เมื่อเวลา 13.25 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับคณะ นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับคณะ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กับคณะ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กับพวก รวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ไม่ชอบทั้งในเชิงรูปแบบ กระบวนการ และเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ ว่าถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ช้ากว่ากำหนดกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งเดิมนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยไว้ในเวลา 11.00 น. แต่ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ จากนั้นได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการอ่านคำวินิจฉัยคดี โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายจรูญ อินทจาร เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
ในเวลา 13.27 น. นายสุพจน์ได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัย ว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารหลักฐานประกอบของผู้ร้องและไต่สวนพยาน อีกทั้งสั่งให้คู่กรณียื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัย จึงสรุปประเด็นวินิจฉัยไว้ 2 ประเด็น ดังนี้ 1.กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ ก่อนพิจารณามีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเทศที่นำเอาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายที่จะออกแบบหรือสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบตรวจสอบระบบถ่วงดุล ระหว่างองค์กรหรือระหว่างสถาบันการเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจประชาธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่แบ่งตามหน้าที่ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำใหม่นี้มีสาระสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาชนชาวไทยในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร เกิดเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นมิ่งขวัญของชาติ การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้มีดุลภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบระบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาล องค์กรอิสระอื่น สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องสุจริต และเป็นธรรม
จากหลักการดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความมุ่งหมายที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมือง ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรม มีความเป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรและสถาบันการเมืองใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากความชอบธรรมทุกรูปแบบ อีกทั้ง ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กร สถาบันการเมือง หยิบยกบทกฎหมายใดมาเป็นข้ออ้าง เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุน ค้ำจุน ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ
อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะยึดถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกดขี่ข่มเหง ฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผล จนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อย ไม่มีที่อยู่ที่ยืน จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลับกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองประเทศ ไปอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหลักการพื้นฐานอันสำคัญนี้ได้รับการยืนยันมาโดยตลอดว่าต้องมีมาตรการในการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือนหรืออำนาจอำเภอใจของบุคคล กลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยให้ตั้งมั่นอยู่บนหลักการ แบ่งการแยกใช้อำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กรหรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อทัดทานการใช้อำนาจซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกให้เป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่าย ที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปราศจากการตรวจสอบแล้ว ย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหาย และนำพาประเทศชาติให้เสื่อมโทรมลง เพราะความผิดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ
ซึ่งในการนี้อาจกล่าวได้ว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล ล้วนจัดตั้งขึ้น หรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา จึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญ 2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กรและทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่า นอกจากการใช้อำนาจตามบทกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว ยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย กรณีจึงใคร่การปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหลักเสียงข้างมากแต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่ไปด้วย การอ้างหลักเสียงข้างมากมิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจ ท่ามกลางความซับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน หรือกลุ่มบุคคล กับผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำไปสู่ความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการบาดหมางแตกความสามัคคีอย่างรุนแรง การนั้นย่อมขัดต่อหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญนี้ตามนัยมาตรา 68
การใช้กฎหมายและการใช้อำนาจทุกกรณีต้องเป็นไปโดยสุจริต จะเป็นไปโดยทุจริต ฉ้อฉลมีประโยชน์ทับซ้อนหรือวาระซ่อนเร้นไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้บรรดาสุจริตชนคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ให้ไปตกอยู่แก่บุคคลหรือคณะบุคคลผู้ใช้อำนาจ โดยปราศจากความชอบธรรม หลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ เป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องและแอบแฝง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการบนพื้นฐานสำคัญที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ จะต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ส่วนหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึงการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน มิใช่การปกครองตามแนวความคิด ของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งและมิใช่การปกครองที่อ้างอิงมาจากฐานอำนาจระบบการเลือกตั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกหลายประการ การที่องค์กร สถาบัน ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐ มักจะอ้างอยู่เสมอว่า ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติหาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม ภายใต้หลักนิติธรรม เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้งหรือชนะการเลือกตั้งของฝ่ายการเมืองเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อันเป็นปรัชญาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่จะให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองและผู้พันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่าผู้ร้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ผู้ถูกร้องได้ทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในวิถีทางในการปกครองประเทศโดยวิถีทางซึ่งไม่ได้เป็นวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้
ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่... พุทธศักราช... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
(1) ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ใช้ระหว่างพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นฉบับเดียวกันกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และได้มีการแจกจ่ายสำเนา ให้สมาชิกรัฐสภาในวันประชุมรัฐสภาวาระ 1 รับหลักการซึ่งผู้ร้องอ้างว่าไม่ตรงกับที่ได้มีการเสนอให้รัฐสภาเสนอพิจารณาในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ โดยมีข้อแตกต่างหลายประการ ในกรณีนี้ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการรัฐสภาส่งต้นฉบับของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลซึ่งนายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการรัฐสภาได้ส่งต่อศาลแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามที่เลขาธิการ ส่งให้ศาลมีการใส่เลขหน้าเรียงตามลำดับด้วยลายมือตั้งแต่หนังสือ ถึงประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอจนถึงหน้าที่ 33 แต่ในหน้าถัดไปซึ่งเป็นบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญร่างที่แก้ไขไม่ปรากฏว่ามีการลงเลขหน้ากำกับไว้
อีกทั้งไม่มีการเขียนข้อความใดๆ ด้วยลายมือ และเมื่อตรวจสอบปรากฏว่าอักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึงหน้าที่ 33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขและบันทึก วิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เมื่อนับเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่าได้รับแจกเพื่อใช้ในการประชุมรัฐสภาทั้งสองฉบับ มีข้อความและเลขหน้าตรงกัน และมีการเติมข้อความต่อท้ายชื่อร่างรัฐธรรมนูญในหน้าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขด้วยลายมือ และมีการใส่เลขหน้า เรียงลำดับ ตั้งแต่หนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ รวม 41 หน้า สำหรับอักษรที่ใช้พิมพ์ก็ปรากฏว่าได้ใช้ตัวอักษรแบบเดียวกัน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย
นอกจากนี้ เมื่อนำเอกสารญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรา 190 ที่นายประสิทธิ์ โพธสุธน และพวกเป็นผู้เสนอตามที่เลขาธิการสภา ได้นำส่งศาลมาประกอบการพิจารณามาตรวจสอบ ปรากฏว่ามีการใส่เลขหน้าเรียงตามลำดับ ด้วยลายมือตั้งแต่หน้าหนังสือถึงประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขจนถึงหน้าสุดท้ายซึ่งเป็นบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไข อีกทั้งมีการเติมข้อความชื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเพิ่มเติมคำว่าแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....)พ.ศ. ...ในหน้าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข
ส่วนตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ก็เป็นตัวอักษรที่มีลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ลักษณะของการใส่เลขหน้าตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย การแก้ไขชื่อร่างที่แก้ไข การใช้ตัวอักษรที่พิมพ์ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายจะเหมือนกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างว่าได้รับแจกจากการประชุมของรัฐสภา จากข้อเท็จจริงหลักฐานดังกล่าวเบื้องต้น เชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอให้สภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการมิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 และได้ส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาประกอบการประชุม แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ซึ่งมีจ้อความที่แตกต่างจากร่างเดิมหลายประการถึงแม้ว่านายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย จะเบิกความว่า ก่อนที่บรรจุวาระ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขก็ยังสามารถแก้ไขได้ ก็น่าจะเป็นการแก้ไขในเรื่องที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่นการพิมพ์ผิดไม่ใช่เป็นการแก้ไขซึ่งขัดกับหลักการเดิม หากเป็นการแก้ไขที่ขัดกับหลักการเดิม ก็ชอบที่จะมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติตามที่บัญญัติไว้ จากการตรวจสอบร่างที่มีการแก้ไขปรากฏว่ามีการเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญจากร่างเดิมหลายประการ คือการเพิ่มเติมหลักการโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 241 ด้วย
ประการสำคัญการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 จะมีผลให้บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครเป็นวุฒิสภาได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี และมีการดำเนินการในลักษณะที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงว่าได้มีการจัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าในการพิจาณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มาใช้ในการพิจารณาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แต่ได้มีการนำร่างที่จัดทำขึ้นใหม่ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอหลายประการ โดยปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้เป็นไปโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291(1) วรรคหนึ่ง
(2) การกำหนดวันแปรญัตติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่เห็นในการบัญญัติกฎหมาย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะผู้ที่ขอแปรญัตติ หรือกรรมาธิการที่ขอสงวนการแปรญัตติย่อมมีสิทธิที่จะได้อภิปรายและให้เหตุผลในการแปรญัตติ สงวนคำแปรญัตติ หรือได้สงวนความเห็นไว้ สำหรับกรณีนี้จากการเบิกความต่อศาลในชั้นไต่สวน ปรากฏในการพิจารณาวาระที่ 1 และ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ได้ผลัดกันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการตัดสิทธิผู้อภิปรายในวาระที่ 1 และตัดสิทธิผู้สงวนแปรญัตติจำนวน 57 คน โดยอ้างว่าความเห็นดังกล่าวขัดต่อหลักการทั้งที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย ทั้งที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ไม่ใช่เสียงข้างมาก แต่ปิดการอภิปรายเห็นว่าแม้การปิดการอภิปรายจะเป็นดุลพินิจของประธานและแม้เสียงข้างมากจะมีสิทธิในการให้ปิดประชุมการอภิปรายก็ตาม
แต่การใช้ดุลพินิจและเสียงข้างมากดังกล่าวจะต้องไม่ตัดสิทธิของรัฐสภา หรือละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย การรวบรัดการปิดอภิปราย ปิดประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงจึงเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรมอันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม นอกจากนี้ ผู้ร้องยังอ้างอีกว่า การนับเวลาในการแปรญัตติของผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่าเมื่อที่ประชุมพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว ในวันที่ 4 เมษายน 2556 มีผู้เสนอกำหนดเวลาในการแปรญัตติติกำหนดเวลา 15 วัน และ 60 วัน
ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมจะต้องให้ที่ประชุมสภาพิจารณาลงมติว่าจะใช้กำหนดเวลาใด แต่ก่อนที่จะมีการลงมติเกิดปัญหาในที่ประชุมในขณะนั้น เมื่อนับองค์ประชุมไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงได้มีการสั่งให้มีการลงมติยื่นญัตติภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหลักการ โดยมีผู้ทักท้วง ผู้ถูกร้องที่ 18 เมษายน ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีมิติให้กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สรุปให้นับย้อนหลังไป 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ทำให้ระยะเวลาในการแปรญัตติไม่ครบ 15 วัน ตามมติที่ประชุมก็จะเหลือเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอการแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น เห็นว่าการแปรญัตติเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอความคิดเห็น การแปรญัตติจึงต้องมีเวลาพอสมควร
เพื่อประสงค์ในการแปรญัตติได้ทราบเวลาที่แน่นอนในการแปรญัตติ อันเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ การนับเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่มีประชุมมีมติเป็นต้นไป การนับเวลาย้อนหลังจนทำให้เหลือเวลาในการขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับในการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับ 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ทั้งหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองด้วย การกำหนดเวลาในแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง
(3) วิธีการในการแสดงตนในการแก้ไขและลงมติในการการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาสมาชิกวุฒิสภาชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อพิจารณาระบอบการปกครองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาแบบมีผู้แทนแล้วจะเห็นว่า สมาชิกวุฒิสภาเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อระบบนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือได้รับการสรรหาเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 122 ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ชัดแจ้งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดทางอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยในการขัดกันทางผลประโยชน์
อีกทั้งไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง ที่ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ส่วนการใช้อำนาจของสมาชิกรัฐสภา ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง รัฐธรรมนูญมาตรา 126 วรรคสาม หลักการสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนตรากฎหมายไว้ว่า สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งย่อมมีการออกเสียงหนึ่งในการลงคะแนน เว้นแต่คะแนนในที่ประชุมเท่ากัน ก็ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นมาเป็นอีกเสียงหนึ่ง ให้เป็นเสียงชี้ขาด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภานั้นการแสดงตัวออกเสียง ถือเป็นเรื่องที่ต้องมาแสดงตนในที่ประชุมเพื่อแสดงญัตติต่างๆ แต่ละครั้งด้วยตนเอง เช่นเดียวกับกรณีนี้ ย่อมเป็นสิทธิออกเสียงด้วย 1 ครั้ง การกระทำใดที่มีผลให้การลงคะแนนผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้เห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องมีประจักษ์พยานและมีการเบิกความเป็นหลักฐานสำคัญ คือ แผ่นวิดีทัศน์ที่บันทึกภาพเหตุการณ์ที่มีการลกระทำดังกล่าวถึง 3 ครั้ง ที่นำมาแสดงเห็นว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางคนใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาแสดงตนแทนผู้อื่น ระหว่างที่มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.
ซึ่งในการนี้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคลของผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ได้เบิกความประกอบคลิปวีดิทัศน์รวม 3 ตอน เพื่อยืนยันว่าในขณะนั้นได้มีบุคคลที่ตามที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์ ว่าได้ใช้บัตรแสดงตน อิเล็กทรอนิกส์ใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนแล้วกดปุ่มแสดงตน และลงมติคราวละหลายใบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการและวิธีการที่ถูกต้องในเรื่องนี้ การเบิกความของนางอัจรา ชูยืนยง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้การไว้ว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการนับองค์ประชุมการแสดงตนและการลงมติ สมาชิกรัฐสภาจะมีประจำตัวคนละ 1 ใบ และจะมีบัตรสำรองอีกคนละ 1 ใบ ซึ่งเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่รัฐสภา กรณีสมาชิกรัฐสภาไม่ได้นำบัตรประจำตัวมาประกอบกับสิ่งที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์ที่มีการกระทำดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์บันทึกการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา และรายงานการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่มีการประชุมร่วมรัฐสภา แก้ไขที่มา ส.ว. ที่ระบุไว้ในคำร้องที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งในการไต่สวนพยานและการฟังภาพและเสียง เบิกความว่า เป็นเสียงของรองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมขณะนั้น ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนออกเสียงในการลงคะแนนครั้งละหลายใบใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรและกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง นอกจากนี้ พยานบุคคลยังได้เบิกความว่าเป็นผู้ถูกร้องและไม่มีเหตุโกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด โดยเฉพาะ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย และคนของตนที่พยายามถ่ายคลิปวีดิทัศน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานเพื่อประกอบการร้องเรียน เมื่อพิจารณาและนำสืบก็เห็นบุคคลปรากฏใบหน้าด้านข้าง ก็สามารถยืนยันได้ว่าเป็นนายนริศร ซึ่งถือบัตรลงคะแนนไว้ในมือมากกว่า 2 ใบ พร้อมกดลงคะแนนอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 บัตร เห็นได้ชัดว่าผิดปกติวิสัยและการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา จึงเป็นเรื่องที่แจ้งชัดว่ามีสมาชิกรัฐสภาหลายรายไม่ได้มาออกเสียงในที่ประชุมรัฐสภา และมอบให้สมาชิกออกเสียงแทน การดำเนินดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการละเมิดพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ขัดต่อข้อบังคับประชุมรัฐสภาและยังขัดต่อข้อบังคับความซื่อสัตย์สุจริต ที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ ตามมาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม มีผลให้การออกเสียงให้การประชุมรัฐสภาครั้งนั้นเป็นทุจริต ไม่เป็นเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย มิอาจถือว่าเป็นมติที่ชอบของกระบวนการรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ปัญหาที่ต้องพิจารณาประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่ ตามที่ผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระในหลายประเด็น เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบ โดยรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แก้ไขคุณสมบัติของ ส.ว. ไว้หลายประการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนฉบับปี 2540 คือ การบัญญัติให้ ส.ว.สรรหา เข้ามามีองค์ประกอบร่วมกับ ส.ว.เลือกตั้ง เพื่อโอกาสแก่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ ได้มีส่วนร่วม ในการทำหน้าที่ของวุฒิสภา เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ทั้งนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.ได้เป็นอิสระจาก ส.ส. เช่นห้ามบุพการี คู่สมรส และบุตรของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็น ส.ว. และกำหนดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองไว้เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น รัฐธรรมนูญ 2250 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ ส.ส.และ ส.ว.ให้มีดุลยภาพระหว่างกัน โดยกำหนดให้บทบาทของ ส.ว.เป็นองค์กรตรวจทานบทบาทการทำหน้าที่และถ่วงดุลอำนาจ โดยให้ ส.ว.ในการตรวจสอบและถอดถอน ส.ส.ได้ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า มีวิธีการที่ปกติส่อไปในทางทุจริตและหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 ว่าพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.แล้ว จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่ทำให้ ส.ว.มีอิสระจาก ส.ส.อย่างแท้จริง จึงบัญญัติห้ามความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันดังกล่าว หาก ส.ส.และ ส.ว.มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกัน ย่อมไม่อาจหวังได้ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา อันเป็นการขัดกับหลักการการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามคำร้องนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญเสียสิ้นศรัทธาและสามัคคีธรรมของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลองทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง เป็นสภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกัน ทำลายสารสำคัญของการมีสองสภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขาหลายที่