ข่าว
นิ่มๆแต่เจ็บ! 'ดี้ นิติพงษ์'จัดหนัก'ดราม่า 5 พัน' 'คนอวดเลวชีวิตมันมีประโยชน์อะไร'

8 เมษายน 2563 ถือเป็นวันแรกที่ผู้ลงทะเบียนเงินเยียวยา ใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับเงิน 5,000 บาท จากผลกระทบไวรัสโควิด 2019 (COVID-19) ซึ่งหลายคนก็ออกมาแสดงตัวว่าได้รับเงินเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ไม่พ้นประเด็นร้อนแรงที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ กรณีผู้ที่ได้รับเงิน 5,000 บาทแล้วนำมาโพสต์อวดบนโลกโซเชียล อาทิ สาวโพสต์เศษเงินบนหลังตู้เย็น , เงินเข้าบัญชีแบบงงๆ ไม่คิดว่าจะได้ รวมถึงหนุ่มรายล่าสุดที่โพสต์ว่า ขอบคุณลุงตู่สำหรับค่าโบท็อกซ์ "

เสี่ยง 34 คน!! รฟท.สั่งปิดศูนย์ซ่อมส่วนล่างรถดีเซลฯ 14 วัน หลังพบพนง.ติดเชื้อโควิด

8 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีคำสั่งของศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่องสั่งปิดโรงซ่อมส่วนล่างรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ ลงนามโดย นายกิตติวัฒน์ ศิริพุทธิมานนท์ วิศวกรอำนวยการ ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ รฟท. ระบุว่า

ตามที่โรงซ่อมส่วนล่างรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ ในสังกัดศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ พบผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 1 คน และมีผู้ปฏิสัมพันธ์กับพนักงานใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีความเสี่ยงสูงถึง 34 คน

ฉะนั้น เพื่อมิให้เกิดผลเสียหายต่อองค์กร และผู้ปฏิบัติงาน ศูนย์ฯ จึงสั่งปิดหน่วยงานซ่อม ส่วนล่างรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ (ลป.) และหน่วยงานซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้ารถดีเซลรางและรถปรับอากาศ (ฟป.) ในสังกัดกองซ่อมส่วนล่างรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ (วลป.)ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ

อนึ่ง สำหรับหน่วยงานซ่อมอุปกรณ์รถดีเซลรางและรถปรับอากาศ (อป.)ซึ่งอยู่ในหลังคาโรงงานเดียวกันนั้นให้ส่งตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงพร้อมกรอกแบบคัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยโรคติดเชื้อดังกล่าวและเข้ารับการตรวจ COVID-19 ตามคำสั่งต่อไปด้วย การปิดแผนก ลป. และ ฟป. ให้เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563 ถึงวันพุธที่ 22 เมษายน 2563 รวม 14 วัน


เสี่ยอุดรใจดี!! ยกโรงแรมริมหนองประจักษ์เป็นที่พัก 'แพทย์-พยาบาล'

8 เมษายน 2563 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี นายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.อุดรธานี นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รอง สสจ.อุดรธานี นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศบาลนครอุดรธานี อุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี พร้อมคณะร่วมเดินทางไปโรงแกรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล เยื้องประตูทางเข้าหนองประจักษ์ฯ ถ.ศุภกิจจรรยา เทศบาลนครอุดรธานี เพื่อตรวจพื้นที่จะใช้เป็น “โรงพยาบาลสนาม” แห่งที่ 4

พบกับนายวีระศักดิ์ ศุภชัยสาคร ประธานกรรมการ ประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล และภรรยา ที่แสดงความจำนงต้องการร่วมด้วยช่วยกันให้ชาวอุดรธานีผ่านวิกฤติไวรัสโควิด 19 ผ่านนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี ขอเสนอตัวใช้โรงแรมขนาด 79 ห้อง ในลักษณะห้องต่างๆ แบบเตียงคู่ และเตียงเดี่ยวถือเป็นโรงแรมระดับพรีเมี่ยมแห่งหนึ่งในจ.อุดรธานี ให้เป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม โดยได้นำผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมคณะ ดูสภาพของโรงแรมมั่นคงแข็งแรง และห้องพักขนาดต่างๆ

นายวีระศักดิ์ ศุภชัยสาคร ประธานกรรมการ ประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล กล่าวว่า โรงแรมประจักษ์ตราขอเป็นส่วนหนึ่ง ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ในการดูแลคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้เป็นแนวหน้า ดูแลรักษาประชาชนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 เข้ามาพักผ่อนหลับนอน โดยโรงแรมนี้เป็นโรงแรมของชาวอุดรธานี คิดว่าคงต้องถึงเวลาร่วมด้วยช่วยกันกับอุดรธานีแล้ว จึงมอบให้กับทางราชการใช้งาน ขณะที่ผ่านมามารดาเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ก็ซื้อเครื่องมือแพทย์บริจาคให้ รพ.ปีละ 1 เครื่อง

ด้าน นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รอง สสจ.อุดรธานี อธิบายว่า โรงพยาบาลสนามแบ่งเป็นหลายส่วน บริเวณที่จอดรถ รพ.ศูนย์อุดรธานี ใช้เป็นส่วนคัดกรองผู้ป่วยนอก โรงแรมวีธราฯ ใช้เป็นสถานที่พักแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ , หอพัก มรภ.อุดรธานี ใช้เป็นสถานที่พักฟื้นรอดูอาการ ของผู้ป่วยที่รับการรักษาจนไม่พบเชื้อแล้ว และแห่งนี้โรงแรมประจักษ์ตราฯ ใช้เป็นสถานที่พักแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และถูกกักตัวรอดูอาการผู้เดินทางเข้าพื้นที่

“ถ้าสถานการณ์มีผู้ป่วยมาก จะต้องจัดแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลชุมชนจากทุกอำเภอ เข้ามาช่วยที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เพื่อสับเปลี่ยนทีมที่ทำงานอยู่ปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีที่พักที่มีความพร้อม จำได้พักผ่อนได้เต็มที่ โดย 1 ทีมจะมีทั้งสิ้น 8 ท่าน เพื่อดูแลผู้ป่วย 30 คน ซึ่งโรงแรมประจักษ์ตรา อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี”

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี ได้ยกมือไหว้และกล่าวขอบคุณนายวีระศักดิ์ ศุภชัยสาคร และภรรยา ว่า อุดรธานีมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโควิด-19 หากมีสถานการณ์การระบาดรุนแรงมีความจำเป็นต้องใช้อะไรบ้าง ทางราชการได้รับการตอบสอนง จากภาคเอกชนด้วยดีตลอดมา การยกโรงแรมให้เป็นที่พักครั้งนี้ นับเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ โดยมอบหมายให้ สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี มาเป็นผู้ประสานเพื่อใช้งานต่อไป


‘เบลารุส’ยืนเด่นท้า‘โควิด’ ไม่ปิดเมือง-ใช้ชีวิตตามปกติ

“เป็นไปได้ไหมที่จะเลี้ยงวัวจากระยะไกลหรือแม้แต่หยุดเพียงวันเดียว? มันเป็นไปไม่ได้! และในเวลาเดียวกันบางคนคิดจะอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำงาน แต่จะรับเงินเดือนเนี่ยนะ? มันไม่ยุติธรรมใช่ไหมล่ะ? เราอาจจะแยกสังคม ดังนั้นหลายๆ สิ่งจะไม่สามารถทำได้ (Is it possible to remotely milk cows or take a day off from it? It is impossible. And at the same time. someone will be staying at home without doing any work, but with retention of their salaries?! It is unfair, isnot it? As a result, we might split the society. Such things cannot be done.)”

คำกล่าวของ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Lukashenko) ประธานาธิบดีเบลารุส ต่อสถานการณ์ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19 (COVID-19)” ซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศจีนก่อนกระจายไปทั่วโลกจนปัจจุบันประเทศแถบตะวันตกไม่ว่ายุโรปหรือสหรัฐอเมริกากลายเป็นพื้นที่ระบาดรุนแรงที่สุด ถึงกระนั้น “ผู้นำวัย 65 ปีผู้นี้ของเบลารุส ก็ยัง

ไม่คิดจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown)” ไม่ว่าปิดประเทศ ปิดเมืองหรือปิดบ้าน อย่างที่ชาติอื่นๆ รวมถึงเพื่อนบ้านทางตะวันออกที่เป็นประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียทำ

ถ้อยแถลงข้างต้นรายงานในข่าว “Impossible to remotely milk cows”. Lukashenka still against quarantine measures โดยสำนักข่าว Belsat ของเบลารุสแต่มีที่ตั้งในโปแลนด์ เสนอข่าวนี้เมื่อ 3 เม.ย. 2563 พร้อมกับภาพ ปธน.ลูกาเชนโก ไปเยี่ยมเขตสมัลยาวิชี (Smalyavichy district) ซึ่งก็ต้องบอกว่า “ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำเบลารุสย้ำจุดยืนนี้”ที่เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจ ปากท้องและการทำมาหากินของประชาชนมากกว่าภัยคุกคามสุขภาพจากภายนอก

ประเทศเบลารุสมีชื่อเต็มว่า สาธารณรัฐเบลารุส(Republic of Belarus) มีพื้นที่ 207,600 ตารางกิโลเมตร หรือเพียงราวร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงคือกรุงมินสก์ (Minsk) มีประชากรประมาณ 9.5 ล้านคน หรือเพียงราวร้อยละ 15 ของประชากรไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 68 ล้านคน มีอุตสาหกรรมหลักคือเครื่องจักรและอุปกรณ์ตัดโลหะ อุปกรณ์ทางเกษตรกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย สิ่งทอ

ขณะที่ประวัติของ ปธน.ลูกาเชนโก ที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ระบุว่า เกิดเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2497 ในยุคที่เบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) อาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดของฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่กำลังขับเคี่ยวชิงความเป็นผู้นำโลกกับสหรัฐอเมริกาอันเป็นผู้นำฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยในช่วงสงครามเย็น (ปี 2490-2534) ชีวิตในวัยเด็กไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนักเนื่องจากเป็นลูกกำพร้าพ่อทำให้มักถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนดูหมิ่นล้อเลียนอยู่เสมอ

ลูกาเชนโก เคยทั้งเข้าร่วมกับหน่วยทหาร เป็นอาจารย์บรรยายวิชาการเมือง ตำแหน่งสุดท้ายในยุคสหภาพโซเวียตคือใน ปี 2531 คือผู้อำนวยการฟาร์มเกษตรของรัฐในเขตชคลอฟ (Shklov District) ห่างจากกรุงมินสก์ไปทางตะวันออกประมาณ 200 กิโลเมตรเศษๆ จากนั้นในปี 2534 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายและเบลารุสกลายเป็นประเทศเอกราชมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ลูกาเชนโก ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ และครองอำนาจยาวนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ปี 2537 มาจนถึงปัจจุบัน

สำนักข่าว AP เสนอรายงานพิเศษ What virus? Belarus rejects strict measures against pandemic เมื่อ2 เม.ย. 2563 ว่าด้วยความพยายามของ ปธน.ลูกาเชนโก ในการรักษาบรรยากาศของประเทศให้ดูเป็นปกติที่สุดท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยปล่อยให้กิจกรรมที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก อาทิ การแข่งขันกีฬา ร้านอาหาร โรงงาน ดำเนินไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทัตยานา ไบโควิช (Tatyana Bykovich) นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า ผู้นำเบลารุสปฏิบัติกับไวรัสโควิด-19 เหมือนผู้ใต้บังคับบัญชา

ขณะที่ วิคเตอร์ มาร์ติโนวิช (Viktor Martinovich) นักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า “การควบคุมสื่อและสถิติอาจทำให้เบลารุสกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่ารับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก” โดยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีรายงานผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการค่อนข้างต่ำและรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพียง 4 คน ชาวเบลารุสบางคนเชื่อว่าการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวของรัฐบาลก็เพื่อทำให้เศรษฐกิจแบบโซเวียตยังดำเนินต่อไป

แม้จะมีความกังวลในหมู่ประชาชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ แต่สำหรับผู้นำประเทศอย่าง ลูกาเชนโก ปัญหาเศรษฐกิจดูจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า รายงานของ AP อ้างคำกล่าวหนหนึ่งของ ปธน.เบลารุส ที่ว่า “ประชาชนจะเสียชีวิตจากความอดอยากและการว่างงานมากกว่าโรคระบาด” ทั้งนี้ เดิมทีเบลารุสได้รับผลกระทบจากการหยุดสนับสนุนด้านพลังงานจากรัสเซีย ท่ามกลางความล่าช้าในการเจรจาความร่วมมือกันของทั้ง 2 ประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น หากมีความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดเพิ่มมาอีกอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าแนวทางของ ลูกาเชนโก จะตั้งอยู่บนท่าทีไม่รู้ร้อนรู้หนาวเสียทีเดียว รายงานข้างต้นของ AP ระบุว่า“แม้กระทรวงสาธารณสุขของเบลารุสไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการตรวจหาผู้ที่อาจติดเชื้ออย่างกว้างขวาง การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ” ที่ผ่านมาเบลารุสตรวจคัดกรองไปแล้ว 36,000 คนจากประชากรทั้งประเทศ 9.5 ล้านคน มีกลุ่มต้องเฝ้าระวังพิเศษ 1,500 คน และมีสัดส่วนเครื่องช่วยหายใจต่อประชากร 1 แสนคน มากกว่าสหรัฐฯ และอิตาลี

สอดคล้องกับข่าว Belarusians face fines for evadingself-isolation and medical checks โดยสำนักข่าว Belsatเจ้าเดิมเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2563 กรณีทางการเบลารุสกำหนดให้โควิด-19 อยู่ในรายชื่อโรคติดต่อที่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงออกมาตรการให้ผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต้องกักตนเองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนประชากรที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง ให้อำนาจตำรวจควบคุมตัวผู้ที่พยายามหลบเลี่ยงไปรับการตรวจ นอกจากนี้ยังบังคับให้ผู้มีอาการป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลผ่านคำสั่งศาล อีกทั้งมีโทษปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนด้วย

สำหรับสถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ณ วันที่ 7 เม.ย. 2563 พบว่า เบลารุสมีผู้ติดเชื้อรวม 861 คน เสียชีวิตรวม 13 คน ซึ่งในขณะที่ฝั่งรัฐบาลจะพยายามไม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดหยุดลง แต่ฝั่งบุคลากรทางการแพทย์เริ่มวิตกกังวล รายงาน ‘Sitting on volcano’: Minsk doctor about inaction, cover-up amid COVID-19 outbreak เมื่อ 7 เม.ย. 2563 โดย Belsat อ้างความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ในเบลารุส ว่าด้วยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้แยกผู้ป่วยปอดอักเสบว่าเกิดจากโควิด-19 หรือจากสาเหตุอื่นๆ ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยคลาดเคลื่อน

ท้ายที่สุดแล้วผู้นำเบลารุสจะยอมเปลี่ยนใจจากนโยบาย “ปากท้องนำสุขภาพ” หรือไม่? หรือถ้ายังคงนโยบายเดิมต่อไปจะมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจน

น่าห่วงหรือเปล่า? เรื่องนี้น่าติดตาม!!!

ผบช.ภ.1 สั่งตั้งกก.สอบตำรวจเมืองนนท์ หลังทลายบ่อนเปิดเย้ยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 8 เมษายน 2563 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีที่มีการจับกุมการลักลอบเล่นการพนันในเขตพื้นที่ จว.นนทบุรี ว่า พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 จะมีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้อง ก็จะดำเนินการตามระเบียบอย่างเด็ดขาดไม่มีละเว้น ไม่มีการให้ความช่วยเหลือ ว่ากันไปตามข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ

รองโฆษก ตร.กล่าวต่ออีกว่า ผบ.ตร. ได้กำชับให้ทุกท้องที่ดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ถึงแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นหน่วยร่วมปฏิบัติ ร่วมกับหน่วยงานอื่นในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังคงต้องป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง ผบ.ตร. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆ ในการกระทำผิดกฎหมายในห้วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้ผู้บังคับบัญชาสอดส่องดูแลความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ทั้งในเวลาราชการ และนอกราชการ ตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 หากพบตำรวจนายใดมีพฤติกรรม เรียกรับผลประโยชน์ ประพฤติมิชอบ ทุจริตคอรัปชั่น จะดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบอย่างเด็ดขาด ไม่มีละเว้น