เมื่อเวลา 22.40 น.วันที่ 11 พ.ย. มีรายงานว่า ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติเอกฉันท์ 141 ต่อ 0 เสียง ไม่รับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน โดยส่งกลับคืนให้สภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตั้งแต่เวลา 10.00 น. ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ ซึ่งมีผู้ลงชื่ออภิปรายจำนวน 91 คน ใช้เวลาอภิปรายคนละ 10 นาที โดยการอภิปรายส่วนใหญ่เป็นในทิศทางเดียวกัน ไม่เห็นด้วยในการรับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา แม้ช่วงแรกของการประชุมต้องเสียเวลานานกว่า 2 ชม.ก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณา เนื่องจากมีการประท้วงกันไปมาก็ตาม แต่ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กระทั่งเข้าสู่การลงมติในที่สุด.
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 19.20 น. ที่ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้แถลงการณ์ภายหลังการอ่านคำพิพากษาของศาลโลกกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า คณะดำเนินคดีฝ่ายไทยได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ดีที่สุด ได้ต่อสู้ในแง่กฎหมายและตามกติกาสากลอย่างเต็มที่ ดังเป็นที่ประจักษ์ในการให้การทางวาจาต่อศาลโลก เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลทราบดีว่าภารกิจการต่อสู้คดีฯ ในครั้งนี้ เป็นภารกิจที่ท้าทายและยากลำบากมาก เพราะเป็นคดีที่ตีความคำพิพากษาเดิมที่ผ่านมาแล้ว 50 ปี และประเทศไทยจำเป็นต้องกลับไปต่อสู้ที่ศาลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้ศาลพิจารณาเพียงเอกสารหลักฐาน และคำให้การของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น คณะดำเนินคดีของประเทศไทยจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และประชาชนในทุกด้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสบายใจและมีประสิทธิภาพสูงสุดนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า บัดนี้ศาลโลกได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งพี่น้องประชาชนทุกท่านคงได้มีโอกาสติดตามการถ่ายทอดสดคำพิพากษา โดยรัฐบาลเห็นว่า เป็นคำพิพากษาที่ให้ความสำคัญกับการที่ทั้งสองประเทศจะต้องเจรจากัน และมีหลายส่วนที่เป็นคุณกับประเทศไทย โดยมีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ 1. ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย และได้ตัดสินยืนยันที่จะตัดสินภายในขอบเขตของคำพิพากษาเดิม เมื่อ ปี 2505 ข้อ 2. ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย โดยยืนยันว่า คำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 นั้น ไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับประเด็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากคำพิพากษาเดิม ซึ่งหมายความว่าศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และที่สำคัญศาลไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ผูกพันกับไทย โดยผลของคำพิพากษาเมื่อปี 2505
ภายหลังจากที่มีการเผยแพร่การนำเสนอข่าวการให้สัมภาษณ์นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน จำกัด (มหาชน) ผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถึงการชุมนุมของกลุ่มคัดค้าน การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ระบุ ไม่เห็นด้วยที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศยกระดับการชุมนุม ให้ภาคประชาชนหยุดงานในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. 2556 เนื่องจากวุฒิสภาได้คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ให้ภาคเอกชนชะลอการจ่ายภาษี ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และยังเป็นการทำผิดกฎหมาย พร้อมทั้งระบุ เชื่อว่า การชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อออกไป เพราะผู้ที่ออกมาทั้งกลุ่มภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพียงกลุ่มน้อย ขณะที่ได้ข้อเรียกร้องก็ได้ไปทุกอย่างแล้ว จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม โดยหลังจากนั้น นายสุเทพ ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีประชาชน ที่ถนนราชดำเนินว่า การเสนอ 4 แนวทางอารยะขัดขืนไม่เคยไปบังคับ ใครทำได้ตนก็ขอขอบคุณ ใครทำไม่ได้ก็ขอให้ชะลอการทำงานเท่านั้น และคงไม่ตอบโต้นายตัน เพราะต่อไปตนไม่มีวันซื้อสินค้าที่เชียร์รัฐบาลแน่นอน นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายตัน ได้โพสต์ข้อความ ผ่านทางเฟซบุ๊ก "ตัน ภาสกรนที" ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว ระบุข้อความว่า
"ตามข่าวที่มีการระบุว่า ผมได้ให้สัมภาษณ์ว่า คนที่มาชุมนุมเป็นคนกลุ่มน้อย “ผมขอยืนยันว่าไม่ได้พูดประโยคนี้” เป็นความเข้าใจผิด ส่วนตัวผมก็ไม่เห็นด้วยกับ พรบ. นิรโทษกรรม เนื่องจากสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จึงเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และทาง นสพ. ต้นตอ ได้แก้ไข รวมถึงได้ส่งข้อความมาขอโทษแล้ว
ในขณะเดียวกัน วันที่ 13-15 พ.ย. ก็ยังเป็นวันทำงานปกติ บริษัทฯ ไม่ได้ประกาศเป็นวันหยุด ดังนั้นพนักงานคนไหนถ้าจะไปร่วมชุมนุมก็ทำได้แต่ต้องลางานไป ผมเข้าใจและสนับสนุนการแสดงสิทธิ์ของทุกคนในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้วครับ ดังนั้นถ้าหากคำพูดที่ให้สัมภาษณ์ไปทำให้หลายคนเข้าใจผิด ต้องกราบขออภัยอย่างสูงและขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้ทุกคนไม่สบายใจ…. ตัน ภาสกรนที"
วันที่ 13 พ.ย. 56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งได้โพสต์ภาพการจัดตั้งเวทีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีรถตำรวจบรรทุกสิ่งของมาจอดอยู่ข้างเวที โดยผู้ใช้ระบุข้อความว่า ตนได้รับภาพนี้มาจากเพื่อนที่เป็นตำรวจนายหนึ่ง ซึ่งถูกผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจบังคับให้นำรถตำรวจบรรทุกสิ่งของมาช่วยตั้งเวที จึงอยากช่วยกันแชร์ เพื่อให้ได้เห็นพฤติกรรมการใช้อำนาจของรัฐบาลชุดนี้
"รัฐบาลชุดนี้ลุแก่อำนาจจนประชาชนคนไทยเริ่มทนไม่ไหวแล้ว ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ต่อด้วยครับ ขออนุญาติออกตัวนะครับ ว่าผมเองไม่มีสี แต่ผมรักแผ่นดินไทย อย่างได่สังคมที่ดีขึ้น" ผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง โพสต์
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012