ข่าว
'ทรัมป์'เลือกเอง! เปิดตัวยิ่งใหญ่สว.หนุ่มไฟแรง'เจ ดี แวนซ์' ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

17 กรกฎาคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันจันทร์เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือก 'เจ ดี แวนซ์' วุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอ ร่วมลงชิงชัยตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งใหญ่ปีนี้ ซึ่ง'โดนัลด์ ทรัมป์' ตัดสินใจเลือก เจ ดี แวนซ์ แม้ว่าครั้งหนึ่ง สว.ผู้นี้จะเคยเป็นผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตนอย่างหนักก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรที่จงรักภักดี ท่ามกลางความกังวลของชาวอเมริกันต่อกรณีความสูงอายุของผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯ

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนเองว่า หลังการหารือและคิดทบทวนกันมายาวนาน ทั้งยังพิจารณาผู้มีความสามารถมากมายคนอื่น ๆ แล้ว ผมตัดสินใจว่า ผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคือ สว. 'เจ ดี แวนซ์' จากรัฐโอไฮโออันยิ่งใหญ่

โดยประวัติ เจ ดี แวนซ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รัฐโอไฮโอ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศให้เป็นผู้สมัครคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เกิดที่เมืองมิดเดิลทาวน์ รัฐโอไฮโอเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2527 เคยเป็นนาวิกโยธินในปี 2546-2550 ต่อมาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล จากนั้นทำงานด้านธุรกิจเงินร่วมลงทุน ก่อนหันมาเข้าสู่วงการการเมือง

ภรรยาของเขา 'อัชชา' รู้จักกันที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล เป็นบุตรสาวของผู้อพยพชาวอินเดียที่เป็นอาจารย์ทั้งคู่ เธอทำงานด้านคดีความที่บริษัทกฎหมาย ซึ่งประกาศในวันเดียวกับที่มีการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันวันแรกว่า เธอได้ลาออกจากบริษัทแล้ว ทั้งคู่มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน

'เจ ดี แวนซ์' เปิดตัวหนังสือขายดีในปี 2559 ชื่อ บันทึกหลังเขา (Hillbilly Elegy) เล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็กที่เติบโตในย่านยากจน ทางฝั่งตะวันออกของเมืองชิคาโก และเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มคนทำงานในสำนักงาน หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ในปี 2563 การที่เขาเข้าใจกลุ่มคนทำงานในสำนักงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรกปี 2559 ทำให้ได้รับเชิญไปให้ความเห็นในรายการโทรทัศน์บ่อยครั้งในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

'เจ ดี แวนซ์' เคยกดถูกใจข้อความแสดงความเห็นในปี 2559 และ 2560 ที่วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์และนโยบายของทรัมป์อย่างรุนแรง แต่ได้ลบข้อความต่อต้านทรัมป์ก่อนประกาศตัวในเดือนกรกฎาคม 2564 ว่าจะลงเลือกตั้งเป็น สว.รัฐโอไฮโอ และได้ขอโทษที่เคยเรียกทรัมป์ว่า เป็นคนน่าตำหนิ แวนซ์ได้รับเลือกตั้งในปี 2565 หลังจากได้รับการสนับสนุนจากทรัมป์และเงินทุนจากปีเตอร์ เธียล เศรษฐีด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนทรัมป์ นับจากนั้นมาก็กลายเป็นพันธมิตร

มติท่วมท้น!!! สภาฯฉลุยร่างงบฯกู้เพิ่มปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน อุ้ม'ดิจิทัลวอลเล็ต'

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ใช้เวลาอภิปรายกว่า 10 ชั่วโมง และหมดผู้อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติว่าจะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่ โดยมติเสียงข้างมาก 297 ลงมติรับหลักการ ขณะที่ 164 เสียง ไม่รับหลักการ

จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ขึ้นมาศึกษา จำนวน 32 คน โดยมีสัดส่วน ประกอบไปด้วย สัดส่วน คณะรัฐมนตรี จำนวน 8 คน, ส.ส.จำนวน 24 คน ตามสัดส่วนพรรคการเมือง ดังนี้ พรรคเพื่อไทย 7 คน, พรรคก้าวไกล 7 คน, พรรคภูมิใจไทย 3 คน, พรรคพลังพลังประชารัฐ 2 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 2 วัน

สำหรับระยะเวลาพิจารณาพิจารณาของ กมธ.วิสามัญฯ จำนวน 5 วัน และนำมาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระ 2 - 3 ในวันที่ 31 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงมติเห็นชอบดังกล่าวนั้น พบว่า ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ที่มี 314 เสียงนั้น ลงมติไม่ครบ ขาดการออกเสียงถึง 17 คน


‘One Map’พิสูจน์สิทธิ ‘กมธ.ที่ดินฯ’หนุนถอนแนวเขตทับลานฯ 2.65 แสนไร่

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แถลงผลการประชุมกรณีปัญหาการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.65 แสนไร่ ตามมติ ครม.14 มี.ค.2566 ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุป 2 ข้อ คือ 1.ที่ประชุมเห็นด้วยกับการใช้มติ ครม.14 มี.ค.66 ที่เห็นชอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ใช้เส้นปรับปรุงตามการสำรวจแนวเขตปี 2543 หรือ วันแม็พ ในการจัดการพื้นที่แนวเขตอุทยานฯ ทับลาน ซึ่งคิดว่าเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานราชการเห็นพ้องต้องกัน 2.ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าควรจะใช้แนวทางในการรักษาสิทธิ์ของพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ ส.ป.ก. กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้สมควรได้รับการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิ์

นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กมธ.จะเชิญ ส.ป.ก.มาชี้แจงอีกครั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาแนวทางในการแจกจ่ายที่ดินให้กับประชาชนที่สมควรได้รับสิทธิ์ ซึ่งในที่สุดแล้วเรามองว่าอาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ข้อสังเกตต่อมาคือเรื่องของการดำเนินการในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นซึ่งมีประชาชนร่วมกันลงชื่อเกือบ 1 ล้านคน กมธ.จะมีการดำเนินการขอข้อมูลโดยเฉพาะระเบียบเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน จากกรมอุทยานฯ มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะต้องขอมติของ กมธ.ที่ดินฯ เพื่อส่งเรื่องไปยัง กมธ.คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อพิจารณาต่อไป โดยกรณีนี้เราพบว่าอาจจะประเด็นปัญหาเรื่องของคำถาม ที่อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ที่ลงคะแนนเสียงได้

นายพูนศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมเห็นว่าต้องมีการเร่งรัดไปยังคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในการพิจารณารับรองแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าเราจะใช้แนวเขตของคณะกรรมการวันแม็พในการพิจารณา เราต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดกระบวนการรับรองนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ กมธ.ได้ขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น การประชุมอนุกรรมการวันแม็พ รวมถึงบันทึกการประชุม คทช.ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแต่ละประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงกัน

"ในส่วนเรื่องของคดี ประมาณ 552 คดี ที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เราก็ต้องขอข้อมูลการตรวจสอบของกรมอุทยานฯ ว่ามีคดีอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันในที่ประชุม ทาง สคทช.ได้แจ้งว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าจะไม่มีผลต่อรูปคดีในการเปลี่ยนแปลงเขตที่ดินจากของเขตอุทยานฯ เป็นเขต ส.ป.ก.ซึ่งเราจะขอเอกสารหลักฐานมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกัน" นายพูนศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ กมธ.ที่ดินฯ กล่าวว่า กล่าวว่า ตนมีความกังวลและข้อห่วงใยต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือกระบวนการในการเพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน กระบวนการในการดำเนินการกฎหมายกำหนดว่าต้องจัดรับฟังความคิดเห็นก่อน ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องราวในสังคมขึ้นมา เพราะว่าในการดำเนินการกรมอุทยานฯ ทำให้สังคมเข้าใจว่าพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ที่จะมีการเพิกถอนนั้นมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ สังคมเข้าใจแบบนี้มาโดยตลอด คนจึงคัดค้านในการเพิกถอนพื้นที่ป่าแห่งนี้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ 2.65 แสนไร่นี้ ไม่มีสภาพเป็นป่าแล้ว แต่มีชุมชน วัดวาอาราม ตลาด โรงเรียน สถานพยาบาล ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมดแล้ว

นายเล่าฟั้ง กล่าวว่า ดังนั้น เรื่องนี้จึงขอเรียกร้องไปยังฝ่ายการเมือง ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะต้องออกมาแสดงความกระจ่างต่อสังคม ว่าพื้นที่ดังกล่าวความจริงคืออะไร เอาให้ชัดเจนว่าการเพิกถอนพื้นที่ไม่ใช่การเอาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไปออกเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของคนที่เขาอยู่มาก่อนแล้ว ส่วนสิทธิ์จะเป็นแบบไหนก็ว่ากันไปตามกฎหมาย และเรียกร้องไปยัง ส.ป.ก.ว่าทางอุทยานฯ กังวลว่า ส.ป.ก.อาจจะไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการพื้นที่เพราะที่ผ่านมามันมีปัญหา มีข้อครหาหลายประการ ซึ่งเรื่องนี้สังคมก็กังขาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ป.ก.เช่นเดียวกัน ดังนั้น เรื่องนี้ ส.ป.ก.จำเป็นต้องแสดงให้กรมอุทยานฯ และสังคมเชื่อได้ว่าถ้าเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้ ส.ป.ก.แล้วจะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้พื้นที่ตกไปอยู่ในมือของคนที่มีคุณสมบัติจริงๆ ไม่ได้ตกไปอยู่ในมือของนายทุน

เมื่อถามว่า กมธ.ที่ดินฯ เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่ทั้ง 2.65 แสนไร่ ใช่หรือไม่ นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า คณะทำงานฯ รวมถึงผู้ที่มาชี้แจงทั้งหมดที่เป็นส่วนราชการทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ควรใช้แนวเขตที่ดินวันแม็พเป็นแนวเขตที่ใช้สำหรับการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งในวันแม็พถ้าไปดูจะเห็นว่ามีการแบ่งพื้นที่ต่างๆ ไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.หรือในส่วนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งตามมติ ครม.แนวเขตนี้ที่ประชาชนอยู่มาก่อน เขาก็ควรจะได้รับสิทธิ์ตรงนั้น อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ กมธ.ถกเถียงกันอยู่ว่าสิ่งที่ทางกรมอุทยานฯ ได้นำเสนอในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นมีความครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนที่ลงคะแนนเสียงได้รับข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ เพราะอาจจะมีส่วนของการบิดเบือนขึ้นมาได้ ถ้าข้อมูลที่ให้กับประชาชนไม่ครบถ้วน เพราะจากแผนที่ที่นำมาแสดงในที่ประชุมหลายส่วนกลายเป็นชุมชนเมืองไปแล้ว มีทั้งโรงพยาบาล วัด ศูนย์ราชการต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายกังวลในการนำพื้นที่ไปเปลี่ยนเป็นโฉนด และกรมอุทยานฯ ระบุว่ามีกฎหมายในการดูแลราษฎรในเรื่องที่ทำกินอยู่แล้ว เรื่องนี้รับฟังได้หรือไม่ นายเล่าฟั้ง กล่าวว่า เรื่องนี้รับฟังได้ แต่เรื่องนี้เป็นแนวนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ก่อนหน้านี้รัฐบาลมี 2 แนวทาง คือ 1.ผนวกทั้งหมดมาเป็นอุทยานฯ แล้วใช้กฎหมายมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 62 มาเป็นเครื่องมือ และ 2.เพิกถอนและใช้ ส.ป.ก.เป็นเครื่องมือ แต่มติ ครม.เลือกใช้แนวทางที่ 2 ซึ่งการเพิกถอนมันจะส่งผลให้บางคนที่เขาอยู่ในพื้นที่มาก่อน และมีสิทธิ์สามารถพิสูจน์สิทธิ์และออกโฉนดได้ด้วย เมื่อรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ จึงเป็นแนวทางในการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาล

ตำรวจสหรัฐฯยิงชายถือมีดเสียชีวิต บริเวณใกล้กับสถานที่ประชุมพรรครีพับลิกัน

17 ก.ค. 2567 สถานีโทรทัศน์ Fox40 สื่อในเครือ Fox News สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Police shoot, kill knife-wielding man near Republican National Convention ระบุว่า เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงชายคนหนึ่งที่ถืออาวุธมีดจนเสียชีวิต บริเวณใกล้กับสถานที่จัดการประชุมระดับชาติของพรรครีพับลิกัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ในเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซินของสหรัฐฯ

เจฟฟรี นอร์แมน (Jeffrey Norman) ผู้บังคับการหน่วยตำรวจเมืองมิลวอกี เปิดเผยว่า ผู้ลงมือเป็นเจ้าหน้าที่จำรวจ 5 นาย จากเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ที่เดินทางมาร่วมงานดังกล่าวด้วย ส่วนชายที่ถูกยิงเสียชีวิต ขณะเกิดเหตุได้ถืออาวุธมีดในมือ 2 เล่ม ซึ่งเมื่อตำรวจพบเห็นก็ได้สั่งให้วางมีดลง แต่ชายคนดังกล่าวกลับพยายามพุ่งเข้าใส่ชายอีกคนที่ไม่มีอาวุธ ทำให้ตำรวจต้องยิง ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจาก ศูนย์ประชุม Fiserv Forum สถานที่จัดงานของพรรครีพับลิกัน ไม่ถึง 1 ไมล์ หรือประมาณ 1.6 กิโลเมตร

ไบรอัน สตีล (Brian Steel) ประธานองค์กรภารดรภาพตำรวจ (Fraternal Order of Police) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากเมืองโคลัมบัสหลายนายอยู่ในเมืองมิลวอกีเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยการจัดงาน โดยเหตุที่เกิดขึ้นไม่มีเจ้าหน้าที่นายใดได้รับอันตราย ขณะที่ภาพจากกล้องวีดีโอของตำรวจ เผยให้เห็น เจ้าหน้าที่อย่างน้อย 13 นายกำลังหารือเกี่ยวกับการประท้วงรอบการประชุม จากนั้นเจ้าหน้าที่นายหนึ่งก็บอกว่าพบคนถือมีด จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็วิ่งไปหาชายสองคน คนหนึ่งดูเหมือนจะถือมีดไล่ตามอีกคนหนึ่ง ขณะที่ผู้ต้องสงสัยเข้าใกล้ชายอีกคนหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอย่างน้อยหลายสิบนัด ผู้ต้องสงสัยจึงล้มลงกับพื้น

อย่างไรก็ตาม การกระทำของตำรวจกลับทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้น อาทิ ผู้หญิงคนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นญาติของผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิต บอกว่าครอบครัวผู้ตายเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำแบบนั้น เช่นเดียวกับ เคนเน็ธ จอห์นสัน (Kenneth Johnson) อาสาสมัครของกลุ่ม Friends Without Shelter ที่กล่าวว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนท้องถิ่นในเรื่องของจำนวนคนไร้บ้านซึ่งนอนในเต็นท์ในลานใกล้เคียง และตั้งคำถามว่าตำรวจของมลรัฐอื่นมาทำอะไรที่สถานที่นั้น เพราะพวกเขาไม่ควรมีอำนาจที่นี่

เจฟฟ์ เฟลมมิง (Jeff Fleming) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของ คาวาเลียร์ จอห์นสัน (Cavalier Johnson) นายกเทศมนตรีเมืองมิลวอกี กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าเหตุใดทำให้เกิดเหตุกราดยิง อย่างไรก็ตาม ทั้งเขาและอเล็กซี วอร์ลีย์ (Alexi Worley) โฆษกในศูนย์บัญชาการร่วมของการประชุมกล่าวว่าไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเหตุกราดยิงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการประชุมดังกล่าว ขณะที่ แอนดรูว์ กินเธอร์ (Andrew Ginther) โฆษกของนายกเทศมนตรีเมืองงโคลัมบัส ระบุว่า การสืบสวนคดีนี้จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของเมืองมิลวอกี