ข่าว
วิจัยชี้ 'สหรัฐ' อาจรายงานยอดดับเอี่ยว 'โควิด-19' ขาดไปเกือบ 75,000 ราย

13 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงาน งานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่บนวารสารสมาคมการแพทย์แห่งอเมริการะบุว่า สหรัฐฯ อาจรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขาดไปเกือบ 75,000 รายในช่วงมีนาคม-กรกฎาคม

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย คอมมอนเวลธ์ ในเมืองริชมอนด์เผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมของการวิเคราะห์ “การตายส่วนเกิน” (excess deaths) ซึ่งเป็นส่วนต่างของจำนวนผู้เสียชีวิตที่คาดการณ์กับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ปรากฏจริง โดยคณะนักวิจัยคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม อาจมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวพันกับโรคโควิด-19 จำนวนมากกว่าที่มีการบันทึกไว้เกือบ 75,000 ราย

วิจัยฉบับก่อนๆ เกี่ยวกับการตายส่วนเกินในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่รายงานอย่างเป็นทางการต่ำกว่ายอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งรวมถึงยอดผู้เสียชีวิตทั้งที่มีการบันทึกและไม่มีการบันทึก โดยมีสาเหตุการตายมาจากการป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือเสียชีวิตจากเหตุอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่

คณะนักวิจัยตรวจสอบเอกสารมรณบัตรจำนวนหนึ่งและพบว่าในจำนวนการตายส่วนเกินทั้งหมด 225,530 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 150,541 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 67 ที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม

ดังนั้นงานวิจัยจึงระบุว่าการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 อาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทางอ้อมของประชาชนเกือบ 75,000 ราย พร้อมระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคโควิด-19 เพิ่มสูงในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่เกิดการระบาดใหญ่ โดยมี “นัยสำคัญเชิงสถิติ” ถึง 2 ครั้ง

กล่าวคือ อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นช่วงสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 21 มี.ค. จนถึงสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 11 เม.ย. ขณะที่ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 พุ่งสูงในประเทศ ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมเพิ่มสูง 2 ครั้ง ในช่วงสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 21 มี.ค. จนถึงสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 11 เม.ย. และสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 6 มิ.ย. จนถึงสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 25 ก.ค.

'อีสาน-กลาง'หนักแน่! กรมอุตุฯประกาศเตือน 17-18 ต.ค.นี้เตรียมรับมือ

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ "พายุดีเปรสชัน (ระดับ2) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16 – 19 ต.ค. 2563)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ระบุว่า

หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (พายุระดับ 1) ด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน(ระดับ 2) และได้เคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนกลาง เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (15 ต.ค. 63) หรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 14.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 120.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน (ระดับ 3) และมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 17-18 ต.ค. 63 โดยจะทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

อนึ่ง ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณ

อ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดการเดินเรือในระยะนี้

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


โควิด-19 ทำธุรกิจซมไข้ยาว โรงแรม-ร้านอาหาร-อสังหาฯหนักสุด

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทายแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น โดยคาดว่ายอดขายที่หดตัวมากถึง 9.0% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (InterestCoverage Ratio: ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม นอกจากนั้น กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

“เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” หรือกิจการที่มีICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชีมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565”

นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์กล่าวว่าต้องจับตามองธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นพิเศษ หลังพบว่าเป็นธุรกิจที่มีกิจการ “ซมไข้ยาวนาน” ในปี 2563 มากถึง 29% และ 26% ของกิจการทั้งหมด ตามลำดับ และจะเพิ่มเป็น 48% และ 38% ภายในปี 2565 ได้หากไม่มีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และแนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพราะจะกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ โดยตรง นอกจากนั้นยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะมีจำนวนกิจการ “ซมไข้ยาวนาน” สูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจเครื่องหนัง ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจสิ่งทอ เป็นต้น

นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การจัดการกับกิจการ “ซมไข้ยาวนาน” ที่จะเพิ่มมากขึ้นคือโจทย์ท้าทายการดำเนินนโยบายต่างๆ ต้องเฉพาะเจาะจงคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ อีกทั้งควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุนควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal อย่างยั่งยืน


'ฝรั่งเศส'เอาไม่อยู่! ประกาศเคอร์ฟิว'กรุงปารีส- 8 เมืองใหญ่'สกัดโควิดระบาดหนัก

15 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการฝรั่งเศสประกาศ"เคอร์ฟิว"ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนในกรุงปารีส และอีก 8 เมืองใหญ่ตั้งแต่วันเสาร์นี้ ขณะที่ทางการเยอรมนีและไอร์แลนด์ยกระดับการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศสประกาศผ่านโทรทัศน์ว่า ฝรั่งเศสจะใช้มาตรการเคอร์ฟิวเมืองตั้งแต่เวลา 21.00-06.00 น. เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ขณะที่เมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น ลียง มาร์กเซย และตูลูสจะประกาศใช้มาตการเคอร์ฟิวเช่นกัน ส่งผลให้ประชาชนราว 20 ล้านคนจากทั้งหมด 67 ล้านคนได้รับผลกระทบ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในการจำกัดการรวมตัวและการสวมหน้ากากอนามัยหลังเยอรมนียังคงมียอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนทะลุ 5,000 คนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา

'นิวซีแลนด์'คลายมาตรการ เปิดพรมแดนต้อนรับนักเรียนต่างชาติแล้ว

รายงานข่าวจากหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ Education New Zealand (ENZ) สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำเทศไทยแจ้งว่า วันนี้รัฐบาลนิวซีแลนด์ตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการ โดยประกาศเปิดพรมแดนต้อนรับรับนักศึกษาต่างชาติสำหรับผู้ที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศในวันนี้ว่า หมวดหมู่ข้อยกเว้นพรมแดนใหม่จะอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโท 250 คนสามารถเข้าสู่นิวซีแลนด์และศึกษาต่อได้

การประกาศเปิดประเทศรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาในประเทศของนิวซีแลนด์ในวันนี้ นับเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษานานาชาติและนักเรียนต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง

นายกร้านท์ แม็คเฟอร์สัน (Mr.Grant McPherson) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ Education New Zealand (ENZ) กล่าวว่า การศึกษานานาชาติมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของประเทศนิวซีแลนด์และจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างและฟื้นฟูจาก COVID-19

“นิวซีแลนด์ยินดีต้อนรับนักศึกษาต่างชาติที่เลือกมาศึกษาต่อที่ประเทศของเรา ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนต่างชาติมีความคิดที่เป็นพลเมืองโลก ช่วยให้พวกเขามีทักษะในการทำงานและเป็นที่ยอมรับของตลาดงานทั่วโลก เปิดโอกาสให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยระดับนานาชาติที่ก้าวล้ำ ทั้งหมดนี้จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อโลกฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ทั่วโลก” นายกร้านท์ แม็คเฟอร์สัน กล่าวและเสริมว่า การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สมเหตุสมผลสู่แนวทางการฟื้นตัว โดยนักเรียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมีงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะไม่สามารถจบหลักสูตรได้ด้วยการเรียนการสอนทางออนไลน์ เพราะลักษณะของหลักสูตรเน้นเชิงปฏิบัติการ

ทั้งนี้ ENZ จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและคัดเลือกนักเรียนต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลนิวซีแลนด์เพื่อให้แน่ใจว่ามีการพัฒนากระบวนการคัดกรองที่ปลอดภัยเพื่อให้นักเรียนเหล่านี้เดินทางเข้าประเทศได้ โดยเราจะตรวจสอบให้แน่ใจว่านักเรียนเหล่านี้ที่เดินทางเข้านิวซีแลนด์จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและมีข้อมูลและการสนับสนุนที่จำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และเราจะมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับนักเรียนต่างชาติที่รอคอยการเดินทางเข้าประเทศ รวมถึงตัวแทนแนะแนวการศึกษา หน่วยงานรัฐบาลของประเทศต่างๆ และพันธมิตรด้านการศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจว่านิวซีแลนด์ยังคงเป็นประเทศที่อยู่ในใจของผู้ต้องการศึกษาต่อต่างประเทศอยู่เสมอ

“เราเชื่อว่าจะมีข้อยกเว้นการเปิดพรมแดนเพิ่มเติมออกมาในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษาและนักเรียนต่างชาติทุกคน” นายกร้านท์ แม็คเฟอร์สัน กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ นิวซีแลนด์เป็นประเทศมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติและมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ มหาวิทยาลัยทุกแห่งของนิวซีแลนด์ ล้วนติดอันดับท็อป 3% ของโลกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก QS ปี พ. ศ. 2561 นิวซีแลนด์ยังได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่เตรียมความพร้อมนักเรียนสู่อนาคตที่ดีที่สุดในโลกและได้รับการจัดอันดับเป็น 1 จากประเทศที่พูด ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จากกรจัดอันดับของ Worldwide Educating for the Future Index 2019 โดย The Economist Intelligence Unit ทำให้นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายปลายทางด้านการศึกษานานาชาติชั้นนำของโลกโดยในแต่ละปีมีนักเรียนนานาชาติกว่า 125,000 คน จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในนิวซีแลนด์มากกว่า 3,600 คน