“หมอวรงค์” ชี้ปัญหาถอดยศ “แม้ว” เป็นการประลองกำลังครั้งสำคัญ ระบุหากทำไม่ได้ ระบอบทักษิณยังคงแข็งแกร่ง รวมทั้งมีผลทางจิตวิทยา
เมื่อเวลา 14 ส.ค. 58 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า น่าจะมีผลในทางจิตวิทยา ต่อความแข็งแกร่งของเครือข่ายระบอบทักษิณ ในสังคมไทยอย่างมาก เพราะดูแล้วขณะนี้ผ่านไปถึง 7 ปี 8 ผบ.ตร.ยังทำไม่สำเร็จ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ไม่สามารถถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ระบอบทักษิณยังแข็งแกร่ง พอที่จะคานอำนาจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ และเชื่อว่าจะมีผลในทางจิตวิทยา ต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพราะเครือข่ายระบอบทักษิณยังเชื่อมั่นในพลังอำนาจที่มี แต่ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำเนินการถอดยศได้ในทางจิตวิทยา จะเกิดความสั่นคลอน ต่อระบอบทักษิณเป็นอย่างมาก และจะอ่อนแอลงในที่สุด โอกาสที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยหลังเลือกตั้งให้สังคมสงบสุข ก็มีโอกาสเกิดขึ้น นี่คือการประลองกำลังครั้งสำคัญ และมีผลในทางจิตวิทยา ต่อทิศทางอนาคตของประเทศ
ปิดค่าย ร.1พัน 4 รอ. ถกก.ต.ช. "บิ๊กตู่" ไม่มาติดประชุมรับมือเงินหยวนอ่อน มอบหมายให้ "บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะแทน แต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 11 ไม่พลิกโผ "จักรทิพย์" คว้าเก้าอี้ เบียด "เอก" ตก...
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) นัดประชุมครั้งที่ 1/2558 ที่ห้องประชุม สมาคมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1พัน 4 รอ.) ถนนวิภาวดี โดยมีวาระสำคัญในการประชุม 1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ต.ช. 2.ปรับลดตำแหน่งนายเวร (สบ 6) เทียบเท่าผู้บังคับการ ทำหน้าที่นายเวรประจำตัว ผบ.ตร. ให้เป็นนายเวร (สบ 5) เทียบ รอง ผบก. จำนวน 1 ตำแหน่ง 3.การปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนการบริหารกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบวสวน คดีอาญา ว่าด้วย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา
4.กำหนดตำแหน่งผู้บังคับการประจำ ให้ข้าราชการตำรวจ ในสังกัดสำนักงานตรวจสอบภายในเพิ่มเติม จำนวน 1 ตำแหน่ง ให้แก่ พ.ต.อ.หญิง วารุณี เชาวนะกวี รอง ผบก.ตส.1 5.การกำหนดตำแหน่งเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเพื่อเยียวยาให้กับ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ศรีพราหมณกุล ผบช.น. และวาระสุดท้าย การคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 11 ต่อจากพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้
ทั้งนี้ มีข้าราชการตำรวจที่อยู่ในข่ายได้รับการเสนอชื่อจำนวน 5 คน คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมี 2 แคนดิเดตสำคัญที่น่าจับตามองระหว่าง พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.จักรทิพย์
ล่าสุด มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะรองประธาน ทำหน้าที่เป็นประธาน ก.ต.ช. แทน คาดพล.อ.ประยุทธ์ ติดประชุมทีมเศรษฐกิจที่เรียกหารือด่วนเกี่ยวกับผลกระทบจากกรณีเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างหนักจากนโยบายของทางการจีน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ก.ต.ช. ได้ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม.ในการพิจารณา โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 0 แต่งตั้งพล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็นผบ.ตร.คนใหม่ ตามคาด โดยจะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย. 2563
สำหรับประวัติพล.ต.อ.จักรทิพย์ หรือ "บิ๊กแป๊ะ" รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคง และหัวหน้าทีมสืบสวนพิเศษ นรต.36 ตำรวจที่มีทั้งบู๊และบุ๋นครบเครื่อง มีส่วนคลี่คลายคดีดังมากมาย เช่น คดีเกาะเต่า และระเบิดเกาะสมุย พร้อมด้วยเพื่อนร่วมรุ่นเป็นมือไม้ทั้งงานสืบสวนและปราบปราม มากด้วยคอนเน็กชั่นหลากหลายวงการยุ่บยั่บ และกระเป๋าหนัก ซึ่งเคยแจ้งบัญชีทรัพย์สินเอาไว้หลักพันล้านพล.ต.อ.จักรทิพย์ เริ่มรับราชการตำแหน่งนายเวร, สว.บก.สปพ., รอง ผกก. บก.ป., นายเวรอธิบดีกรมตำรวจ (สมัยนั้น), รอง ผบก.สมุทรสงคราม, รอง ผบก.ตำรวจน้ำ, รอง ผบก.ป., ผบก.ตม., รอง ผบช.น., รักษาการ ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร., ผบช.น., ผบช.ภ.9, ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร.
ส่วนข้อมูลส่วนตัวพล.ต.อ.จักรทิพย์ เกิดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2502 จบการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย, โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36) ปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาเพิ่มเติมหลักสูตรการสอบสวน (ATF-ILEA) และ หลักสูตร FBI, รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยได้รับฉายาจากสื่อมวลชนเมื่อปลายปี 2553 ว่า "น.1 อีซี่พาส" เนื่องจากติดยศ พล.ต.ท. อย่างรวดเร็ว และเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หากเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นบางคน ซึ่งถือว่าก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก.
มติชนรายวันรายงานว่า พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวมีลุ้นได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ว่า ขอปฏิเสธที่จะกล่าวถึง ไม่อยากพูดถึงเรื่องโผแต่งตั้ง ผบ.ทบ.คนใหม่
"ผมคงบอกหรือพูดอะไรเวลานี้ไม่ได้เลย และไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม เวลานี้ยังบอกอะไรไม่ได้จริงๆ วันนี้บอกได้เพียงว่ามีชื่อของผมอยู่ในโผ ผบ.ทบ.เท่านั้น ต้องรอผลการพิจารณาที่จะมีขึ้นหลังวันที่ 15 สิงหาคมนี้"
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ทบ. มีความพร้อมในการรับตำแหน่งใหญ่ของกองทัพบกแค่ไหน พล.อ.ปรีชากล่าวว่า "หากผมได้รับเลือกก็มีความพร้อมเต็ม 100% ความเป็นทหารผูกพันอยู่ในสายเลือด ผมเติบโตในครอบครัวทหาร คุณพ่อเป็นทหาร ทั้งพี่ชาย (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มาถึงตัวของผม และน้องชายอีกคน ก็รับราชการทหารทั้งหมด" พล.อ.ปรีชากล่าว
ขณะที่ในส่วนของการตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่นั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ในวันที่ 14 สิงหาคมว่า ยังไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ ส่วนกระแสข่าวจะโยกรอง ผบ.ตร.ไปรับตำแหน่งในปลัดกระทรวงอื่นนั้น ข่าวก็คือข่าว มีข่าวแบบนี้ทุกปี ต้องถามว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ อย่าเพิ่งไปเชื่อเลย ทุกคนคิดไปคนโน้นบอกที คนนั้นบอกที คนรักใครเชียร์ใครก็ปล่อยข่าวกันไป บางทีปล่อยให้คนอื่นตื่นตระหนกกลัวไป
"ผมยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ข่าวที่ออกมาบางอย่างไม่อยู่ในอำนาจผม ผมไม่เกี่ยว บางสิ่งบางอย่างผู้บังคับบัญชาไม่ต้องบอกผมทุกเรื่อง อาจจะบอกจนวินาทีสุดท้ายก็ได้ ตอนนี้ยังไม่ได้รับการบอกเล่าอะไรทั้งสิ้น ชื่อ ผบ.ตร.อยู่ในใจ พรุ่งนี้ผมต้องเสนอรอง ผบ.ตร.ท่านใดท่านหนึ่งใน 5 คนนี้ให้ ก.ต.ช.พิจารณา ถ้าเสนอใครผมต้องมีเหตุผลประกอบว่าเพราะอะไรถึงเสนอคนนี้ ต้องมีเหตุผลว่ามีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญเหมาะสมอย่างไร และพร้อมตอบข้อซักถามของคณะกรรมการเมื่อท่านถามว่าเพราะอะไรถึงเสนอคนนี้ ผมตามใจท่านนายกรัฐมนตรีตลอดเวลา ตามใจท่านทุกเรื่อง เป็นเด็กดี เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี" ผบ.ตร.กล่าว
วันนี้(14 ส.ค.)ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม มีระเบียบวาระลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.) จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีลงมติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาส.ว. ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
ต่อมานายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานขณะนั้น แจ้งผลการลงมติถอดถอน ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยอดีตส.ส. จำนวน 237 คน ในฐานความผิดร่วมลงชื่อและลงมติแก้ไขทั้ง 3 วาระ ที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอน โดยคะแนนส่วนใหญ่อยู่ที่ 59 ต่อ 142 เสียง และผู้ที่ได้คะแนนถอดถอนสูงสุด คือนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 66 ต่อ 134 เสียง
สำหรับกลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยอดีตส.ส. จำนวน 1 คน ในฐานความผิดร่วมเสนอและลงมติแก้ไขในวาระ 2 และ 3 ที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอน ด้วยคะแนน 99 ต่อ 140 เสียง และกลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยอดีตส.ส. จำนวน 10 คน ในฐานความผิดสำหรับผู้ที่ไม่ร่วมลงมติวาระ 2 ที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอน โดยคะแนนส่วนใหญ่อยู่ที่ 56 ต่อ 142 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาตลอดกระบวนการถอดถอนทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง
จากนั้น นายพีระศักดิ์ แจ้งว่า สนช.จะได้แจ้งผลการลงมติถอดถอนเพื่อทราบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา, อดีตส.ส. จำนวน 248 คน ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสั่งปิดประชุมในเวลา 17.05 น.
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดที่ กมธ.ยกร่างฯจะบัญญัติให้สองพรรคการเมืองใหญ่จัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหลังการเลือกตั้งว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยและยังไกลเกินกว่าที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะการจะกำหนดให้สองพรรคการเมืองที่มีนโยบาย อุดมการณ์ต่างกันจับมือกัน เปรียบเหมือนคลุมถุงชนให้คนแต่งกันก็อยู่ไม่ยืด ยุคนี้มาไกลเกินกว่านั้นแล้ว หากจะหาทางแก้ก็ควรจะร่างกฎหมายเฉพาะให้เป็นกลไกพิเศษในบทเฉพาะกาลท้ายรัฐธรรมนูญ โดยป้องกันรัฐบาลทุจริต ใช้นโยบายประชานิยมและใช้อำนาจเกินขอบเขตจนชาติเสียหาย จะเป็นการป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญประเทศที่ใช้รูปแบบรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบบเผด็จการทั้งสิ้น จึงอย่าพยายามคิดอะไรที่ผิดธรรมชาติการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเลย
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯและ สปช.ระบุเหตุผลว่าเพราะยังมีความขัดแย้งของประชาชนตามสีเสื้อ หรือผู้สนับสนุนของพรรคการเมือง นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เป็นแค่ทฤษฎีและการมโน ถ้าได้รับการเลือกตั้งโปร่งใส ไร้ทุจริตซื้อเสียงและชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจโดยมิชอบทุกฝ่ายต้องยอมรับ การอ้างเหตุผลนี้ถือว่ามีตรรกะวิบัติที่พยายามสร้างภาพให้สังคมคิดว่า 2 พรรคขัดแย้งกัน ถามว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ต้องเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยทุกเรื่อง ทั้งการเสนอแก้รัฐธรรมนูญช่วยพวกพ้อง นิรโทษกรรมให้แกนนำทุกกลุ่มทั้งพันธมิตรฯ นปช.และ กปปส. รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้ไม่ขัดแย้ง ประชาชนทั้งประเทศเอาด้วยหรือไม่ ให้ไปถามประชาชนดู ตัวอย่างชัดๆ เช่น เมื่อตำรวจจับโจรตามหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ตำรวจไม่ต้องจับคนร้าย เพื่อจะไม่ขัดแย้งกับคนทำผิด หากยึดหลักนี้ก็ตรรกะวิบัติ เราไม่ได้ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่เอากับพรรคใดที่มีอำนาจและทำผิดกฎหมายต่างหาก ถ้าตั้งธงเพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งถือว่าเป็นตรรกะวิบัติ
ปัจจุบันการใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตเพิ่มมากขึ้น บางคนใช้งานเกือบตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอน มิหนำซ้ำยังวางไว้ข้างตัวขณะนอนหลับ รู้หรือไม่ว่า การใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบประสาทและกระดูกต้นคอ เมื่อใช้ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน อาการผิดปกติที่พบได้บ่อยในกลุ่มคน "สังคมก้มหน้า" คือ อาการปวดศีรษะ
ร.ท.นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากความไวที่มากกว่าปกติของระบบประสาทเอง ซึ่งทำให้เกิดโรคปวดศีรษะไมเกรน หรือจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก ความดันในสมองผิดปกติ ยาหรือสารเคมีบางชนิด เป็นต้น
และการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ที่มากเกินไปหรือใช้งานอย่างไม่ถูกท่านั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน การก้มหน้าเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเมื่อยล้า หรือเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อขึ้นมาเป็นก้อน อาการปวดที่กล้ามเนื้อคอนี้อาจส่งความปวดไปยังส่วนอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ท้ายทอย ขมับ รอบกระบอกตา หน้าผาก ฯลฯ ซึ่งพบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ หรือใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะรู้จักกันดีในชื่อ "กลุ่มอาการปวดจากกล้ามเนื้อเกร็ง" หรือ Myofascial pain syndrome (MFS)
นอกจากนี้ ยังทำให้กระดูกต้นคอรับน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 6 เท่า เกิดภาวะกระดูกคอเสื่อมก่อนวัย หรืออาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทได้ กรณีนี้ถ้าไปกดทับเส้นประสาทสมองระดับที่ 1-4 ก็อาจเกิดอาการปวดศีรษะที่บริเวณท้ายทอย ด้านข้างศีรษะ ขมับ กระบอกตา หน้าผาก รวมถึงกลางกระหม่อมได้ ทางการแพทย์จะเรียกโรคนี้ว่า "โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของคอ" หรือ Cervicogenic headache
อีกทั้งแสงที่ออกมาจากหน้าจอหรือแสงสะท้อนจากหน้าจอ ยังกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันขึ้นในกลุ่มคนที่เป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งปวดบริเวณคอและศีรษะ ยังกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบรุนแรงเฉียบพลันได้อีกด้วย
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012