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของรอยเตอร์สร่วมกับสถาบันอิปซอส ก็พบว่า ชาวอเมริกันกว่า 74% สนับสนุนการตั้งเขตห้ามบินเหนือยูเครน

แต่การจัดตั้งเขตห้ามบินไม่ใช่เรื่องง่าย หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโต ต้องส่งเครื่องบินจำนวนมากและทหารเข้าไปในยูเครน เพื่อลาดตระเวนและประกาศว่า เครื่องบินและมิสไซล์ของกองทัพรัสเซีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่น่านฟ้าของยูเครนอีกต่อไป นั่นหมายความว่า พวกเขาจะต้องยิงเครื่องบินที่ล่วงล้ำเข้ามา ซึ่งจะนำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบกับมอสโก อันเป็นสิ่งที่นาโตไม่ต้องการที่สุด

เขตห้ามบินคืออะไร บังคับใช้อย่างไร ?

ในบริบทของสงครามและความขัดแย้ง เขตห้ามบิน หรือ no-fly zone จะถูกบังคับใช้เมื่อประเทศหนึ่งหรือมากกว่า ต้องการห้ามอากาศยานของกองทัพและอื่นๆ จากการบินเหนือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่การประกาศเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอที่ใครจะทำตาม สหรัฐฯ กับนาโตจำเป็นต้องส่งเครื่องบินของตัวเองจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่ที่กำหนด เพื่อลาดตระเวน และอาจต้องยิงเครื่องบินของศัตรู เพื่อปกป้องพลเรือนภาคพื้น

นอกจากเครื่องบินของกลุ่มพันธมิตรจะต้องบินลาดตระเวนทั้งวันทั้งคืนแล้ว พวกเขายังต้องใช้เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ มีหน่วยภาคพื้นประจำการอยู่ใกล้ๆ และต้องใช้อากาศยานจู่โจมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพื่อรบกวนสัญญาณเรดาร์ของรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับและตกเป็นเป้าหมายการโจมตี หรืออาจถึงขั้นต้องทำลายระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซียด้วย

ทำไม สหรัฐฯ กับนาโต ไม่ตั้งเขตห้ามบินในยูเครน

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรพยายามเสริมกำลังกองทัพของยูเครนเพื่อช่วยเหลือในการต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย โดยสหรัฐฯ กับนาโต ส่งมิสไซล์ต่อต้านรถถังให้ยูเครนแล้วกว่า 17,000 ลูก และจรวดสติงเกอร์ต่อต้านอากาศยานอีก 2,000 ลูก แต่การตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครนจะล้ำเส้นที่พวกเขาขีดไว้

อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า การบังคับใช้เขตห้ามบิน ทำให้เครื่องบินรบของสหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโต ต้องโจมตีอากาศยานและระบบป้องกันของรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะนำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่นาโตพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะถึงแม้ว่า รัสเซียจะมีขนาดกองทัพที่เล็กกว่า แต่พวกเขาเป็นมหาอำนาจที่มีขุมกำลังนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

สหรัฐฯ ออกมาแสดงความชัดเจนแล้วว่า พวกเขาไม่คิดที่จะเผชิญหน้ากับรัสเซียตรงๆ โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ย้ำเรื่องนี้ในการแถลงนโยบายของเขาว่า “ขอผมพูดให้ชัดเจน กองทัพของเราจะไม่เข้าร่วมการปะทะกับกองทัพรัสเซียในยูเครน” ด้านนายเยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต กล่าวว่า การตัดสินใจไม่ส่งทหารไปช่วยยูเครนเป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่หากพวกเขาทำเช่นนั้น สุดท้ายมันจะจบลงที่การทำสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป ดึงอีกหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และสร้างความทุกข์ทรมานแก่มนุษย์มากขึ้นไปอีก

ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ออกโรงขู่เลยว่า ประเทศที่ 3 ใดๆ ที่มีการเคลื่อนไหวไปสู่การตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน จะถือเป็นชาติผู้เข้าร่วมความขัดแย้งทางทหารในทันที ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาติสมาชิกองค์กรใดก็ตาม และเคยเตือนก่อนหน้านี้ด้วยว่า จะใช้การตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ต่อประเทศที่เข้ามาแทรกแซง

เขตห้ามบินอาจหยุดรัสเซียไม่ได้

แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ กับนาโต จะตัดสินใจตั้งเขตห้ามบินขึ้นมา มันก็อาจหยุดยั้งการบุกโจมตียูเครนของรัสเซียไม่ได้ โดยนายอเล็กซานเดอร์ เบนาร์ด จากสถาบัน ฮัดสัน ในสหรัฐฯ ระบุว่า เขตห้ามบินจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อ สหรัฐฯ และนาโตบังคับใช้มันอย่างแข็งกร้าว คือกล้ายิงเครื่องบินของรัสเซียที่ล่วงล้ำเข้ามาเท่านั้น

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐฯ เคยตั้งเขตห้ามบินในหลายประเทศ ทั้งที่อิรัก, บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และลิเบีย แต่นั่นเป็นการเผชิญหน้ากับกองทัพอากาศขนาดเล็กและล้าสมัยเท่านั้น ต่างจากตอนนี้ที่คู่ต่อสู้คือรัสเซีย ซึ่งมีเป็นหนึ่งในประเทศที่กองทัพอากาศขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มากมายกว่าประเทศใดในยุโรป และมีระบบจรวดภาคพื้นสู่อากาศ หรือ SAM ที่ก้าวหน้าด้วย

นายแดเนียล เฮเกอดึส จากกองทุน เยอรมัน มาร์แชล สาขายุโรปกลาง กล่าวว่า การลาดตระเวนทางอากาศในเขตห้ามบินอาจรับมือกับเครื่องบินที่รุกล้ำเข้ามาไม่กี่ลำได้ แต่อาจไม่ใช่สำหรับเครื่องบินหลายสิบหรือ หลายร้อยลำที่เข้ามาอย่างสอดประสาน ซึ่งรัสเซียสามารถทำได้หากพวกเขาต้องการท้าทายเขตห้ามบินของนาโต

ระบบ SAM ของรัสเซียยังมีระยะทำการกว้างขวางมาก ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศยูเครน โดยเฉพาะ S-400 ที่ยิงได้ไกลถึง 250 ไมล์ หรือจากเมืองเบโลกรอด ทางตะวันตกของรัสเซียถึงกรุงเคียฟ ของยูเครนเลยทีเดียว ทำให้ชาติพันธมิตรต้องควบคุมน่านฟ้าให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเท่านั้น จึงจะสามารถบังคับใช้เขตห้ามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิเช่นนั้น นอกจากจะหยุดรัสเซียไม่ได้แล้ว สงครามยังจะแผ่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย

เขตห้ามบินแบบจำกัด ?

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้จัดตั้งเขตห้ามบินในยูเครน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ หลายคน ก็เข้าใจในผลกระทบที่อาจตามมา พวกเขาจึงเสนอให้จัดตั้งเขตห้ามบินแบบจำกัด เพื่อปกป้องพลเรือนในยูเครนแบบเฉพาะจุดแทน

แผนการดังกล่าวถูกเรียกว่า เขตห้ามบินเพื่อมนุษยธรรม เพื่อสร้างเส้นทางปลอดภัยให้ชาวยูเครนสามารถหลบหนีจากพื้นที่การต่อสู้ และเป็นฐานสำหรับลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยทั่วประเทศ โดยไม่เข้าไปยุ่งกับสมดุลทางทหารของคู่ขัดแย้ง

แต่เขตห้ามบินแบบนี้ก็ยังจำเป็นต้องมีการส่งทหารเข้าไปดูแล และอาจเกิดความเสี่ยงที่จะคำนวณผิดพลาดจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ซึ่งนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เธอไม่คิดว่าเขตห้ามบินลักษณ์นี้จะแตกต่างออกไป และว่า การเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางเพื่อมนุษยธรรมระหว่างยูเครนและรัสเซีย เป็นปัญหาอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องให้นาโตเข้าไปแทรกแซง

ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : Time , NBC news , Aljazeera


เผยชาวกรุงเคียฟอพยพหนีเกือบ 2 ล้านคน สภาพเมืองหลวงตอนนี้เป็นป้อมปราการสำคัญ

นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟเผย ประชาชนอพยพหนีออกจากเมืองแล้วเกือบ 2 ล้านคน ล่าสุดกองทัพยูเครนแข็งแกร่งตั้งรับกองทัพรัสเซียบุกประชิด สภาพบ้านเมืองไม่ต่างจากเป็นป้อมปราการด่านสำคัญ

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 นายวิตาลี คลิตชโค นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ ของยูเครนออกมาเปิดเผยว่า นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา มีประชาชนในกรุงเคียฟต้องอพยพออกจากเมืองแล้วเกือบ 2 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในเมืองหลวงที่มีอยู่กว่า 3.5 ล้านคน ตามตัวเลขข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปีที่แล้ว

นายคลิตชโคเปิดเผยว่า ล่าสุด กองกำลังรัสเซียได้บุกเข้าประชิดเขตแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีการสู้รบกับกองทัพยูเครนเพื่อเข้ายึดถนนหลวงสายหลัก โดยถนนทุกสาย อาคารทุกหลังและด่านตรวจทุกแห่งมีการเสริมกำลังป้องกันอย่างแน่นหนาไม่ให้ทหารรัสเซียทะลวงเข้าไปได้ ทำให้ตอนนี้กรุงเคียฟกำลังมีสภาพไม่ต่างจากป้อมปราการด่านสำคัญ และก่อนหน้านี้กองทัพรัสเซียทิ้งระเบิดโจมตีโรงพยาบาล 2 แห่งในกรุงเคียฟ โดยองค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลว่ารัสเซียพยายามโจมตีหน่วยงานทางการแพทย์หลายแห่งในกรุงเคียฟ เป็นจำนวนถึง 18 ครั้ง

ขณะเดียวกัน กองทัพรัสเซีย ก็กำลังพยายามโจมตีอย่างหนักเพื่อเข้ายึดเมืองคาร์คีฟ และทางภาคตะวันออก และเมืองมีโคเลฟ ทางภาคใต้ของประเทศ

อังกฤษคว่ำบาตร ส.ส.รัสเซีย 386 คน อายัดทรัพย์-ห้ามเข้าประเทศ

วันที่ 11 มีนาคม 2565 : รัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตรสมาชิกสภาดูมา สภาผู้แทนราษฎรของงรัสเซีย ที่ยกมือลงมติรับรองเอกราชให้กับดินแดนทางตะวันออกของยูเครน จำนวน 386 คน จากจำนวนสมาชิกสภาดูมาทั้งหมด 450 คน

การประกาศคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นไปตามแผนการคว่ำบาตรที่ออกแบบเพื่อตอบโต้รัสเซียที่นำกำลัง ทหารเข้ารุกรานยูเครน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเคยเปิดเผยมาก่อนหน้านี้แล้ว

ประกาศคว่ำบาตรบรรดา ส.ส.รัสเซียระบุว่า การคว่ำบาตรเป็นผลจากการสนับสนุนให้แคว้นลูฮานสค์ และโดเนตสค์ แยกตัวออกจากยูเครน โดยลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า อังกฤษจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ร่วมกระทำผิดในการตัดสินใจบุกยูเครนของปูติน รวมไปถึงคนที่สนับสนุนสงครามอันป่าเถื่อนนี้ และว่า อังกฤษจะไม่ยอมลดละและจะกดดันรัสเซียต่อไปผ่านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดนี้จะห้ามบุคคลในรายชื่อเดินทางเข้าประเทศอังกฤษ ห้ามเข้าถึง สินทรัพย์ใดๆ ที่ครอบครองในอังกฤษ รวมไปถึงห้ามทำธุรกิจในประเทศอังกฤษด้วย


‘วาลี’ สไนเปอร์ ผ่านศึกไอเอสมือฉมัง ร่วมทัพ ‘ยูเครน’ รบ ‘รัสเซีย’

วันที่ 11 มีนาคม 2565 : สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ว่า ‘วาลี’ สไนเปอร์อดีตนายทหารกองทัพบกแคนาดา ผู้เคยผ่านศึกกับกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอสในซีเรีย ตัดสินใจเข้าร่วมกองกำลังต่างชาติของประเทศยูเครน เพื่อสู้รบกับกองทัพรัสเซียที่เปิดฉากรุกรานยูเครนแล้ว

รายงานจากซีบีซีระบุว่า นักแม่นปืนฉายา ‘วาลี’ เดินทางเข้าประเทศยูเครนผ่านทางชายแดนยูเครนแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมกับกลุ่มทหารผ่านศึกชาวอังกฤษและแคนาดาอีกจำนวนหนึ่ง โดยเข้าไปรวมตัวกันก่อนเข้าร่วมกับทหารอาสาจากชาติต่างๆ

วาลี เคยร่วมรบกับกองกำลังทหารราบแคนาดาในเมืองกันดาฮาร์ ประเทศอัฟกานิสถาน ระหว่างปี 2009-2011 เคยเข้าร่วมกับทหารอาสาสู้รบร่วมกับกองกำลังชาวเคิร์ด รบกับไอเอส ที่ประเทศอิรัก ในปี 2015 ด้วย

คาดกันว่าวาลีอาจเป็นมือสไนเปอร์ชาวแคนาดาที่สร้างตำนานใช้ไรเฟิล McMillan Tac-50 สังหารนายทหารไอเอสที่เมืองโมซุลเสียชีวิตจากระยะ 3.2 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสถิติสังหารจากระยะไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา

วาลี ผู้ที่เวลานี้ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ให้สัมภาษณ์กับซีบีซี ระบุว่า ส่วนที่ยากที่สุดในการตัดสินใจร่วมทัพในยูเครนคือการต้องพลาดงานวันเกิดขวบปีแรกของลูกชาย

“สัปดาห์ก่อนผมยังเขียนโปรแกรมอยู่เลย แต่ตอนนี้ผมต้องใช้เครื่องยิงขีปนาวุธยิงเพื่อฆ่าคนจริงๆ นั่นคือความจริงของผมในเวลานี้”

วาลีระบุกับสื่อฝรั่งเศสด้วยว่า ตนทนไม่ได้ที่จะต้องเห็นการรุกรานเต็มรูปแบบต่อหน้าต่อตา และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแคนาดาด้วยว่า แม้จะมีการสนับสนุนที่แข็งแกร่ง แต่ไม่ใช่การสนับสนุนที่ถูกต้องทางศีลธรรม

ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศยูเครนเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีทหารอาสาราว 20,000 คนจาก 52 ประเทศ ที่อาสาช่วยกองทัพยูเครนสู้รบกับรัสเซีย

ฟิลิปปินส์รับรองฉุกเฉิน ยารักษาโควิด “แพกซ์โลวิด” ของไฟเซอร์

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฟิลิปปินส์ ให้การรับรอง ยารักษาโควิด-19 “แพกซ์โลวิด” ของไฟเซอร์

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. คณะกรรมการอาหารและยาของฟิลิปปินส์มีมติ เมื่อวันศุกร์ ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้กับยาเม็ดรักษาโควิด-19 “แพกซ์โลวิด” ของบริษัทไฟเซอร์จากสหรัฐฯ สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และมีความเสี่ยงที่อาการป่วยจะลุกลาม หรือยกระดับเป็นอาการหนัก

อย่างไรก็ตาม ทางการฟิลิปปินส์ไม่แนะนำการใช้ยาดังกล่าว กับหญิงมีครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร และหญิงอยู่ในวัย “ซึ่งมีความสามารถที่จะมีบุตร” ทั้งนี้ แพกซ์โลวิดเป็นยาแบบค็อกเทล ระหว่างริโทนาเวียร์ กับเนอร์มาเทรลเวียร์ รับประทานวันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน โดยผู้ป่วยควรได้รับยาภายใน 5 วัน นับตั้งแต่มีการยืนยันอาการป่วย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของคณะกรรมการอาหารและยาของฟิลิปปินส์ เกิดขึ้นหลังการอนุมัติเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้กับยารักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทเมอร์คและริดจ์แบค ไบโอเทอราพิวติกส์ เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว โดยยาโมลนูพิราเวียร์ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จะนำเข้ามานั้น ผลิตในบังกลาเทศ

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES...