ในแต่ละปี ไต้หวันต้องรับมือกับพายุไต้ฝุ่นหลายลูก ทว่าตั้งแต่ปี 2020 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีพายุไต้ฝุ่นเลยแม้แต่ลูกเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของความจุ แม้รัฐบาลจะทำฝนเทียมตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ก็ไม่เป็นผล
ทะเลสาบสุริยันจันทรา (Sun Moon Lake) สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแห้งขอด รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะโรงงานผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ
ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน หลายเมืองของไต้หวันในภาคกลางและภาคใต้ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 1 ล้านครัวเรือน เช่น ไถจง เริ่มบังคับใช้นโยบายจำกัดการใช้น้ำ ซึ่งประชาชนสามารถใช้น้ำประปาได้แค่ 5 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น โรงเรียนประถมและมัธยมต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน เมืองไถหนานประกาศปิดให้บริการสระว่ายน้ำ ซาวน่า ล้างรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เพื่อประหยัดน้ำ และยังออกระบบให้รางวัล จูงใจให้คนประหยัดน้ำด้วย เช่น บ้านที่ใช้น้ำน้อยลง 30 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนจะได้รับคูปองเงินสด 1,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 1,000 บาท
แม้น้ำแล้ง อุตสาหกรรมยังสำคัญกว่า
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาชิปขาดแคลน เพราะไมโครชิปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของโลกผลิตในไต้หวัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการชิปมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด
อย่างไรก็ตาม แม้จะทำรายได้ให้กับประเทศมาก แต่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นี้ต้องใช้น้ำ จำนวนมหาศาลด้วย เฉพาะปีที่แล้ว รัฐบาลตัดสินใจหยุดจัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรม 74,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศเพื่อสำรองให้กับโรงงานผลิตชิปแทน ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งที่โรงงานผลิตอุปกรณ์ไอทีตั้งอยู่ต้องลดการใช้น้ำให้ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ บางแห่งรีไซเคิลน้ำที่ใช้มากกว่า 86 เปอร์เซ็นต์
การแก้ปัญหาของรัฐบาลถูกมองว่า ไต้หวันให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม ขณะที่เกษตรกรไม่มีน้ำพอสำหรับการปลูกพืช และได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลแทน ซึ่งพวกเขามองว่าไม่สามารถถแก้ปัญหาได้ เพราะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน และเสียลูกค้าไปจากการที่ไม่สามารถส่งผลผลิตได้ตามแผน รัฐบาลควรบริหารจัดการน้ำให้ดีกว่านี้
แหล่งเก็บน้ำของไต้หวันพึ่งพาน้ำฝนจากพายุฤดูร้อนเป็นหลัก ชู ฮวง ซิว (Hsu Huang-hsiung) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สถาบันวิจัย อะคาเดเมีย ซินิกา (Academia Sinica) ของไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า ไต้หวันไม่เคยพูดถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และคิดว่าน้ำเป็น ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ต้องบริหารจัดการมาก ถ้าพิจารณาปริมาณน้ำฝนทั้งประเทศตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา จะเห็นว่ามีวันฝนตกน้อยลง ส่วนอุณหภูมิที่สูงขึ้นในมหาสมุทรอินเดียอาจก่อให้เกิดความกดดันอากาศสูงในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้ฝนไม่ตกและพายุไต้ฝุ่นน้อยลง
อ้างอิง:
taiwannews.com.tw
channelnewsasia.com
nytimes.com
bbc.com
taiwannews.com.tw
nytimes.com
คำสั่งล็อกดาวน์ล่าสุดของเมืองเพิร์ท จะมีผลเป็นระยะเวลา 3 วัน หลังพบว่าผู้ที่เคยกักตัวในโรงแรมซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่กักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติของทางการ พบเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ครบกำหนดกักตัว 14 วันออกไปแล้ว
เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ใกล้ชิดกับชายคนดังกล่าวในเมืองเพิร์ท เพิ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ทำให้นี่เป็นเคสแรกของการติดเชื้อภายในพื้นที่ในรอบ 12 เดือนจนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ โดยในขณะนี้ทางการท้องถิ่นกำลังเร่งติดตามผู้ใกล้ชิดรายอื่นๆ ที่มีการติดต่อกับชายคนดังกล่าวในช่วงระยะ 5 วันที่เขามาพักในเมืองเพิร์ท ก่อนที่เขาจะบินต่อไปยังเมืองเมลเบิร์น และตรวจพบว่าติดเชื้อเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยเขายังคงถูกแยกกักตัวไว้เพื่อทำการรักษา
นาย มาร์ก แม็คโกวาน ผู้ว่าการรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลียระบุว่ามาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว จะส่งผลให้ประชาชนในเมืองเพิร์ท ต้องอยู่แต่ภายในบ้านเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันศุกร์เป็นต้นไป ส่วนร้านอาหารและผับต่างๆ จะขายอาหารได้เฉพาะแบบสั่งกลับบ้านเท่านั้น ส่วนสถานบันเทิงต่างๆ ต้องปิดบริการ โดยผลจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้จะทำให้เมืองเพิร์ทต้องงดการจัดงานวันแอนแซ็ค หรือวันทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งตรงกับวันที่ 25 เมษายนนี้
โดยการตรวจพบผู้ติดเชื้อในครั้งนี้ ได้สร้างความกังวลให้แก่ทางการออสเตรเลียอีกครั้ง หลังสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ไม่ถึง 30,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวมราว 900 ศพ จากประชากรทั้งประเทศ 25 ล้านคน โดยเฉพาะมาตรการในการกักตัวในโรงแรมที่หลายครั้งพบว่า มีการระบาดจากผู้ติดเชื้อรายหนึ่งไปยังผู้ที่ถูกกักตัวในห้องที่อยู่ติดกัน รวมทั้งยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศอินเดียจนทำให้รัฐบาลกลางต้องประกาศคุมเข้มนักเดินทางจากอินเดียเป็นพิเศษ
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย
อินโดนีเซียงัดมาตรการคุมเข้มนักเดินทางที่มาจากอินเดีย โดยจะระงับวีซ่าชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากอินเดียในระยะ 14 วันที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิดกลายพันธุ์
ทางการอินโดนีเซียยกระดับมาตรการคุมเข้ม การเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติที่มาจากอินเดีย หลังพบว่าอินเดียกำลังเผชิญกับวิกฤติหนัก จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 จนยอดติดเชื้อรายวันทะลุ 3 แสนรายเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยเบื้องต้นจะระงับการออกวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยหรือเดินทางไปอินเดียในรอบ 14 วันที่ผ่านมา ขณะที่ชาวอินโดนีเซียที่กลับมาจากอินเดีย จะยังสามารถเข้าประเทศอินโดนีเซียได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัดและต้องถูกกักตัวตามขั้นตอน นอกจากนี้ก็จะยังคงมีการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้ามาจากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ด้วย
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีขึ้น หลังจากพบผู้โดยสาร 12 คนจาก 129 คนที่เดินทางมาโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำจากเมืองเชนไนของอินเดียติดเชื้อโควิด-19 โดยขณะที่ทั้งหมดยังคงถูกกักตัวและนำตัวไปตรวจเชื้อโดยละเอียด ว่าเป็นเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่
โดยขณะนี้อินโดนีเซีย ยังคงเป็นประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 หนักที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยมียอดติดเชื้อสะสมถึง1.62 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วกว่า 44,000 ศพ
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย
วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาอาชญากรรมอันเนื่องมาจากความเกลียดชัง ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ชาวเอเชียอเมริกันในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมเร่งพิจารณา เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา
รายงานของศูนย์ศึกษาความเกลียดชังและลัทธิหัวรุนแรง (Center for the Study of Hate and Extremism) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน เบอนาร์ดิโน ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมระบุว่า คดีอาชญากรรมอันเนื่องมาจากความเกลียดชังชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียตามเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นราว 150 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020
ด้านศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) เผยผลสำรวจ 1 เดือนหลังเหตุโจมตีสปาที่แอตแลนต้า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2021 จนมีผู้เสียชีวิต 8 รายว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 81 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่ามีความรุนแรงมากขึ้น มี 45 เปอร์เซ็นต์ เคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามตั้งแต่โควิด-19 ระบาดอย่างน้อย 1 ประเภทจากตัวเลือก 5 ประเภท เช่น ล้อเลียน หรือแสดงท่าทางไม่ชอบใจเวลาอยู่กับคนเอเชีย เนื่องจากความเชื่อที่ว่า คนเอเชียเป็นต้นเหตุการระบาดของโควิด-19
ข้อเสนอของกฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกระตุ้นให้กระทรวงยุติธรรมเร่งตรวจสอบการก่ออาชญากรรมอันเนื่องมาจากความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชุมชนคนเอเชีย จัดตั้งฐานข้อมูลและจัดทำแนวทางเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่นสามารถดำเนินการเมื่อมีผู้แจ้งความได้ เช่น จัดสรรทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง หรือทำความเข้าใจการใช้ภาษาอันเกิดจากการเหยียดเชื้อชาติ
วุฒิสมาชิก เมซี ฮิโระโนะ (Mazie Hirono) รัฐฮาวาย พรรคเดโมแครต หนึ่งในผู้ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้กล่าวก่อนการลงมติว่า เราจะส่งข้อความเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชุมชนเอเชียอเมริกันและแปซิฟิก (Asian Americans and Pacific Islanders) ว่า วุฒิสภาจะไม่ยืนเฉยและดูพวกเขาถูกทำร้าย ทั่วประเทศปีที่แล้วมีเหตุอาชญากรรมต่อชาวเอเชียอเมริกันมากกว่า 3,800 ครั้ง นอกจากนี้หลังจากที่ฮิโระโนะเสนอร่างกฎหมายนี้ในสภาเมื่อเดือนมีนาคม ในสปา 3 แห่ง มีชายก่อเหตุยิงปืนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิงเอเชีย 6 ราย
ด้าน แทมมี่ ดัคเวิร์ธ (Tammy Duckworth) วุฒิสมาชิก รัฐอิลลินอยส์ พรรคเดโมแครต ซึ่งมีเชื้อสายไทยและเป็นหนึ่งในคณะทำงานร่างกฎหมายกล่าวว่า มารดาของตนเองเพิ่งถูกละเมิดในร้านขายของชำ กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เธอบอกแม่ได้ว่าได้ลงมือทำอะไรไปบ้างแล้ว “เพื่อบอกกับชุมชนชาวเอเชียอเมริกันและแปซิฟิกว่า เรารับรู้ปัญหา ยืนเคียงข้างและจะปกป้องคุณ”
เกรซ เมง (Grace Meng) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐนิวยอร์ก พรรคเดโมแครต หนึ่งในผู้ร่างกฎหมายและนำเสนอในสภาผู้แทนราษฎร ให้เหตุผลว่า ยิ่งมีข้อมูลและการรายงานอาชญากรรมอันเนื่องมาจากความเกลียดชังมากขึ้น ก็จะทำให้เรามีภาพเกี่ยวกับการโจมตีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่แม่นยำมากขึ้น
หลังจากใช้เวลาหารือและเจรจาตกลงกัน กฎหมายฉบับนี้ผ่านการลงมติด้วยคะแนน 94-1 ขั้นต่อไปคาดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาในเดือนหน้า กฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของสภาคองเกรสต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวเอเชียมาอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง: latimes.com
cnbc.com
washingtonpost.com
ชาวรัสเซียหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมประท้วงตามเมืองใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว อเล็กเซ นาวาลนี (Alexei Navalny) นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านวัย 44 ปี ที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูง จนตัวเองถูกรัฐบาลลงโทษจำคุกข้อหายักยอกทรัพย์
การชุมนุมเริ่มต้นในวันที่ 21 เมษายน วันเดียวกับที่ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวสุนทรพจน์ประจำปี และเตือนให้ต่างชาติหยุดล้ำเส้น
นาวาลนีอดอาหารในเรือนจำมาตั้งแต่ 31 มีนาคม หลังทางการรัสเซียไม่ยอมให้แพทย์ส่วนตัวเข้าพบ เมื่อเขามีอาการปวดหลังและสูญเสียการรับรู้ที่ขา ก่อนถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 19 เมษายน
ทีมแพทย์ของนาวาลนีที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบ กล่าวเตือนเมื่อวันที่ 22 เมษายนว่า หากปล่อยให้ประท้วงด้วยการอดอาหารนานกว่านี้ นาวาลนีอาจจะเสียชีวิตได้
ประชาชนชาวรัสเซียจำนวนมากฝ่าฝืนข้อห้ามด้วยการออกมาชุมนุมบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้าน ตั้งแต่นาวาลนีถูกจับกุมทันทีที่กลับจากเยอรมนีเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2021 ที่เขาไปรักษาตัวจากการถูกวางยาพิษในช่วงเดือนสิงหาคม 2020 เนื่องจากศาลตัดสินว่าเขาฝ่าฝืนโทษรอลงอาญาและสั่งลงโทษจำคุก 2 ปีครึ่ง
ในการชุมนุมวันที่ 31 มกราคม 2021 ทางการปราบปรามอย่างรุนแรง มีผู้ถูกจับกุม 5,000 คน ส่วนวันที่ 21 เมษายนเพียงวันเดียว มีผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวกว่า 1,000 คน
ทางการเปลี่ยนมาใช้วิธีคุกคามแกนนำแทนการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนและหลังเวลาชุมนุม มีรายงานว่าเครือข่ายของนาวาลนีในภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซียถูกตำรวจควบคุมตัว หลายคนถูกขังในเรือนจำ และมีผู้ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายขณะบุกเข้าไปยังอพาร์ทเม้นท์
นอกจากนี้สำนักงานอัยการยังยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้ระบุว่า มูลนิธิเพื่อต่อต้านการคอรัปชันของนาวาลนีเป็นกลุ่มสุดโต่ง ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ ถูกระงับ และผู้บริจาคเงินอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
ทนายความของนาวาลนีได้เข้าเยี่ยมเมื่อวันที่ 22 เมษายน และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกเรือนจำให้ฟัง นาวาลนีชื่นชมผู้ชุมนุมที่เรียกร้องอิสรภาพแก่เขาว่า “ภูมิใจและมีความหวัง” เขายังกล่าวว่า “ประชาชนออกมาเดินขบวนตามท้องถนน แสดงให้เห็นว่าพวกเขารู้และเข้าใจทุกอย่าง พวกเขาไม่ยอมแพ้ต่ออนาคตของตนเอง ของเด็กๆ และของประเทศ มันยากและมืดมนในบางเวลา” ในอินสตาแกรม นาวาลนีเรียกการชุมนุมสนับสนุนเขาว่า ‘ผู้ไถ่บาปแห่งรัสเซีย’ (the salvation of Russia)
ลีโอนิด โวลคอฟ ที่ปรึกษาระดับสูงของนาวาลนี กล่าวในการถ่ายทอดสดทางยูทูบว่า ตัวเลขผู้ถูกจับกุมต่ำกว่าการชุมนุมเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเห็นแล้วว่า การปราบปรามมผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมกลัว โวลคอฟให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า รัสเซียไม่ต้องการให้ นาวาลนีเสียชีวิตในเรือนจำ แต่ต้องการทรมาน โวลคอฟเรียกร้องให้ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากการกักขังนาวาลนีในเรือนจำไม่เป็นไปตามกฎหมาย เขาถูกทรมาน และต้องปล่อยตัวทันที
อ้างอิง:
edition.cnn.com
dw.com
ญี่ปุ่นเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองใหญ่ 4 แห่งของประเทศ โควิดกลายพันธุ์แผลงฤทธิ์ยอดผู้ป่วยพุ่งต่อเนื่อง
23 เม.ย. 2564 สำนักข่าว เอ็นเอชเค รายงาน ญี่ปุ่นเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงโตเกียว, จังหวัดโอซากา, เกียวโต และเฮียวโงะ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ที่มีอัตราการแพร่เชื้อที่ง่ายกว่าเดิม โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมขอความร่วมมือร้านอาหาร และบาร์ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ปิดทำการชั่วคราว ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะปรับลดเวลาการให้บริการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ถึง 11 พฤษภาคม 64
ขณะที่เมื่อวานนี้ จังหวัดโอซากา พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 1,100 ราย ส่วนกรุงโตเกียวพบผู้ป่วยเพิ่ม 861 ราย ซึ่งถือเป็นการพบผู้ป่วยมากที่สุดหลังจากการยกเลิกภาวะฉุกเฉินในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ที่มา: NHK
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012