ข่าว
สื่อนอกจับตา'ไทย' ส่งเสริมใช้สกุลเงิน'จีน-มาเลย์-อินโดฯ'

8 ส.ค. 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เสนอข่าว Thailand Pushes Yuan, Ringgit Use to Curb Impact of Baht Swings อ้างการเปิดเผยจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ประเทศไทยวางแผนที่จะส่งเสริมการใช้เงินหยวนของจีนและสกุลเงินอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ในการค้าและการลงทุนเพื่อควบคุมการผันผวนของสกุลเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อลิศรา มหาสันทนะ (Alisara Mahasandana) ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. อธิบายว่า การใช้สกุลเงินในภูมิภาคมากขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากสกุลเงินเหล่านี้มักจะเคลื่อนไหวควบคู่กับเงินบาท ทั้งนี้ แม้ความพยายามของไทยในการส่งเสริมสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์จะมีมานานกว่าทศวรรษ แต่กำลังได้รับแรงผลักดันในขณะนี้ด้วยการจัดการระดับทวิภาคีของธนาคารกลางและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน

“ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการค้าและการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงของเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่าซึ่งทำให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลงและกลายเป็นเครื่องมือของเศรษฐกิจของรัฐ ธปท. ทำงานร่วมกับคู่ค้าจากจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียเพื่อส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่นในประเทศของตน จะเห็นความคืบหน้ามากขึ้นในครึ่งหลัง” อลิศรา กล่าว

เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3 ในเดือน ก.ค. 2566 ซึ่งมากที่สุดในบรรดาสกุลเงินหลักในเอเชีย หลังจากร่วงลงเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน มาตรวัดคาดการณ์การแกว่งตัวของราคาเงินบาทใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 ซึ่งผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ความผันผวนของเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีเครื่องมือมากขึ้นเพื่อรับมือกับสิ่งนั้น

ธนาคารกลางของไทยเริ่มปรับปรุงกฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปี 2563 โดยค่าเงินบาทอยู่ในรายการตรวจสอบของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สำหรับการยักย้ายถ่ายเทสกุลเงิน แต่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดขึ้นได้ยากในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการหายไปของรายได้จากการท่องเที่ยวหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปีในปีที่แล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ดีดตัวกลับมาประมาณร้อยละ 10

ประเทศไทยได้ส่งเสริมการใช้สกุลเงินภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2554 แต่การยอมรับเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่กฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เข้มงวด การขาดสภาพคล่องของสกุลเงินท้องถิ่น ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงสูง และขาดความตระหนัก ขณะที่การค้าในสกุลเงินหยวนกับจีน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.2 ในปีที่แล้วจากประมาณร้อยละ 0.3 ของการค้าทั้งหมดในปี 2558 แต่ปัจจุบันสามารถใช้เงินหยวนได้มากขึ้น เนื่องจากจีนเพิ่งผ่อนคลายกฎระเบียบและบริษัทต่างๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้นในการสำรวจทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยงค่าเงิน

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลดการใช้เงินดอลลาร์ เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่มีสภาพคล่องมากที่สุดและเป็นสกุลเงินที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรหยุดติดตามโครงการนี้ อย่างน้อยเราควรเสนอทางเลือกให้พวกเขาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธปท. มีแผนกระตุ้นการใช้สกุลเงินในภูมิภาค ได้แก่

1.หารือกับธนาคารประชาชนจีนเพื่อผ่อนปรนกฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและเพิ่มสภาพคล่องเงินหยวน 2.เรียกร้องให้ธนาคารในประเทศลดต้นทุนการทำธุรกรรมเงินหยวน 3.เพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกรรมสำหรับโครงการตัวแทนจำหน่ายข้ามสกุลเงินที่ได้รับการแต่งตั้งสำหรับสกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และริงกิตของมาเลเซีย 4.เพิ่มจำนวนตัวแทนแลกเปลี่ยนสกุลเงินสำหรับรูเปียห์และริงกิต และ 5.จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจรู้จักการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าและการลงทุน

“การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. มีขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทเป็นไปอย่างเป็นระเบียบ เราต้องการให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดตามปัจจัยพื้นฐาน เราอาจพิจารณาเข้าแทรกแซงสกุลเงินก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่มากเกินไปและขัดกับปัจจัยพื้นฐานของมัน วิธีที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจคือการเตรียมพร้อมสำหรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น” อลิศรา กล่าวในตอนท้าย

'พาณิชย์'เต้นผางสั่งตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมันทั่วประเทศ หลังเจอร้องเรียนเติมไม่เต็มลิตร

9 ส.ค.66 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่ประชาชนเข้าไปเติมน้ำมัน แล้วร้องเรียนว่าได้น้ำมันไม่เต็มลิตรนั้น ได้เชิญผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันในประเทศทุกราย เช่น PTT Station, บางจาก, PT, เอสโซ่, เชลล์, คาลเท็กซ์ เป็นต้น มาหารือเพื่อกำชับให้ผู้ให้บริการตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมัน และอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพปกติ ห้ามใช้หัวจ่ายที่ชำรุด เพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเติมน้ำมัน

โดยได้สั่งการให้สำนักงานกลางชั่งตวงวัด และสำนักงานสาขาชั่งตวงวัด จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบปั๊มน้ำมันทั่วประเทศให้เข้มงวดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หากตรวจสอบพบสถานีบริการน้ำมันใดใช้หัวจ่ายไม่ถูกต้อง ชำรุด เสียหาย มีค่าความคาดเคลื่อนเกินกฎหมายกำหนด หรือไม่มีเครื่องหมายรับรองจากกรม จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าพบว่ามีการดัดแปลงมาตรวัด มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน280,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการเบื้องต้น ให้สถานีบริการน้ำมันทั้ง 24,717 แห่ง รวมกว่า 450,000 หัวจ่ายและแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบภายวันที่ 11 สิงหาคม 2566 นี้ โดยหลังจากนี้ต้องตรวจสอบและแจ้งกลับมายังกรมการค้าภายในทุกเดือน ซึ่งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ตรวจพบว่าถูกต้องได้มาตรฐาน 171,354 หัวจ่าย และไม่ได้มาตรฐาน 802 หัวจ่ายที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งหัวจ่ายที่สิ้นอายุการรับรอง และหัวจ่ายที่มีค่าความคาดเคลื่อนเกินกฎหมายกำหนด โดยได้ดำเนินคดีไปแล้ว 210 ราย

นอกจากนี้ สำหรับประชาชน ที่มีข้อสงสัย สามารถตรวจสอบเบื้องต้น จากสติ๊กเกอร์ ยืนยันการตรวจสอบจากกรมการค้าภายในและแสดงปีปัจจุบัน หรือ หากพบความผิดปกติหลังจากไปเติมน้ำมัน สามารถร้องเรียนผ่าน หมายเลข1569


เสนอชายแดนตะวันตกเป็น No Fly Zone เหตุทหารพม่าส่งบินรบทิ้งระเบิดพื้นที่พลเรือน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่องค์กรภาคประชาชนทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติช่วยกันหามาตรการคุ้มครองประชาชนตามแนวชายแดนด้านตะวันตกซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ไม่แยกแยะเป้าหมายซึ่งทำให้ชาวบ้านฝั่งไทยได้รับความเสียหายมาแล้วหลายครั้ง ว่าสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีผลกระทบต่อทั้งราษฎรพม่าและราษฎรไทยนั้น นอกจากพม่าไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐบาลพม่าเป็นภาคีแล้ว ยังมีการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับอีกด้วย

ดร.ศรีประภา กล่าวว่า พม่าเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 4 ฉบับ และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Geneva Conventions ทั้ง 4 ฉบับ ที่พม่าให้สัตยาบันเมื่อเดือนสิงหาคม 1992 (2535) ทั้งนี้ในอนุสัญญาเจนีวาซึ่งว่าด้วยแนวปฏิบัติในการทำสงครามเป็นเสมือน code of conduct ที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม ในขณะที่อนุสัญญาเจนีวา 3 ฉบับแรกกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคู่สงครามและผู้มีส่วนร่วมในสงคราม (โดยเฉพาะทหาร) ส่วนอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อและการให้การคุ้มครองพลเรือนและผู้ไม่มีส่วนร่วมในสงคราม ซึ่งมีข้อห้ามการโจมตีเป้าหมายพลเรือนและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนเช่นหมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น ดังนั้นปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าที่ผ่านมาที่โจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย (indiscriminate attacks) ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พลเรือน ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ล้มตาย และก่อความเสียหายต่างให้กับพลเรือน จึงถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างรุนแรง

“อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าการสู้รบในพม่าที่กำลังดำเนินอยู่ ไม่ถือว่าเป็นสงครามตามนิยามความหมายของอนุสัญญาเจนีวา แต่หากพิจารณามาตรา 3 ของอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ จะเห็นชัดเจนว่า ความขัดแย้งที่ไม่มีลักษณะเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างในกรณีของพม่าในฐานะรัฐภาคีไม่อาจหลีกเลี่ยงพันธกรณีได้โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในสงคราม/ความขัดแย้ง ในขณะที่การสู้รบในพม่าผลกระทบอย่างสูงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตสู้รบ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การสู้รบที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อราษฏรไทยที่อาศัยบริเวรณชายแดน คนเหล่านี้ ต้องใด้รับการช่วยเหลือดูแลเช่นเดียวกัน” ดร.ศรีประภา กล่าว

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่าในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ จะขอหารือกับที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ถึงข้อเสนอเร่งด่วนของภาคประชาชนที่ให้หามาตรการคุ้มครองจากผลกระทบจากส่งครามในประเทศพม่า เพื่อให้สภาฯได้รับทราบถึงปัญหาในสถานการณ์พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของไทยด้านพม่าที่มีผู้หนีภัยอพยพข้ามมาซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมโดยสิ่งที่ตนอยากเสนอคือเรื่องการเปิดประตูสู่มนุษยธรรม (Humanitarian Corridor )โดยไม่ได้เป็นการเปิดให้ผู้หนีภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร แต่เป็นการลดภาระให้ชุมชนโดยเฉพาะชุมชนที่มีคนลี้ภัยเข้ามา และได้มีแนวปฎิบัติของรัฐบาลก่อนๆ ในการให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้ แต่ไม่มีมิติการเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และรัฐไทยจำเป็นต้องมีการหารือกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยในฝั่งพม่าเพื่อให้ผู้ที่หนีภัยการสู้รบหลบเข้าไปอยู่อย่างปลอดภัย โดยพื้นที่เหล่านี้จะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ และไม่มีการนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิด

“พื้นที่ชายแดนต้องเป็น No Fly Zone หรือ No Fighting Zone แล้วทำให้ผู้ลี้ภัยอยู่บนฝั่งพม่าได้ ขณะที่ฝั่งไทยก็สามารถส่งต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านพื้นที่ปลอดภัยจากฝั่งไทยเข้าไปฝั่งพม่า โดยให้องค์กรต่างๆ เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝ่ายเดียว” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องแสวงหาความเป็นผู้นำในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งเราเคยทำมาแล้วสมัยสงครามอินโดจีนซึ่งได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศเพราะดูแลเรื่องนี้ได้ดีมาก โดยต้องมีการหารือกับ 2 ส่วนคือผู้นำทหารพม่าในความจำเป็นที่ต้องเกิด No Fly Zone โดยเร็วเพราะประชาชนในพื้นที่ชายแดนจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองเร่งด่วน และรัฐบาลไทยจำเป็นต้องแสวงหาแนวร่วมในพหุภาคีโดยใช้กรอบอาเซียน ซึ่งจะสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งอาเซียนจะเข้าไปคุยกับผู้นำทหารพม่าและเรื่องประตูสู่มนุษยธรรมเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้นำอาเซียนหยิบยกเข้าไปหารือ

ผู้สื่อข่าวถามว่ากองทัพพม่ามักให้เหตุผลว่าการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดนั้นเป็นพื้นที่ของพม่าที่โจมตีฝ่ายต่อต้าน ไม่ใช่เขตพลเรือน นายกัณวีร์กล่าวว่า การที่พม่าอ้างว่าเป็นอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเป็นเหตุผลที่ใช้อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไทยต้องยึดมั่นในเรื่อง No Fly Zone ไว้ โดยต้องหารือกับทหารพม่าให้ได้รวมทั้งใช้กรอบของอาเซียนร่วมกดดันให้ได้ ที่สำคัญคือพม่าจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการยิงแบบไม่หวังผลหรือการยิงมั่วต้องยุติให้ได้ ดังนั้น No Fly Zone จึงควรเกิดขึ้น แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับทหารพม่า แต่ทหารไทยมีความร่วมมือที่ดีกับฝั่งพม่าทั้งระดับระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค ดังนั้นไทยจึงต้องใช้ทุกกลไกที่มีอยู่เพื่อแสวงหาความร่วมมือตรงนี้ให้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารเต็มที่ ทำให้ภาคประชาชนมีความคาดหวังกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะมีวิธีการกดดันให้กลไกรัฐดำเนินการอย่างไร ส.ส.พรรคเป็นธรรมกล่าวว่า การหารือในสภาฯวันที่ 10 สิงหาคม เราจะพยายามใช้ทุกกลไกของสภาฯทั้งการยื่นญัติ การตั้งกระทู้เฉพาะเรื่อง กระทู้นอกห้อง เพื่อผลักดันเรื่องนี้ ทั้งการส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี และในการหารือในสภาฯก็มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ต้องเข้าร่วมด้วย

มหาเศรษฐีคนใหม่! แจ็กพอตลอตเตอรี่'เมกะ มิลเลียนส์'แตกแล้ว เงินรางวัลสะสม 57,000 ล้านบาท

9 สิงหาคม 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการออกรางวัลลอตเตอรี่ 'เมกะ มิลเลียนส์'ของสหรัฐฯ งวดล่าสุดวันอังคารที่ 8 สิงหาคม เงินรางวัลสะสมเกือบ 56,880 ล้านบาท เลขที่ออกคือ 13,19,20,32,33 และเลขพิเศษเมกะบอลสีทอง คือ 14 ซึ่งเงินรางวัลสะสม อยู่ที่ 1,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 56,880 ล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การออกรางวัลของเมกะ มิลเลียนส์ ล้มสถิติเก่าเมื่อปี 2018 ซึ่งเงินรางวัลสะสมอยู่ที่ประมาณ 55,332 ล้านบาท

จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้โชคดีซื้อสลากหมายเลขตรงกับเลขชุดทั้ง 6 ตัว เพียงแค่คนเดียว ซึ่งผู้โชคดีคนดังกล่าวไม่เปิดเผยตัวตน แต่อยู่ที่รัฐฟลอริดา ว่าที่มหาเศรษฐีคนใหม่จะมี 2 ทางเลือกในการรับเงิน คือ รับเงินรายปี โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดต่อเนื่องกันเป็นเวลา 29 ปี หรือจะเลือกรับเงินก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว แม้มูลค่ารวมจะน้อยกว่า ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าผู้โชคดีเลือกรับเงินก้อน ก็จะได้เงินทั้งหมดก่อนหักภาษี 783 ล้านดอลลาร์ ( ประมาณ 28,188 ล้านบาท) ซึ่งโอกาสในการถูกแจ็กพอต 'เมกะ มิลเลียนส์' ไม่ว่าจะรางวัลเล็กหรือใหญ่ อยู่ที่ 1 ต่อ 302.6 ล้านเท่านั้นเอง

ส่วนสถิติเงินรางวัลแจ็กพอตที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ลอตเตอรี่สหรัฐฯ คือ 2,040 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 73,000 ล้านบาท) เป็นรางวัลแจ็กพอตของลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล ที่มีคนถูกไปเมื่อปีที่แล้ว