บีบีซี รายงานวันที่ 20 ม.ค. ถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศยูเครน ว่า หลังจาก ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน แถลงร้องขอผ่านวิดีโอลิงค์ในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม ประจำปี 2566 ที่เมืองดาวอส ของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้นานาชาติสนับสนุนและช่วยเหลือรับมือกับการรุกรานของกองกำลังรัสเซียว่า
หลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทยอยประกาศตอบรับคำขอของประธานาธิบดีเซเลนสกี ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแถลงเพิ่มความช่วยเหลือแก่ยูเครนอีก 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 82,000 ล้านบาท
ครอบคลุมถึงยุทโธปกรณ์หลากหลายชนิด รวมทั้งพาหนะหุ้มเกราะ และระบบต่อต้านอากาศยาน ส่งผลให้งบประมาณสะสมที่สหรัฐฯ มอบแก่ยูเครนตั้งแต่รัสเซียรุกรานเมื่อเดือนก.พ.2565 เพิ่มเป็นมากกว่า 878,000 ล้านบาท
รายงานระบุว่าผู้แทนจากรัฐบาล 11 ประเทศพบปะที่ฐานทัพในเอสโตเนียเพื่อหารือถึงความช่วยเหลือแก่ยูเครน ในจำนวนนี้ 9 ประเทศประกาศให้คำมั่นสนับสนุนยูเครนในการปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานของรัสเซีย
โดยสหราชอาณาจักรระบุว่าจะส่งขีปนาวุธบริมสโตนจำนวน 600 ลูก ขณะที่เดนมาร์กจะส่งปืนใหญ่อัตตาจรซีซาร์ซึ่งติดตั้งบนรถบรรทุกหุ้มเกราะขนาด 6 ล้อ ผลิตโดยฝรั่งเศส จำนวน 19 คัน รัฐบาลเอสโตเนียเตรียมส่งปืนใหญ่อัตตาจร กระสุนปืน เครื่องยิงลูกระเบิดต่อต้านรถถัง และพาหนะสนับสนุนทางการทหาร ลัตเวียประกาศจะส่งระบบต่อต้านอากาศยานสติงเกอร์ เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ และโดรนอีกจำนวนหนึ่ง
ลิทัวเนียระบุว่า จะช่วยยูเครนด้วยปืนต่อต้านอากาศยานและเฮลิคอปเตอร์ โปแลนด์จะส่งปืนต่อต้านอากาศยานอัตโนมัติเอส 60 พร้อมด้วยกระสุนปืน 70,000 ลูก
ด้านสาธารณรัฐเช็กระบุว่าจะเพิ่มกำลังผลิตกระสุนสำหรับปืนลำกล้องใหญ่ กระสุนปืนใหญ่อัตตาจร และกระสุนติดตั้งบนรถลำเลียงพลหุ้มเกราะ (เอพีซี) ส่วนเนเธอร์แลนด์จะประกาศรายละเอียดความช่วยเหลือแก่ยูเครนในวัศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น
นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างเยือนเอสโตเนียว่า ในปี 2566 ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนให้ยูเครนประสบความสำเร็จในการผลักดันรัสเซียออกไปจากยูเครน และฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยของยูเครนซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของยูเครนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
ภารกิจอวกาศในอนาคตที่ต้องเจาะลึกเข้าไปในระบบสุริยะชั้นนอก เร่งความต้องการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ที่ประสิทธิภาพและแม่นยำขึ้น มีขนาดกะทัดรัด เพื่อเก็บตัวอย่างได้ดี โดยเฉพาะใช้ตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ที่อยู่บนดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาเครื่องมือใหม่ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของภารกิจอวกาศ เป็นเครื่องวิเคราะห์ขนาดเล็กใช้เลเซอร์ตรวจจับสัญญาณสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่น เครื่องมือนี้มีน้ำหนักราว 7.7 กิโลกรัม ผสมผสานระหว่างเครื่องตรวจจับสัญญาณของสิ่งมีชีวิตและระบุองค์ประกอบวัสดุที่ได้จากตัวอย่างของดาวเคราะห์ คือ ออบิแทรบ (Orbitrap) และเลเซอร์ Desorption Mass Spectrometry (LDMS) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยังไม่ได้นำไปใช้ในสภาพแวดล้อมของดาวเคราะห์นอกโลก แต่นักวิจัยคิดว่าเครื่องเลเซอร์นี้จะมีความคล่องตัวต่อการสำรวจอวกาศและวิเคราะห์วัสดุบนดาวเคราะห์อื่น เพราะข้อดีเกี่ยวกับเลเซอร์คือทุกสิ่งที่แตกตัวเป็นไอออนได้ก็จะวิเคราะห์ได้ เช่น ถ้ายิงแสงเลเซอร์ไปที่น้ำแข็ง เครื่องมือนี้มีความละเอียดและความแม่นยำสูงมากจนระบุโครงสร้างโมเลกุลหรือโครงสร้างทางเคมีในน้ำแข็งได้
นักวิจัยระบุว่า ด้วยมวลที่น้อยนิดและความต้องการพลังงานที่น้อยที่สุด เครื่องมือ Orbitrap LDMS ขนาดเล็กจึงจัดเก็บและบำรุงรักษาได้ง่ายดายบนยานอวกาศ การวิเคราะห์พื้นผิวดาวเคราะห์หรือสสารก็ยังรบกวนน้อยกว่ามาก ดังนั้น โอกาสปนเปื้อนหรือสร้างความเสียหายต่อตัวอย่าง ก็จะน้อยกว่าวิธีการปัจจุบันที่ใช้อยู่
วันที่ 20 มกราคม 2566: สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า อัลฟาเบต บริษัทแม่ของ กูเกิล ประกาศเตรียมที่จะปลดพนักงานออกราว 1.2 หมื่นตำแหน่ง หรือคิดเป็นราว 6% ของพนักงานทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่ามาจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้อัลฟาเบต เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ อีกเจ้าที่มีการประกาศปลดพนักงาน ต่อจากไมโครซอฟท์ที่ประกาศปลดพนักงานจำนวน 1 หมื่นตำแหน่งไปเมื่อไม่กี่วันก่อน
นายซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของอัลฟาเบต เผยในอีเมลที่ส่งถึงพนักงานของบริษัทว่า “ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เรามีช่วงเวลาของการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อที่จะตอบสนองและต่อยอดการเติบโตนั้น เราได้จ้างคนเข้ามาเพื่อรองรับสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างจากที่เราต้องเผชิญในทุกวันนี้”
พิชัยระบุอีกว่า บริษัทได้พิจารณาผลิตภัณฑ์ พนักงาน และลำดับความสำคัญของบริษัทแล้ว จนนำไปสู่การตัดสินใจปลดพนักงานในทุกแผนกหน้าที่ปฏิบัติงาน และทุกภูมิภาค “ความจริงที่ว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพนักงานกูเกิล ได้สร้างความลำบากใจให้กับผม ผมขอรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจที่นำพาให้เรามาถึงจุดนี้ไว้เอง” นายพิชัยกล่าว
อัลฟาเบตมีพนักงานทั้งสิ้นทั่วโลกราว 187,000 คนเมื่อนับจากเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนปี 2022 พิชัยให้รายละเอียดว่า การปลดพนักงานดังกล่าวจะมีขึ้นในทันที โดยบริษัทได้ส่งอีเมลแจ้งพนักงานของอัลฟาเบตที่ถูกปลดในสหรัฐฯ แล้ว โดยพนักงานที่ถูกปลดในสหรัฐฯ จะได้รับค่าชดเชยต่างๆ อาทิ เงินชดเชยรายสัปดาห์อย่างต่ำ 16 สัปดาห์ โบนัสของปี 2022 และหลักประกันสุขภาพนาน 6 เดือน ส่วนการปลดพนักงานในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกจะใช้เวลานานกว่า เนื่องจากกฎหมายแรงงานและขั้นตอนในประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ดี พิชัยกล่าวว่า กูเกิลกำลังมุ่งเดินหน้าเพื่อที่จะแบ่งปันประสบการณ์ใหม่ทั้งหมดให้กับผู้ใช้งาน นักพัฒนา และธุรกิจต่างๆ และบริษัทมีโอกาสมากมายรออยู่ในอนาคต จากการใช้เทคโนโลยี เอไอ ในผลิตภัณฑ์ของกูเกิล
เมื่อวันที่ 20 มกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวบ้านราว 500 คน ถูกอพยพออกจากพื้นที่ หลังเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นที่หมู่บ้านกูรยอง ซึ่งเป็นสลัมแห่งสุดท้ายในเขตกังนัม ย่านธุรกิจอันโด่งดังและย่านของกลุ่มคนมีอันจะกินในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ (20 ม.ค.) นี้ โดยไฟได้ลุกลามเผาผลาญบ้านเรือนจนวอดวายถึง 60 หลังคาเรือน
ไฟเริ่มลุกไหม้ขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 06.27 น. ในหมู่บ้านกูรยอง ซึ่งเป็นชุมชนแออัดตั้งอยู่ตอนใต้ของกรุงโซล โดยมีบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้มากกว่า 660 ครัวเรือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมงจึงดับไฟลงได้
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเปิดเผยว่า มีบ้านเรือนราว 60 หลังในพื้นที่ 2,700 ตารางเมตร ถูกเผาทำลายเสียหาย หลังมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงราว 600 นาย พร้อมตำรวจและกำลังทหาร ตลอดจนเฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ เข้าควบคุมเพลิง แต่โชคดีจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
นางคิม อึน-ฮเย โฆษกหญิงกล่าวว่า ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมในการประชุมเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร้องขอให้ดำเนินความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสียหายและให้ระดมนักดับเพลิงและอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่เกิดเหตุ
ด้านนายอี ซังมิน รัฐมนตรีมหาดไทย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ป้องกันความเสียหายและปกป้องผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
หมู่บ้านกูรยอง เป็นหนึ่งในสลัมแห่งสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ และเป็นสัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำ ในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียแห่งนี้
พื้นที่นี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยพิบัติอื่นๆ ด้วยบ้านหลายหลังสร้างด้วยกระดาษแข็ง และไม้
ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เผยแผนสำหรับการพัฒนาและย้ายถิ่นฐานใหม่หลังเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในปลายปี 2014 แต่ความพยายามดังกล่าวมีความคืบหน้าน้อยมาก ท่ามกลางการต่อสู้ที่ยืดเยื้อระหว่างเจ้าของที่ดิน ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงประเด็นการจ่ายชดเชยให้กับเจ้าของที่ดินและชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย
วันที่ 20 มกราคม 2566: สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีรายงานว่า ทีโมบายล์ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ แจ้งเมื่อวันที่ 19 มกราคม ว่า ระบบเครือข่ายของบริษัทถูกแฮกเกอร์เจาะเข้าไป และขโมยข้อมูลของลูกค้าจำนวน 37 ล้านราย เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2022 โดยได้โจรกรรมข้อมูลต่างๆ อาทิ ชื่อ ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ วัน-เดือน-ปีเกิด และเลขบัญชีผู้ใช้งานของลูกค้าไป
ในเอกสารที่ทีโมบายล์ ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯระบุว่า บริษัทตรวจพบการเจาะเข้าระบบดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มกราคม โดยผู้ก่อเหตุไม่ได้เอาข้อมูลของรหัสต่างๆ เลขบัญชีธนาคาร หรือ ข้อมูลบัตรเครดิต หมายเลขประกันสังคม หรือเอกสารยืนยันตัวตนของลูกค้าที่ออกโดยรัฐบาลไปด้วย
ภายหลังตรวจพบการเจาะเข้าสู่ระบบดังกล่าว ทางทีโมบายล์ได้ทำการแก้ไขระบบของตัวเองภายใน 24 ชั่วโมง โดยเชื่อว่าระบบอื่นๆ ที่เหลือของบริษัทไม่ได้ถูกแฮกเอาข้อมูลออกไปเพิ่มจากการเจาะเข้าสู่ระบบในครั้งนี้ และคาดว่าผู้ก่อเหตุได้เริ่มเจาะเข้าระบบของทีโมบายล์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ทีโมบายล์ระบุอีกว่า จะมีการแจ้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการขโมยข้อมูลดังกล่าว และทางบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบบของทีโมบายล์ถูกแฮกข้อมูลหลายต่อหลายครั้ง แม้ทีโมบายล์จะคาดว่าการลักลอบเข้าสู่ระบบในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเครือค่ายโทรศัพท์ แต่ นีล แมค นักวิเคราะห์อาวุโสของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าวว่า การลักลอบเข้าสู่ระบบดังกล่าวได้จุดประเด็นให้หลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับการกำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและไซเบอร์ ทั้งยังอาจทำให้ลูกค้าของทีโมบายล์หันไปใช้เครือข่ายโทรศัพท์เจ้าอื่น และมีโอกาสทำให้ทีโมบายล์ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ และหน่วยงานอื่นๆ
กองทัพรัสเซียอ้างว่า ยึดเมืองเหมืองเกลือ โซเลดาร์ ของยูเครนได้แล้ว หลังจากต่อสู้อย่างดุเดือดนานหลายวัน ขณะที่ฝ่ายเคียฟปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
ที่มา : BBC: เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ม.ค. 2566 รัสเซียออกมาเปิดเผยว่า กองทัพของพวกเขา สามารถยึดเมืองโซเลดาร์ เมืองเหมืองเกลือในแคว้นโดเนตสก์ ทางตะวันออกของยูเครนได้แล้ว หลังจากต่อสู้อย่างดุเดือดในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นก้าวสำคัญต่อการยึดพื้นที่ทั้งหมดของภูมิภาคดอนบาสที่รัสเซียผนวกรวมเป็นของตัวเอง
เจ้าหน้าที่รัสเซียบอกอีกว่า ชัยชนะครั้งนี้จะทำให้กองทัพรัสเซียสามารถโจมตีผลักดันเข้าสู่เมืองบัคห์มุต ที่อยู่ใกล้เคียงกัน และสามารถตัดกำลังของกองทัพยูเครนที่นั่นได้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายยูเครนยืนยันว่า การต่อสู้ที่เมืองโซเลดาร์ยังดำเนินอยู่ และกล่าวหารัสเซียว่ากำลังปล่อยข้อมูลรบกวน
ทั้งนี้ การต่อสู้ที่เมืองโซเลดาร์ถูกยกเป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่นองเลือดที่สุดนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นเมื่อ 24 ก.พ.ปีก่อน ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เมืองที่เคยมีประชากรราว 10,000 คนแห่งนี้ แทบไม่เหลือกำแพงที่ยังตั้งอยู่แล้ว
ด้านนาย อันเดรย์ เยอร์มัค หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของเซเลนสกีเทียบการต่อสู้ที่เมืองโซเลดาร์กับบัคห์มุตว่า กับสมรภูมิที่แวร์เดิง ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในการต่อสู่ที่ข่มขื่นที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300,000 คน ขณะที่นายพาฟโล คีรีเลนโก ผู้ว่าการแคว้นโดเนตสก์ของยูเครนเผยว่า ยังมีพลเรือน 559 คนที่ไม่ยอมอพยพออกจากโซเลดาร์
แต่หากยืนยันแล้วว่ารัสเซียยึดเมืองแห่งนี้ได้จริง เรื่องนี้อาจถูกมองว่าเป็นความคืบหน้า หรือกระทั้งชัยชนะ ที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน กำลังต้องการอย่างมาก หลังจากไม่สามารถยึดเมืองในยูเครนได้อีกเลยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ซ้ำยังถูกโต้กลับและเสียเมืองที่ยึดมาได้ไปหลายเมือง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงถกเถียงกันเรื่องความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของเมืองโซเลดาร์ เนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก สถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (ISW) ของสหรัฐฯ คาดว่าการยึดเมืองโซเลดาร์ไม่สามารถทำให้กองทัพรัสเซียปิดล้อมเมืองบัคห์มุตได้
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012