ข่าว
“ป๋า” ปัดเป็นตัวเชื่อม “ปู-เทือก” ย้อนถาม”แล้วเขาจะเชื่อผมหรีอ”

เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงทางออกต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสานใจไทยครั้งที่ 21 โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า “อยากให้สื่อนำเสนอในสิ่งที่ดีต่อประเทศ และช่วยชาติบ้านเมือง” เมื่อถามถึงกรณีที่บางฝ่ายอยากให้ พล.อ.เปรม เรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.มาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา พล.อ.เปรม กล่าวว่า ตนไม่เคยได้ยินมาก่อน เพิ่งจะได้ยินจากสื่อเป็นคนแรก เมื่อถามว่า ท่านจะลองเชิญทั้ง 2 คนมาพูดคุยหรือไม่ เพราะทั้งสองฝ่ายน่าจะฟังท่าน พล.อ.เปรม หัวเราะก่อนกล่าวว่า “คุณคิดว่า เขาจะฟังผมหรือ”

เมื่อถามว่า เพราะ พล.อ.เปรม เป็นที่เคารพรักของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากขณะนี้ไม่มีใครคุยกับสองฝ่ายได้ พล.อ.เปรม กล่าวว่า “ตัวผมเองก็โดนเหมือนกัน” เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า จะเชิญ พล.อ.เปรม มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง พล.อ.เปรม ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเพียงแต่ยิ้มเท่านั้น ทั้งนี้ก่อนที่ พล.อ.เปรม จะเดินกลับเข้าบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ โดยมี ผบ.เหล่าทัพเดินไปส่งนั้น พล.อ.เปรมได้มีการพูดคุยกับ ผบ.เหล่าทัพเล็กน้อย ก่อนจะหันมากล่าวกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ว่า “อดทนหน่อยนะ แต่ต้องทำต่อไป”

“ปู”สอนรธน. “มาร์ค” เรียนรู้ถึงบทบัญญัติ

เวลา 13.10 น. วันที่ 10 เม.ย. ที่กรมการปกครอง จ.ปทุมธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ลาออกเพื่อลดความขัดแย้งว่า คิดว่าคุณอภิสิทธิ์คงทราบถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลที่มีการยุบสภาแล้วต้องมีหน้าที่ในการปฏิบัติ ซึ่งเชื่อว่าคุณอภิสิทธิ์ทราบตรงนี้ดี และเป็นสิ่งที่ตนต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การที่รัฐบาลยุบสภาคือการคืนอำนาจให้ประชาชนทั้งประเทศ เป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่จะได้มีส่วนร่วมในการที่จะใช้อำนาจ ใช้สิทธิของตนเองที่จะตัดสินหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตย นั้นก็คือการเลือกตั้งไม่ใช่ว่าอำนาจที่คืนให้ประชาชนไปแล้ว จะไม่มีกติกา แต่ต้องมีวิธีการที่ทำให้เกิดการยอมรับ

เมื่อถามว่า มาถึงวันนี้คิดว่าการเลือกตั้งจะสามารถเดินหน้าไปได้หรือไม่ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังไม่รับปาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องถามว่าจะปล่อยให้ประเทศเป็นอย่างนี้หรือ ไม่มีคำตอบแม้กระทั่งว่า จะกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร จึงอยากให้คนไทยทุกคนได้ร่วมกันทำให้กติกาต่างๆเริ่มเดิน เพราะถ้าเราไม่มีการเลือกตั้งเลย ไม่มีการช่วยกันแก้ปัญหาแล้วเราจะทำอย่างไร วันนี้ทุกคนเห็นว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาต่างๆมากมาย ภาคเอกชนเดือดร้อน จึงอยากให้ทุกคนมาช่วยกันแก้ปัญหา

เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่านายกฯไม่ยอมรับอำนาจศาล จะชี้แจงอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงข้อสังเกต ข้อสงสัย หวังว่าทุกท่านจะยึดหลักความเสมอภาคและความเป็นมาตรฐานเดียว ซึ่งถ้าผู้ที่รู้สามารถตอบให้คลายความสงสัยได้ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และทำให้คนที่รับฟังคลายความกังวลได้ เมื่อถามว่า ส่วนตัวกังวลใจกับคำวินิจฉัยที่ออกมาหรือไม่ นายกฯตอบว่า ไม่ว่า ใครที่เจอคดีหรือข้อกล่าวหาก็ต้องมีความกังวล

เช่นกัน ถ้าการตัดสินเป็นไปอย่างยุติธรรม เชื่อว่าทุกคนก็ยอมรับ เมื่อถามว่าโดนรุมเร้าขนาดนี้ ใช้คติอะไรทำให้ยืนอยู่ได้ นายกฯตอบว่า เมื่อมีความทุกข์ มีปัญหามารุมเร้า ต้องมองปัญหาไปในทางบวกบ้าง ปล่อยวางบ้าง และพยายามเอาใจเราไปเข้าใจในหัวอกคนอื่น พยายามที่จะเข้าใจแต่ละบทบาทของแต่ละฝ่ายอย่างมีสติและต้องนิ่ง เพื่อที่จะใช้สติปัญญาต่างๆในการแก้ปัญหาด้วยความสุขุม รอบคอบ

หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เสร็จจากประชุม ได้เปิดโอกาสให้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการกรมการปกครอง เข้ารดน้ำขอพรนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯอวยพรให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง จากนั้น นายกฯเดินทางเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.) เมืองทองธานี เปิดโอกาสให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม นำข้าราชการอวยพรและเปิดโอกาสให้นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นำข้าราชการสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้สื่อข่าวติดตามนายกฯเข้ารดน้ำอวยพรที่ห้องทำงาน ชั้น 10 โดยนายกฯขอให้มีความสุข และขอบคุณที่ทำงานร่วมกันมา ทั้งนี้ ในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายกฯพร้อม ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร (น้องไปป์) บุตรชาย จะเดินทางไปพักผ่อนส่วนตัวกับครอบครัวที่ จ.เชียงใหม่ โดยนายกฯจะเดินทางไปในวันที่ 11 เม.ย. กลับ 17 เม.ย.

'อภิสิทธิ์' อัดนายกฯ ไม่เปิดประชุม ส.ว.

"อภิสิทธิ์" อัดนายกฯ เล่นแง่ ไม่เปิดประชุม ส.ว. ถามจี้ใจดำ จงใจฝ่าฝืนหน้าที่ตัวเองหรือไม่ แนะ เลขาฯ วุฒิสภา ทำหนังสือแจงวาระงาน ส.ว. ...

วันที่ 11 เม.ย. 57 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมออกพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุม ตามที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เสนอต่อรัฐบาล ว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าจะเปิดวันที่เท่าไร แต่วุฒิสภาจำเป็นต้องเปิดประชุมหลายกรณี ทั้งการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. การถอดถอนบุคคล และสมาชิกใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจะสามารถทำงานได้

รัฐธรรมนูญบัญญัติระบุชัดว่า ขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฏร ส.ว.ต้องทำหน้าที่ถอดถอนได้ แต่อำนาจการเปิดประชุมอยู่ที่รัฐบาล ที่จะรับสนองพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวิสามัญได้ จึงไม่เห็นว่าจะต้องเล่นแง่กับประเด็นที่ว่า ถ้าจะเปิดเรื่องถอดถอน ไม่สามารถทำได้ระหว่างอยู่นอกประชุม เพราะต้องให้ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้อยู่แล้ว และฝ่ายนิติบัญญัติ มีเรื่องจำเป็นต้องพิจารณาตามหน้าที่วุฒิสภา ถ้ารัฐบาลยิ่งทำแบบนี้ จะยิ่งสร้างสุญญากาศมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้อง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ออกนอกกรอบมากขึ้น

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นความเห็นของกฤษฎีกา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ต้องถามว่า ตั้งคำถามไปอย่างไร หากถามเรื่องการถอดถอนว่า สามารถเปิดวิสามัญได้หรือไม่ ก็อาจอ้างตามนั้นได้ แต่ถ้าถามว่ารัฐบาลสามารถเปิดวิสามัญได้หรือไม่ เชื่อว่ากฤษฎีกาต้องตอบว่า ได้ และเมื่อเปิดแล้วก็ไม่ต้องไปใช้มาตราที่ห้ามไม่ให้ถอดถอนนอกสมัยประชุม เพราะรัฐธรรมนูญมาตรานั้น พูดเฉพาะเรื่องที่อยู่นอกสมัยประชุมเท่านั้น การกระทำของรัฐบาลเหมือนจงใจที่จะสกัดกั้น การทำหน้าที่ของวุฒิสภา หากมีความชัดเจนว่า จากนี้ไปไม่ยอมเปิดสมัยประชุมก็น่าคิดว่า นายกฯ จงใจฝ่าฝืนหน้าที่ของตนเองในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เท่ากับเป็นการทำผิดกฎหมายซ้ำอีก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทางออกของการเปิดสมัยประชุม ไม่จำเป็นต้องผูกไว้เรื่องการถอดถอน โดยเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งไปว่า มีเรื่องที่วุฒิสภาต้องพิจารณาอะไรบ้าง เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการเปิดสมัยประชุม แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร ก็จะถูกมองว่า เอาเรื่องผลประโยชน์ หรือความต้องการของตนเอง เพราะเรื่องที่รอการพิจารณาเป็นเรื่องถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ผู้มีอำนาจไม่ต้องเคารพกฎหมาย แต่หาช่องที่จะสนองความต้องการของตนเองอย่างเดียว ส่วนการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ได้รับการสรรหาก็ไม่แน่ใจว่า จะเข้าไปตรวจสอบคดีทุจริตจำนำข้าวทันหรือไม่ แต่รัฐบาลไม่มีเหตุผล ที่จะทำให้กระบวนการแต่งตั้งถอดถอนของวุฒิสภาล่าช้าไป อีก