ข่าว
'ชูชาติ'กางกฎหมายย้อน'มติมส.' เทียบพระร่วมประเวณี-'ธัมมชโย'

11 ก.พ. 59 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chuchart Srisaeng" ระบุว่า "พระภิกษุรูปหนึ่งข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงคนหนึ่งอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 10 ปี มาตรา 281 บัญญัติว่า ความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการต่อกระทำแก่บุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ การข่มขืนกระทำชำเราที่เกิดขึ้นเข้าข่ายตามมาตรา 281 จึงเป็นความผิดอันยอมความได้

ภิกษุรูปนั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราดังกล่าว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนซึ่งเป็นผู้เสียหายแถลงต่อศาลว่า ไม่ติดใจให้ดำเนินคดีแก่พระภิกษุรูปนั้นอีกต่อไปและขอถอนคำร้องทุกข์ เนื่องจากเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายได้ขอถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ศาลต้องจำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบความ พระภิกษุจำเลยจึงไม่ถูกศาลลงโทษ แต่ไม่ได้หมายความจำเลยหรือพระภิกษุรูปนั้น ไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราที่เป็นการร่วมประเวณีกับหญิงผู้เสียหาย

กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่เอาที่ดินของวัดมาใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินเป็นผลให้ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหายักยอก แม้ต่อมาได้โอนคืนที่ดินให้แก่วัดและพนักงานอัยการโจทก์ขอถอนฟ้องคดีไปจากศาล แต่ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ครบองค์ประกอบความผิดโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ยังคงเป็นความผิดอยู่

ขอถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า การที่พระภิกษุได้ร่วมประเวณีกับผู้หญิงแม้ไม่ถูกศาลลงโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา พระภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปราชิกและต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุหรือไม่ ถ้าพระภิกษุรูปดังกล่าวต้องอาบัติปราชิกและต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ต้องอาบัติปราชิกและต้องขาดความเป็นพระภิกษุเช่นเดียวกัน ครับ"

“ประยุทธ์” โวยจำไว้ ! อย่าใช้คำว่า “ขู่ - โม้” กับตน

“ประยุทธ์” ย้ำ คสช .ผลงานเพียบ อัดคนทำผิดอย่ามัวอ้างสิทธิมนุษยชน - เสรีภาพ สรุปความคืบหน้ารถไฟฟ้า 10 สาย พร้อมยอมรับรถไฟไทย - จีน ติดขัดหลายเรื่อง ส่วนชินคันเซ็นไปเชียงใหม่ยังไม่รู้เริ่มเมื่อไร เหตุไม่มีงบ ขู่พวกพล่ามผ่านโซเชี่ยล เล็งหาช่องกฎหมายเอาผิด โวยจำไว้ด้วย ไม่ชอบให้ใช้คำว่า “ขู่ - โม้ - จ้อ” กับตน ลั่นเป็นถึงนายกฯ ไม่ใช่หมูหมากาไก่

วันนี้ (12 ก.พ.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตอนหนึ่ง ว่า อยากให้ประชาชนช่วยพิจารณาว่า สิ่งที่รัฐบาล และ คสช. ได้ดำเนินการไปแล้วมีอะไรบ้าง หลังจากที่เข้ามาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 คสช. ได้นำความสงบสุขกลับคืนมา สร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคง ปลดล็อกในทุกเรื่องที่ติดขัด ในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้พบปัญหาต่างๆที่สะสมมากมาย อาทิ ปัญหางาช้าง ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการบินพลเรือน การจัดระเบียบสังคม ความเดือดร้อนของเกษตรกร ตลอดจนปัญหาความมั่นคง ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถานะของประเทศในเวทีโลก ในการค้า การลงทุน ซึ่งต้องเร่งแก้ไข และก็เป็นเวลาพอดีดับภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำลงทั้งหมด

“รัฐบาลก็พยายามจะแก้ไข ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลาด้วย ถ้าเร็วเกินไปก็อาจจะมีปัญหาต่อไปในอนาคต ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาล และ คสช. ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว ในการบริหารราชการแผ่นดินในวันนี้ หลายเรื่องเสร็จแล้ว หลายเรื่องกำลังทำ หลายเรื่องต้องทำต่อเนื่องอีกมากมาย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการปฏิรูปต้องมีการประสานสอดคล้องกันทั้งหมด ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี วันนี้เรากำลังสร้างความเข้มแข็งของประเทศ วางพื้นฐานทั้งหมด ต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน จึงอยากเรียน บรรดากลุ่ม NGO ให้เข้าใจว่า บางอย่างนั้นเราต้องเดินหน้าประเทศ ประโยชน์ส่วนใหญ่เพื่อส่วนรวม เป็นสิ่งที่ท่านต้องพิจารณาใหม่ ไม่เช่นนนั้นก็เกิดปัญหาทั้งหมด แล้วก็บอกว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรไม่ได้เลย ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้จัดทำแผนผังความสัมพันธ์แม่น้ำ 5 สายของ คสช. ขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ๆ ว่า วันนี้เราทำงานมากมายแค่ไหน และทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมปทั้งสิ้น โดยการดำเนินการต่างๆจำเป็นต้องมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือมีกฎหมายลูก เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

“รัฐบาลนี้จะทำแผนระยะยาวไว้ 20 ปี แผนที่ว่าไม่ใช่แผนที่จะต้องลงละเอียดเป๊ะๆ ไม่ใช่บังคับ แต่จะเป็นกรอบที่จะต้องเป็นเข็มทิศนำทางที่ผมเรียนท่านแล้วนะ เป็นโรดแมปในทุกเรื่อง ในนั้นจะบรรจุในเรื่องของแผนปฏิรูปไว้ด้วยให้สอดคล้องกับแผนของสภาพัฒน์ฯทุก 5 ปี” หัวหน้า คสช.กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการสร้างการรับรู้ของรัฐบาล ว่า รัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ ถึงแม้ว่าจะมีการต่อต้าน บิดเบือนอยู่มากพอสมควร วันนี้เราไม่ได้ห้ามใครแสดงความคิดเห็นอันบริสุทธิ์เลย เว้นแต่อย่าทำผิดกฎหมาย หรือไปวิพากษ์วิจารณ์โดยเจตนาไม่สุจริต การที่ไปพูดจาต่างประเทศ ไปออกอากาศขยายความออกไป สื่อดี ๆ ก็มี ที่พยายามไม่เข้าใจก็มีอยู่ไม่กี่สื่อ คนที่เห็นต่างก็อย่าไปบิดเบือนว่าตัวเองทำความผิดแล้วจะต้องพ้นผิด เพราะใช้สิทธิมนุษยชน ใช้เสรีภาพ ใช้ประชาธิปไตย ยังไม่ใช่เวลาวันนี้ ขอให้ทุกคนอย่าไปเชื่อมากนัก

“สิ่งที่ท่านต้องการ เมื่อให้ไปไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับสิ่งที่เราวางเจตนารมณ์ไว้ ท่านก็กลับมาโจมตีรัฐบาล เพราะงั้นท่านอยากให้รัฐบาลตามใจหรือง่ายนิดเดียว ผมก็ไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่ต้องมาปวดหัว ไม่ต้องมาทะเลาะ ขัดแย้งกับใคร ไม่ต้องหงุดหงิดด้วย ก็ขอร้องพี่น้องแล้วกันช่วยกันนิดหนึ่ง แต่ถ้าผิด ต่อไปก็มาว่าผมแล้วกัน ว่ามันผิด ผมจะได้ไม่พูด” นายกฯระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางรางด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางใน กทม. นั้น สายสีม่วง (บางใหญ่ - เตาปูน) สร้างเสร็จแล้ว จะทดลองเดินรถเต็มรูปแบบในช่วงเดือน พ.ค. 59 แล้วก็จะเปิดบริการในเดือน ส.ค. 59 ส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง - บางแค และ บางซื่อ - ท่าพระ) ก่อสร้างไปแล้ว 70% มีทั้งแบบใต้ดินและยกระดับ มีอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทย จะเปิดให้บริการเดือน เม.ย. 62 สายสีเขียว (ตอนใต้) ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ก่อสร้างแล้ว 70% เปิดให้บริการ ก.พ. 61 และสายสีเขียว (ตอนเหนือ) ช่วงหมอชิต - คูคต ก็จะเปิดให้บริการ ก.พ. 63 ต่อไป ขณะที่สายสีแดง (ช่วงบางซื่อ - รังสิต) คืบหน้ากว่า 50% จะเปิดให้บริการ ก.ย. 63 สายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก) และสายสีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง) ยังอยู่ระหว่างการศึกษา สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อปลายปี 2558 อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลาง จะเริ่มประกวดราคาและก่อสร้างเร็วๆนี้ มีแผนจะเปิดให้บริการปลายปี 63 สายสีชมพู (มีนบุรี - แคราย) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว - สำโรง) พยายามผลักดันให้เปิดบริการในปี 63 สุดท้ายส่วนต่อขยายสายสีม่วงลงทางใต้ (เตาปูน - ราษฎร์บูรณะ) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ EIA และเกาะรัตนโกสินทร์นะครับ

สำหรับการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนารางรถไฟทางเดี่ยวที่วิ่งสวนกันไม่ได้ ที่มีอยู่เดิม 4,000 กว่ากิโลเมตร ทำเสริมเป็นทางคู่นะครับ วิ่งสวนคนละเส้นทาง ในระยะแรก 905 กิโลเมตร มี 2 เส้นทาง ที่เริ่มก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 58 - ต้นปี 2559 ได้แก่ ช่วงฉะเชิงเทรา - คลอง 19 - แก่งคอย น่าจะเสร็จได้ในปี 61 และช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น แล้วเสร็จปี 2562 ในส่วนเส้นทางอื่นๆอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงาน EIA ขณะที่การสร้างรถในความร่วมมือไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ - มาบตาพุด - แก่งคอย - หนองคาย เดิมมีการพัฒนาทั้งหมดตลอดเส้น วันนี้ไม่ได้แล้ว ดูแล้วความพร้อมบางเส้นทางยังไม่สมบูรณ์เลย เพราะมีการบุกรุกเยอะ ต้องขยายเส้นทาง ต้องเวนคืน ต้องมีขั้นตอนอีกมากมาย ส่วนโครงการความร่วมมือรถไฟ ไทย - ญี่ปุ่น เรียกว่าแบบ “ชินคันเซ็น”, ระยะทางรวม 672 กิโลเมตร เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ยังทำอะไรไม่ได้ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่า จะศึกษาเสร็จในเดือน มิ.ย. 59 แล้วก็จะดำเนินการต่อไป แต่ก็ยังไม่มีงบประมาณ จะผ่าน EIA หรือ HEIA หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ อีกส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงว่า เป็นการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน 2 โครงการ 2 เส้นทาง ก็คือ ช่วงกรุงเทพฯ - หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร และ กรุงเทพฯ - พัทยา - ระยอง ระยะทาง 193 กิโลเมตร ก็ต้องไปดูว่าได้หรือไม่ได้อย่างไร

นายกฯกล่าวต่อไปถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตลอดระยะเวลาเป็นเดือนมาแล้ว โดยเฉพาะ 2 - 3 อาทิตย์ที่แล้ว วุ่นวายเป็นประเด็นการเมืองไปหมดแล้ว ก็อยากขอให้ทาง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำงานไป ส่วนอื่นก็ไปศึกษาแล้วพิจารณาว่าจะลงมติกันยังไง แต่อยากให้นึกถึงปัญหาประเทศด้วย ประชาธิปไตยอย่างเดียวไปไม่ได้ทั้งหมด ถ้าประชาชนคิดเองยังไม่ได้ ไม่ทำความเข้าใจ แล้วก็ให้บรรดานักเคลื่อนไหวทั้งหมด หรือนักการเมืองที่ไม่ดีมาชี้นำประเทศ คงไม่หลุดพ้นกับดักประชาธิปไตย กับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง กับดักความล้มเหลว ประชาชน 70 ล้าน ต้องช่วยกัน อะไรร่วมมือได้ อะไรเห็นต่าง ว่าไป ต้องประเทศมาก่อน

“สิ่งสำคัญ คือ การเคารพกฎหมาย จิตสำนึก อุดมการณ์ ประเทศชาติมาก่อน เคารพกระบวนการยุติธรรม รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้เสรีภาพตามกฎหมาย อย่าไปรบกวนคนอื่น เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อย่ามองเลือกตั้งอย่างเดียว ถือเสียงส่วนใหญ่ ไม่สนใจส่วนน้อย เรียกร้องสิทธิอย่างเดียว ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน หรือทำอะไรก็ตามที่ผิดกฎหมาย หรือแสดงความเห็นต่าง ความไม่ร่วมมือ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

หัวหน้า คสช. กล่าวด้วยว่า ตามสื่อ ตามโซเชียลมีเดีย มีการนำเสนอข้อมูลหลายส่วนที่ผิดกฎหมาย การพูดจาที่ไม่มีสาระ ไม่มีหลักฐาน พูดเรื่อยเปื่อยอาจจะผิดกฎหมายด้วย เรื่องนี้ไม่ได้ขู่

“ผมไม่ชอบ คำ 2 คำนี่ ขู่ หรืออะไร จ้อ โม้ อะไรทำนองนี้ ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นทหาร ผู้บัญชาการทหารบกเก่า ผมเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป ไม่ใช่หมู หมา กา ไก่ เพราะงั้นจำไว้ด้วย” หัวหน้า คสช.กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้เป็นวันแห่งความรัก ตนเป็นห่วงบรรดาวัยรุ่น คู่รักต่าง ๆ ระมัดระวังตัวเอง เวลาไปเที่ยวผู้หญิงต้องระวังตัว มีคุณค่า ผู้ชายก็ให้เกียรติผู้หญิง อย่าเอารัดเอาเปรียบ แล้วทำให้ประเพณีไทยเสียหาย วัฒนธรรมเราดีงาม สวยงาม ต่างชาติเขาก็เป็นแบบของเขามา ไม่ใช่เขาดีหรือไม่ดี ไม่ว่าเขา แต่ของเราเคยดีอยู่แล้ว อย่าทำ อย่าให้เดือดร้อนก็แล้วกัน


“ยิ่งลักษณ์” เปิดบ้าน อวดแปลงผักรับสื่อนอก

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดบ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3 ต้อนรับ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเกือบ 30 สำนัก โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยายกาศเปิดบ้านเป็นไปอย่างเป็นกันเอง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์พาสื่อชมแปลงผักปลอดสารพิษ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า วันนี้อยากเลี้ยงฉลองปีใหม่พร้อมกับเทศกาลวาเลนไทน์ให้กับสื่อต่างชาติ เพราะเมื่อครั้งที่ผ่านมาได้จัดเลี้ยงให้สื่อไทยไปแล้ว และครั้งนี้มีเสียงรีเควสมา ทั้งนี้ ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการเปิดบ้านเลี้ยงฉลอง โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวติดตลกก่อนให้สัมภาษณ์ว่า “วันนี้อากาศร้อนนะ อย่าถามเรื่องร้อนๆ เลย”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตทางการเมืองว่า ยังไม่รู้ว่าจะยังทำงานการเมืองหรืออีกไม่ เนื่องจากยังติดโทษแบนห้ามลงเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าในการเลือกตั้งที่น่าจะมีขึ้นในปี 2560 นี้ จะมีคนจากตระกูลชินวัตรลงเลือกตั้งหรือไม่ ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐธรรมนูญ มองว่าต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน ต้องยึดโยงกับประชาชน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุถึงคดีโครงการจำนำข้าวว่า ยืนยันที่จะสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ก็หวังว่าในชั้นศาลจะได้รับการพิจารณา ในเรื่องของการเพิ่มพยานหลักฐานให้เพียงพอต่อการสู้คดี อย่างไรก็ตาม รู้สึกงงกับข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ที่ระบุว่านโยบายไม่ผิด แต่ตัวเธอมีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นความผิด

“ยังงงๆ ว่าทำไมนโยบายไม่ผิด ข้าวไม่หาย ผู้ปฏิบัติก็ไม่ผิด แต่ผู้ดูแลนโยบายผิดได้อย่างไร” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ม.ฮาร์วาร์ดตีข่าวหนีทุน ทพญ.อ้างตั้งใจใช้เงินคืน

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์และหนังสือพิมพ์เดอะคริมสัน ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (http://www.thecrimson.com/article/2016/2/11/thai-dentist-debt-outrage/) ได้รายงานข่าวเรื่องของการหนีทุนของทันตแพทย์หญิง ดลฤดี จำลองราษฎร์ ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ชาวไทยโกรธแค้นกันอย่างมาก โดยรายงานระบุว่า ดลฤดี ได้ส่งอีเมล์ไปถึงเดอะคริมสัน ระบุว่า “ประเด็นสำคัญที่สุดคือฉันจะกล่าวถึงอย่างแรกในแถลงการณ์นี้คือ ฉันมีความตั้งใจที่จะใช้ทุนคืนแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ในรูปแบบของการทำงานในมหาวิทยาลัยหรือไม่ก็ในรูปแบบของเงิน”

อีเมล์ของดลฤดีระบุด้วยว่า ตนได้ยื่นเรื่องขอยืดเวลาในการใช้ทุนคืนให้ยาวออกไป แต่ได้รับการปฏิเสธ ด้วยปัญหาด้านการเงินและความยากลำบากส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องสถานะวีซ่า และการถูกมหาวิทยาลัยมหิดลไม่ต่อพาสปอร์ตให้ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลานานหลายปี

รายงานระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยมหิดลยืนยันว่า ดลฤดีจะต้องใช้ทุนด้วยการเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากเรียนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

นายสรายุทธ กันหลง ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า จากหนังสือพิมพ์ The Harvard Crimson ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ลงข่าวของทพญ.ดลฤดี โดยเอาข่าวมาจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเว็บไซต์ออนไลน์ภาษาอังกฤษ โดยในข่าวดังกล่าว ได้รับคำชี้แจงจาก ทพญ.ดลฤดี เหมือนกับที่ทพญ.ดลฤดี ตอบอีเมลหนังสือพิมพ์เนชั่น และหนังสือพิมพ์ The Harvard Crimson ยังได้สัมภาษณ์เมลิสสา บรอดดริก ผู้ตรวจการ HSDM ที่ได้ปฏิเสธคำอ้างของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ว่าเมลิสสา เป็นคนพูดว่าได้ดำเนินการสอบสวน และย้ำว่าไม่ใช่หน้าที่ของเธอ

“ผมเชื่อว่าคน Harvard ต้องอ่านข่าวนี้แน่ รวมทั้งผู้บริหารของ HSDM และของ Harvard U. ด้วย ผมจึงย้ำเรื่องจริยธรรมอีกครั้ง โดยในลิงก์ข่าวดังกล่าว เปิดให้แสดงความคิดเห็น ผมจึงได้ส่งข้อความผ่านทาง The Harvard Crimson อีกครั้ง โดยถามผู้บริหารฮาร์วาร์ดถึงจริยธรรมว่าทำไมถึงรับคนที่โกงรัฐบาลไทยเข้าทำงานและกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในศาลไทย ผมไม่สามารถยอมรับได้กับการที่บอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว” นายสรายุทธ กล่าว และว่า สำหรับหนังสือพิมพ์ The Harvard Crimson เป็นหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ดำเนินการโดยนักศึกษาปริญญาตรี (Harvard College) และเก่าแก่ที่สุดในจำนวนหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ “มติชน” อีเมลหาเมลิสสา บรอดดริก ผู้ตรวจการ (Ombudsperson) ของคณะทันตแพทย์ฮาร์วาร์ดเพื่อสอบถามถึงความชัดเจนกรณีมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทพญ.ดลฤดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ได้รับอีเมลตอบกลับจากเมลิสสา ว่า “ขอบคุณสำหรับอีเมล เพื่อความกระจ่าง ในฐานะที่เป็นผู้ตรวจการที่ต้องเป็นกลาง ดิฉันไม่ตรวจสอบข้อร้องเรียนที่ส่งมาให้ แต่ดิฉันมีหน้าที่นำเรื่องร้องเรียนส่งต่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับที่ดิฉันได้ปฏิบัติต่อบุคลากรทุกคนในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในกรณีแบบนี้ กรุณาบอกด้วยถ้าต้องการสิ่งอื่นๆ จากหน่วยงานนี้”