20 พ.ย. 2567 สถานีโทรทัศน์ KTLA5 สื่อท้องถิ่นในเมืองลอส แองเจลิส (แอลเอ) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว L.A. to become a ‘sanctuary’ city for migrants in response to Trump threat ระบุว่า ในการประชุมสภาเทศบาลนครแอลเอ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 13 ต่อ 0 ประกาศในเมืองแห่งนี้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้อพยพ ซึ่งเป็นท่าทีแข็งกร้าวต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศนโยบายพร้อมใช้กำลังทหารขับไล่บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายออกจากแผ่นดินสหรัฐฯ
สาระสำคัญของมติล่าสุดของสภาเทศบาลนครลอส แองเจลิส คือการประกาศไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในด้านทรัพยากรและบุคลากรของเมือง ในการสนับสนุนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นการยกระดับจากมติก่อนหน้านี้ ที่ประกาศว่า เมืองแอลเอจะไม่แบ่งปันข้อมูลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของรัฐบาลกลาง
นิตยา รามัน (Nithya Raman) หญิงชาวอินเดีย ซึ่งติดตามครอบครัวเดินทางมาที่สหรัฐฯ ตั้งแต่อายุเพียง 6 ปี กล่าวว่า ผู้อพยพเป็นส่วนสำคัญของแอลเอ และพวกเขาสมควรที่จะรู้สึกปลอดภัยและได้รับการปกป้องในเมืองที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน ไม่ว่าใครจะมีอำนาจก็ตาม เช่นเดียวกับ ยูนิสเซส เฮอร์นันเดซ (Eunisses Hernandez) สมาชิกสภาเทศบาลนครลอส แองเจลิส ที่กล่าวว่า ที่ตนมีชีวิตเติบโตขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะผู้อพยพ เช่น พ่อแม่และญาติพีน้องของตน และชุมชนที่เลี้ยงดูตนมา
“เรื่องเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับลอส แองเจลิส เมืองที่สร้างขึ้นจากความฝันและแรงงานของผู้อพยพหลายชั่วอายุคน เราจะไม่ยอมให้วาทกรรมที่แสดงความเกลียดชังหรือนโยบายที่ทำลายล้างมาทำลายครอบครัวหรือทำให้ผลงานของพวกเขาเสื่อมเสีย วันนี้ เราประกาศต่อประเทศชาติว่าลอสแองเจลิสเจริญรุ่งเรืองได้เพราะผู้อพยพ และเราดีขึ้นเพราะผลงานและผลงานของพวกเขา” เฮอร์นันเดซ กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า แอลเอเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ เป็นแหล่งรวมของผู้อพยพมากกว่า 1.35 ล้านคน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 34 ของประชากรผู้อพยพทั้งประเทศ ขณะที่ ร็อกแซน ฮ็อดจ์ (Roxanne Hodge) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของพรรครีพับลิกันประจำลอสแองเจลิสเคาน์ตี ตอบโต้ท่าทีของสภาเทศบาลนครแอลเอ ว่า เมืองและรัฐที่เรียกว่าสถานที่หลบภัย ฟังดูอบอุ่นและคลุมเครือ
“การคุ้มครองที่พวกเขาให้นั้นไม่ได้มีไว้สำหรับคุณย่า-คุณยายที่ซื้อไอศกรีมเท่านั้น แต่มีไว้สำหรับผู้คนที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายและก่ออาชญากรรมเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ การปล้น การล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย หรือการฆาตกรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ควรลอยนวลพ้นโทษ ผู้กระทำความผิดไม่ควรได้รับการปกป้องจากเงินช่วยเหลือที่ผู้เสียภาษีผู้ทำงานหนักได้รับอย่างแน่นอน” ฮ็อดจ์ กล่าว
1 วันก่อนหน้าการลงมติของสภาเมือง ในวันที่ 18 พ.ย. 2567 คณะกรรมการการศึกษาเขตโรงเรียนรวมลอสแองเจลิส (LAUSD) ยังลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์เมื่อวันจันทร์เพื่อรับรองมติเมืองที่ปลอดภัย ซึ่งมติดังกล่าวเรียกร้องให้ครูและเจ้าหน้าที่ของ LAUSD เข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการตอบสนองหากถูกติดต่อโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของรัฐบาลกลาง
ซึ่งในวันดังกล่าว เป็นวันเดียวกับที่ทรัมป์ประกาศผ่านช่องทางออนไลน์ ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีตนเป็นผู้นำจะประกาศให้การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ และใช้ทรัพยากรทางทหารเพื่อเนรเทศผู้ที่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย และช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์ยังอ้าง “กฎหมายว่าด้วยบุคคลต่างด้าวที่เป็นศัตรู (Alien Enemies Act)” ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 (ปี 2243-2342) ซึ่งให้อำนาจต่อรัฐในการกักขังและขับไล่ชาวต่างชาติที่มีอายุมากกว่า 14 ปีซึ่งมาจากประเทศที่ทำสงครามกับสหรัฐฯ ออกไปจากแผ่นดินสหรัฐฯ ได้
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 20 พ.ย. 67 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2567 โดยในวันเดียวกันนี้มีวาระที่น่าใจคือ การพิจารณาบัญชีรายชื่อแต่งตั้งตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และจเรตำรวจแห่งชาติ ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) ยศ พล.ต.อ.-พล.ต.ท. วาระประจำปี 2567 โดยปีนี้มีตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ว่าง 4 ตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่าง 7 ตำแหน่ง และ ผบช. ว่าง 14 ตำแหน่ง รวมทั้งการโยกย้ายในระนาบเดียวกัน รวมประมาณ 30-40 ตำแหน่ง
โดยก่อนเริ่มการประชุมนายกฯ กล่าวว่า การประชุมข้าราชการตำรวจในวันนี้มีเรื่องพิจารณาหลายเรื่อง ตามกรอบของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องของการพิจารณาให้ความเห็นชอบคัดเลือกแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ระดับผู้บัญชาการขึ้นไป ที่มีความจำเป็นที่ต้องได้บุคลากรที่มีความสามารถ บริหารจัดการ รับผิดชอบ และตอบสนองต่อการบริการประชาชน และรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยให้พิจารณาให้ตรงตามกรอบกฎหมายกำหนด จึงขอให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้การบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของราชการเป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ใช้เวลาในการประชุมก.ตร.นานกว่า 4 ชั่วโมง โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกฯ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยสื่อมวลชนพยายามถามว่าการประชุมในวันนี้ยากหรือ นายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆว่า ”เป็นประสบการณ์ใหม่“ ก่อนเดินทางกลับ พร้อมได้ผายมือไปที่ ผบ.ตร. ให้เป็นผู้ตอบคำถาม
ด้าน พล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ เลขานุการ ก.ตร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีการพิจารณานายตำรวจระดับ รองผบ.ตร. จนไปถึง ผบช. รวมทั้งหมด 41 ตำแหน่ง ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อระเบียบและวิธีปฏิบัติที่ยึดระดับความอาวุโส ความรู้ความสามารถ ประกอบกัน โดยที่ประชุมมีการหยิบยกรายชื่อตัวบุคคลทุกตำแหน่งมาพิจารณาอย่างทั่วถึง เชื่อได้ว่าหลังจบการประชุมบุคคลที่ได้รับการพิจารณาแต่ละตำแหน่งจะมีความเหมาะสม ยืนยันไม่มีเรื่องการเมืองแทรกแซง แต่หากบุคคลใดที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมการฟ้องร้องเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้
ส่วนที่มีกระแสข่าวระบุว่า ในที่ประชุมฯ มีการถกเถียงเรื่องการครองตำแหน่งอายุราชการที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง พล.ต.ท. อนุชา กล่าวยอมรับว่า ในที่ประชุมฯ นำรูปแบบดังกล่าวมาพิจารณาจริง แต่ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิผู้มีอายุราชการเพียง 2,3 และ 4 ปี แต่เป็นการพิจารณาทุกราย ทุกตำแหน่งเป็นไปด้วยความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าให้นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นใดรุ่นหนึ่งมาดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษ รวมทั้งกระแสที่ว่าจะคัดเลือกเฉพาะเพื่อน นรต. เดียวกับ ผบ.ตร.
มีรายงานว่า คาดพล.ต.ท.สยาม บุญสม จตร. นรต.รุ่น 46 ขยับเป็น ผบช.น. พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จตร. นรต.รุ่น 48 ที่มีโผก่อนหน้านี้ โยกไป ผบช.ปส. พล.ต.ท.สุรพล เปรมบุตร ผบช.สนง.ผบ.ตร. (นรต.41) โยกมา ผบช.ภ.1 ,พล.ต.ท. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผบช.สกพ. (นรต.41) โยกมา ผบช.ภ.2 ,พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ ปิ่นทอง รอง ผบช.ภ.6 (นรต.43) เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.ภ.3 ,พล.ต.ต.ฉัตรชัย สุรเชษฐพงษ์ รอง ผบช.ภ.2 (นรต.42) เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.ภ.4 ,พล.ต.ท. กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภ.5 (ที่เดิม),พล.ต.ท. กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผบช.ภ.6 (ที่เดิม) ,พล.ต.ท. นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.ภ.7 (ที่เดิม) ,พล.ต.ท. สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8 (ที่เดิม) ,พล.ต.ท. ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภ.9 (ที่เดิม)
ส่วนตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สตม. (นรต.41) เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.สตม., พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ. (นรต.46) โยกมาเป็น ผบช.สอท., พล.ต.ต.อาทิชา เปาอินทร์ รอง ผบช.ภ.7 เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.สพฐ., พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผบช.สนง.ผบ.ตร. (นรต.47) โยกมาเป็น ผบช.ศ., พล.ต.ท.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผบช.รร.นรต. (ที่เดิม), พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผบช.สนง.ผบ.ตร.(นรต.46) โยกมาเป็น ผบช.สกพ., พล.ต.ท. อุดร ยอมเจริญ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. โยกมาเป็น ผบช.ส. และ พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท. อยู่ที่เดิม
20 พ.ย. 2567 CharitiesAid Foundation (CAF) องค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไรซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ เผยแพร่รายงาน “ดัชนีความใจบุญโลก ประจำปี 2567 (World Giving Index 2024)” โดยองค์กรดังกล่าวได้จัดทำรายงานนี้เผยแพร่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 (World Giving Index 2011X แบ่งการให้คะแนนเป็น 3 ด้าน คือ การบริจาคเงิน(Donating Money) การช่วยเหลือคนแปลกหน้า (Helping Stranger) และการใช้เวลาเป็นจิตอาสา (Volunteering Time) สำหรับรายงานของปีนี้ซึ่งมี 142 ประเทศเข้าร่วม พบว่า..
ในด้านการช่วยเหลือคนแปลกหน้า 10 ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ อันดับ 1 เคนยา (ร้อยละ 82) อันดับ 2 มีเท่ากัน 2 ชาติ คือบังกลาเทศกับไนจีเรีย (ร้อยละ 81) อันดับ 3 ไลบีเรีย (ร้อยละ 80) อันดับ 4 มี 3 ประเทศได้เท่ากัน คือเซเนกัล เซียราลีโอนและแกมเบีย (ร้อยละ 78) และอันดับ 5 มี 3 ประเทศได้เท่ากัน คือยูเครน มาลาวีและไนเจอร์ (ร้อยละ 77) ส่วน 10 ประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ อันดับ 1 โปแลนด์ (ร้อยละ 23) อันดับ 2 ญี่ปุ่น (ร้อยละ 24 อันดับ 3 กัมพูชา (ร้อยละ 28) อันดับ 4 ฝรั่งเศส (ร้อยละ 38) อันดับ 5 ลิธัวเนีย (ร้อยละ 41) อันดับ 6 โครเอเชีย (ร้อยละ 43) อันดับ 7 มีร่วมกัน 4 ประเทศ คือคาซัคสถาน สโลวาเกีย สวิตเซอร์แลนด์และเซอร์เบีย (ร้อยละ 45)
ในด้านการบริจาคเงิน 10 ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ อันดับ 1 อินโดนีเซีย (ร้อยละ 90) อันดับ 2 เมียนมา (ร้อยละ 78) อันดับ 3 มอลตา (ร้อยละ 74) อันดับ 4 ไอซ์แลนด์ (ร้อยละ 71) อันดับ 5 สิงคโปร์ (ร้อยละ 68) อันดับ 6 มีเท่ากัน 3 ประเทศหรือกลุ่มประเทศ คือยูเครน สหราชอาณาจักรและไทย (ร้อยละ 67) และอันดับ 7 มีเท่ากัน 2 ประเทศ คือไอร์แลนด์กับนอร์เวย์ (ร้อยละ 65) ส่วน 10 ประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ อันดับ 1 มีเท่ากัน 2 ชาติ คือบอตสวานากับจอร์เจีย (ร้อยละ 6) อันดับ 2 มีเท่ากัน 2 ชาติ คือเยเมนกับตูนิเซีย (ร้อยละ 7) อันดับ 3 มีเท่ากัน 2 ชาติ คืออียิปต์และอัฟกานิสถาน (ร้อยละ 10) อันดับ 4 มีเท่ากัน 2 ชาติ คือซิบบับเวกับโตโก (ร้อยละ 11) และอันดับ 5 มีเท่ากัน 2 ชาติ คือมาลีกับจอร์แดน (ร้อยละ 14)
ในด้านการใช้เวลาเป็นจิตอาสา 10 ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ อันดับ 1 อินโดนีเซีย (ร้อยละ 65) อันดับ 2 ไลบีเรีย (ร้อยละ 58) อันดับ 3 ไนจีเรีย (ร้อยละ 53) อันดับ 4 เคนยา (ร้อยละ 52) อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 48) อันดับ 6 ทาจิกิสถาน (ร้อยละ 47) อันดับ 7 แกมเบีย (ร้อยละ 45) อันดับ 8 กินี (ร้อยละ 43) อันดับ 9 ศรีลังกา (ร้อยละ 42) และอันดับ 10 อินเดีย (ร้อยละ 41) ส่วน 10 ประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ อันดับ 1 อียิปต์ (ร้อยละ 3) อันดับ 2 มีเท่ากัน 3 ชาติ คือบัลแกเรีย โรมาเนียและกัมพูชา (ร้อยละ 6) อันดับ 3 มีเท่ากัน 3 ชาติ คือเซอร์เบีย จอร์แดนและโปแลนด์ (ร้อยละ 7) อันดับ 4 มีเท่ากัน 2 ชาติ คือเลบานอนกับโคโซโว (ร้อยละ 8) และอันดับ 5 นอร์ทมาเซโดเนีย (ร้อยละ 9)
สำหรับภาพรวมในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงที่สุด อันดับ 1 อินโดนีเซีย (74 คะแนน) อันดับ 2 เคนยา (63 คะแนน) อันดับ 3 มีร่วมกัน 2 ชาติ คือสิงคโปร์กับแกมเบีย (61 คะแนน) อันดับ 4 ไนจีเรีย (60 คะแนน) อันดับ 5 สหรัฐอเมริกา (59 คะแนน) อันดับ 6 ยูเครน (57 คะแนน) อันดับ 7 มี 4 ประเทศที่ได้เท่ากัน คือออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มอลตาและแคนาดา (54 คะแนน) อันดับ 8 มี 3 ประเทศที่ได้เท่ากัน คือไลบีเรีย กินีและไทย (52 คะแนน) อันดับ 9 มี 4 ประเทศที่ได้เท่ากัน คือไอร์แลนด์ บาห์เรน นิวซีแลนด์และคูเวต (51 คะแนน) และอันดับ 10 มี 3 ประเทศที่ได้เท่ากัน คือเมียนมา มาเลเซียและนอร์เวย์ (50 คะแนน)
ส่วนกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุด อันดับ 1 โปแลนด์ (15 คะแนน) อันดับ 2 ญี่ปุ่น (20 คะแนน) อันดับ 3 มี 2 ชาติได้เท่ากัน คือกัมพูชากับลิธัวเนีย (22 คะแนน) อันดับ 4 เยเมน (23 คะแนน) อันดับ 5 มี 4 ประเทศได้เท่ากัน คือโครเอเชีย โตโก อัฟกานิสถานและตูนิเซีย (24 คะแนน) อันดับ 6 มี 3 ประเทศได้เท่ากัน คือบัลแกเนีย โรมาเนียและเลบานอน (26 คะแนน) อันดับ 7 มี 2 ชาติได้เท่ากัน คือเวียดนามกับเบนิน (27 คะแนน) อันดับ 8 มี 2 ชาติได้เท่ากัน คืออียิปต์กับมอลโดวา (28 คะแนน) อันดับ 9 มี 5 ประเทศ คือสโลวาเกีย มอนเตเนโกร อาร์เมเนีย บอตสวานาและตุรกี (29 คะแนน)
ขณะที่อันดับของ 10 ชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียงจากได้คะแนนมากที่สุดไปน้อยที่สุดมีดังนี้ อันดับ 1 อินโดนีเซีย (74 คะแนน) อันดับ 2 สิงคโปร์ (61 คะแนน) อันดับ 3 ไทย (52 คะแนน) อันดับ 4 มี 2 ชาติได้เท่ากัน คือเมียนมากับมาเลเซีย (50 คะแนน) อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ (47 คะแนน) อันดับ 6 สปป.ลาว (34 คะแนน) อันดับ 7 เวียดนาม (27 คะแนน) และอันดับ 8 กัมพูชา (22 คะแนน) โดยมีบรูไนเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ไม่ได้ร่วมการจัดอันดับในครั้งนี้
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012