พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทาน ในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ให้กับผู้ป่วยติดเตียง โดยผู้ว่าฯ กทม. เปิดผยว่า กรุงเทพมหานคร จะเร่งฉีดวัคซีนพระราชทานให้ครบ 2,500 โดส ก่อนวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ท่าน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มอบถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องอุปโภค-บริโภค อาหารแห้ง น้ำดื่มให้แก่ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงด้วย ทั้งนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเป็นการสนองตอบต่อพระราชประสงค์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย
วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) ที่โรงแรมแกรนด์ฮาเวิร์ด เขตบางคอแหลม โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ สำนักอนามัยผู้บริหารโรงพยาบาลธนบุรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้น กรุงเทพมหานครจึงจัดตั้งโรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) ในพื้นที่เขตบางคอแหลม โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลธนบุรี เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย (สีเขียว) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 380 เตียง จะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยวันที่ 5 ก.ค. 2564 โดยจะเน้นรับผู้ป่วยที่เป็นคนไทยเข้ารับการรักษาที่ Hospitel ส่วนแรงงานต่างด้าว จะนำส่งเข้ารับการรักษาที่รพ.อื่นๆ อาทิ รพ.สนามของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กทม.ยืนยันว่าพร้อมดูแลผู้ป่วยทุกคน ทั้งที่เป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว สำหรับจำนวนเตียงผู้ป่วยสีเขียวในสังกัดกรุงเทพมหานคร ก่อนหน้านี้ กทม. มีเตียงรองรับ 2,946 เตียง กำลังเพิ่มเติมอีก 245 เตียง และกำลังทยอยเปิด Hospitel เพิ่มอีก 4,424 เตียง รวมจำนวนเตียง 7,615 เตียง และจะจัดหาเตียงเพิ่มเติมให้ครบ 10,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดสีเขียว นอกจากนี้ จะเพิ่มเตียงผู้ป่วยโควิดเหลืองอีก 526 เตียง และ เตียงโควิดแดงอีก 111 เตียง โดยจะเปิดในวันที่ 2 ก.ค. ที่ มทบ.11 และวันที่ 10 ก.ค. เปิดที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์
พร้อมกันนี้ ศูนย์เอราวัณ 1669 ได้เพิ่มรถสำหรับนำส่งผู้ป่วยอีก 50 คัน เพื่อให้นำส่งผู้ป่วยตกค้างเข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะเร่งนำส่งผู้ป่วยที่ตกค้างที่บ้านที่มีอยู่อีก 1,200 คน เข้าสู่ระบบการรักษาให้หมดใน 2 วันนี้
แวนคูเวอร์ (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - คลื่นความร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ที่กำลังปกคลุมภาคตะวันตกของแคนาดาและภูมิภาคแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ของสหรัฐ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 134 ศพ ที่เมืองแวนคูเวอร์ และพื้นที่โดยรอบในรัฐบริติชโคลัมเบีย ของแคนาดา
ตำรวจแคนาดาระบุในแถลงการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างกะทันหันอย่างน้อย 134 ศพ ในเมืองแวนคูเวอร์และพื้นที่โดยรอบตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่ตำรวจเมืองแวนคูเวอร์เผยว่า ได้รับแจ้งเหตุผู้เสียชีวิตกว่า 65 ศพ ในเมืองแวนคูเวอร์ตั้งแต่วันศุกร์ ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับคลื่นความร้อน ส่วนทางการท้องถิ่นอื่นๆ ระบุว่า ได้รับแจ้งเหตุผู้เสียชีวิตกะทันหันอีกหลายราย แต่ยังไม่ได้ประกาศยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด
เอนไวรอนเมนต์แคนาดา (Environment Canada) หน่วยงานด้านสภาพอากาศของแคนาดา เผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่แคนาดาทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่สามติดต่อกันเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองลิตตันในรัฐบริติชโคลัมเบีย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองแวนคูเวอร์ ไปทางตะวันออกราว 250 กิโลเมตร โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 49.5 องศาเซลเซียส เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน จากเมื่อวันอาทิตย์ ที่ทุบสถิติครั้งแรก อุณหภูมิแตะ 46.6 องศาเซลเซียส พยากรณ์อากาศแคนาดาคาดว่า อุณหภูมิจะพุ่งสูงทุบสถิติอีกในภาคตะวันตกของแคนาดา
คลื่นความร้อนเริ่มต้นที่รัฐโอเรกอน ของสหรัฐฯ และแผ่ลามเข้าสู่ดินแดนขั้วโลกเหนือของแคนาดา ทางการสหรัฐฯ และแคนาดา ต้องเปิดศูนย์พักคลายร้อนฉุกเฉิน ในหลายเมืองทั่วภาคตะวันตกของทั้ง 2 ประเทศ ให้ประชาชนสามารถเข้าไปดับร้อนได้ทันทีในศูนย์เหล่านี้ ป้องกันการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน และแจกจ่ายน้ำดื่มและหมวกให้แก่คนที่ทำงานท่ามกลางอากาศร้อนจัด ศูนย์ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในแวนคูเวอร์ต้องปิดทำการ ชาวแคนาดาจำนวนมาก ต้องไปพักอยู่ในรถยนต์ของตัวเอง เพื่อเปิดแอร์ เนื่องจากบ้านไม่มีแอร์ และซื้อไม่ทัน เพราะร้านต่าง ๆขายแอร์และพัดลมจนหมดเกลี้ยง
คลื่นความร้อนสูงที่แผ่ขยายมาจากรัฐออริกอนในภูมิภาคแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ของสหรัฐมายังดินแดนนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ของแคนาดาเกิดจากหย่อมความกดอากาศสูงที่ปกคลุมพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาสหรัฐรายงานว่า เมืองพอร์ตแลนด์ ของรัฐออริกอนและเมืองซีแอตเทิลในรัฐวอชิงตัน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ มีอุณหภูมิพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บบันทึกสถิติอุณหภูมิตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1940 โดยที่เมืองพอร์ตแลนด์มีอุณหภูมิสูงถึง 46.1 องศาเซลเซียส และเมืองซีแอตเทิลมีอุณหภูมิ 42.2 องศาเซลเซียส เมื่อวันจันทร์ ร้อนจนสายเคเบิลละลาย ทางการท้องถิ่นต้องออกคำเตือนภัยคลื่นความร้อนอันตราย เตือนประชาชนให้อยู่แต่ภายในอาคารบ้านเรือนที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และดื่มน้ำมากๆ ขณะที่ประชาชนในเมืองพอร์ทแลนด์ แห่เข้าไปพักในศูนย์คลายร้อนฉุกเฉิน ที่เปิดทั่วเมืองเพื่อช่วยดับร้อนให้แก่ประชาชนได้ทันที ป้องกันการได้รับอันตรายหรือเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน ส่วนในเมืองยูจีน คลื่นความร้อนทำให้ต้องเปลี่ยนเวลาการแข่งกีฬาลู่และลานโอลิมปิก จากตอนบ่ายไปเป็นตอนค่ำแทน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย คลื่นความร้อนยังทำให้เกิดไฟป่าด้วย
30 มิ.ย. 2564 สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ Singapore wants to stop counting Covid cases. Its roadmap could be a model for other countries ระบุว่า สมาชิกคณะทำงานด้านการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ของสิงคโปร์ จำนวน 3 คน เสนอแผนยุติมาตรการล็อกดาวน์ หรือการปิดกิจการต่างๆ แล้วให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติให้ได้มากที่สุด โดยยอมรับว่า การทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายอินเดียหรือเดลตา
การแถลงข่าวของ 3 รัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกอบด้วย กัน คิม ยง (Gan Kim Yong) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ , ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และ อง ยี คัง (Ong Ye Kung) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวพร้อมกันว่า ข่าวร้ายคือไวรัสโควิด-19 ไม่มีทางหายไป แต่ข่าวดีคือเราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ โดยเปลี่ยนให้มันกลายเป็นภัยคุกคามที่ลดความรุนแรงลง เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก อีสุกอีใส แล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไปได้
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ภายใต้แนวทางใหม่ สิ่งที่สิงคโปร์จะทำคือการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงโดย ขณะนี้คาดว่า 2 ใน 3 ของประชากรจะได้รับวัคซีนเข็มแรกภายในต้นเดือน ก.ค. 2564 และคาดว่าจะฉีดวัคซีนได้ครบถ้ามตามเป้าหมายวันที่ 9 ส.ค. 2564 เพราะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น แม้สุดท้ายผู้คนจะยังติดเชื้อ แต่ก็จะไม่ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรง ทั้งนี้ เมื่อการฉีดวัคซีนทำได้ในวงกว้างมากพอ การติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อจะเน้นเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักหรือระดับที่ต้องนอนห้องไอซียู และอนุญาตให้ผู้ติดเชื้อพักฟื้นอยู่ที่บ้านได้
ส่วนการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ มีข้อเสนอให้จัดาวัคซีนโควิด-19 สำรองไว้เพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเนื่องหลายปี ส่วนการตรวจคัดกรองให้ทำเฉพาะบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางมาจากต่างประเทศ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมขนาดใหญ่ โดยจะมีการหาวิธีอื่นในการคัดกรองที่รวดเร็วกว่าวิธี PCR ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องตรวจแบบเป่าลมหายใจที่จะรู้ผลในเวลาเพียงไม่กี่นาที
ด้านการรักษานั้นจะมุ่งเน้นไปที่วิธีการซึ่งมีประสิทธิในการช่วยผู้ป่วยอาการรุนแรงทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว เพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วยและการเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังจะมีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้กับประชาชนในการรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ผู้ที่มีอาการไม่สบายควรหลีกเลี่ยงในการพบปะกับผู้อื่น ทั้งหมดนี้จะทำให้การรับมือโควิด-19 ในอนาคตเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน
30 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร (ONS) เปิดเผยว่าปัจจุบันความเสี่ยงการกลับมาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 “ซ้ำอีกครั้ง” ในสหราชอาณาจักรนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก
การศึกษาของสำนักงานฯ อ้างอิงข้อมูลจากผลสำรวจการติดเชื้อไวรัสฯ (Coronavirus Infection Survey) ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. 2020 ถึง 5 มิ.ย. 2021 ครอบคลุมหลายพันครัวเรือนที่ตกลงทดสอบโรคโควิด-19 เป็นประจำเพื่อตรวจดูว่าพวกเขาติดเชื้อไวรัสฯ หรือไม่
คณะนักวิจัยกำหนดให้ “วันที่ผู้เข้าร่วมเสี่ยงติดเชื้อไวรัสฯ” เป็นปัจจัยการพิจารณาหลัก เนื่องจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในปีก่อนจะมีเวลากลับมาติดเชื้อซ้ำมากกว่าผู้ป่วยในช่วงไม่นานมานี้
สำนักงานฯ คาดการณ์การติดเชื้อซ้ำประมาณ 15.2 ครั้ง ต่อวันที่ผู้เข้าร่วมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสฯ 100,000 วัน โดยนับรวมจำนวนวันจากกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 : 12.7 ถึง 18.0)
ขณะเดียวกันสำนักงานฯ เสริมว่าผู้ที่กลับมาป่วยโรคโควิด-19 ซ้ำ มีแนวโน้มมีระดับเชื้อไวรัสฯ ในร่างกายต่ำกว่า (แต่ยังคงตรวจพบได้) และมีรายงานอาการน้อยลง อาทิ ไอ มีไข้ สูญเสียกลิ่นหรือการรับรส ปวดกล้ามเนื้อ และเมื่อยล้า
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 22,868 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. ปีนี้ ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 4,755,078 ราย และตรวจพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตรวม 128,103 ราย โดยนับเฉพาะผู้เสียชีวิตภายใน 28 วัน หลังมีผลตรวจโรคเป็นบวกครั้งแรก
30 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน อิสราเอลกำลังเร่งหาผู้ซื้อวัคซีนป้องกันการติดโควิด-19 จำนวน 800,000 โดสของไฟเซอร์ อิงค์ ที่จะหมดอายุในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ กระทรวงสาธารณสุขอิราเอลจะทำลายวัคซีนที่กำลังจะหมดอายุจำนวน 800,000 โดส หากไม่สามารถหาผู้ซื้อได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
คาน องค์กรแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของอิสราเอล รายงานว่า วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ที่กำลังจะหมดอายุลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม มีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ การที่อิสราเอล พยายามหาผู้ซื้อวัคซีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่หลายประเทศกำลังเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา ที่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
คาน รายงานโดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาว่า อิสราเอลมีวัคซีน 1.4 ล้านโดสที่จะหมดอายุในปลายเดือนกรกฎาคม และหวังว่าจะใช้วัคซีน 600,000 โดสฉีดให้กับประชาชนวัยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 12-15 ปี จำนวน 300,000 คนให้ทันก่อนหมดอายุ
รายงานระบุว่า อิสราเอลเจรจากับหลายประเทศเพื่อซื้อวัคซีนหรือแลกกับวัคซีนที่ประเทศนั้น ๆ จะได้รับในภายหลัง โดยให้ส่งมาให้อิสราเอลแทน แต่รายงานไม่ได้ระบุว่า อิสรเอลเจรจากับประเทศใดบ้าง หนังสือพิมพ์รายวันฮาร์เร็ตซ์ รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มี 3 ประเทศที่ติดต่อกับอิสราเอลเพื่อซื้อวัคซีนที่กำลังจะหมดอายุ อิสรเอลเริ่มเชิญชวนให้วัยรุ่นมาฉีดวัคซีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในอาคารและผู้เชี่ยวชาญขอให้เพิ่มมาตรการควบคุม