ข่าว
โควิด-19: เหตุโควิดปิดเมืองอู่ฮั่นครบรอบหนึ่งปีแล้ว จีนไปต่ออย่างไรหลังการล็อกดาวน์ครั้งประวัติศาสตร์

วันที่ 23 มกราคม ของปีที่แล้ว นครอู่ฮั่นของจีนต้องปิดตัวตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างกะทันหัน ผู้คนถูกสั่งให้อยู่แต่ในบ้านและห้ามการเดินทางออกนอกเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากตลาดสดแห่งหนึ่งในอู่ฮั่นนั่นเอง

จีนจัดการกับโรคระบาดอย่างไร

ในตอนแรกทางการจีนตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเชื่องช้า หลังได้รับรายงานเรื่องโรคประหลาด ที่แพร่กระจายอยู่ในแวดวงผู้เกี่ยวข้องกับตลาดสดอาหารทะเลของเมืองอู่ฮั่นมาตั้งแต่ปลายปี 2019 แต่ทางการกลับปล่อยให้ผู้คนจำนวนมหาศาลเดินทางข้ามเมืองเพื่อกลับภูมิลำเนา ในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนในปลายเดือนมกราคม ปี 2020

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ท่านมา รายงานเบื้องต้นจากคณะกรรมการสอบสวนอิสระที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้แต่งตั้ง ได้วิพากษ์วิจารณ์จีนในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า “ควรใช้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างแข็งขันกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อทางการจีนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ก็ได้เริ่มลงมือควบคุมโรคอย่างเข้มงวดกวดขัน โดยคำสั่งปิดเมืองที่มีขึ้นก่อนจะถึงวันตรุษจีนเพียงสองวัน ทำให้เมืองใหญ่อันวุ่นวายและแออัดกลับเงียบสงัดร้างผู้คนในทันที ประชากรกว่า 11 ล้านคน ต้องกักตัวอยู่แต่ในเคหสถานของตนเองเป็นส่วนใหญ่

ทางการจีนได้ทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์ในยามฉุกเฉิน เช่นการสร้างโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่เสร็จภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ประชาชนก็ยังหวาดกลัว เพราะการระบาดครั้งใหญ่ทำให้โอกาสที่จะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วไปมีน้อยเต็มที

วิธีควบคุมโรคอย่างเข้มงวดเด็ดขาดแบบอู่ฮั่น ถูกนำไปใช้กับเมืองอื่น ๆ ของจีนอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ด้วย แต่ประเด็นที่ทำให้ทางการจีนถูกตำหนิมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นการพยายามปกปิดข้อมูลข่าวสาร และลงโทษแพทย์หลายคนที่พยายามออกมาเตือนเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น นายแพทย์หลี่ เหวินเลี่ยง ซึ่งต่อมาเขาเสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 ด้วย ส่วนบรรดาผู้สื่อข่าวพลเมืองที่พยายามรายงานสถานการณ์ที่แท้จริง ต่างถูกทางการขู่ให้ปิดปากเงียบ บางคนถึงกับต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี

“อู่ฮั่นโมเดล” ใช้ได้ผลหรือไม่

แม้บรรดาผู้สังเกตการณ์จะมองว่า มาตรการล็อกดาวน์แบบเมืองอู่ฮั่นนั้นค่อนข้างจะโหดร้ายและเข้มงวดเกินไปสักหน่อย แต่ข้อมูลทางการที่เผยออกมาในเวลาหนึ่งปีให้หลัง ชี้ว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลดี โดยจีนมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ถึง 1 แสนราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำมากราว 4,800 ราย

ข้อมูลสถิติว่าด้วยโรคโควิด-19 ของจีนชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่องจนแทบเป็นศูนย์มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 และไม่มีสัญญาณของการกลับมาระบาดระลอกที่สอง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติดังกล่าวไม่ได้รวมเอาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเอาไว้ด้วย ทั้งจีนยังปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตของเดือนเมษายนเพิ่มอีก 50% ในภายหลัง ทำให้มีข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลชุดนี้เช่นกัน

ชาวอู่ฮั่นใช้ชีวิตอย่างไรในตอนนี้

หลังฝันร้ายผ่านไปหนึ่งปี วิถีชีวิตของชาวอู่ฮั่นดูจะกลับคืนมาเป็นปกติเกือบทุกอย่างแล้ว โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวบีบีซีได้เดินทางไปพูดคุยสอบถามกับผู้คนในเมืองอู่ฮั่น แม้จะยังคงมีมาตรการจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่ทำให้ชาวเมืองไม่กล้าพูดคุยกับสื่อต่างชาติอยู่ก็ตาม

หลายคนบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขาอย่างมาก หาน เม่ยเม่ย ชาวอู่ฮั่นผู้หนึ่งบอกกับบีบีซีภาคภาษาจีนว่า “โรคระบาดทิ้งบางสิ่งเอาไว้เบื้องหลัง เป็นบาดแผลที่คงอยู่ลึกๆ ข้างใน และเรื่องราวในอดีตที่เราไม่อยากจะจดจำมัน”

อย่างไรก็ตาม ชาวจีนบางกลุ่มคล้อยตามการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ที่บอกว่าจีนจัดการกับโรคระบาดได้ดีกว่าบรรดาประเทศส่วนใหญ่ของโลก บางคนก็บอกว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้ประชาชนเป็นน้ำหนึ่งงใจเดียวและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้แน่นแฟ้นขึ้น

นักศึกษาในเมืองอู่ฮั่นผู้หนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่าหลี่ฉีบอกว่า “ก่อนเกิดโรคระบาดทุกคนค่อนข้างเครียดและใช้ชีวิตเร่งรีบ แต่หลังการระบาดผ่านไป พวกเขารู้สึกขอบคุณต่อการที่ยังมีชีวิตอยู่มากขึ้น มีหัวจิตหัวใจกันมากขึ้น” “ภัยคุกคามทำให้คนมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น ถ้าผู้คนยังอยู่ตรงนั้น เมืองก็จะยังคงอยู่ตรงนั้นด้วย”

สถานการณ์ในเมืองอื่นของจีนเป็นอย่างไรบ้าง

ทางการจีนยังคงเฝ้าระวังการระบาดครั้งใหม่ โดยล่าสุดพบกรณีการติดเชื้อในเมืองชิงเต่าและ คาชการ์ ทำให้มีการสั่งกักตัวและตรวจหาเชื้อในประชากรกลุ่มใหญ่ทันที แม้อัตราการติดเชื้อที่พบล่าสุดยังคงมีต่ำมาก แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความกังวลกันขึ้นอีกครั้ง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 เดือน

ขณะนี้ทางการจีนมุ่งความสนใจไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประชากรราว 19 ล้านคนยังอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่เมืองสือเจียจวง เมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย รวมทั้งบางส่วนของมณฑลจี๋หลินและเฮยหลงเจียงด้วย

ในด้านเศรษฐกิจนั้น วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ทำให้ตลาดแรงงานจีนต้องสูญเสียตำแหน่งงานไปถึงหลายล้านตำแหน่ง เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปี แต่ก็ดูเหมือนว่าเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแล้ว โดยจีนเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวของโลก ที่มีการเติบโตในปี 2020

สิ่งเดียวที่ต้องจับตามากที่สุด ก็คือการมาถึงของเทศกาลตรุษจีนอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งจะมีผู้คนนับล้านเดินทางไปกลับระหว่างเมืองใหญ่และภูมิลำเนาของตนทั่วประเทศ ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ระลอกที่สองขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางการจีนบอกว่าจะพยายามฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนอย่างน้อย 50 ล้านคน ก่อนการเดินทางอันแสนวุ่นวายในเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มขึ้น

'ไม่ขอเสียเวลาอีกต่อไป' ไบเดนลุย ลงนามคำสั่งพิเศษรื้อนโยบายทรัมป์ทันที

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลุยทำงานทันที หลังทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในอำนาจพิเศษฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี รื้อนโยบายสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วนับ 10 ฉบับ ในวันที่ 20-21 มกราคม ที่ผ่านมา หวังต่อสู้วิกฤติโควิด-19 ที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันแล้วกว่า 4 แสนศพ

นอกจากนั้น ยังพาสหรัฐฯกลับมาร่วมมือกับประชาคมโลก ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ลดภาวะโลกร้อน การรักษาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเปิดประตูรับพลเมืองจากประเทศมุสลิม เอื้ออาทรต่อผู้อพยพ และการขยายขอบเขตของกฎหมาย เพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ)

โจ ไบเดน ชี้เหตุผลที่เร่งทำงานทันทีหลังทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯว่า ไม่ต้องการจะเสียเวลาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มากมายของประเทศ โดยเฉพาะการต่อสู้กับโควิด-19 อีกทั้งแผนรัฐบาลในการบริหารประเทศ คือยึดหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเล่นการเมือง

สำหรับนโยบายสำคัญที่ประธานาธิบดีไบเดนมีการลงนามในอำนาจพิเศษประธานาธิบดี เปลี่ยนแปลงจากนโยบายยุครัฐบาลอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ อาทิ

1. ยุติสหรัฐฯ ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก และให้นายแพทย์แอนโธนี เฟาชี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ ในองค์การอนามัยโลก นอกจากนั้น ประธานาธิบดีไบเดน ยังออกมาตรการในการสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยสั่งให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทั้งหมด เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในอาคาร

2. สหรัฐฯ กลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลา 30 วัน

3. เพิกถอนใบอนุญาตสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL-สั่งหน่วยงานต่างๆ ทบทวนและเปลี่ยนนโยบายของทรัมป์ด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 100 เรื่อง

4. ยุติก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนติดเม็กซิโก โดยการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติสมัย รบ.ทรัมป์ เพื่อดึงเงินงบประมาณหลายพันล้านมาสร้าง

5. เปลี่ยนนโยบายทรัมป์สั่งห้ามไม่ให้พลเมืองที่ถือพาสปอร์ต 7 ชาติมุสลิม อาทิ อิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย ซูดาน และชาติสำคัญหลายชาติเข้าประเทศสหรัฐฯ

6. ยกเลิกการขยายข้อบังคับใช้กฎหมายต่อผู้อพยพของทรัมป์

ที่มา : CNN


แตกแล้ว รางวัลใหญ่พาวเวอร์บอล ถูกคนเดียว 21,800 ล้านบาท

“พาวเวอร์บอล” แตกแล้ว พบว่าเป็นของผู้ซื้อสลากรายเดียวในรัฐแมรีแลนด์ สุดดวงเฮงคว้าเงิน 21,800 ล้านบาท หลังจากไม่มีผู้ถูกรางวัลหลายงวดติดต่อกัน เงินรางวัลทบกันสูงสุดอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. สำนักข่าว CNN รายงานว่า การออกสลาก “พาวเวอร์บอล” งวดล่าสุดเมื่อค่ำวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ซื้อสลากใบที่ถูกรางวัลใหญ่ไป 1 ใบ ซึ่งรางวัลใหญ่งวดนี้มีมูลค่าสูงถึง 731 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 21,880 ล้านบาท หลังจากไม่มีผู้ถูกรางวัลตลอดหลายงวด โดยตัวเลขนี้สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ในประวัติศาสตร์การแจกรางวัลพาวเวอร์บอลและสูงสุดอันดับ 6 ในประวัติศาสตร์การออกรางวัลลอตเตอรี่ของสหรัฐฯ

รายงานข่าวระบุว่า สลากถูกรางวัลคือหมายเลข 40, 53, 60, 68, 69 เลขพาวเวอร์บอล 22 ซึ่งสลากใบนี้ถูกขายออกจากร้านตัวแทนจำหน่ายที่โคนีย์ มาร์เก็ต ในเมืองโลนาคอนนิง ในรัฐแมรีแลนด์ โดยมีผู้ซื้อไปเพียงรายเดียว ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่เปิดเผยชื่อ

หากผู้ถูกรางวัลตัดสินใจรับเงินแบบแบ่งจ่าย 29 ปี ก็จะได้รับเต็มจำนวน 21,880 ล้านบาท แต่หากจะรับเป็นก้อนเดียวก็จะถูกหักเหลือ

546.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 16,345 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีคนถูกรางวัลเลขหน้า 5 ตัว จำนวน 13 รางวัล รางวัลละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 29.9 ล้านบาท


ฟอร์ด ทำตามสั่ง เรียกคืนรถ 3 ล้านคัน แก้ถุงลมนิรภัยบกพร่อง

บริษัทฟอร์ด ประกาศเรียกคืนรถ 3 ล้านคัน ตามคำสั่งทางการ หลังตรวจพบถุงลมนิรภัยบกพร่อง เมื่อทำงาน เสี่ยงอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ ทำให้ฟอร์ดต้องจ่ายเงินถึงราว 1.8 หมื่นล้านบาท

เมื่อ 22 มกราคม 64 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ในสหรัฐฯ ประกาศจะเรียกคืนรถจำนวน 3 ล้านคัน ตามคำสั่งของทางการ หลังถูกตรวจพบว่าถุงลมนิรภัย 'ทาคาตะ' มีความเสี่ยงที่อาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ ซึ่งทำให้บริษัทฟอร์ดต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงราว 610 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 18,100 ล้านบาท โดยในจำนวนรถยนต์ที่ถูกเรียกคืนนี้ เป็นรถยนต์ฟอร์ดในสหรัฐฯ 2.7 ล้านคัน

การประกาศเรียกคืนรถยนต์ฟอร์ดนับ 3 ล้านคันในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากสำนักงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ ออกคำสั่งเมื่อวันอังคารที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ให้บริษัทฟอร์ดเรียกคืนรถยนต์จากความเสี่ยงถุงลมนิรภัยเมื่อทำงาน อาจเกิดการระเบิด จนทำให้เศษโลหะปลิว และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้ สำนักงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ ปฏิเสธคำร้องขอของบริษัทฟอร์ดและมาสด้า มอเตอร์ ที่พยายามจะขอเลี่ยงการเรียกคืนรถยนต์จากปัญหาถุงลมนิรภัยทาคาตะบกพร่อง ถูกตรวจพบมีความเสี่ยงอาจรระเบิด โดยทางบริษัทมาสดาได้เรียกคืนรถประมาณ 5,800 คัน เพื่อซ่อมถุงลมนิรภัยทางฝั่งคนขับ และรถยนต์ที่ถูกเรียกคืนนี้จะเป็นรถในรุ่นตั้งแต่ปี 2549 จนถึง 2555


รออย่างมีหวัง คนงานเหมืองทองคำถล่มจีน ต้องรอการช่วยเหลือต่ออีก 15 วัน

คนงานเหมืองทองคำจีน ที่ติดอยู่ใต้เหมืองถล่มยังต้องรอความช่วยเหลืออีกอย่างน้อย 15 วันกว่าที่ปฏิบัติการเจาะช่องเหมืองจะแล้วเสร็จ

คนงานเหมืองทองคำจีน 11 ชีวิต ยังคงต้องรอคอยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยต่อไปอีก 15 วัน หลังเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์เหมืองในมณฑลซานตงระเบิดมานานถึง 12 วันแล้ว โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยทำได้แค่เพียงส่งอาหารและน้ำลงไปให้แก่คนงานเพื่อประทังชีวิต จนทำให้คนงานเหมือง 1 รายเสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่ปฏิบัติการเจาะช่องเหมืองให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางราว 28 นิ้วเพื่อเป็นช่องทางในการช่วยเหลือคนงานขึ้นมา แต่ก็ยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากจุดที่คนงานทั้ง 11 คนติดอยู่ ถูกปิดกั้นและมีสิ่งกีดขวางซึ่งเป็นของแข็งอยู่ คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ที่จะทะลวงจุดที่ปิดกั้นเพื่อลงไปให้ถึงจุดที่คนงานติดอยู่ โดยจุดแรกอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 520 เมตร และอยู่ห่างจากจุดทางเข้าออกที่พังถล่มกว่า 600 เมตร

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการระเบิดของเหมืองจีนในวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา จนปิดทางเข้า-ออก ก็ไม่มีใครทราบชะตากรรมของคนงานเหมืองที่ติดอยู่ภายในรวม 22 คน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนงานจำนวน 11 คนที่ติดอยู่ในจุดเดียวกันได้ และยังพบคนงานอีก 1 ราย ติดอยู่ในจุดที่ลึกลงไปอีกราว 100 เมตร โดยมีการส่งอาหารและน้ำรวมทั้งยาลงไปให้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถนำตัวทั้งหมดขึ้นมาได้จนถึงงขณะนี้ ส่วนคนงานที่เหลืออีก 10 คน ยังสูญหาย ขณะที่ปฏิบัติการช่วยชีวิตคนงานเหมืองครั้งนี้ต้องใช้เจ้าหน้าที่ถึง 600 ชีวิตในการกู้ภัยและเตรียมหน่วยฉุกเฉิน รวมทั้งยังมีทีมแพทย์เพื่อรอปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บตลอดเวลา

ที่มา : รอยเตอร์

ไฟไหม้อาคารผลิตวัคซีนต้านโควิดในอินเดีย เสียชีวิต 5 ราย

เอเอฟพี. อ้างสื่อท้องถิ่นของอินเดียว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบศพ 5 ศพ ภายในอาคารที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างของบริษัท Serum Institute of India หรือ SII ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของอินเดียหลังจากสามารถควบคุมเพลิงได้ มูร์ลิธาร์ โมหล นายกเทศมนตรีเมืองปูเน รัฐมหาราษฏระ ที่ตั้งของสถาบันแห่งนี้ยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวเช่นกัน โดยบอกว่ามี 4 คนอพยพออกมาได้ทัน

แม้อาคารดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนต้านไวรัสที่ร่วมพัฒนาโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นที่รู้จักในอินเดียในชื่อ COVISHIELD

แต่ อดาร์ ปูนาวัลลา ประธานบริหารของ SII ระบุว่า เหตุเพลิงไหม้นี้ไม่กระทบต่อการผลิตวัคซีนที่เป็นที่ต้องการกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางสูตรนี้ เพราะทางบริษัทมีอาคารผลิตวัคซีนสำรองหลาย อาคารเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉิน

ทั้งนี้ SII ได้ทำสัญญาผลิตวัคซีนดังกล่าว 1 พันล้านโดส โดยปูนาวัลลากล่าวกับสำนักข่าว The Associated Press เมื่อเดือนธันวาคม ว่า ทางบริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนจาก 1.5 พันล้านโดส เป็น 2.5 พันล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ โดยอาคารผลิตวัคซีนใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแผนผลิตวัคซีนนี้เข่นกัน

ประเทศร่ำรวยได้สั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ไปแล้วราว 75 เปอร์เซ็นต์ จากวัคซีนที่จะผลิตในปีนี้ทั้งหมด 12,000 ล้านโดส โดยคาดว่าบริษัท SII จะเป็นผู้ผลิตวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาได้มากที่สุด